ที่มา มติชน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
กอง ทัพบกเชื่อว่า มีคนจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์กันมาก ฉะนั้นเพื่อปกป้องสถาบันฯ จึงพากันชุมนุมในค่ายทหาร พร้อมอาวุธยุทธภัณฑ์เพียบพร้อม ประกาศว่าจะปกป้องสถาบันฯ จนเลือดหยดสุดท้าย
ผม ไม่ปฏิเสธหรอกครับว่า ในระยะสัก 30-40 ปีมานี้ พื้นที่ซึ่งหวงห้ามเอาไว้สำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมีอาณาบริเวณกว้าง ขวาง ใครจะล่วงละเมิดเข้าไปไม่ได้ และนับวันก็มีทีท่าว่าพื้นที่นี้ถูกขยายเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ
พื้นที่หวงห้ามทางสังคม หมายถึงอะไร?
คำ ตอบง่ายๆ ก็คือเป็นพื้นที่ทางสังคมซึ่งคนอื่นเข้าไปไม่ได้ เช่นเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเข้าไปตรวจสอบ (ยังไม่พูดถึงว่า อาการที่อยากเข้าไปตรวจสอบก็ถูกถือว่าละเมิดแล้ว) พูดถึงก็ไม่ได้ นอกจากพูดไปในทางที่กำหนดไว้แล้ว ด้วยภาษาที่กำหนดไว้แล้ว เพราะกฎระเบียบของพื้นที่ประเภทนี้ไม่ได้ถูกกำหนดมาจากภายนอก แต่เป็นกฎระเบียบที่กำหนดกันขึ้นเองภายในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ในระยะ 4-5 ปีมานี้ พื้นที่ทางสังคมนี้กลับถูกละเมิดหรือรุกเข้าไปจากภายนอกมากขึ้น จนจะหาขอบเขตที่แน่นอนไม่ได้ แต่เท่าที่ผมได้อ่านหรือฟังมา ก็ต้องสรุปว่า แทบจะไม่มีการบุกรุกละเมิดพื้นที่ของฝ่ายใด ที่ต้องการปิดพื้นที่นี้ลงโดยสิ้นเชิง
พูดง่ายๆ ก็คือไม่มีฝ่ายใดที่ต้องการล้มเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ฉะนั้น กล่าวกันอย่างเคร่งครัดแล้ว ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ยังไม่ได้ถูกคุกคามเลย
พื้นที่ ทางสังคมที่หวงห้ามไว้โดยเฉพาะนั้นมีในทุกสังคม และในทุกยุคสมัย อีกทั้งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น ในเมืองไทยเอง พื้นที่ทางสังคมของพระสงฆ์เคยมีอาณาบริเวณกว้างกว่าปัจจุบันมาก แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป พื้นที่ทางสังคมของพระสงฆ์ก็หดลงไปเรื่อยๆ โดยสถาบันพระสงฆ์ก็ยังอยู่ดีอย่างมั่นคงในสังคมไทย
ในสังคมอื่นๆ พื้นที่ทางสังคมที่หวงห้ามไว้โดยเฉพาะหลายพื้นที่ ก็ต้องหดแคบลงเหมือนกัน แต่ความมั่นคงของสถาบันที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นขึ้นอยู่กับสมรรถนะว่า จะปรับตัวเองให้เหมาะกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ และได้ดีเพียงไร กำลังเพียงอย่างเดียวไม่เคยรักษาความมั่นคงให้แก่สถาบันใดๆ ได้
การแสดงพลังของกองทัพจึงไม่ได้ช่วยปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่อย่างใด ร้ายไปกว่านั้น หากทำให้เข้าใจผิดว่าการแสดงพลังนี้ฝ่ายสถาบันฯเป็นผู้ริเริ่มหรือส่งเสริม อยู่เบื้องหลัง ก็ยิ่งทำให้สถาบันฯขาดความมั่นคงขึ้นไปอีก เพราะแสดงให้เห็นว่าไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากใช้กำลัง
อย่า ว่าแต่อื่นไกลเลย กองทัพไทยเองก็เป็นสถาบันที่มีพื้นที่ทางสังคมของตนเอง เคยกีดกันหวงห้ามการล่วงล้ำของคนอื่นไว้ให้ห่างได้มานาน แต่สังคมไทยก็เปลี่ยนไปแล้ว อย่างไรเสียอำนาจที่จะหวงห้ามการล่วงล้ำกำลังลดลงไปเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่กองทัพมีและใช้กลวิธีเพียงอย่างเดียวในการรักษาพื้นที่ทางสังคมของตนไว้
นั่นคือพละกำลัง
สถานการณ์ ในปัจจุบันก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า พละกำลังที่เคยมีและยังมีอยู่มากนั้น ไม่สามารถปกป้องการล่วงละเมิดพื้นที่ทางสังคมของตนเองได้ ขนาดมีม็อบมาร้องให้ยึดอำนาจ ยังได้แต่แหะๆ
