ที่มา มติชน
ทันทีที่ทีมมือปราบโกง นำทีมโดย นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข เปิดแถลงข่าวผลการสอบสวนความไม่ชอบมาพากลของโครงการไทยเข้มแข็ง สาวไส้ความผิดทั้งนักการเมือง และข้าราชการประจำ ร่วมยกกระบิ มีคนผิดทั้งที่มีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน และไม่มีเอี่ยวทุจริต แต่บกพร่องต่อหน้าที่ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ที่ทำเนียบรัฐบาล
ภาพรวมของความผิดแบ่งได้ ดังนี้
1.นัดฮั้วเรียกเงินรถพยาบาลคันละ 1 แสนบาท
ผลตรวจสอบพบว่าจากพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าได้มีการพยายามเจรจาเพื่อเตรียมการให้มีการฮั้วกันจริง โดยมีนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นัดบริษัทรถยนต์ 2 บริษัท มารับประทานอาหารค่ำที่ภัตตาคารไดนาสตี้งโรงแรมเซนทารา ลาดพร้าว ช่วงค่ำของวันที่ 17 สิงหาคม 2552
นพ.บรรลุกล่าวยืนยันว่า มีผู้ประกอบการรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งที่ได้ร่วมในการทานอาหารมื้อนั้น ได้ทำหนังสือยืนยันมายังคณะกรรมการ รวมทั้งมาให้ถ้อยคำต่อกรรมการตรวจสอบด้วยว่ามีนักการเมืองคนใดร่วมทานอาหารบ้าง โดยระบุชัดเจนว่า นายมานิต และนางศิริวรรณ ได้มีการเจรจาเรียกรับผลประโยชน์ คันละ 1 แสนบาท รวม 800 คัน เป็นเงิน 80 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีมูลความผิดทางอาญาด้วย ผู้มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด
2.ยูวี แฟน ทำเป็นขบวนการ สอบ 5 คนผิด ตั้งแต่อดีตปลัด สธ. ที่ปรึกษา รมว.สธ. ผอ.สบภ.มีเอี่ยว
สำหรับยูวี แฟน พบเงื่อนงำความผิดปกติมากมาย ทำอย่างเป็นขบวนการทั้งในและนอก สธ. มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าผู้สั่งการเรื่องนี้โดยตรง คือ
1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัด มีมูลเหตุจูงใจ คือ มีการสั่งนโยบายโครงการเร่งรัดหยุดวัณโรค ที่ขัดต่อหลักวิชาการให้รับผู้ป่วยในโรงพยาบาล 14 วัน ซึ่งเพิ่มโอกาสแพร่เชื้อวัณโรคในโรงพยาบาล และสั่งให้ทำห้องแยกโรคพร้อมมีเครื่องฟอกอากาศที่ใช้รังสียูวี ราคาสูงถึงห้องละ 250,750 บาท จึงเป็นเหตุให้โรงพยาบาลต่างๆ ใช้เป็นข้ออ้างในการจัดซื้อยูวี แฟน
2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัด สธ. ในฐานะดูแลโครงการไทยเข้มแข็งภาพรวม
3.น่าเชื่อว่า นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อาจมีส่วนโดยตรงหรืออ้อมในการสั่งบรรจุยูวี แฟน ในโครงการไทยเข้มแข็ง โดยมีนพ.กฤษฎา มนูญวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นนำไปส่งให้กับ นพ.สุชาติ เลาบริพัตร ผู้อำนวยการ สบภ. สอดคล้องกับที่ นพ.สุชาติ มีบันทึกชัดเจนว่าเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
4.นอกจากนี้ยังพบว่ามีการจัดซื้อยูวี แฟน ที่ใช้งบฯอื่น โดย นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ สาธารณสุขนิเทศ ขณะนั้น ขอให้โรงพยาบาลใน จ.นครศรีธรรมราช จัดซื้อยูวี แฟน ราคาเครื่องละ 99,000 บาท และน่าจะเป็นสินค้ายอมแมว ไม่ใช่ของนอก
5.พบว่ามี 3 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ซื้อยูวี แฟน ที่มีการล็อกสเปคในราคาเครื่องละ 40,000 บาท ขณะที่สถาบันทรวงอกผลิตได้ในราคาต้นทุน 2,000-5,000 บาท และมีผู้บริหารพาครอบครัวไปทัศนศึกษาที่นิวซีแลนด์ ขณะที่โรงพยาบาลจังหวัดขอนแก่นกลับปฏิเสธไม่ขอรับยูวี แฟน ที่ อบจ. ขอนแก่น ได้จัดซื้อให้ฟรี เมื่อปี 2550 เพราะพิจารณาแล้วไม่คุ้มค่าบำรุงรักษา
3.มั่วงบฯก่อสร้าง รมช.สธ.ล้วงลูกชัดเจน
เอกสารผลการสอบสวนระบุว่า 60% ของงบประมาณไทยเข้มแข็งทั้งหมด เป็นงบฯก่อสร้าง พบว่ามีการจัดสรรมั่วแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา สาเหตุเพราะไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมาย หลักเกณฑ์ และไม่มีการตั้งคณะกรรมการดูแลพิเศษ ส่งผลให้การจัดสรรงบฯกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ เห็นได้ชัดเจน โดยมีโรงพยาบาลศูนย์ ทั่วไป และศูนย์ความเป็นเลิศ รวม 115 แห่ง ที่ได้งบฯก่อสร้างมากกว่าโรงพยาบาลชุมชนที่ได้เพียง 235 แห่ง จากทั้งหมด 735 แห่ง และสถานีอนามัย 9,762 แห่งทั่วประเทศรวมกัน
ที่สำคัญ ยังพบว่านายมานิตลงไปล้วงลูกด้วยตนเอง จัดสรงบฯสร้างอาคารถึง 5 หลัง ที่โรงพยาบาลราชบุรี ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลต้องการเพียง 2 หลังเท่านั้น และยังต้องทุบอาคารเก่าอีกหลายหลังด้วย มีการกดดันผู้อำนวยการโรงพยาบาลจนต้องถูกย้ายในที่สุด
นอกจากนี้ ราคากลางที่ตั้งไว้สูงเกินเหตุ ทั้งที่มีผลการประมูลก่อสร้างต่ำกว่าราคาที่ตั้งไว้มาก ก็ไม่ยอมปรับลดราคาลง ส่อเจตนาว่าไม่สุจริต เปิดช่องให้มีการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ ยังมีอาคารแบบเดียวกันแต่ราคาต่างกัน อาทิ
1.อาคารผู้ป่วยนอก-อุบัติเหตุ สูง 5 ชั้น ตั้งราคา 168-185 ล้านบาท แต่มีประวัติที่โรงพยาบาลท่าศาลา เคยสร้างจริงในปี 2552 ใช้งบฯเพียง 128 ล้านบาท
2.อาคารพักพยาบา สูง 3 ชั้น ขนาด 24 ห้อง ตั้งงบประมาณ 9.57 ล้านบาท แต่มีประวัติสร้างจริงเพียง 7 ล้านบาท 3.เสาธงสูง 20 เมตร ตั้งงบฯ 495,000 บาท แต่มีราคากลางเพียง 367,700 บาท และควรเลือกเสาธงแบบสูง 12 เมตร มีราคาเพียง 119,700 บาทเท่านั้น
4.กรมการแพทย์ตั้งราคาครุภัณฑ์แพงผิดปกติ
กรมการแพทย์ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 7,500 ล้านบาท แต่พบว่ามีการตั้งราคาครุภัณฑ์และงบฯก่อสร้างแพงเกินจริงหลายหลายการเมื่อเปรียบเทียบกับครุภัณฑ์การแพทย์ของโรงพยาบาลอื่นๆ ในโครงการไทยเข้มแข็งด้วยกันเอง ส่อไปในทางทุจริต เปิดทางให้มีการแสงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลนพรัตน์ โรงพยาบาลเลิดสิน
1.เครื่องเอ็กซเรย์ส่องตรวจระบบดิจิตอล (Digital Fluoroscopy) ของโรงพยาบาลนพรัตน์ และศูนย์มะเร็ง ชลบุรี ตั้งงบฯไว้ที่ 15 ล้านบาท ขณะที่เครื่องชนิดเดียวกันของโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ตั้งราคาเพียง 8 ล้านบาท
