ธรรมศาสตร์ / เวลา 11.00 น. วันที่ 5 เม.ย. 51-- นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง " ตุลการภิวัฒน์ กับการรอมชอมในสังคมไทย " ตอนหนึ่งว่า ถ้าพิจารณาเหตุการณ์ในประเทศไทยที่ผ่านมา มีคดีความที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของตุลาการภิวัตน์ไม่มากนัก เช่น การตัดสินคดีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปตท. การตัดสินคดียุคพรรคไทยรักไทย ในข้อหาสร้างความเสียหายให้กับการปกครองระบอบประชาธิปไตย และคดีอื่นๆ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจบทบาทของตุลาการภิวัตน์ให้ชัดเจน เพื่อสนับสนุนให้ตุลาการภิวัตน์ได้มีบทบาทที่เป็นคุณกับประชาชนและประเทศ ต่อมา
นายธีรยุทธ กล่าวว่า มีหลายประเด็นที่สาธารณชนเข้าใจไขว้เขวว่าเป็นตุลาการภิวัตน์ แต่ที่จริงไม่ใช่ โดยบางเรื่องเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ เช่นการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาในองค์กรต่างๆ ภายหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.แต่เป็นความสมัครใจของแต่บุคคล การร่างรัฐธรรมนูญและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การตัดสินคดียุบพรรคชาติไทย มัชฌิมา พลังประชาชนหรือไม่ ซึ่งอำนาจตุลาการทำหน้าที่ตัดสินเท่านั้น นอกจากนี้การเป็นกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นกรรมการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ สรรหาสว. ก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตุลาการภิวัตน์ แต่เป็นแนวคิดจากสายรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ต้องการสร้างอำนาจตรวจสอบที่เป็นอิสระได้จริงๆ จึงต้องมอบหมายให้ศาลได้เป็นผู้สรรหา บทบาทของศาลจึงไม่เกี่ยวข้องกับตุลาการภิวัตน์ และไม่เกี่ยวข้องว่ารัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระต่างๆ มีที่มาหรือมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไร ซึ่งเป็นเรื่องคนละประเด็น และเป็นสิ่งที่สังคมไทยโดยรวมต้องช่วยกันขบคิดอีกรอบหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
" ผมก็ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนเผด็จการ ทั้งที่ความเป็นจริง ผมไม่เคยเบี่ยงเบนความคิดจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ไม่เคยสนับสนุนระบอบทักษิณ ไม่เคยรับรู้ สนับสนุน หรือเห็นชอบกับการรัฐประหาร เพราะวันที่ 18 ก.ย. 49 ผมพร้อมด้วยอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และคณบดีอีก 5 คณะได้ร่วมกันประชุมหารือเพื่อทางออก โดยเฉพาะข่าวลือที่ว่าจะมีการทำรัฐประหาร แต่ก็ไม่ทันการณ์ เพราะในวันรุ่งขึ้นก็มีการยึดอำนาจ ดังนั้นขอยืนยันผมไม่เคยไยดีกับตำแหน่งอำนาจวาสนาหลังรัฐประหาร ถือเป็นและได้ทำหน้าที่ที่จะวิจารณ์ คมช. และรัฐบาลสุรยุทธ์ ให้คลี่คลายวิกฤติและไม่สืบทอดอำนาจ " นายธีรยุทธ กล่าว
นายธีรยุทธ ยังแสดงความเห็นว่า ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มถลำเข้าสู่วิกฤติตีบตันไร้ทางออก โดยกำลังพบกับภาวะ 5 เสื่อม คือ 1 . ความสามัคคีในบ้านเมืองเสื่อม ที่สำคัญในหมู่ประชาชนระดับรากหญ้าเริ่มเกิดปัญหา คือการแบ่งเป็นหมู่เหล่า เป็นท้องถิ่นนิยม ภาคนิยม เป็นระดับรากหญ้าที่นิยมทักษิณกับชนชั้นกลางที่ไม่เอาทักษิณ การที่พรรคฝ่ายทักษิณได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งท่วมท้น ไม่ได้เกิดจากปัจจัยซื้อเสียงหรือประชานิยมอย่างเดียว แต่เกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจ ถูกดูหมิ่นดูแคลนของชาวบ้านอีสาน-เหนือจากส่วนกลางและชนชั้นนำไทย จึงเกิดทิฐิมานะที่จะแสดงสิทธิเสียงของตนในการเลือกพรรคของทักษิณ ซึ่งเข้าถึงใกล้ชิดชาวบ้านมากกว่าชนชั้นนำซึ่งห่างไกล แปลกแยก เราต้องพิจารณาจริงจังว่านี่เป็นปัญหาที่อาจจะร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ที่ต้องเยียวยาแก้ไข ความขัดแย้งดังกล่าวจะยังดำรงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 1-2 สมัยเลือกตั้ง
