ที่มา มติชน
ภาพจาก centinela66.wordpress.com
ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช
คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง มติชน
หลายปีมาแล้ว เขียนถึงเพลงชื่อ Words ของพี่น้องตระกูล Gibbs หรือคณะ The Bee Gees แล้วเรียกเพลงนี้ว่าเป็นเพลงของคน
"ดีแต่พูด"
เขียนไปแล้วก็ไม่ได้คิดถึงอีก ครั้นกลับไปอ่านพบ อดหัวเราะไม่ได้ เพราะเขียนไว้เนิ่นนานก่อนที่จะมีคนนำสำนวนนี้มาใช้กับนักการเมืองเพ็ดดีกรี ยาวที่ด้อยผลงาน
ที่ครั้งนั้นเรียกว่าเป็นเพลงของคน "ดีแต่พูด" เพราะหลังจากบรรยายถ้อยคำหวานจ๋อยต่างๆ นานาแล้ว สอง-สามบรรทัดสุดท้ายในเนื้อเพลงบอกว่า...ที่พูดมาทั้งหมดน่ะ
It"s only words,
And words are all I have
To take you heart away
ความหมายคล้ายๆ ว่า ฉันมีแต่ถ้อยคำเท่านั้นหนาที่จะมาพาเอาหัวใจเธอไป
พูดง่ายๆ คือ ไม่มีอะไรมาให้เลย มีแต่คำพูดเท่านั้น
คนไทยโบราณได้ยินแล้วคงตบอกร้องว่า
"เจ้าประคู้น...แม้แต่พร้าขัดหลังมาสักเล่มก็ยังไม่มี เอามาแต่ลมปาก"
สำหรับคนไทยครั้งกระโน้น หากจะต้องเลือกลูกเขยละก็ คนดีที่ขยันขันแข็ง แม้จะไม่มีสมบัติติดตัว มีแต่พร้ามาเล่มเดียว ในอนาคตก็ยังจะตั้งตัวได้ ดีกว่าพวกคุณหนูที่ หยิบโหย่งหรือเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เหมือนอย่างที่อ่านพบใน
"อาวาศโวหาร"
"ไม่อยากคบคนขี้ถังที่มั่งมี
เขาถือดีไว้ตัวไม่กลัวจน
ถ้าคนดีมีพร้ามาสักเล่ม
เราก็เต็มใจให้ไม่ฉงนฯ"
หากดีแต่พูด ยังไงก็ต้องฉงนแน่ๆ
ความจริงคู่รักกับนักการเมืองก็มาแบบเดียวกัน คือพยายามจะโน้มน้าวให้ "เลือก" ตน แต่จะโน้มน้าวด้วยวิธีอื่นใดก็ไม่สั้นและง่ายเท่ากับการพูด?
words are all I have to take your heart away?อย่างเพลงของ The Bee Gees ว่าไว้จริงๆ
และไม่ว่าจะเป็นคู่รักหรือนักการเมือง การพูดก็มีต่างๆ วิธีอย่างที่เห็นกันอยู่ มีทั้งอย่างหวาน สุภาพ หรือแบบนักเลง หรืออาจจะใช้วิธีโผงผาง ก้าวร้าวเรียกความสนใจ หรือพูดให้สงสาร เพราะคนที่เป็นฝ่าย "เลือก" ก็มีต่างแบบ ต่างชนิด แล้วแต่แบบไหนจะโดนใจใคร
แต่ในขณะที่พวกหนุ่มจีบสาวต้องพูดด้วยตัวเอง นักการเมืองอาจอาศัยปากคนอื่นได้ด้วย
ตำราเบสิกของการเมืองจึงมีว่า
"อะไรดีๆ พูดเอง อะไรแย่ๆ ใช้คนอื่นพูดแทน"
เพราะอย่างนี้จึงเกิดธรรมเนียม "เลี้ยงหมา" ขึ้น หมาในที่นี้คือคนที่นักการเมือง(ที่สร้างภาพว่าเป็น) น้ำดี ใช้ "เห่า" แทนตัวเอง
Clement Attlee อดีตนายกฯอังกฤษผู้ก่อตั้งพรรคแรงงาน ก็มีหมาไว้เห่าแทน แกบอกว่าทำให้เบาแรงไปได้มาก แถมยังเที่ยวแนะนำใครต่อใครว่า
"หากมีหมาดีแล้ว อย่าเห่าเองนะ"
"If you have a good dog, don"t bark yourself."
