ที่มา ประชาไท
สุรพศ ทวีศักดิ์
เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์มั้งครับ ที่พอละครตอนอวสานจบลงแล้ว มีพระออกมาแสดงธรรมต่อว่า ผู้ชมควรจะได้ “ธรรมะ” อะไรจากละคร
อาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้กระทรวงวัฒนธรรมออกมาโชว์ผลงานเซ็นเซอร์ “ความเลว” ของ “เรยา” แห่ง “ดอกส้มสีทอง” ทว่าเกิดปรากฎการณ์ที่คาดไม่ถึง คือกระแสเชียร์เรยาพุ่งแรงแซงกระแส “สะแกนกรรม” จนเกิดคำถามย้อนศรเช่นว่า ทำไมกระทรวงวัฒนธรรมไม่สั่งเซ็นเซอร์ ฉากรุนแรง เลวร้าย ของ “ผู้ชายอย่างเจ้าสัว” บ้าง (เช่น ฉากเจ้าสัวสั่งให้ลูกน้องเอาผ้าพันตัวคุณนายสี่แบกไปโยนลงในบ่อน้ำทั้งเป็น ฯลฯ)
จึงเกิดคำถามตามมาว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีหน้าที่รักษา “สองมาตรฐานทางศีลธรรมระหว่างเพศ” ด้วยหรือ?
กระนั้นก็ตาม หลายคนคงนึกไม่ถึงว่า จะได้ฟัง “ธรรมะจากเรยา” โดย ท่าน ว. วชิรเมธี พระนักคิดนักเขียนชื่อดังแห่งยุค เจ้าของวาทประดิษฐ์ “สนุกเฉพาะที่ แต่เสียหายระดับสากล” กรณีเด็กโชว์นมเมื่อสงกรานต์สีลมที่ผ่านมา (โปรดรับชมและรับฟัง)
สังเกตนะครับ แม้ว่าท่านจะพยายามชี้ให้คนดูเข้าใจที่มาที่ไปของพฤติกรรมที่มีปัญหาของเรยา แต่ “วรรคทอง” อยู่ที่ข้อความที่มีสาระสำคัญ ว่า “เพราะมีดำจึงขับเน้นให้เห็นขาวได้ชัดเจน เพราะมีขาวจึงทำให้รู้ดำ” นั่นคือเรื่องราวของเรยาถูกใส่เข้าไปในกรอบแคบๆ ของ “ธรรมะขาว-ดำ” หรือเรื่องดีกับเลว แล้วก็สรุปธรรมะจากละครทำนองว่า “เราเรียนรู้จากคนดีเพื่อเอาเยี่ยง และเรียนรู้จากคนชั่วเพื่อไม่เอาอย่าง”
ปัญหาของ “ธรรมะขาว-ดำ” คืออะไร?
1. ทำให้เรามองเห็นแต่ความหมายของถูกกับผิด ดีกับเลว แต่ไม่ได้เห็นความหมายของ “ความเป็นคน” ที่ซับซ้อนและมีบริบทหลากหลาย หากแต่ความเป็นคนจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเขาเป็น “คนดี” ตาม “นิยาม”แห่งวาทกรรม “ธรรมะขาว-ดำ” เป็นหลัก
2. ความหมายของ “คนดี-คนเลว”ตามนิยามของธรรมะขาว-ดำ ที่เป็นอิทธิพลทางความคิดของพุทธศาสนาเถรวาทคือ “คนดีสมบูรณ์แบบ-คนเลวสมบูรณ์แบบ”เช่น ดีสมบูรณ์แบบอย่างพระอรหันต์ พระพุทธเจ้า และเลวสมบูรณ์แบบอย่างพระเทวทัต (กระทรวงวัฒนธรรมควรเสนอให้ตัดเรื่องประวัติพระเทวทัตออกจากพระไตรปิฎกด้วย นะครับ เพราะพฤติกรรมของพระเทวทัตเลวและแรงกว่าเรยาเป็นร้อยๆ เท่า)
3. ฉะนั้น คนที่มีความเป็น “คนที่สมบูรณ์” ก็คือ คนดีสมบูรณ์แบบ คนเลวไม่มีความเป็นคน หรือมีความเป็นคนที่ “บิดเบี้ยว” ไป เช่น เป็น “มนุษย์ดิรัจฉาน” (มนุสฺสติรจฺฉาโน) “มนุษย์เปรต” (มนุสฺสเปโต) ฯลฯ
4. เมื่อคนเลวไม่มีความเป็นคนตามนิยาม “ธรรมะขาว-ดำ” สังคมก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติต่อคนเลวอย่างที่ควรปฏิบัติต่อมนุษย์ก็ได้ เช่น ไม่ต้องปฏิบัติต่อเขาบนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนเป็นต้นก็ได้ สังเกตไหมครับคนที่กล่าวหาว่า ทักษิณเป็นคนเลว คนเสื้อแดงเป็นคนเลว เรียกร้องให้ทำรัฐประหารและสะใจกับการใช้ “สองมาตรฐาน” ครั้งแล้วครั้งเล่า กับทักษิณและพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณ คือคนที่อ้างว่าตนเป็นคนดีมีคุณธรรม อ้างพุทธศาสนา อ้าง “พ่อแม่ครูบาอาจารย์” กันทั้งนั้น
และที่เชียร์ให้ล้อมปราบคนเสื้อแดง (หรือ “วางเฉย”) ก็มีตั้งแต่ ชาวพุทธที่เคร่งครัด กินมังสวิรัติ ชาวพุทธดาราไฮโซที่ชอบอวดการเข้าวัดทำบุญ การเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม การจาริกแสวงหา “แก่นพุทธปรัชญา” ชาวพุทธที่ “เฝ้าดูจิต” ระแวดระวังกิเลส ปล่อยวางความเห็นแก่ตัว หรือตัวกู ของกู ไปจนถึงชาวพุทธที่ซาบซึ้งในรสพระธรรมที่นิยมกด “like” สาธุๆ คมจริงๆ เจ้าค่ะ/ขอรับ ขอแชร์ด้วยคนนะเจ้าค่ะ/ขอรับ (เจริญพร, D จ้าโยม, น่ารักจริงๆ อ่ะ ฯลฯ)