แท้จริงแล้ว ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ที่การยอมรับของประชาชน และประชาชนได้แสดงการยอมรับนั้นผ่านรัฐธรรมนูญ ดังที่กล่าวแล้วว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของทุกฝ่ายในเวลานี้ (ยกเว้นบางกลุ่มที่มีจำนวนน้อยมากๆ) ไม่มีฝ่ายใดเห็นว่าควรยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา ทั้งที่ร่างโดยคณะรัฐประหารและร่างตามวิถีทางประชาธิปไตย ต่างก็ยอมรับให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ
ฉะนั้นจะ พูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า ความมั่นคงของสถาบันฯอยู่ในรัฐธรรมนูญ ตรงกันข้ามกับความเข้าใจของกองทัพ ซึ่งได้ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญไปหลายฉบับด้วยข้ออ้างว่าเพื่อปกป้อง สถาบันฯ ทุกครั้งที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้ง ก็เป็นทุกครั้งที่หาความแน่นอนใดๆ แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้
เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์มีได้เฉพาะแต่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เมื่อใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ให้มีสถาบันนี้ ก็ไม่มีสถาบันนี้
แต่ เราก็ได้ผ่านการยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้ว โดยสถาบันพระมหากษัตริย์มิได้ถูกกระทบกระเทือนไปด้วย กรณีอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
คำตอบก็คือ เกิดขึ้นได้ด้วยทฤษฎีประหลาดอันหนึ่งซึ่งผมได้ยินมาจากนักกฎหมายท่านหนึ่ง
ท่าน อธิบายว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยก็จริง แต่ครั้นเมื่อฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งไปแล้ว อำนาจอธิปไตยจะไปอยู่ที่ไหน ท่านอธิบายว่าอำนาจอธิปไตยก็จะกลับไปอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ใหม่ และเพราะทรงถืออำนาจอธิปไตยโดยตรงเป็นการชั่วคราวนั้น ย่อมทรงใช้อำนาจนั้นไปในทางใดย่อมได้ทั้งนั้น แต่ก็ทรงใช้อำนาจนั้นไปในทางที่ก่อให้เกิดระเบียบแห่งรัฐกลับคืนมา พร้อมทั้งคืนอำนาจอธิปไตยกลับสู่ปวงชนชาวไทยใหม่ แม้ว่าจะกลับคืนมาในลักษณะที่ไม่อาจใช้อะไรได้ก็ตาม
ผมแย้งว่า ถ้าอย่างนั้นก็ต้องถือว่าไม่มีวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดขึ้นในโลก ผมคิดว่าคณะราษฎรได้วางหลักเกณฑ์สำคัญสองข้อ ซึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญเมื่อวัน ที่ 27 มิถุนายน ก็เท่ากับทรงรับรองพันธสัญญาระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ และปวงชนชาวไทยตลอดไป และผูกพันสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดไปด้วย
หลักการสองข้อนั้นอาจสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ได้ดังนี้
1.ปวงชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตลอดมา ไม่ใช่เพิ่งเป็นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่มีผู้อื่นมาแย่งเอาอำนาจอธิปไตยของปวงชนไปใช้ในทางมิชอบ จึงได้กลับมาทวงคืนอำนาจนั้นให้กลับมาเป็นของตนใหม่ในวันที่ 24 มิถุนายน หลักการข้อนี้เห็นได้ชัดในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคณะราษฎร
จริงอยู่ ผู้นำคณะราษฎรได้ขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้ใช้ถ้อยคำล่วงเกินบุรพกษัตริย์ใน แถลงการณ์ฉบับนั้น และยอมรับว่าบุรพกษัตริย์ก็ได้ทรงทำคุณงามความดีนานัปการเช่นกัน แต่ผู้นำคณะราษฎรไม่ได้ขอเพิกถอนหลักการว่า อำนาจอธิปไตยย่อมเป็นของปวงชนชาวไทยตลอดมาไม่
ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อมีการฉีกรัฐธรรมนูญ อำนาจอธิปไตยย่อมกลับไปเป็นของประชาชนใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นอำนาจอธิปไตยที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับรัฏฐาธิปัตย์อีกต่อไป ประชาชนจะขัดขืนกับรัฏฐาธิปัตย์ที่ช่วงชิงเอามาอย่างมิชอบนั้นอย่างไรก็ได้ พระมหากษัตริย์ย่อมไม่มีพระราชอำนาจจะแต่งตั้งบุคคลใดขึ้นดำรงตำแหน่งอะไร ได้อีก เพราะย่อมไม่ทรงร่วมอยู่ในรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่ตั้งอยู่บนอำนาจอธิปไตยของปวง ชนชาวไทย ตามพันธสัญญาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงให้ไว้กับคณะราษฎร
2.พระ มหากษัตริย์ไทยหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กับพระมหากษัตริย์ไทยก่อนวันที่ 24 มิถุนายน ไม่ใช่สถาบันทางการเมืองอันเดียวกัน และไม่มีความสืบเนื่องกันในทางหลักกฎหมาย (ไม่เกี่ยวกับความเป็นจริง) เพราะพระมหากษัตริย์ไทยก่อนวันที่ 24 มิถุนายน ไม่มีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ
พระ มหากษัตริย์ซึ่งมีที่อยู่ในรัฐธรรมนูญคือพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้อำนาจ อธิปไตยแทนปวงชนชาวไทย โดยผ่านทางนิติบัญญัติ, ตุลาการ และบริหาร ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อปวงชนชาวไทย
ฉะนั้นหากฉีกรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับไม่ยอมรับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกต่อไป
อย่าง น้อยในทางกฎหมาย ทุกครั้งที่กองทัพยึดอำนาจ มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะเกิดปัญหาทางความถูกต้องชอบธรรมด้านกฎหมายที่ยุ่งเหยิงอีนุงตุงนังมากๆ เสี่ยงต่อการเกิดจลาจล และเสี่ยงต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง
หากกองทัพอยากจะปกป้องสถาบันฯจริง ก็ต้องไม่ยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ
ทฤษฎี ประหลาดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยนี้ ทำให้ต้องบิดเบือนประวัติศาสตร์กันยกใหญ่ ที่สำคัญคือสร้างความสืบเนื่องระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กับหลังจากนั้น ประหนึ่งว่าเป็นสถาบันทางการเมืองอันเดียวกัน และพระราชทานรัฐธรรมนูญโดยไม่เกี่ยวกับวันที่ 24 มิถุนายน เลย
จริง อยู่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมีพระราชดำริจะประกาศใช้ธรรมนูญปกครองราช อาณาจักรมาตั้งแต่ก่อน 24 มิถุนายน 2475 แต่ธรรมนูญดังกล่าว (ทั้งที่ฝรั่งร่างและคนไทยร่าง) ไม่ได้ยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เพียงแต่จะตั้งตำแหน่งฝ่ายบริหารขึ้นต่างหาก แยกออกไปจากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อมิให้การวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองกระเทือนมาถึงสถาบันฯเท่านั้น แต่คณะบริหาร (หรือตัวอัครมหาเสนาบดี) ก็ต้องขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์อยู่ดี
การบิดเบือนประวัติศาสตร์นี้ ลามไปถึง ร.6 และ ร.5 เพราะอ้างว่าพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ล้วนตั้งพระราชหฤทัยจะสถาปนาระบอบ ประชาธิปไตยขึ้นในประเทศไทย ทั้งๆ ที่ทั้งสองพระองค์ล้วนมีพระราชนิพนธ์ที่แสดงอย่างชัดเจนว่า ประชาธิปไตย หรือระบอบรัฐธรรมนูญ ไม่เหมาะกับประเทศสยาม
จนถึงประกาศว่าจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 คือ แมคนา คาร์ตา ของไทยก็มี
แต่ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อสร้างความสืบเนื่องที่ไม่จริงให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น
ดังนั้น แค่เล่าประวัติศาสตร์กันอย่างตรงไปตรงมา ก็ทำให้ทฤษฎีประหลาดนี้ดำรงอยู่ไม่ได้แล้ว
ถ้าเราต้องหลอกอดีต หลอกปัจจุบัน ยังจะเหลืออนาคตอะไรอีกเล่าครั