ที่มา มติชน
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 ธันวาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.บรรลุ ศิริพานิช ในฐานประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกรรมการ ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็งของ สธ. และมอบหลักฐาน จำนวน 4,733 แผ่น ให้นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้กรรมการตรวจสอบฯ หลังใช้เวลาสอบสวนนานร่วม 2 เดือน
จากนั้นเวลา 14.20 น. นพ.บรรลุ ได้เปิดแถลงข่าวรายงานผลการตรวจสอบให้สื่อมวลชนรับทราบ โดยนพ.บรรลุ แถลงว่า ผลการสอบสวนโดยภาพรวมพบว่า การจัดตั้งงบประมาณ มีพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า “ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง” ที่น่าจะยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ได้แก่ การขอตั้งงบประมาณทั้งสิ่งก่อสร้าง ครุภัณฑ์การแพทย์ และรถพยาบาล มีความผิดพลาดมากมาย การกระจายตัวไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และราคาที่ตั้งไว้สูงเกินสมควร โดยหลายรายการตั้งราคาไว้สูงมาก และมีพฤติกรรมบางประการที่ส่อเจตนาการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หากไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้อง แทนที่จะทำให้ ไทยเข้มแข็ง สมเจตนารมณ์ จะกลับทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง
นพ.บรรลุ กล่าวว่า สรุปประเด็นสำคัญดังนี้
1.งบประมาณสิ่งก่อสร้าง มุ่งเน้นการสร้างความเจริญในตัวจังหวัด แทนที่จะกระจายสู่อำเภอรอบนอก ทำให้ช่องว่างของคุณภาพบริการสาธารณสุขระหว่างตัวจังหวัดและอำเภอรอบนอกถ่างกว้างขึ้น ประชาชนต้องหลั่งไหลเข้าไปรับบริการในตัวจังหวัดมากขึ้น สร้างทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และ เพิ่มความเสี่ยงระหว่างเดินทาง โดยเฉพาะกรณีป่วยหนัก
2.งบประมาณสิ่งก่อสร้าง มีความกระจุกตัวในบางจังหวัด ในลักษณะ มือใครยาวสาวได้สาวเอา เช่น จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีโรงพยาบาลระดับจังหวัดอยู่แล้วถึง 3 โรง และยังมีโรงพยาบาลศูนย์อยู่อีก 1 โรง ทั้งที่ส่วนใหญ่ จังหวัดหนึ่งมีโรงพยาบาลระดับจังหวัดเพียงแห่งเดียว ขณะที่ บางจังหวัดซึ่งขาดแคลนกลับได้รับการจัดสรรน้อย
3.งบประมาณครุภัณฑ์การแพทย์ มีการจัดซื้อสิ่งไม่จำเป็น และราคาแพงจำนวนมาก นอกจากเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้ว ยังเป็นภาระในการบำรุงรักษาในอนาคต ครุภัณฑ์บางอย่าง หน่วยงานมิได้ต้องการหรือขอมา กลับจัดสรรให้โดยส่อเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ นอกจากนั้น ครุภัณฑ์การแพทย์เหล่านี้ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น 4.งบประมาณส่วนใหญ่ มุ่งเน้นที่สิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์การแพทย์ โดยงบประมาณสำหรับการสร้างและพัฒนาบุคลากรไม่ได้สัดส่วน ทำให้สิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ที่ใช้เงินจำนวนมากจัดซื้อจัดจ้างไว้ ใช้ประโยชน์ได้ไม่คุ้มค่า
นพ.บรรลุ กล่าวว่า สาเหตุของความบกพร่องผิดพลาด ส่อไปในทางจะทำให้เกิดทุจริต สรุปสาระใหญ่ๆ ได้ 2 ประการ ได้แก่ 1.ข้าราชการประจำอ่อนแอ ปลัดกระทรวงและรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายขาดความรับผิดชอบ ไม่ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เท่าที่ควร โครงการใหญ่ขนาดนี้ ปลัดกระทรวงควรลงไปดูแลเอง และควรมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการ รวมทั้งควรมีการกำหนดนโยบาย และหลักเกณฑ์การพิจารณา ทั้งในเรื่องการกระจายงบประมาณอย่างเหมาะสม และการพิจารณากำหนดราคาที่สมควร กลับปล่อยปละละเลย ให้รองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย (รองปลัดฝ่ายบริหาร) ซึ่งอ่อนประสบการณ์ และมีความรู้ความสามารถไม่พอเพียง
