ที่มา Voice TV
ฉายาสภาผู้แทน“ถ่อย-เถื่อน-ถีบ” ประธานสภา“ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์” ส่วนประธานวุฒิป็น“ตะแกรงก้นรั่ว” ด้านจตุพร-วัชระ เป็นคู่กัดแห่งปี
สภาผู้แทนราษฏร ได้รับฉายาว่า “ถ่อย-เถื่อน-ถีบ” เนื่องจากตลอดหนึ่งปี ภาพลักษณ์ของสภาผู้แทนราษฎรตกต่ำอีกครั้ง เพราะเกิดความแตกแยกอย่างหนักระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล จนเกือบมีการใช้ความรุนแรงทั้งในและนอกสภาหลายครั้ง มีการโต้เถียง ท้าทายการนับองค์ประชุมกันดุเดือด ด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม หลัง เกิดพลิกขั้วทางการเมือง วุฒิสภา ซึ่งเป็นสภาสูงที่คอยตรวจสอบและกลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร กลับทำหน้าที่ได้ต่ำกว่าความคาดหวังของสังคม เพราะมีพฤติกรรมนิ่งเฉยต่อการจทุริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล จึงได้รับฉายาว่า “ตะแกรงก้นรั่ว” ไม่สามารถแยกสิ่งที่ดีและไม่ดีออกจากกัน ทั้งยังมีภาพลักษณ์ขององค์กรที่คอยตอบแทนบุญคุณกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง จนทำให้การประชุมต้องล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วย ชั้นเชิงที่แพรวพราวดัง “ตลกเฒ่าร้อยเล่ห์” ของนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้รับบทหนักควบคุมการประชุมสภาฯ ที่มีแต่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล แต่ด้วยความที่คร่ำหวอดในสภามานาน ใช้ทั้งการประนีประนอม ไม้แข็งและไม้นวม แม้กระทั่งการปล่อยมุขขำขันเพื่อคลายบรรยากาศตึงเครียดประคองไม่ให้การ ประชุมล่มได้หลายครั้ง ทำให้สมาชิกสภาทุกคนต่างยกนิ้วให้ประธานสภาคนนี้ตรงกันข้ามกับการ ทำหน้าที่ของนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ที่สร้างความผิดหวัง จนได้ฉายาว่า “ประธานหลักเลื่อน” เพราะบ่อยครั้ง นายประสพสุข มักจะโอนเอนตามแรงกดดันของสังคมหรือเกมการเมือง จนเกิดภาวะเลื่อนลอยและขาดความเป็นผู้นำ เห็นได้ชัดเจนจากกรณีการเป็นตัวแทนฝ่าย ส.ว.เข้าประชุมวิป 3 ฝ่ายกับนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่นายประสพสุข ไม่กล้าตัดสินใจใช้อำนาจประมุขสภาสูง เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมตำแหน่งดาวเด่น ของรัฐสภาในปีนี้ ตกเป็นของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เพราะเป็นผู้ที่เลือกใช้ข้อบังคับการประชุมสภาฯ มาเป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แทนการใช้วาทศิลป์ จนทำให้การประชุมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ และหลายประเด็น นพ.ชลน่าน สามารถยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย มาหักล้างสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยได้ส่วน ร.ต.อ.เฉลิมอยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ทิ้งมาดขุนศึกฝ่ายค้านผู้คอยตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเข้มข้นดุ เดือดกลายเป็นดาวอับแสง เพราะการทำหน้าที่ในสมัยนี้ แทบหาสาระไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายหรือการยื่นกระทู้ถามในสภาฯ ที่เน้นการโจมตี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหลักแม้สภาล่มบ่อย ครั้ง 11 เดือน 11 ครั้ง เพราะ ส.ส.ไม่เข้าประชุม แต่นายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้จะป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ขั้วตับ ต้องผ่าตัดในช่วงก่อนปิดสมัยประชุมเพียง 1 วัน กลับเข้าประชุมสภาและร่วมลงมติผ่านกฎหมายถึง 88 ครั้ง จากการประชุมสภาการลงมติ 100 ครั้ง จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนดีศรีสภา เหตุการณ์แห่งปี ต้องยกให้กับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 22-23 เม.ย.2552 ที่รัฐบาลประชุมรัฐสภา เพื่อขอคำแนะนำในการแก้วิกฤตการเมือง หลังเหตุการณ์ “สงกรานต์จลาจล” แต่ปรากฎว่าเวทีสภากลับเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น เพราะการประชุมมีการบิดเบือนข้อมูลและปลุกระดมซ้ำ อีกทั้งยังมุ่งเอาชนะกันโดยไม่มีหลักฐานส่วนวาทะแห่งปี ต้องยกให้คำกล่าวของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่เคยพูดไว้ในสภา ระหว่างตั้งกระทู้สดถามนายกรัฐมนตรีเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยระบุว่า “ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม” จากกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปีในคดีทุจริตที่ดินรัชดา ศึก ระหว่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ศิษย์ร่วมสถาบันนั้น ถูกยกให้เป็นคู่กัดแห่งปี เพราะเมื่อมาอยู่ต่างพรรคต่างขั้ว จึงทำให้ต้องต่อสู้ทางการเมืองกัน และด้วยความที่รู้ทันกัน ทำให้ ส.ส.คู่นี้ มักมีประเด็นวิวาทะกันดุเดือดทั้งในและนอกสภาเสมอ จนทำให้อุณหภูมิในสภาเดือดอยู่หลายครั้ง