" ผมรับว่า ผมประเมินผิด ไม่เคยคิดว่าพรรคพลังประชาชนจะได้เกินเสียงเกิน 200 ที่นั่ง และไม่เคยคิดว่าจะได้เสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล เพราะผมคิดว่าผลกระทบจากการคอรัปชั่นจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเลือกตั้งจะต้องเลือกคนดี มีประวัติไม่ด่าพร้อยเข้ามา ที่เป็นเช่นนี้ประชาชนรากหญ้ายังเลือกคนของพรรคพลังประชาชนเข้ามามาก ซึ่งทำให้เห็นว่าชาวอีสานและชาวภาคเหนือยังให้ความสำคัญกับผู้นำที่ใกล้ชิดกับประชาชน มากกว่าผู้นำที่อยู่กับชนชั้นกลาง และน้อยเนื้อต่ำใจกับรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งระบบราชการที่ไม่ให้ความใกล้ชิดเหมือนกับผู้นำบางคน ถ้ารัฐบาลปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้ต่อไปจะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะประชาชนจะมีความรู้สึกว่าระบบราชการไม่สามารถพึ่งพาได้
2 . ภาคการเมืองเสื่อม การคอร์รัปชั่น ใช้อำนาจไม่ชอบธรรมของพรรคการเมือง นักการเมือง เป็นต้นเหตุของวิกฤติ กลไกสำคัญของภาคการเมืองคือรัฐสภาและการเลือกตั้ง ไม่สามารถคลี่คลายวิกฤติและบริหารประเทศอย่างได้ผลได้ สภาเริ่มเป็นที่ทะเลาะโจมตีมีเหตุรุนแรงเหมือนการเมืองนอกสภา 3 . ภาคสังคม คือ สถาบันวิชาการ สื่อ เสื่อม แตกแยกทางความคิดความเห็น เครื่องมือหลักของภาคสังคมคือการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ 4 . กองทัพ อดีตข้าราชการ เทคโนแครต ชนชั้นนำ ที่เรียกรวมๆ ว่าอมาตยาธิปไตยก็เสื่อม เพราะพิสูจน์ตัวเองว่ามีความคิดล้าหลังไม่ทันสถานการณ์ ไม่สามารถบริหารวิกฤติอย่างมีประสิทธิภาพได้ และ5. คุณธรรมเสื่อม คนไทยเริ่มมองว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดา โกงก็ได้ขอให้ทำงาน
" ประเทศไทยอาจเหลือเพียงสถาบันเดียวคือศาลยุติธรรม ซึ่งมีหลักการปกครองโดยหลักกฎหมาย ที่จะมาช่วยคลี่คลายวิกฤตการณ์ในที่สุด ทั้งนี้เพราะในอนาคตคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลทักษิณ คมช. และองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งที่จะเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน จะเข้าไปคับคั่งที่ศาล ทั้งนี้ศาลย่อมพิพากษาตัดสินโดยปราศจากอคติล่วงหน้า โดยหลักดุลยพินิจที่ดี หลักการสมเหตุสมผล หลักความยุติธรรม และการคำนึงบริบทประวัติศาสตร์ สังคม โดยรวมด้วย ถ้าทุกฝ่ายยอมรับการตัดสินของศาล วิกฤติในไทยก็อาจคลี่คลายได้ในที่สุด " นายธีรยุทธ กล่าว
นายธีรยุทธ ยังเห็นด้วยว่า ที่ประเทศไทยถลำเข้าสู่วิกฤติตีบตันที่ไร้ทางออก เพราะ 1 .คนไทยไม่มีกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ดีพอ ในอดีตมักอาศัยแนวประเพณีคือ มี " ผู้ใหญ่ " คอยไกล่เกลี่ย แต่ปัจจุบันไม่ได้ผล เพราะ " ผู้ใหญ่ " ในบ้านเมืองเหลือน้อย บางส่วนความคิดเริ่มล้าสมัย ถูกท้าทายอำนาจบารมีจากอำนาจรุ่นใหม่ เกิดอาการต่างคนต่างใหญ่ ต่างถูกต้อง ไม่มีใครฟังใคร 2 .การที่คนไทยปล่อยปละละเลยในปัญหาการโกงกินบ้านเมือง การใช้อำนาจมิชอบ ถือว่าเป็นธุระไม่ใช่ เป็นการซ้ำเติมให้บ้านเมืองวิกฤติอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ในอดีตซึ่งบ้านเมืองไม่ซับซ้อนก็ไม่เป็นปัญหามากนัก แต่เมื่อบ้านเมืองมีขนาดใหญ่ซับซ้อนขึ้น ปัญหาที่หมักหมมจึงแสดงอาการออกมาอย่างรุนแรงจนไม่มีหนทางแก้ไข