“รวมทั้งไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่เท่าที่ควร ปล่อยให้เป็นภาระของสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) ซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานภายใน มีผู้ปฏิบัติงานเพียง 53 คน มีแพทย์คนเดียว รับผิดชอบงานใหญ่ขนาดนี้ ในขณะที่สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบการกำกับดูแลของรองปลัดกระทรวงฝ่ายบริหาร มีข้าราชการปฎิบัติงานทั้งสิ้น 283 คน กลับปัดความรับผิดชอบ อ้างว่ามีหน้าที่เพียงตรวจสอบยอดและหมวดเงินให้ตรงตามที่ได้รับจัดสรรเท่านั้น” นพ.บรรลุ กล่าว
นพ.บรรลุ กล่าวว่า การที่ผู้บริหารระดับสูงไม่เป็นผู้รับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วยตนเอง ประกอบกับการไม่มีคณะกรรมการมาร่วมพิจารณา และไม่มีเกณฑ์วางไว้ งานจึงไม่มีระบบ ใครจะของบอย่างไรก็ขอจะเปลี่ยนอย่างไรก็เปลี่ยน ตามใจของผู้มีอำนาจ นอกจากแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบและขาดความรู้ความสามารถแล้ว ยังส่อเจตนาไม่สุจริต เอื้อให้มีการกระทำตามใจชอบ และเปิดทางให้มีการทุจริตด้วย
นพ.บรรลุ กล่าวว่า สำหรับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่อาจปัดความรับผิดชอบในความบกพร่อง ส่อเจตนาไม่สุจริต และการเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งปวงที่เกิดขึ้นในสธ. ได้ ส่วนนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการไทยเข้มแข็ง และไม่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่มีพฤติกรรมก้าวก่าย ล้วงลูก กดดัน ให้มีการจัดสรรงบประมาณเกินจำเป็นลงพื้นที่ของตน รวมทั้งน่าเชื่อว่าอาจพัวพันเรื่องการฮั้วรถพยาบาลด้วย
นพ.บรรลุ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีข้อเสนอ ดังนี้
1.ควรมีการทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด ทั้งรายการสิ่งก่อสร้าง รายการครุภัณฑ์การแพทย์ และรายการรถพยาบาล ทั้งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมอื่นๆ โดยเฉพาะกรมการแพทย์ รวมทั้งโครงการพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะต้องได้สัดส่วนเหมาะสมกัน ทั้งนี้ ควรดำเนินการโดยมุ่งคุณภาพ เพื่อให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งของประเทศอย่างแท้จริง มิใช่ทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง และสร้างปัญหาในระยะยาว โดยปลัด สธ. จะต้องลงมาเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง มีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างสมเหตุสมผล โปร่งใส ใช้บุคลากร สธ. ที่มีคุณภาพซึ่งมีอยู่มากช่วยกันทำ เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน
2.ควรมีการสอบสวนข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องทั้งที่ยังรับราชการและที่เกษียณอายุไปแล้วในกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายว่าเป็นความผิดที่ได้ทำมา เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
3.ควรพิจารณาดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตาม “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ของ ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ที่แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่ “เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด” และข้อ 9 ที่ระบุว่า “ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นมีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย”
“ในการรายงานข้อมูลในนายกฯ รับทราบ ท่านได้สนใจซักถามข้อมูลเพิ่มเติมนานถึง 30 นาที ซึ่งท่านบอกว่าจะนำรายงานสรุปผลไปอ่านช่วงปีใหม่นี้ ส่วนจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ หรือส่งเรื่องให้ปปช. สอบสวนต่อในเรื่องใดบ้างนั้น เป็นดุลยพินิจของท่านนายกฯ ว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป เชื่อว่าท่านมีวิจารณญาณตัดสินได้ ซึ่งคงจะได้เห็นหลังจากเทศกาลปีใหม่นี้ว่าท่านนายกฯ จะสั่งให้สธ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบใครบ้าง เชื่อผมเถอะว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” นพ.บรรลุ กล่าว
