ที่มา ประชาไท
ชื่อบทความเดิม :
"สาร" (message) จากปรีดี พนมยงค์ ถึง ในหลวงภูมิพล เมื่อปี 2516: "พระราชปิตุลาทรงให้สัตยาธิษฐานไว้แล้วว่า พระราชปิตุลาและพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีองค์ต่อๆไปทุกพระองค์ จะต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และไม่ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการยึดอำนาจที่ขัดกับรัฐ ธรรมนูญ"
คำชี้แจง
ผมต้องขอชี้แจงอะไรเล็กน้อย เกี่ยวกับข้อเขียนนี้ ซึ่งผมใช้เวลา 10 ปีพอดีกว่าจะลงมือเขียน ในข้อเขียนข้างล่างนี้ ผมจะได้หยิบเอาข้อความบางส่วนของบทความเรื่อง "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีระชน 14 ตุลาคม" ของปรีดี พนมยงค์ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ เพียง 3 เดือนหลังกรณี 14 ตุลา (2516) มาเล่าให้เห็นว่า ในข้อความดังกล่าว มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่ปรีดี พนมยงค์ ต้องการจะส่ง "สาร" (message) กราบบังคมทูลแนะนำอย่างเป็นนัย (oblique advice) ต่อในหลวงองค์ปัจจุบัน เกี่ยวกับบทบาทและพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย
ผม "อ่าน" พบ "สาร" ดังกล่าวมาตั้งแต่ 10 ปีก่อน ดังจะเล่าให้ฟังข้างล่าง แต่หลายปีมานี้ ลังเลที่จะเขียนถึง ด้วยความที่ไม่แน่ใจว่า การเขียนเฉพาะบางประเด็นหรือบางข้อความในบทความดังกล่าวของปรีดี พนมยงค์ อาจจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้ ในการประเมินหรือการมองของผมต่อบทความนั้นทั้งชิ้น ซึ่งผมเห็นว่า มองโดยรวมแล้วมีปัญหาที่สำคัญบางอย่าง (ในงาน "ปาฐกถา 6 ตุลา" ของ ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล ที่ธรรมศาสตร์เมื่อปีที่แล้ว ดร.ฐาปนันท์ ได้ใช้บทความนี้ของปรีดี เป็นแกนกลางของปาฐกถา ผมได้แสดงความเห็นวิจารณ์ไว้ในที่ประชุมด้วย ดูรายงานของประชาไทเกี่ยวกับความเห็นวิจารณ์ของผมในที่ประชุมนั้นได้ที่นี่ ผมเองได้ถือโอกาสเอาการแสดงความเห็นครั้งนั้น "ยกระดับ" การอภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ของผมเองด้วย รายงานประชาไทไม่ได้สรุปส่วนที่ผมกล่าวประเมินบทความปรีดีนี้ไว้ ขอให้ดูตอนท้ายของข้อเขียนข้างล่างนี้)
ยิ่งกว่านั้น ผู้อ่านยังอาจจะเข้าใจผิดได้ว่า ผมเห็นด้วยกับ stategy การเขียนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ปรีดีใช้ในบทความนั้น (รวมถึงที่แสดงออกในข้อความที่ผมกำลังจะเล่าข้างล่างนี้) อันที่จริง ผมไม่เห็นด้วยเลยกับ strategy การเขียนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของปรีดี ทั้งในบทความดังกล่าวและในบทความอื่นๆของปรีดี เช่นเรื่อง "มหาราชและรัตนโกสินทร์" (ปัญหา strategy การเขียนเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ - ปัญหาว่าเราควรอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วยท่าทีอย่างไร จึงจะสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากที่สุด - เป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ผมตั้งใจจะเขียนเล่าใน "อภิปรายสถาบันกษัตริย์: ประสบการณ์ส่วนตัว" ที่เขียนค้างไว้ ที่ facebook ของผม)
แม้ จะมีความลังเล เช่นนี้ แต่อีกใจหนึ่ง ก็คิดมาตลอดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าจะเล่า เพราะมีความน่าสนใจในแง่ประวัติศาสตร์อยู่ โดยเฉพาะในการศึกษาความคิดของปรีดี ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย
ดัง นั้น ที่เขียนเล่าต่อไปนี้ ขอให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ไม่ใช่เพราะผมเห็นด้วยกับปรีดีในเรื่องการประเมินสถานะและบทบาทสถาบัน กษัตริย์ที่เป็นอยู่หรือควรจะเป็น (ความจริงคือผมเห็นว่าปรีดีประเมินผิดพลาดอย่างมหันต์ในปี 2516 ดูตอนท้ายข้อเขียนข้างล่าง) หรือท่าทีในการอภิปรายสถาบันกษัตริย์ แต่เพราะเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีความน่าสนใจในแง่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
5 ธันวาคม 2553
...............................
