ที่มา ประชาไท
"กลุ่ม ช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมือง เสื้อแดงอุบลราชธานี" ออกแถลงการณ์ "เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงอุบลราชธานี" จี้คืนผู้ต้องขังเสื้อแดงให้กับครอบครัว
เมื่อ วันที่ 20 พ.ค. 54 - ที่ จ.อุบลราชธานี กลุ่มช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมือง เสื้อแดงอุบลราชธานีได้ออกแถลงการณ์ "เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดงอุบลราชธานี" โดยมีรายละเอียดดังนี้
- เนื่องในโอกาสครบรอบขวบปีการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงอุบลฯ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ซึ่งวันเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้ว การชุมนุมจบลงด้วยเหตุเพลิงไหม้ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับการถูกสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง อย่างเหี้ยมโหดที่กรุงเทพมหานคร - การชุมนุมของคนเสื้อแดง เป็นการชุมนุมของมวลชนผู้รักประชาธิปไตย มวลชนคนเสื้อแดงกำเนิดจากศรัทธาในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่มาของรัฐบาลที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลของพวกเรา โดยพวกเรา และเพื่อพวกเรา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ผู้มีอำนาจบาตรใหญ่กลับปฏิเสธสิทธิเสียง และได้ปล้นอำนาจของเราไปด้วยการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของประชาชน อย่างไร้ยางอาย - ในปีที่ผ่านมาการชุมนุมของคนเสื้อแดง เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย พวกเราไม่ต้องการรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม และเพียงต้องการให้มีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งใหม่ แต่การเรียกร้องซึ่งเป็นเรื่องสามัญในระบอบประชาธิปไตย กลับถูกปิดตาย และท่ามกลางการชุมนุมของมวลมหาประชาชนคนเสื้อแดงที่ยิ่งใหญ่ ผู้มีอำนาจกลับทำทุกอย่างที่จะรักษาอำนาจของตนเองไว้ ด้วยการปลุกปั่น สร้างสถานการณ์ จนนำไปสู่การใช้กองกำลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 93 คน และบาดเจ็บอีกนับพัน เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังเป็นเรื่องติดค้างที่พวกเราจะติดตาม ให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการเจ็บการตายของประชาชน ถูกนำตัวมาลงโทษให้ถึงที่สุด - ในกรณีเหตุเพลิงไหม้ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี จนเป็นเหตุให้มีการจับกุมคนเสื้อแดงในข้อหาผู้ก่อเหตุ และจนบัดนี้ก็ยังมีผู้ต้องขังอีก 21 คน ที่อยู่ในขั้นการไต่สวนพิจารณาคดี และถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดอุบลฯ ในโอกาสครบรอบปีของเหตุการณ์เรามีข้อเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องดังนี้ - ประการแรก คดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลฯ ต้องถูกพิจารณาในฐานะคดีการเมือง การพิจารณาคดีนี้ไม่อาจมองว่าเป็นเรื่องอาชญากรรมตามปกติ และเรื่องนี้ไม่อาจพิจารณาตัดตอนแยกส่วนจากการชุมนุมที่เกิดขึ้นก่อนหน้า นั้น และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อุบลฯ ก็ไม่อาจพิจารณาโดยตัดตอนแยกส่วนจากเหตุการณ์ที่กรุงเทพฯ การแสดงออกของมวลชนที่อุบลฯ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งพวกเขาเห็นว่า รัฐได้ใช้อำนาจอย่างไร้ความยุติธรรมและป่าเถื่อน การแสดงออกของพวกเขาจึงเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์เพื่อประท้วงต่อการกระทำ ของรัฐอันเลวร้ายสุดจะทน - ประการที่สอง คดีการเมืองเป็นเรื่องของความขัดแย้ง ที่ต่างฝ่ายต่างใช้อำนาจโต้ตอบไปมาเพื่อเอาชนะกัน เราจึงขอเรียกร้องว่า การพิจารณาคดีต้องไม่มุ่งที่การเอาผิดคนเสื้อแดงแต่ฝ่ายเดียว แต่ต้องมุ่งเอาผิดต่อรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนในการก่อเหตุการณ์ กรณีศาลากลางอุบลฯ ยังมีข้อกังขาว่า ทั้งที่ทางการสามารถประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าได้ แต่เหตุใดเจ้าหน้าที่ของจังหวัดจึงย่อหย่อนอย่างผิดปกติ ต่อการป้องกันการก่อเหตุของผู้ชุมนุม เหตุใดจึงหน่วยที่เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมคือกลุ่มที่ไม่ถูกฝึกมาให้รับมือกับ เหตุการณ์ จนมีการใช้อาวุธปืนกับผู้ชุมนุมโดยไม่จำเป็น จนนำไปสู่การเผาศาลากลางในที่สุด - ประการสุดท้าย ผู้ต้องหาทั้ง 21 คน ต้องได้รับสิทธิการประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกระบวนการยุติธรรม ผู้รับผิดชอบไม่มีเหตุผลใดอันใดที่จะหน่วงเหนี่ยวคัดค้านการประกันตัว ทั้งนี้มีแนวปฏิบัติต่อผู้ต้องหาในคดีเดียวกันหรือทำนองเดียวกันจำนวนมากที่ ได้รับการประกันตัวอย่างไม่มีปัญหา และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งรัฐบาลได้แต่งตั้งขึ้น ก็ได้เสนอความเห็นมาโดยตลอดว่า ควรให้มีการประกันตัวผู้ต้องขังคนเสื้อแดง รวมทั้งนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เห็นด้วยกับแนวทางการให้ประกันตัวโดยเร็วที่สุด - กระบวนการยุติธรรมของไทย จักต้องคืนความยุติธรรมสู่สังคม คืนผู้ต้องขังเสื้อแดงให้กับครอบครัว อย่าลืมว่าพวกเขาถูกขัง อย่าขังพวกเขาจนลืม
|
ที่มาข่าวและภาพประกอบ: เฟซบุ็กของธีร์ อันมัย