นายธีรยุทธ กล่าวว่า 3. ความเสื่อม 5 ประการ บวกกับรัฐบาลพปช. อ่อนแอ สถานการณ์ถูกซ้ำเติมโดยการรีบร้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีโอกาสนำไปสู่การชุมนุมเผชิญหน้าของพลังแต่ละฝ่าย การเมืองไทยจึงจะอยู่ในภาวะตีบตัน เพราะรัฐประหารไม่ใช่ทางออก การปราบปรามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ไม่ใช่ทางออก คนไทยจะตึงเครียด หวาดกลัว วิตกกังวลไปยาวนาน มีโอกาสปะทุเป็นความรุนแรงย่อยๆ (ดังเกิดขึ้นในกรณีชกต่อยในสภา) และขยายลุกลามได้ง่าย
นายธีรยุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์ ว่า การที่รัฐธรรมนูญให้ตุลาการเข้าไปมีส่วนในการสรรหาองค์กรอิสระ หรือเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระนั้น จะทำให้เกิดวิกฤติ เรื่องดังกล่าวเนื่องจากคณะร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดไว้ ซึ่งตุลาการก็ปฎิบัติหน้าที่ไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเชื่อว่าตุลาการจะสามารถแยกแยะหน้าที่ออกว่าเป็นตุลาการหรือคณะกรรมการสรรหา แต่หากเกิดปัญหาสังคมก็ต้องทำใจว่าการทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระไม่ใช่การทำหน้าที่ศาล อย่างไรก็ตาฝ่ายการเมืองไม่ควรแทรกแซง หรือไปล้มล้างกระบวนการตรวจสอบของศาล และไม่ควรไปสกัดกั้นหรือดึงคดีออกจากกระบวนการยุติธรรม ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยการทุจริตต่างๆ ปรากฏออกมาแล้วเพราะสังคมรับรู้แล้วว่ามีเรื่องการทุจริตเกิดขึ้น จึงอยากให้คดีเข้าสู้กระบวนการพิจารณาของศาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พรรคพลังประชาชนดึงดันที่จะพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อที่จะหนีคดียุบพรรค จะทำให้เกิดปัญหาความวุ่ยวายเกิดขึ้นหรือไม่ นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าดึงดันไปมากๆ ทุกส่วนก็จะมีการชุมนุมยืดเยื้อ และหากปล่อยให้ปัญหาคุกรุ่นการชุมนุนมจะยืดเยื้อยาวนาน ผลเสียก็จะเกิดจากความผลเสียต่อเศรษฐกิจ และสังคม
" เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมัคร ไม่ควรรีบออกมากระโดดถีบความคิดเห็นของนายอานันท์ ปันยารชุน และน.พ.ประเวศ วะสี เพราะจะเป็นพรรคนักกระโดดถีบ รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่มากที่สุด เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ใช่เกี่ยวกับนักการเมืองล้วน ๆ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมีส่วนในการแก้ไข การที่นายสมัคร พูดถึงการรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ความจริงการรัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีการทะเลาะเบาะแว้งกันทุกฝ่าย เดือดร้อนไปทุกส่วนของสังคม นายสมัคร น่าจะใช้จังหวะนี้เป็นโอกาส เชิญนายอานันท์ และน.พ.ประเวศ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิในสังคม หารือกันว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญควรทำอย่างไรให้เกิดความเหมาะสม พึงพอใจกันทุกฝ่ายไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตั้ว เพราะทุกฝ่ายต้องการประชาธิปไตย บ้านเมืองใสสะอาด ไม่โกงกิน " นายธีรยุทธ กล่าว
เมื่อถามว่า เหตุการณ์วันนี้ต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลาอย่างไร นายธีรยุทธ กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ซับซ้อนกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาหลายเท่า เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาในที่สุดจะหาทางแก้ปัญหาในคำตอบสุดท้ายได้ แต่วันนี้ปัญหาเรื่องซีทีเอ็กซ์ได้ทำลายกลไกรัฐสภาหมดความน่าเชื่อถือไป ทำให้วันนี้ยังไม่มีคำตอบ นอกจากทุกฝ่ายต้องตั้งสติให้ดี ๆ และร่วมกันหาทางออกให้บ้านเมือง
นายธีรยุทธ์ กล่าวอีกว่า ประมาณวันที่ 18 หรือ 19 เม.ย. ตนจะเปิดแถลงข่าววิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองประจำปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งจะมีความชัดเจนในทุกเรื่อง