สมัยประธานาธิบดี Richard Nixon ก็ใช้วิธีคล้ายกันกับนายกฯเคลเมนท์ แอทท์ลี พวกสื่อถึงกับเรียกคนที่ริชาร์ด นิกสันตั้งไว้ให้เห่าแทนว่าเป็น "พิทบูล" ของนิกสัน แทนที่จะเรียก Charles Colson ตามชื่อจริงของแก
เป็นที่เลื่องลือว่า นอกจากนายชาร์ลส์ โคลสันจะเชี่ยวชาญในการใช้ถ้อยคำกัดใครต่อใครแล้ว ยังชำนาญในการสร้างเรื่องให้ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย
และอีตาชาร์ลส์คนนี้เองที่เป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวม "Enemies List" หรือรายนามศัตรูของนิกสัน เอาไว้หาทางจ้องทำลาย หรืออย่างน้อยก็ขู่ให้กลัว
ในรายนามศัตรูที่ว่า มีชื่อนักข่าวสายต่างๆ อยู่หลายคน
เกือบทุกคนพูดตรงกันว่า รู้สึก "เป็นเกียรติอย่างยิ่ง" ที่ได้อยู่ในรายนามศัตรูของนิกสัน
ช่วงเวลาการครองตำแหน่งระยะต้นๆ ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ก็เป็นระยะเดียวกันกับที่เพลง Words ของ The Bee Gees กำลังฮิต คือปลายๆ ยุค 60s
นิกสันเป็นนักการเมืองชั้นครู มีความสามารถในการใช้ถ้อยคำหลบเลี่ยงความจริงได้แคล่วคล่อง อีกทั้งยังมีวิชามารที่จะทำลายฝ่ายตรงข้ามได้โดยไม่สะเทือนหิริโอตตัปปะ
ที่ไม่สะเทือนเพราะไม่มี...
แต่การใช้วิชามารทำลายศัตรูของนิกสัน ในที่สุดก็ย้อนมาทำลายเจ้าตัวและพลพรรค เห็นได้ชัดจากกรณีวอเตอร์เกท
ชวนให้นึกถึงเพลงของ The Bee Gees อีกเพลงหนึ่งจากยุคเดียวกัน คือเพลง I Started a Joke
I started a joke / Which started the whole world crying / But I didn"t see that the joke was on me / Oh no!
ความหมายของเพลงคือเจ้าตัวผู้สร้างเรื่องโจ๊กให้คนทั้งโลกต้องร้องไห้ ในที่สุดมันก็ย้อนกลับมาเข้าตัวเอง
ต้องเป็นฝ่ายร้องไห้เสียเอง พร้อมทั้งโดนคนทั้งโลกเขาหัวเราะเยาะ
มิหนำซ้ำ เมื่อตายไป โลกก็กลับมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง...
เมื่อจำใจต้องลาจากตำแหน่ง ประธานาธิบดีนิกสันพบกับบรรดานักข่าวเป็นครั้งสุดท้ายและพูดว่า
"You won"t have Nixon to kick around anymore?"
พูดง่ายๆ คือ ต่อไปนี้จะไม่มีนิกสันไว้ให้เตะ-ถีบ หรือเหยียบย่ำหนำใจอีกแล้ว
คราวนี้นิกสันไม่ได้ "ดีแต่พูด"
แกไปจริงๆ
ฟังเพลง WORDS จาก The Bee Gees ที่นี่