2.ควบคุมการทำงานของหัวใจ ของโรงพยาบาลเลิดสิน ตั้งงบฯไว้ 9.2 ล้านบาท ขณะที่โรงพยาบาลแห่งนี้เคยจัดซื้อเพียง 3.5 ล้านบาทเท่านั้น
3.เครื่องใส่แร่อัตโนมัติปริมาณรังสีสูง ของสถาบันมะเร็งฯ ตั้งงบฯไว้ 27 ล้านบาท ขณะที่ศูนย์มะเร็ง ลพบุรี เคยจัดซื้อเมื่อปี 2550 ราคาเพียง 19.2 ล้านบาท
3.เครื่องจัดเก็บระบบข้อมูลเฉพาะทางการแพทย์ด้วยคอมพิวเตอร์ สถาบันมะเร็งฯ ตั้งงบฯ 60 ล้านบาท ขณะที่ศูนย์มะเร็งอุบลราชบุรี และโรงพยาบาลศูนย์หลายแห่งเคยจัดซื้อในราคาเพียง 15-30 ล้านบาท เท่านั้น
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของบทสรุปความผิดโครงการไทยเข้มแข็งที่ว่า "ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง" ของทีมสอบสวนของ นพ.บรรลุ ส่วนใครจะแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างไร..คงต้องยกคำของ นพ.บรรลุ ที่ทิ้งท้ายไว้ว่า
*********************************************************************
สรุปผลชี้มูลผู้เกี่ยวข้อง
นักการเมือง 4 ราย
1.นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บกพร่องต่อหน้าที่
2.นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีพฤติกรรมส่อทุจริต ล้วงลูก ดึงงบฯเข้า จ.ราชบุรี และนัดกินข้าวกับบริษัทเจ้าของรถยนต์ผู้ผลิตรถพยาบาล รวมถึงเครื่องพ่นฆ่ายุงลาย
3.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู อดีตเลขานุการ มีพฤติกรรมส่อทุจริต โดยนัดกินข้าวร่วมกับนายมานิต และผู้ประกอบการผลิตรถพยาบาล
4.นพ.กฤษดา มนูญวงศ์ อดีตที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ล็อบบี้ให้มีการจัดซื้อเครื่องทำลายเชื้อด้วยแสงอัลตร้าไวโอเลตแบบระบบปิด (ยูวี-แฟน)
ข้าราชการประจำ 8 ราย
1.นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข บกพร่องต่อหน้าที่ เปิดช่องให้เกิดการทุจริต
2.พญ.ศิริพร กัญชนะ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่เอาใจใส่ต่อโครงการที่มีงบประมาณสูง
3.นายกสินทร์ วิเศษสินธุ์ อดีตผู้อำนวยการกองแบบแผน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ปรับปรุงแบบแผนทำให้เปิดช่องให้เกิดการทุจริต
4.นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ อนุมัติจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ราคาแพงผิดสังเกต
5.นพ.สุชาติ เลาบริพัตร อดีตผู้อำนวยการ สบภ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องยูวี-แฟน
6.นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บกพร่องต่อหน้าที่ในสมัยเป็นรองปลัด สธ.รับผิดชอบ สบภ.
7.นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ รับผิดชอบโครงการไทยเข้มแข็ง แต่ปัดความรับผิดชอบ
8.นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 6 ให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องยูวี-แฟน ราคาแพง ขณะดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์