ที่มา ประชาไท
(9 พ.ค.54)เวลา 15.00น. ตัวแทนประชาชน 3 กลุ่มประกอบด้วยโครงการมาตรา 112 รณรงค์เพื่อการตื่นรู้ เครือข่ายสันติประชาธรรม และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เข้าร้องเรียนต่ออนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการ เมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระเป็นประธาน ให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิโดยใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยมีทั้งการคุมคาม ละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในทางวิชาการ สิทธิในการได้รับการประกันตัว รวมทั้งปัญหาเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินคดี
โดยสุธารี วรรณศิริ ตัวแทนจากโครงการมาตรา 112 รณรงค์เพื่อการตื่นรู้ กล่าวแสดงความกังวลถึงการออกมาให้ข่าวของภาครัฐและฝ่ายการเมืองที่ว่ากำลัง ดำเนินการออกหมายจับคนที่เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยเปิดเผยตัวอักษรนำหน้าชื่อ สร้างให้เกิดความกลัวและไม่กล้าแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์
นอกจาก นี้ โดยทั่วไป สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ส่วนใหญ่ในการดำเนินคดี 112 มักถูกสันนิษฐานว่าผิดจริงและจัดเป็นคดีร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้สิทธิของเขาหายไป รวมถึงชี้ว่า การสืบหาพยานหลักฐานควรหาทุกด้านไม่ใช่พุ่งไปที่การพยายามบ่งชี้ว่าเป็นผู้ กระทำผิด
ทั้งนี้ สุธารีเน้นว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับสังคมไทยในภาวะความขัดแย้ง คือการให้มีการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อขับเคลื่อนสังคม โดยประเด็นมาตรา 112 ควรเป็นประเด็นสาธารณะ ถกเถียงได้ ไม่เฉพาะในวงวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรข่มขู่ให้คนหวาดกลัวในการพูดคุยและอภิปรายเรื่องนี้
เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะตัวแทนจากเครือข่ายสันติประชาธรรม กล่าวถึงกรณีการคุกคามนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังนายสมศักดิ์อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์และรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 10 ธ.ค.53 โดยเร็วๆ นี้ นายสมศักดิ์ได้แถลงว่า มีชายสองคนขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามาในหมู่บ้านของนายสมศักดิ์และบอกว่าจะมารับ นายสมศักดิ์ โดยทราบภายหลังว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นทหาร และยังมีผู้โทรศัพท์มาคุกคามด้วย ทั้งนี้เกษมเน้นว่า นี่ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล แต่เป็นหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ที่ควรได้รับการคุ้มครอง
เกษมระบุว่า ในการแถลงข่าวที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ยืนยันว่ายินดีเข้าสู่กระบวนการตามปกติ หากมีการฟ้องร้อง ซึ่งล่าสุด ทราบข่าวว่านายสมศักดิ์ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาความผิดตาม มาตรา 112 ซึ่งฟ้องโดยกองทัพบก ที่สน.นางเลิ้ง ในวันที่ 11 พ.ค.นี้ โดยเกษมแสดงความเห็นว่า การดำเนินคดีและการสืบสวนควรเป็นไปตามกระบวนการปกติ ไม่ใช่ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ โดยชี้ว่าคดี 112 ส่วนใหญ่เป็นคดีการเมือง ซึ่งมักไม่มีการพิสูจน์ตามกระบวนการอย่างชัดเจน
เกษมเสริมด้วยว่า นอกจากมาตรา 112 ของกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์บังคับใช้เป็นลูกโซ่ต่อกันด้วย ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เอื้อให้ผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองละเมิดสิทธิของอีกฝ่าย จึงเสนอให้คณะกรรมการสิทธิฯ พิจารณาว่า การบังคับใช้กฎหมายระดับใดจึงจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ด้าน สุวรรณา ตันเหล็ก ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีการจับกุมนายสมยศ พฤษภาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาฯ และบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ เมื่อเร็วๆ นี้ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า เป็นการจับกุมที่ไม่โปร่งใสและเป็นการคุกคามสื่อ โดยก่อนหน้านั้น มีเจ้าหน้าที่บุกค้นสำนักพิมพ์ คุกคามสายส่ง โดยห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับสื่อเสื้อแดงด้วย
ทั้งนี้เธอทราบมาว่า หมายจับลงวันที่ 15 ก.พ.54 ซึ่งในช่วงวันที่ 20-22 ก.พ. นายสมยศยังปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทัวร์เที่ยวกัมพูชา ไปขึ้นเวทีปราศรัย แถลงข่าวตามปกติ ตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีการจับตามหมายจับ แต่กลับปล่อยจนถึงวันที่ 30 เม.ย. และมาจับตัวที่ด่านอรัญประเทศ โดยดีเอสไอระบุว่า มีเจตนาจะหลบหนี ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว เป็นการออกนอกประเทศตามขั้นตอน โดยถือหนังสือเดินทางเข้าแถวตามปกติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน นายสมยศยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ด้วยเหตุผลว่าเกรงจะหลบหนีและไปจัดการกับพยานหลักฐาน ซึ่งเธอมองว่านี่เป็นการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อจับกุม คุมขัง และไม่ให้ประกันตัว
ขณะที่ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวว่า อนุกรรมการฯ จะตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวว่ามีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ พร้อมกล่าวว่าเรื่องนี้สำคัญเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเคยตรัสว่า ต้องระวังเรื่องคดีหมิ่นฯ เพราะจะกระทบกับสถาบันฯ โดยมีการอ้างมาตรา 112 เพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายกันทางการเมืองซึ่งไม่ถูกต้อง
"การ ตรวจสอบเรื่องนี้จึงเป็นทั้งเรื่องสิทธิและทำให้สถาบันอยู่กับสังคม ไทยได้โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง" นพ.นิรันดร์กล่าวและว่า หลังจากนี้ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในคดีของนายสมศักดิ์มาให้ข้อมูล ส่วนกรณีของนายสมยศ ก็จะไปเยี่ยมเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงต่อไป