1.
ในปี 2543 "สำนักพิมพ์สายธาร" ได้นำบทความเรื่อง "จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม" มาตีพิมพ์ซ้ำเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ โดยให้ เกษียร เตชะพีระ เขียน "คำนำเสนอ"
ใน "คำนำเสนอ" เกษียร ได้สรุปเนื้อหาสำคัญๆของบทความของปรีดีไว้ หลังจากผมได้อ่านการสรุปเนื้อหาบทความปรีดีของเกษียรแล้ว ผมก็สะดุดใจมากๆในเนื้อหาบางส่วนของบทความของปรีดี (ตามที่เกษียรสรุป) ซึ่งก่อนหน้านั้น เมื่อผมอ่านบทความปรีดีดังกล่าวเอง เมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น ผมไม่เคยมองเห็นมาก่อน
(ดาวน์โหลดในรูปไฟล์ pdf บทความเรื่อง "จงพิทักษณ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม" พร้อม "คำนำเสนอ" ของเกษียร ที่สำนักพิมพ์สายธารพิมพ์ พิมพ์เป็นเล่มในปี 2543 ได้ที่นี่ "คำนำเสนอ" ของเกษียร ชื่อ "ปรีดี กับ 14 ตุลาฯ" อยู่ที่หน้า 7-17)
กล่าวคือ ผมเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ในบทความปรีดีนั้นที่ตีพิมพ์ไม่กี่เดือนหลังการล้มเผด็จการถนอม-ประภาส ในเหตุการณ์ 14 ตุลา, ปรีดีกำลังพยายามจะส่ง "สาร" (message) บางอย่าง กราบบังคมทูลต่อในหลวงรัชกาลปัจจุบันว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญของประเทศไทยทุกพระองค์ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีพระราชภาระสำคัญอย่างหนึ่งคือ จะต้องทรงพิทักษ์รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และหากมีผู้ทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยอย่างไม่ชอบ จะต้องไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยรับรองรัฐธรรมนูญใหม่ที่คณะผู้ล้มล้าง ประชาธิปไตยนั้นจัดทำขึ้น ทั้งนี้ เป็น"ข้อตกลง" หรือกล่าวให้ชัดคือเป็น "พระราชสัตยาธิษฐาน" (คำให้สัตย์ปฏิณาณ) ที่พระราชปิตุลา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงทำขึ้นกับคณะราษฎร ซึ่งมีผลในลักษณะเป็นพระบรมราชโองการต่อเจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อจากพระราชปิตุลาด้วย
ผม เขียนอีเมล์ถึง เกษียร เล่าเรื่องไอเดียที่ผุดขึ้นมาหลังอ่าน "คำนำเสนอ" ของเขาดังกล่าว เกษียรได้เขียนตอบมา แต่ผมไม่ขอเล่าในที่นี้ และขอย้ำว่า ที่ผมเล่าว่า ผมได้ "ไอเดีย" การ "อ่าน" หรือ "ตีความ" บทความปรีดีว่ามี "สาร" ที่พยายามกราบบังคมทูลในหลวงองค์ปัจจุบัน จากการอ่าน "คำนำเสนอ" ของเกษียรนี้ ก็เพียงเพื่อจะ acknowledge (กิตติกรรมประกาศ) ว่า ผมไม่ได้จู่ๆคิดขึ้นมาเอง แต่เป็นแรงกระตุ้นจากการอ่าน "คำนำเสนอ" ของเกษียร แต่การตีความนี้ย่อมเป็นความรับผิดชอบของผม เกษียรไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
ข้อความที่ปรีดีเขียน ที่ผมตีความว่า เป็นความพยายามจะส่ง "สาร" (message) กราบบังคมทูลในหลวงภูมิพล มีดังนี้ (ขอให้สนใจเป็นพิเศษข้อความที่ผมทำเป็นสีแดงไว้)
ในระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. มีปัญหาว่า จะควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า พระมหากษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาพหลฯ และข้าพเจ้าเข้าเฝ้าที่พระตำหนักจิตรลดา มีพระราชกระแสรับสั่งว่า รัฐธรรมนูญของหลายประเทศที่ประมุขรัฐเป็นประธานาธิบดีนั้นได้เขียนไว้ว่า ประมุขแห่งรัฐมีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญและต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับ หน้าที่ว่า จะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญไว้ ส่วนสยามนั้นรับสั่งว่าไม่จำเป็นต้องเขียน เพราะเมื่อพระองค์พระราชทานแล้วก็เท่ากับให้สัตยาธิษฐาน และยิ่งกว่านั้นตามพระราชประเพณีได้ทรงสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษก ข้าพเจ้ากราบทูลว่า เมื่อได้เปลี่ยนการปกครองมาเป็นราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะโปรดเกล้าฯสำหรับพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป ให้มีความใดเติมไว้ในพระราชสัตยาธิษฐานในพิธีราชาภิเษกบ้าง รับสั่งว่า มี ความในพระราชปรารภที่ขอให้พระบรมวงศานุวงศ์สมัครสมานกับประชาราษฎร์ ในอันที่จะรักษาปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว เจ้านายที่จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อๆไป ก็เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ จึงมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
ครั้นแล้ว ได้รับสั่งให้มหาดเล็กนำราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ พ.ศ. 2468 มาพระราชทานให้ข้าพเจ้าอ่านดูความตอนพระราชสัตยาธิษฐานดั่งต่อไปนี้
"แล้วจึ่งมีพระบรมราชโองการเป็นคำไทย ตามความภาษามคธ ดั่งนี้"
"ดูกร พราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติเป็นที่พึ่ง จัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบายเทอญ"
พระราชครูรับพระบรมราชโองการเป็นปฐมว่า
"ข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระบรมราชโองการพระบัณฑูรสุรสิงหนาทปฐมธรรมิกราชวาจา ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
"เสร็จแล้ว.....
"ทรงตั้งสัตยาธิษฐานตั้งพระราชหฤทัยดำรงทศพิธราชธรรมจักรวรรดิวัตรจรรยาและอื่นๆตามพระบรมราชประสงค์"
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงอธิบายว่า พระราชประสงค์ตอนท้ายนี้ก็ชัดอยู่แล้ว คือพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปต้องรักษารัฐธรรมนูญ
ต่อมาพระราชพิธีราชาภิเษกนี้ได้มีขึ้นอีกในรัชสมัยของรัชกาลปัจจุบัน
พระราชปรารภแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธ.ค. 2475 มีความตอนท้ายว่า
"ขอ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งทหารพลเรือนทวยอาณาประชาราษฎร จงมีความสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรสยามนี้ ให้ยืนยงอยู่คู่กับสยามรัฐราชสีมา ตราบเท่ากัลปาวสาน สมดั่งพระบรมราชประณิธานทุกประการเทอญ"
พระยา พหลฯกราบบังคมทูลว่า การทรงพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น จะทรงทำอย่างไร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯรับสั่งว่า ถ้ารัฐบาลเสนอเรื่องใดที่ขัดรัฐธรรมนูญ พระองค์ก็ส่งกลับคืนไปโดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ พระยาพหลฯกราบทูลต่อไปว่า คณะราษฎรเป็นห่วงว่านายทหารที่ถูกปลดกองหนุนไปจะคิดล้มล้างรัฐบาลขึ้นมา แล้วทูลเกล้าถวายรัฐธรรมนูญใหม่ของเขาให้ทรงลงพระปรมาภิไธย จะโปรดเกล้าฯอย่างไร รับสั่งว่า พระองค์จะถือว่า พวกนั้นเป็นกบฏและในฐานะจอมทัพ พระองค์จะถือว่านั้นเป็นราชศัตรูที่ขัดพระบรมราชโองการ ถ้าพวกนั้นจะบังคับให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ก็จะทรงสละราชย์สมบัติให้พวกเขาหาเจ้านายองค์อื่นลงพระปรมาภิไธยให้ . . .
2.
