ที่มา มติชน
วัน ที่ 18 พฤษภาคม ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองในชาติ (คอป) กล่าวในระหว่างร่วมพิธีบรรจุอัฐิผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ตอนหนึ่งถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ว่า นอกจากญาติมิตรของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจะเป็นผู้สูญเสียแล้ว ประชาชนทั่วไปผู้รักประชาธิปไตยและรักสันติก็ต้องร่ำให้กับผลของความรุนแรง ในการห้ำหั่นกันของคนไทยด้วยกันเองในเหตุการณ์ครั้งนั้น
ศ.ดร.คณิต กล่าวว่า ทุก ครั้ง ที่มีเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคมที่มีปัญญาจะต้องนำมาเป็นบทเรียนให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเรียกว่า ปฎิรูป ปฎิวัติ อภิวัฒน์หรือคำอื่นใดก็แล้วแต่ สามารถเกิดขึ้นได้ตามวิถีทางที่เป็นอารยะ อย่างเช่นวิถีประชาธิปไตย และต้องใช้บทเรียนนั้นป้องกันมิให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความรุนแรงขึ้น อีก แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ 2535ซึ่งตนเป็นกรรมการอยู่ด้วย ได้รายงานผลการตรวจสอบต่อรัฐบาลไปแล้ว แต่ถูกเก็บเงียบไว้ที่กระทรวงกลาโหมไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน
“ความ สูญเสียของประเทศชาติและประชาชนในครั้งนั้นแทบจะสูญเปล่า ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในแง่เป็นบทเรียน จากปี 2535 ถึงปี 2553 ความรุนแรงก็เกิดขึ้นอีกจนเป็นเหตุให้คนต้องล้มตายและบาดเจ็บจำนวนมาก จากการห้ำหั่นของคนชาติเดียวกันนับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง”
ประธาน คอป กล่าวอีกว่า โดยปกติเมื่อมีเหตุสูญเสียบาดเจ็บล้มตายจากฝีมือของคนจะต้องมีผู้รับผิดชอบ เป็นหน้าที่ของรัฐ โดยกระบวนการยุติธรรมจะต้องค้นหาความจริงและจัดการกับผู้นั้น แต่บ้านเรากระบวนการยุติธรรมพิกลพิการประชาชนไม่เชื่อถือศรัทธา จนถึงขณะนี้ยังหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ทั้งเหตุการณ์ปี 2535 และปี 2553 จนต่างชาติต้องทวงถาม
“เมื่อ กระบวนการยุติธรรมปกติไม่ทำงาน พึ่งไม่ได้ หลายมาตรฐานดังที่วิพากษ์วิจารณ์กัน ซึ่งคนที่ประสบหรือเกี่ยวข้องต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยตัวเองเท่า นั้นจึงจะเห็นจริงว่า มาตรฐานขั้นสูงใช้กับผู้มีอำนาจและเงินตรา และก็จะลดระดับต่ำลงไปเรื่อยๆ ตามฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละคน ประกอบกับถูกกดดันจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งจากในและนอกประเทศ รัฐบาลก็ตั้ง คอป.ขึ้นมา”
ศ.ดร.คณิต กล่าวถึงการทำงาน คอป.ที่ผ่านมาว่า ไม่ง่ายเลย เพราะไม่ใช่เจ้าพนักงาน ไม่มีอำนาจ ไม่มีเครื่องมือเหมือนเจ้าพนักงาน เพียงได้แต่ขอร้องขอความร่วมมือ แม้บางหน่วยไม่ให้ความร่วมมือก็ตาม เราต้องการทำให้ทุกฝ่ายเชื่อว่า ไม่ได้อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ต้องการค้นหาความจริงเพื่อสรุปบทเรียน และข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติ
“เรา ไม่ต้องการค้นหาคนว่าใครผิดใครถูกเพราะไม่ใช่หน้าที่ แต่ต้องการค้นหาความ คือความจริงว่าเหตุการณ์รุนแรงพัฒนามาจากเหตุอะไร อย่างไร จะได้แก้ไขได้ตรงจุด เพราะไม่ว่าความขัดแย้งของมนุษย์จะเกิดจากตัณหาหรือมานะ หรือทิฐิ ล้วนมีวิธีการแก้ไขที่ต่างกันไป ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรงซึ่งมัก ใช้กันในหมู่โจรและคนพาล ดังนั้นผู้ที่มีอาวุธอยู่ในมือถ้าใช้ปัญญาก็จะไม่แก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยการ ยึดอำนาจหรือรัฐประหาร”
ประธาน คอป. กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอต่างๆที่คอป.ทยอยเสนอไปยังรัฐบาล แม้ไม่ได้รับการตอบสนองในทางที่ดีนัก ก็จะทำต่อไปจนบรรลุภารกิจในการตรวจสอบและค้นหาความจริง ส่วนภารกิจในการสร้างความปรองดองของคนในชาติเป็นของรัฐบาลที่จะต้องดำเนิน การ โดยดับโมหะและโทสะก่อนแล้วให้อภัยใช้ความจริงใจ และใช้เครื่องมือทั้งหลายที่มีอยู่มากมายทั้งคนและงบประมาณ เพื่อการนี้อย่างเอาจริงเอาจัง
“ที่ สำคัญอีกประการหนึ่ง ต้องพัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของประชาชนว่าสามารถจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นได้ คนโกงต้องถูกลงโทษทุกคนไม่ว่าจะมีฐานะระดับไหน ไม่ปากว่าตาขยิบ ไม่ลูบหน้าปะจมูก ไม่ลูกท่านหลานเธอ ยิ่งโทษหนักยิ่งต้องไม่มีนิรโทษกรรม ปัญหาการคอร์รัปชั่นจึงจะเบาบางลง ไม่เป็นเหตุให้อ้างเพื่อเปลี่ยนแปลงแบบอนารยะอีก”
( ข้อมูล Thaireform )