ธุรกิจทรุดมนุษย์เงินเดือนเสาหลัก รุบะหนี้บานฉ่ำค่าใช้จ่ายเพิ่ม 3 พันบาท
รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในปี 2550 ที่จัดเก็บจาก กลุ่มตัว อย่าง 5,200 ครัวเรือน ทั่วประเทศพบว่า รายได้โดยเฉลี่ยของครัวเรือนต่อเดือนอยู่ที่ 18,660 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงานมากถึง 71.6% โดยมาจากค่าจ้างเงินเดือน 39.9% การทำธุรกิจ 20.8% และทำการเกษตร 10.9% และมีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น เงินที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นนอกครัวเรือนหรือภาครัฐ 9.9% รายได้จากทรัพย์สิน เช่น ดอกเบี้ย 2% และมีรายได้ในรูปสวัสดิการสินค้าและบริการประมาณ 14.5%
ทั้งนี้รายได้ของครัวเรือนพบว่า ครัวเรือนลูกจ้างที่ปฏิบัติงานวิชาชีพ, นักวิชาการ, นักบริหารมีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 42,863 บาท รองลงมาได้แก่ครัวเรือนของผู้ดำเนินธุรกิจที่ไม่ใช่เกษตร เช่น เสมียน พนักงานมีรายได้เฉลี่ย 25,208 บาท ผู้ให้บริการมีรายได้ 19,311 บาทและผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการผลิตมีรายได้ 14,095 บาท ส่วนรายได้ต่ำสุด คือ ครัวเรือนของผู้ทำประมง, ป่าไม้, ล่าสัตว์ และหาของป่ามีรายได้ 9,185 บาท
ส่วนรายได้ประจำต่อคนต่อเดือน โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 5,494 บาท ขณะที่ในปี 49 มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 5,245 บาท และเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่ม คือ ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 16,905 บาท จากที่ในปี 49 มีรายได้ประจำเฉลี่ยต่อคน ต่อเดือน 16,574 บาท ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด มีรายได้ประจำต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 1,111 บาท เป็น 1,310 บาท
ก่อนหน้านี้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า ครม.ได้รับทราบผลการสำรวจว่าในปี 50 พบว่าครัวเรือนมีหนี้สินเฉลี่ยปีละ 116,681 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 49 ที่มีหนี้สิน 116,585 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค มากถึง 33.3% ใกล้เคียงกับการนำไปใช้เพื่อซื้อบ้านหรือที่ดิน ซึ่งมีสัดส่วน 31.3%
“ภาพรวมครัวเรือนที่มีหนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 41-47 จาก 55.1% เป็น 66.4% แต่ลดเหลือ 64.4% ในปี 49 และเหลือ 63.3% ในปี 50 โดยจำนวนหนี้เพิ่มจาก 82,485 บาทในปี 45 เป็น 116,585 บาท ในปี 49 และเริ่มชะลอตัวลงในปี 50 และเมื่อเปรียบเทียบรายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินต่อรายได้ พบว่าครัวเรือนทั่วประเทศตั้งแต่ปี 41-50 มีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ โดยรายได้เพิ่มขึ้นจาก 13,736 บาท ในปี 45 เป็น 18,660 บาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มจาก 10,889 บาท เป็น 14,500 บาท”.