หลังจากข้อความที่เพิ่งคัดมาข้างต้นนี้ ปรีดี ได้เขียนต่อทันทีว่า ไม่ควรลดอำนาจ ของพระมหากษัตริย์จากความเป็นประมุขและที่สำคัญคือจากความเป็น "จอมทัพ" โดยปรีดีเสนอว่า ในฐานะจอมทัพที่มีอำนาจสั่งการเหนือทหารทั้งปวง รวมทั้งเหนือผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย พระมหากษัตริย์สามารถหยุดยั้งหรือป้องกันไม่ให้เกิดเผด็จการทหารได้ ปรีดี ถึงกับเขียนว่า
ประวัติ ศาสตร์และปรากฏการณ์ปัจจุบันของหลายประเทศที่สถาปนาประมุขรัฐเพียงเสมือน เป็นรูปเทพารักษ์ที่ประดิษฐานไว้ในศาลพระภูมิ หรือศาลเจ้านั้น ก็เพื่อบุคคลอื่นมีอำนาจเผด็จการ
ปรีดี ยังได้ยก ตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นในบางประเทศเช่น ญี่ปุ่น อิตาลี มาเพื่อสนับสนุนว่า ต้องให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจแท้จริง (ไม่ใช่เป็นเพียง "รูปเทพารักษ์") โดยเฉพาะอำนาจแท้จริงในการ "สั่งทหารทั้งปวงได้" ตัวอย่างที่ยกมา ความจริง ออกจะ dubious (น่าสงสัย) อยู่ (เช่นเดียวกับการให้เหตุผลหรือ argument ทั้งหมดของเขา) ในความเห็นของผม ปรีดีผิดพลาดอย่างมหันต์ ที่ถึงขั้น ยกเอาเรื่องรัฐธรรมนูญของระบอบสฤษดิ์และถนอม หลัง 2500 มาเปรียบเทียบกับกรณีที่เขากล่าวว่าเกิดขึ้นในภูฐาน ในฐานะตัวอย่างของการกระทำผิดของผู้เผด็จการที่ "เทิด" กษัตริย์เป็นเพียง "ธรรมราชา" ที่ไม่มีอำนาจสั่งการทหาร (ปรีดีใช้คำว่าเป็นเพียง "พระราชลัญจกร" ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่แบบที่ ผู้จัดการ เคยใช้คือ "ตรายาง" นั่นเอง) เพื่อตัวผู้เผด็จการทหารนั้นเองจะได้เป็นใหญ่ เขาเขียนว่า
ประเทศภูฐาน (Bhutan) เมื่อก่อน ค.ศ. 1907 นั้น พระประมุขถูกเทิดขึ้นเป็น "ธรรมราชา" มีหน้าที่เพียงประกอบพิธีทางศาสนา และเป็นเสมือนพระราชลัญจกร อำนาจปกครองแผ่นดินตกอยู่ในมือของผู้เผด็จการ ซึ่งดำรงตำแหน่ง "เทพราชา" ชะรอยผู้ให้คำปรึกษาจอมพลสฤษดิ์ ในการร่างธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับ 2502 ซึ่งเป็นแบบของฉบับ 2515 นั้นด้วย จะได้กระเส็นกระสายจากซากของราชอาณาจักรฮินดูบริเวณภูเขาหิมาลัยมาบ้าง จึงกระทำทำนองเดียวกัน หากแต่ว่าผู้เผด็จการเหล่านั้นของไทยไม่เรียกตัวเองว่า "เทพราชา" แต่ในการปฏิบัติก็เปรียบเสมือนเป็น "เทพราชา" ของภูฐานก่อน ค.ศ. 1907 นั่นเอง
ผมมองว่า ทัศนะที่ปรีดีแสดงออกนี้ เป็นการยืนยันว่า ในช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลา ไม่นาน ปรีดี เช่นเดียวกับขบวนการนักศึกษาขณะนั้น มี illusion (มายา) เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ผิดพลาดอย่างแรง ("สถาบันกษัตริย์ในฐานะอำนาจต่อต้านเผด็จการทหาร") ความจริงที่จะเกิดขึ้นตามมาในเวลาไม่นานหลังจากนั้น ที่นำไปสู่กรณีนองเลือด 6 ตุลา ไม่ต้องพูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองหลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์โดยรวม หรือความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับทหารโดยเฉพาะ จะได้พิสูจน์ให้เห็นความเป็นมายาของทัศนะเช่นนี้
ในส่วนของขบวนการนักศึกษานั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องพอเข้าใจได้ทีมี illusion ดังกล่าว แต่กรณีปรีดีผู้ผ่านเหตุการณ์ช่วงรัฐประหารของสฤษดิ์ในปี 2500 (แม้เขาจะอยู่ต่างประเทศ) การมีมายาเช่นนี้เป็นเรื่องที่ยากจะอธิบายสักหน่อย