5. ลองนึกย้อนหลังดูนะครับ เริ่มจาก “ธรรมะตอนอวสานของเรยา” ย้อนไปถึงช่วงเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองที่มีการสร้างวาทกรรม “เราจะสู้เพื่อในหลวง” “ธรรมนำหน้า” จะเห็นภาพชัดเจนว่า “ธรรมะขาว-ดาว” ถูกนำมาทาบทับ เป็นเกณฑ์ตัดสิน และขับเคลื่อนความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญ
หนึ่ง มันนำเอาการเมืองซึ่งมีมิติที่ซับซ้อนเข้ามาอยู่ในกรอบแคบๆ ทางศีลธรรมคือ “ดี-เลว” และเพื่อปกป้องดี ขจัดเลว ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณค่าเชิงระบบ และ/หรือหลักการอื่นๆ เช่น หลักเสรีภาพ ความเสมอภาค สิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ ฯลฯ
สอง โชคร้ายอ่างยิ่งที่ “ธรรมะขาว-ดำ” มันคลุมเครือมาก เช่น ประชาธิปไตยต้องมีธรรมาธิปไตย ถามว่า “ธรรมาธิปไตย” คืออะไร? งง! บ้างว่าคือ “ความถูกต้อง” ตามหลักการประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล (ถ้ามันใช่แบบนี้แล้ว จะใช้ “ธรรมาธิปไตย” ให้ “มึน” กันทำไม) บ้างว่าคือ “ความถูกต้อง” ตามคำสอนพุทธศาสนาอีกต่างหากที่ต้องอยู่เหนือ หรือคอยกำกับชี้นำประชาธิปไตยอีกที (อ้าว! แล้วเราจะปกครองด้วยระบอบอะไรกันล่ะ!)
ฉะนั้น เอาเข้าจริงๆ เมื่อธรรมะขาว-ดำ มายุ่งกับการเมืองมันเลยมั่วมากๆ ไม่รู้จะก้าวไปทางไหน หรือถอยกลับดี ไปๆ มา ก็เลยชวนรบกับเพื่อนบ้านดีกว่า โหวตโนเพื่อ “ปฏิรูปการเมือง” ดีกว่า!
สาม แล้วถึงที่สุดของ “ธรรมะกับการเมือง” ก็มาลงเอยที่ “สันติวิธี” ในความหมายที่ว่าทุกฝ่ายต้องปล่อยวางอคติ ความเกลียดชัง ละตัวกู พวกของกู หันหน้ามาปรองดอง ปฏิรูปประเทศไทย โดยไม่ลงลึกถึงปัญหา “ความจริง” และ “ความยุติธรรม” ไม่สนใจอำนาจอันอยุติธรรมในการจัดการความจริงและความยุติธรรม แถมยอมรับ “เส้นสนกลใน” ในการตั้งรัฐบาลอำมาตย์ว่า มี “ความชอบธรรมระดับหนึ่ง”
และยอมรับว่า รัฐบาลหลังสลายการชุมนุมปี 53 มี “ความชอบธรรมระดับหนึ่ง” (=มีความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปและแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ฯลฯ นั่นแหละ) ด้วยการอ้าง “ตรรกะทางคณิตศาสตร์” ที่ว่า “ตราบใดที่ยังแยกแยะไม่ได้ว่า ประชาชนที่ตาย กี่คนตายเพราะฝีมือชายชุดดำ กี่คนตายเพราะฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ”
นี่คือตรรกะที่ผมคิดว่า “สุดปลายทางแห่งธรรมะกับการเมือง” แล้ว ในบริบทความขัดแย้งที่เป็นมาและเป็นอยู่
เรื่องตัวบุคคล ใครจะเป็นกลาง ไม่เป็นกลาง จะ “แอ๊ป” ฝ่ายไหน ไม่แอ็ปฝ่ายไหน ผมไม่อยากพูดถึง
เพราะสาระจริงๆ ก็คือว่า เมื่อธรรมะขาว-ดำไปยุ่งกับเรยา “ความเป็นคน” ในมิติที่ซับซ้อนและแปรผันไปตามบริบทหรือเงื่อนไขต่างๆ ก็ถูกลดทอนเหลือเพียงความเป็นคนในความหมายของ “ดี-ชั่ว” เมื่อไปยุ่งกับการเมืองก็ “ดูด” มิติที่หลากหลายของการเมืองเข้าไปในมิติแคบๆ ของ “ขาว-ดำ”
และสุดปลายทางแห่งธรรม เมื่อต้องเผชิญกับ “โจทย์ความชอบธรรม-ไม่ชอบธรรม” ของรัฐบาลที่สั่งสลายการชุมนุม “ผิดหลักสากล” จนประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นเบือ ธรรมะก็หันไปพึ่งพา “ตรรกะคณิตศาสตร์” เอาดื้อๆ
ฉะนั้น ถ้าเข้ามายุ่งแล้วมันทำให้เกิดการ“บิดเบี้ยว” และ“บิดเบือน” เช่นนี้ ผมว่าธรรมะอย่ามายุ่งกับ “ความเป็นมนุษย์” ของ “คนอย่างเรยา” และการเมือง น่าจะดีกว่านะครับ!