ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
อีก สองวันจะเป็นวันครบรอบปีเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2554 ที่มีผู้เสียชีวิตในวันเดียวเป็นจำนวนมากที่สุดจากจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 91 ศพ อันเนื่องมาจากคำสั่งสลายการชุมนุมของรัฐบาล
แต่การสอบสวนสาเหตุ และการติดตามหาตัวผู้กระทำผิดในการสังหารประชาชนและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลางเมืองใหญ่ กลับแทบจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ
ความ ไม่คืบหน้านี้เองที่เป็นแรงกดดันให้ญาติของผู้เสียชีวิต ไปจนกระทั่งถึงผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คนตั้งคำถามเอากับความจริงใจในการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่รับผิด ชอบ
ตั้งคำถามว่าทำไมจึงต้องกลัวความจริง
คําถามนี้มิได้ดัง ขึ้นจากภายในสังคมไทยด้วยกันเองเท่านั้น แต่รัฐบาลของต่างประเทศที่มีประชาชนในสังกัดของตนเองเสียชีวิตในเหตุการณ์ นี้ด้วย ก็ตั้งคำถามในแบบเดียวกัน
ดังเช่นที่รัฐบาลอิตาลีตั้งคำถามกับการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โปเลงจี ผู้สื่อข่าวชาวอิตาลี
ดัง เช่นที่รัฐบาลญี่ปุ่นตามติดเพื่อขอรับทราบสาเหตุการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่น ด้วยความเอาจริงเอาจังยิ่ง
มีทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางมาเอง มีทั้งการที่เจ้าหน้าที่ของสถานทูตขอเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ไทยอยู่เป็นระยะ
ลํา พังการเสียชีวิตอย่างผิดปกติเพราะถูกสังหารด้วยอาวุธสงคราม ก็เป็นเรื่องเลวร้ายในตัวเองอย่างยิ่ง แต่เมื่อเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและผ่านพ้นไปแล้ว ย่อมไม่สามารถแก้ไขอะไรได้
สิ่ง ที่จะทำให้ความเลวร้ายของการฆาตกรรมทุเลาลงได้บ้างสำหรับผู้อยู่เบื้องหลัง ก็คือการอำนวยให้ความจริงและความยุติธรรมเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ตรงไปตรงมาที่สุด และโปร่งใสที่สุด
อะไรก็ตามที่นอกเหนือไปจากกระบวนการอำนวยความจริงและความยุติธรรม จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมความเลวร้ายนั้นให้หนักข้อรุนแรงยิ่งขึ้น
และทำให้คำถามว่าทำไมจึงต้องกลัวความจริงยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้น