นพ.วิชัย โชควิวัฒน เลขานุการและกรรมการฯ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีความผิดชัดเจน แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือฝ่ายข้าราชการการเมือง มี 4 ราย ได้แก่
1.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกรทะรวงสาธารณสุข ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นในสธ.ในฐานะเจ้ากระทรวง
2.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมที่ส่อในการทุจริต คือ ไม่ดูแลโครงการไทยเข้มแข็งแต่ล้วงลูกดึงงบเข้าจังหวัดราชบุรี และนัดทานข้าวกับบริษัทเจ้าของรถยนต์ผู้ผลิตรถพยาบาล รวมถึงเครื่องพ่นฆ่ายุงลาย
3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตโดยนัดทานข้าวร่วมกับนายมานิต และผู้ประกอบการผลิตรถพยาบาล และ
4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ฐานความผิดเป็นผู้ล็อบบี้ให้มีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลตแบบระบบปิด(ยูวี แฟน)
นพ.วิชัย กล่าวว่า ส่วนข้าราชการประจำ มี 8 ราย ได้แก่
1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดสธ. ฐานความผิดบกพร่องต่อหน้าที่ เพราะโครงการใหญ่ที่มีงบประมาณมากระดับ8.6 หมื่นล้านบาทกลับไม่ดูแลด้วยตนเอง เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดสธ. ฐานความผิดไม่เอาใจใส่ต่อโครงการที่มีงบประมาณมาก โดยให้สำนักงานสาธารณสุขภูมิภาคที่มีผู้ทำงานกว่า 50 คนดูแล โครงการใหญ่ขนาดนี้ เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
3.นายกสินทร์ วิเศษสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ขณะนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว ฐานความผิดที่มีการปรับปรุงแบบแผนทำให้เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้
4. นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ ฐานความผิดจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ราคาแพงผิดสังเกต
5.นพ.สุชาติ เลาบริพัตร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยูวีแฟน
นพ.วิชัย กล่าวว่า ส่วนรายที่ 6-8 พบว่า บกพร่องต่อหน้าที่แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีการทุจริต คือ
6.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.ในปัจจุบัน ฐานความผิดที่สมัยเป็นรองปลัดสธ.รับผิดชอบสบภ. แต่โครงการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของพญ.ศิริพรดูแล แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้
7.นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ฐานความผิดที่รับผิดชอบการดำเนินการโครงการไทยเข้มแข็งแต่ปัดความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น อ้างว่าทำหน้าที่เพียงการตรวจสอบยอดการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้น
8.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเขต 6 สมัยนั้นดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ ฐานความผิดให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องยูวีแฟนราคาแพง
พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ รองประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า นักการเมือง โดยเฉพาะเป็นเจ้ากระทรวงต้องดูแล และรับผิดชอบภาระงานทุกอย่าง มีความรับผิดชอบระดับนี้แล้วจะนั่งดูดายไม่ได้ หากทำถูกต้องทุกอย่างจะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 10,000 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ความรับผิดชอบของแต่ละคนก็ม่เหมือนกัน แต่นายกฯ ต้องรับผิดชอบดำเนินการลงโทษคนผิดด้วยเพราะ นายกฯ เป็นคนแต่งตั้งคนเหล่านี้มาทำงาน ตั้งได้ก็ต้องถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ด้วยเช่นกัน ส่วนรัฐมนตรี หากหน้าบางก็ต้องลาออก อย่างสมัยตนมีปัญหาในรัฐสภา ผมก็ต้องลาออกเพราะไม่เหมาะสม ทั้งที่ตนทำไปเพื่อการป้องกันตัว