"มท.1" ยันนโยบายปราบยาเสพติดไม่มีฆ่าตัดตอน เตรียมเสนอเข้า ครม.เป็นวาระชาติ พร้อมประเมินผลใน 3 เดือน ยึดความรู้สึก ปชช.เป็นเครื่องชี้วัดความสำเร็จ
ลานพระบรมรูปทรงม้า 5 เมษายน 51 - ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ได้เป็นประธานพิธีเปิดมหกรรมรวมพลคนกรุงเทพฯ ไม่เสพยา (แบ็งค็อกเคลียร์) โดยมีนายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯกทม. พล.อ.ประยุทธ จันทรโอชา แม่ทัพภาคที่ 1 นำคณะข้าราชการ ตำรวจ ทหาร และประชาชน กว่า 3 หมื่นคนเข้าร่วมปฏิญาณตนไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
โดย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวเปิดงานว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ตั้งใจมาร่วมงานนี้แต่ป่วยด้วยไข้หวัดจึงฝากความห่วงใยมาถึงทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมงาน ตนตั้งใจจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เพราะรู้ปัญหาต่างๆ เป็นอย่างดี แต่การแก้ปัญหาต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมกัน การแก้ปัญหายาเสพติด ไม่ใช่ปัญหาที่เป็นวาระแห่งชาติอย่างเดียวแต่เป็นปัญหา ความมั่นคง เพราะทำงานญาติพี่น้องของเรา ตนไม่โทษรัฐบาลใดที่ไม่อาจแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เชื่อว่าทุกรัฐบาลคงไม่ต้องการให้เกิดปัญหายาเสพติด
อย่างไรก็ตาม ส่วนปัญหาการฆ่าตัดตอนที่เกิดขึ้นในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เห็นว่ามีตัวเลขการฆ่าตัดตอนถึง 2,600 ราย ขอชี้แจงว่า การดำเนินการใดๆ อยู่บนพื้นฐานการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งตนยืนยันว่าไม่ว่ารัฐบาลใดก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าตัดตอนเกิดขึ้น และตนก็ไม่ต้องการเห็นใครเสียชีวิต ทั้งนี้ การแก้ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจะต้องดำเนินการแบบตารางหมากรุก หรือแม๊ปปิ้ง โดยดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศที่ต้องร่วมกัน ในการสกัดกั้นการขนยาเสพติดและสารตั้งต้นที่ใช้ในการลักลอบผลิตยาเสพติด โดยการร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งตนจะให้นโยบายในการบำบัดรักษา ไม่ให้รังเกียจผู้ติดยา และหาวิธีรักษาที่ไม่เป็นการตั้งข้อรังเกียจของชุมชนเพื่อลดจำนวนผู้ค้า ฟื้นฟูผู้เสพ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มเสี่ยงให้ห่างไกลจากยาเสพติด นอกจากนี้จะต้องมีการกวดขันและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงตามนโยบายการจัด ระเบียบควบคุมพื้นที่ไม่ให้มีการจำหน่ายและมั่วสุมของเยาวชน
จากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ได้เป็นประธานกล่าวนำคำปฏิญาณไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และมอบธงสัญลักษณ์คนกรุงเทพฯไม่เสพยาแก่ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต พร้อมปล่อยแถวกำลังพลรถสายตรวจซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์และรถยนต์ของตำรวจและ เทศกิจ เพื่อปฏิบัติหน้าที่จัดระเบียบสังคม และเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด เพื่อเป็นการรณรงค์สร้างกระแสการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในกรุงเทพฯ ให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
ร.ต.อ.เฉลิม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานฯว่าการกำหนดให้ยาเสพติดเป็นวาระความมั่นคงแห่งชาติสามารถเริ่มดำเนินการได้ ทันที โดยจะทำเป็นแผนงานเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดกรอบการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน บูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข จะต้องควบคุมสารตั้งต้นที่จะนำมาผลิตยาเสพติด ตำรวจตระเวนชายแดนจะป้องกันเรื่องการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่กองทัพ ตำรวจ จะดูแลเรื่องการปราบปรามภายในประเทศ นอกจากนี้จะประเมินผลภายใน 3 เดือน โดยจะนำความรู้สึกของประชาชนมาเป็นเครื่องชี้วัดว่าประสบความสำเร็จหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.เฉลิม ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลควรรับฟังข้อเสนอเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญของ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส
ข้อมูลจาก
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต