โดย จาตุรนต์ ฉายแสง
ระบบกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้ เป็นระบบที่ล้าหลัง ไม่เหมือนที่ใช้กันในอารยประเทศ ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการซื้อเสียง มีไว้เพื่อทำลายพรรคการเมืองบางพรรค และเพื่อให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เป็นระบบที่ขัดต่อหลักนิติธรรม และไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เมื่อมีการนำกฎหมายนี้มาใช้ จะนำไปสู่วิกฤตการทางการเมืองที่หนักหนาสาหัส เกิดความเสียหายต่อการพัฒนาประเทศ และจะทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังอีกก้าวใหญ่
ในอารยประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มีเรื่องยุบพรรคน้อยมาก เหตุผลในการยุบพรรคที่เคยเกิดขึ้นคือ การที่พรรคการเมืองนั้นมีนโยบายและการกระทำที่ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง เช่น กรณีของพรรคนาซีเยอรมัน เป็นต้น
กติกาเกี่ยวกับการยุบพรรคของประเทศ มีปัญหาตั้งแต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้บังคับอยู่แล้ว ระบบกฎหมายในขณะนั้นเปิดโอกาสให้มีการยุบพรรคการเมืองได้โดยไม่ยากเย็นนัก เมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่เป็นผลิตผลของการรัฐประหารก็ได้ใช้ช่องทางของระบบกฎหมายที่มีอยู่ก่อนแล้ว ตัดสินยุบพรรคการเมืองบางพรรคโดยไม่ต้องพิสูจน์การกระทำผิด หากแต่อาศัยตรรกะการใช้เหตุผลแบบ "ฟังได้ว่า" หรือ "เชื่อว่า" เป็นทอดๆ ชนิดที่เต็มไปด้วยปัญหาเกี่ยวกับวิธีพิจารณาอย่างมาก และไม่สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมที่ดี
และระบบกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคถูกทำให้เลวร้ายลงไปอีกจากคณะรัฐประหาร ด้วยการออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ที่ระบุว่า "...ในกรณีที่พรรคการเมืองถูกยุบ ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคนั้นเป็นเวลา 5 ปี"
ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ได้ทำให้ระบบกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคมีปัญหายิ่งขึ้น คือ ได้คงสิ่งที่มีปัญหามาแต่เดิมไว้และได้เพิ่มเหตุของการยุบพรรค ที่ไม่เหมือนประเทศใดในโลก ขัดต่อหลักนิติธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง
รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ในมาตรา 237 ระบุว่า "ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาหรือระเบียบหรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ถ้าการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่งปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารของพรรคการเมืองผู้ใด มีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบการกระทำนั้นแล้ว มิได้ยับยั้งหรือแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามมาตรา 68 และในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองดังกล่าวมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง"
แปลว่าเพียงปรากฏหลักฐาน "อันควรเชื่อได้ว่า" กรรมการบริหารพรรคคนเดียวมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยหรือทราบถึงการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.เลือกตั้งแล้วมิได้ยับยั้งแก้ไขเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม พรรคนั้นทั้งพรรคก็ถูกยุบแล้ว
ยิ่งถ้า "เชื่อว่า" กรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งกระทำการทุจริตฝ่าฝืน พ.ร.บ.เลือกตั้งเสียเอง ก็ยิ่งเข้าข่ายมาตรา 237 นี้ คือ ถือว่าทุจริตทั้งพรรคและต้องยุบพรรคนั้นเสีย
กติกาอย่างนี้ขัดต่อหลักนิติธรรม
เหมือนครูคนหนึ่งทำความผิด ให้ลงโทษครูทั้งโรงเรียนและให้ยุบโรงเรียนนั้นเสีย
พระปาราชิก 1 รูป ให้สึกพระทั้งวัดและให้ยุบวัดนั้นเสีย
กรรมการบริษัทคนหนึ่งทำผิด ให้ลงโทษกรรมการบริษัททุกคนและยุบบริษัทนั้นเสีย
หรือเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมาแล้วเหมือนกับการที่มีชาวบ้านทำร้ายทหารนาซีแล้วกองทัพนาซีฆ่าชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน และเผาหมู่บ้านนั้นทิ้ง
หลักกฎหมายทำนองนี้ ไม่มีทางที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมขึ้นได้ และยังจะทำให้เกิดความไม่เชื่อถือต่อระบบกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมของประเทศ รวมทั้งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยกในสังคมอย่างยากที่จะประสานให้เกิดความปรองดองกันได้
หลักกฎหมายเช่นนี้ ในความเป็นจริง(ยัง)ไม่ได้ใช้กับโรงเรียน วัด หรือบริษัทต่างๆ แต่ใช้กับพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว จึงตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากผู้ออกแบบระบบกฎหมายนี้ ไม่เห็นว่าพรรคการเมืองมีความสำคัญหรือเป็นประโยชน์อะไร ทำให้อ่อนแอหรือทำลายเสียได้ยิ่งดี
ระบบกฎหมายนี้ ไม่ได้คำนึงว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสมาชิกพรรค ไม่สนใจไยดีว่าสมาชิกพรรคจำนวนมากที่มารวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง ต้องเสียโอกาสไป ระบบพรรคการเมืองที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบรัฐสภาย่อมจะอ่อนแอลง
หลักนิติธรรมกับประชาธิปไตยนั้นเป็นของคู่กัน
การมีกฎหมายสำคัญที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ย่อมแสดงให้เห็นว่า บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย
แต่หากลำดับภาพเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองในเร็วๆ นี้ จะยิ่งเห็นว่าระบบกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงเพียงใด
เมื่อ "เชื่อว่า" กรรมการบริหารพรรคคนหนึ่งทุจริตผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็ยุบพรรคนั้นเสียและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทุกคนเป็นเวลา 5 ปี
หากพรรคการเมืองนั้นเป็นรัฐบาลอยู่ คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นสภาพไปตามนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ส.ส.หลายสิบคนหมดสมาชิกภาพ ต้องเลือกตั้งซ่อมหลายสิบเขต ส.ส.ที่เหลืออยู่ต้องหาพรรคสังกัดให้ได้ภายในเวลา 60 วัน
ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคใดจะเป็นรัฐบาล และรัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไรไม่มีใครทราบได้
ทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนที่ได้แสดงไว้ในการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 แต่อย่างใดทั้งสิ้น
รวมความว่า จากการที่คนประมาณ 14 คน คือ กกต. 5 คน และศาลรัฐธรรมนูญอีก 9 คน ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง "เชื่อว่า" มีนักการเมืองคนหนึ่งทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แม้เพียงในเขตเลือกตั้งเขตเดียวหรือหน่วยเดียว คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพียง 14 คน ก็สามารถปลดและเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนพรรคการเมืองของ ส.ส.จำนวนมาก และเปลี่ยนนโยบายของพรรคการเมืองต่างไปจากที่ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมกันกำหนดไว้
คนที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้งเพียง 14 คน มีอำนาจเหนือประชาชนทั้งประเทศ
นี่คือความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่งของระบบกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองในปัจจุบัน
เมื่อกฎหมายไม่เป็นเหตุเป็นผล ไม่เป็นธรรม คนที่ไม่ได้กระทำผิดก็อาจถูกลงโทษถึงขั้นร้ายแรง ในขณะที่คนซื้อเสียงอีกจำนวนมากไม่ถูกลงโทษ กฎหมายนี้จึงไม่สามารถป้องกันการซื้อเสียงหรือการทุจริตในการเลือกตั้งได้เลย
หากเกิดการใช้ระบบกฎหมายนี้ดังกล่าวเป็นจริง สิ่งที่จะตามมาคือ วิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ จะเกิดความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอย่างรุนแรง ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้หนักหนาเลวร้ายยิ่งขึ้น ผู้คนหมดความเชื่อถือในระบบการปกครองและกติกาของประเทศ จะเกิดความแตกแยกในสังคมอย่างยากจะแก้ไขเยียวยา โดยไม่มีใครรู้ว่าจะพัฒนาไปในรูปแบบใด
ที่แน่ๆ จะเป็นการ "ถอยหลัง" ก้าวใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10985