ที่มา สยามรัฐ
วิทยา ตัณฑสุทธิ์29/12/2552
การเมืองไทยอลเวงปั่นป่วนขัดแย้งกันไม่จบสิ้นมานานหลายปี มีคนตั้งคำถามว่า ปีพ.ศ.2553 พรรคการเมืองจะมีสภาพเป็นอย่างไร จะมีพรรคไหนอยู่ พรรคไหนพัง
คำถามนี้ทำให้ต้องทบทวนเพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจน ซึ่งจับประเด็นได้ดังนี้
1.ถ้ารัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ยังมุ่งมั่นยึดกุมอำนาจไปให้นานที่สุด การเมืองไทยจะต่อสู้กันอย่างรุนแรง พรรคเพื่อไทยจะโหมรุกหนัก เพื่อให้แตกหักกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียหายมากกว่าที่ผ่านมา
2.ถ้ารัฐบาลพังด้วยเหตุที่ขัดแย้งกับพรรคร่วม และพรรคร่วมทั้งหมดสละเรือทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทย แล้วนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาใช้ พรรคประชาธิปัตย์ก็จะกลายเป็นฝ่ายค้าน และหมดโอกาสที่จะหวนกลับมายิ่งใหญ่อีกต่อไป
3.ถ้าหากไม่เป็นไปตามที่ข้อ 1.และข้อ 2. โดยมีเหตุการณ์จลาจลทำให้สังคมตกอยู่ในสภาพวิกฤต จนฝ่ายทหารต้องใช้กำลังเข้ามายุติปัญหา สภาพเช่นนี้จะทำให้การเมืองไทยหวนกลับไปสู่ยุคเผด็จการ หรือกึ่งเผด็จการเหมือนในอดีต
ในช่วงที่ฝ่ายทหารเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ การเคลื่อนไหวทางการเมืองจะหยุดนิ่ง จนกว่าจะมีการกำหนดกติกาขึ้นมาใหม่ และมีการเลือกตั้ง
จากประเด็นที่ตั้งไว้ข้างต้น ทำให้มองเห็นว่าในรอบปีพ.ศ.2553 พรรคการเมืองก็คือ
ตัวกำหนดทิศทางของประเทศไทย ว่าจะดำเนินไปในลักษณะไหน
ถ้าคนในแต่ละพรรคมองเห็นตรงกันว่า จะต้องช่วยรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ โดยต่อสู้กันภายในกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญ ยึดมั่นในหลัก”การเมือง แก้ด้วยการเมือง” มีสปิริตยอมรับในเรื่องการรู้แพ้รู้ชนะ ทุกพรรคการเมืองก็จะอยู่รอดครบถ้วน และมีโอกาสทำงานการเมืองกันต่อไป
แต่ถ้านักการเมืองมองเห็นผิดเป็นชอบ ไม่ยอมลดราวาศอกให้แก่กัน ไม่เคารพกฎกติกา และยอมให้อำนาจนอกระบบหรือกระบวนการของกลุ่มอำนาจอิทธิพลใดๆเข้ามาแทรกแซง เพื่อทำให้ฝ่ายตนได้ประโยชน์ โดยไม่คำนึงว่าประเทศชาติจะเสียหายมากแค่ไหน
ระบอบประชาธิปไตยก็จะไปไม่รอด และนั่นหมายถึงพรรคการเมืองก็จะไม่รอดไปด้วย
การเมืองในประเทศพัฒนาแล้วถือหลักว่า นักการเมืองมีภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในการปกป้องรักษาอำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ การทำตามกฎกติกาและกฎหมาย และพร้อมที่จะต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ภาระหน้าที่นี้เป็นสิ่งที่จะพิทักษ์รักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเอาไว้ได้
บทเรียนที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่มีค่า นักการเมืองจะต้องไม่ยอมให้กลุ่มอำนาจนอกระบบเข้ามามีอิทธิพลหรือมาบงการ เพื่อแลกกับความมั่นคงของพรรคการเมือง เพราะถ้าหากยอมอ่อนข้อให้กับกลุ่มเหล่านั้น สังคมก็จะมีแต่ความขัดแย้งแตกแยก บ้านเมืองไม่มีหลักเกณฑ์ให้ยึดถือ มีการใช้กฎหมู่หักล้างทำลายกฎหมาย รวมทั้งทำลายรัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาสูงสุดด้วย
นักการเมืองที่มีอุดมการณ์อย่างแท้จริง จะต้องต่อสู้แบบหัวชนฝา ต้องยอมถึงขั้นเอาชีวิตเข้าแลก โดยไม่ปล่อยให้อำนาจนอกระบบแทรกเข้ามาบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย ถ้ามีใครทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ หรือยึดอำนาจด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร นักการเมืองก็มีหน้าที่ต้องต่อสู้กับคนเหล่านั้น
มิใช่ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม หรือไปขอความปกป้องคุ้มครองจากกลุ่มที่ทำผิดกฎกติกา
ดังนั้นจึงขอย้ำว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะดำรงคงอยู่ได้ยาวนานแค่ไหนเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับจิตสำนึก
และพฤติกรรมของนักการเมืองเป็นสำคัญ
ถ้านักการเมืองสามารถพัฒนาตนเองให้มีมาตรฐานสูงขึ้น ไม่ยอมก้มหัวให้กับอำนาจอิทธพิลที่อยู่นอกระบบ ในอนาคตประเทศไทยก็จะมีพรรคใหญ่ต่อสู้กันแค่ 2 พรรค เหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว