นิวส์วีค นิตยสารชื่อดังของสหรัฐที่วางจำหน่ายทั่วโลกฉบับล่าสุด ขึ้นปก 4 ผู้นำในเอเชีย...สะดุดตาตรงหนึ่งในนั้นมีรูปของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย รวมอยู่กับ นายหม่า อิง จิ่ว ผู้นำหมาดๆ ของไต้หวัน นายลี เมียง บัก ประธานาธิบดีนักธุรกิจของเกาหลีใต้ และ นายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งนำพรรคฝ่ายค้านผงาดขึ้นท้าทายพรรคอัมโนเป็นครั้งแรก
ประเด็นที่นิวส์วีคนำเสนอก็คือ The Politics of Practical Nostalgia หรือ การเมืองแห่งการโหยหาอดีตที่ทำได้จริง...ฟังชื่ออาจวกวน แต่ประเด็นของประเด็นก็คือ การเลือกตั้งที่ผ่านมาของทั้ง 4 ประเทศ (ซึ่งลงเอยด้วยความปราชัยของฝ่ายอำนาจเก่า) สะท้อนให้เห็นว่า ในห้วงยามที่ปัญหาเศรษฐกิจกำลังบีบรัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน สิ่งที่ชาวเอเชียกำลังโหยหาก็คือ วันคืนเก่าๆ ที่เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านชาวเมืองมีการงานมั่นคง มีการเลื่อนชั้นทางสังคม และผู้นำที่สัญญาว่าจะนำ Good Old Days เหล่านั้นกลับมาก็คือ คนที่ประชาชนจะเทคะแนนให้
ในเอเชียเวลานี้ดูเหมือนว่า การกำหนดนโยบายที่มองโลกในแง่ความเป็นจริง
และมีการเปลี่ยนแปลงได้เพื่อผลลัพธ์ที่สร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชน กำลังอยู่เหนืออุดมการณ์และนโยบายที่ไม่ยืดหยุ่นของอำนาจเก่าในอดีต
ในช่วงทศวรรษ 1980 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้และไต้หวันเคยขยายตัวถึง 8-9% แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจของสองดินแดนนี้เติบโตเฉลี่ยแค่ 5% ล้าหลังอัตราเฉลี่ยของตลาดเกิดใหม่ซึ่งอยู่ที่ 6.5%
นายลี เมียง บัก ให้คำมั่นสัญญาแบบเห็นภาพเป็นตัวเลขด้วยแผน 747 ว่า เขาจะผลักดันให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัว 7% ประชาชนมีรายได้ต่อหัว 40,000 ดอลลาร์ภายในหนึ่งทศวรรษ และเศรษฐกิจเกาหลีจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก
ขณะที่ นายหม่า อิง จิ่ว ก็มาแนวเดียวกันด้วยแผน 633 ซึ่งตั้งเป้าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 6% ต่อปี ประชาชนมีรายได้ต่อหัว 30,000 ดอลลาร์ในปี 2016 และลดอัตราการว่างงานให้เหลือ 3%
ทั้งนายลีและนายหม่าต่างก็สนับสนุนการลดกฎระเบียบด้านเศรษฐกิจและการลดภาษีธุรกิจ เพื่อดันตัวเองขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค และทั้งคู่ยังมีเมกะโปรเจ็กต์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและขยายการลงทุน นั่นคือ นายลีมีโครงการสร้างคลองเชื่อมภาคเหนือและภาคใต้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ขณะที่นายหม่ามีโครงการปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน การขยายสนามบินและสถานีขนส่งมูลค่า 130 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งการเปิดสัมพันธ์มิติใหม่กับจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี การย้อนกลับไปหาอดีตอันรุ่งเรืองก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเศรษฐกิจของเกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งอิ่มตัวเกินกว่าจะขยายตัวได้รวดเร็วเท่ากับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ซึ่งตอนนี้มีมูลค่า GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ที่ 950 ล้านดอลลาร์ การจะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวให้ได้ถึง 7% อย่างที่ นายลี เมียง บัก สัญญิงสัญญาไว้ นั่นหมายถึงว่า เกาหลีต้องสร้างผลผลิตในประเทศเพิ่มอีก 67 พันล้านดอลลาร์ต่อปี! แต่ถ้าเป็นเมื่อ 10 ปีก่อน การขยายตัวในอัตราเดียวกันนี้ ต้องเพิ่ม GDP อีกแค่ 25 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น
กล่าวกันถึงปฏิกิริยาในมาเลเซียและไทย ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ของนิวส์วีคบอกว่า "ดราม่า" และเห็นได้ชัดกว่ากรณีของไต้หวันและเกาหลีใต้เสียอีก
ในมาเลเซีย พรรคฝ่ายค้าน 3 พรรคเล็กๆ เกือบจะโค่นพรรคพันธมิตรรัฐบาลที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ครั้งประกาศเอกราชเมื่อเกือบ 40 ปีก่อนได้อย่างหวุดหวิด ขณะที่ นายอันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งเคยงัดข้อกับอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ในหลายประเด็น รวมทั้งเรื่องการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ก็ผงาดขึ้นมาท้าทายรัฐบาลอีกครั้ง และนโยบายต่างๆ ที่เคยถูกมองว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมือง อาทิ นโยบาย "ภูมิบุตร" ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชนเชื้อสายมาเลย์ ก็กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่
ในประเทศไทย นิวส์วีคบอกว่า ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงได้ทำลายวงจรของการปฏิวัติที่ล้าหลัง โดยในอดีตนั้น ผู้นำทหารจะอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วค่อยตั้งรัฐบาลพลเรือนที่เป็นพรรคพวกกันขึ้นมาสืบทอดอำนาจ แต่ในปัจจุบัน เพียงแค่ 14 เดือนหลังจากทำรัฐประหารอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ฝ่ายผู้นำทหารก็ถูกกดดันโดยกระแสสังคมให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฏว่าชัยชนะเป็นของฝ่ายที่สนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ
บทความของนิวส์วีคอ้างคำกล่าวของ ธิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เปลี่ยนแปลงวิถีที่เคยเป็นในประเทศไทย ตอนนี้กระแสทั้งในประเทศและนอกประเทศอยู่ข้างทักษิณ
บทความของนิวส์วีคยังบรรยายต่อว่า ความสำเร็จในการใช้นโยบายเศรษฐกิจเพื่อตอบรับกระแสโลกาภิวัตน์คือปัจจัยหลักที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นสู่อำนาจ และเป็นเครื่องอธิบายการกลับมาของเขา ในช่วง 5 ปีภายใต้การบริหารของ พ.ต.ท.ทักษิณ เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ชนบทเติบโตขึ้น และไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่สามารถลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย พรรคไทยรักไทยได้รับความนิยมจากการทุ่มงบประมาณด้านสาธารณูปโภคและการช่วยเหลือคนจน เช่น การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน และการประกันสุขภาพ แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และส่งเสริมการค้าอย่างแข็งขัน...จากนั้น รัฐบาลทหารก็เข้ามา ซึ่งทำให้นักลงทุนหนีหาย อีกทั้งยังชูแนวนโยบาย "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเน้นความมีเสถียรภาพมั่นคงมากกว่าการเติบโต...ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร เศรษฐกิจของไทยในปีที่แล้วขยายตัวเพียงแค่ 4.8% เท่านั้น
บทความของนิวส์วีคสรุปว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะฟันธงว่า การเกิดขึ้นของผู้นำหน้าใหม่ที่เป็นนักปฏิบัติและมองโลกแง่ในความเป็นจริง จะเป็นการเปลี่ยนกรอบความคิดครั้งใหญ่ในเอเชีย หรือเป็นแค่แฟชั่นที่จะผ่านไปในฤดูกาลหน้า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า พวกเขาเหล่านั้นจะทำอะไรให้เกิดขึ้นได้จริงบ้างในทางปฏิบัติ
และงานนี้คงไม่นานเกินรอ
hi-thaksin