เมื่อวันที่ 7 เม.ย. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า พรรคพลังประชาชนจะประชุม ส.ส.ของพรรคในวันที่ 8 เม.ย. เวลา 13.30 น. เพื่อพิจารณาว่าจะแก้ไขกันอย่างไร เพราะที่ผ่านมายังมีความคิดเห็นที่หลากหลาย เมื่อได้ข้อสรุปตนและแกนนำพรรคจะได้นำไปหารือร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมีการนำไปชี้แจงต่อนักลงทุนสหรัฐฯและอังกฤษระหว่าง ที่จะเดินทางไปโรดโชว์วันที่ 11-16 เม.ย.นี้ด้วย เพื่อแสดงว่า เรามีทิศทางในการพัฒนาประชาธิปไตยที่ชัดเจน และสิ่งที่ห่วงกันว่าจะเป็นวิกฤติของรัฐบาล เราก็พยายามคลี่คลายไม่ให้ลุกลามเป็นวิกฤติได้ จะช่วยทำให้ต่างชาติมีความเชื่อถือ และมั่นใจในสถานการณ์ทางการเมืองของเรามากขึ้น ต่อข้อถามว่า เรื่องกรอบเวลาที่จะแก้ไขจะต้องเร่งให้เสร็จทันก่อนการวินิจฉัยคดียุบพรรคหรือไม่ นพ.สุรพงษ์ตอบว่า การแก้ไขทั้งระบบย่อมต้องใช้เวลานานกว่า จะทันหรือไม่ทันกับคดียุบพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชนที่ยังมาไม่ถึง หรือพรรคชาติไทยและมัชฌิมาธิปไตยที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเรื่องที่เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณา
ลั่นยำใหญ่ขจัดผลิตผลเผด็จการ
เมื่อถามว่า แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะกลับลำมาเป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นพ.สุรพงษ์ตอบว่า เป็นไปได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม ส.ส.ที่เราต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ ครั้งแรกที่หยิบยกการแก้ไข ม.237 ขึ้น เพราะตอนนั้นมี กกต.คนหนึ่งออกมาให้ความเห็นว่า กกต.ไม่สามารถมีทางเลือกอื่น เพราะรัฐธรรมนูญมัดคอไว้ ทำให้ต้องตัดสินใจยุบพรรค จึงเป็นเหตุให้หยิบยกว่าจะแก้ไข ม.237 มาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อเสถียรภาพทางการเมือง ถ้า กกต.ไม่สบายใจที่จะต้องตัดสินยุบพรรคทั้งๆที่ควรตัดสินใจเป็นอย่างอื่น
เลขาธิการพรรคพลังประชาชนกล่าวถึงกระแสข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เกิดความขัดแย้งกับนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ จนมีแผนที่จะโค่นล้มนายสมัครว่า กระแสข่าวมีความพยายามที่จะโค่นล้มหัวหน้าพรรคพลังประชาชนไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง เพราะในพรรคทุกคนรู้ดีว่า หัวหน้าพรรคได้ทุ่มเททำงานหนักเพื่อพรรคมาตั้งแต่ต้น เท่าที่ได้ทำงานร่วมกับท่านมา ท่านเป็นคนจริงใจเปิดเผย ไม่นิยมการวางหมากหลายชั้นหรือสร้างภาพ และโดยข้อเท็จจริงแล้ว พ.ต.ท. ทักษิณก็ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือการบริหารงานในพรรคแต่อย่างใด
“ชูศักดิ์” ย้อนปูมหลังอำมาตยาธิปไตย
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้พรรคการเมืองไม่ได้ร่วมร่าง คนร่างคือ ส.ส.ร.ที่ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาไม่น้อยกว่า 2 ปี มาจากองค์กรอิสระ ข้าราชการและศาล มาอยู่ในกลไกของ คมช. จึงเรียกว่า เป็นรัฐธรรมนูญอำมาตยาธิปไตย ที่ไม่ต้องการพรรคการ เมืองเข้มแข็งให้ยุบได้ง่าย เป็นครั้งแรกที่ระบุว่า การทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ผิดกฎระเบียบ กกต.เป็นเหตุยุบพรรคได้ และเขียนเพื่อให้กลไกของ คมช.สืบทอดอำนาจต่อไป เพราะให้องค์กรอิสระที่ตั้งโดย คมช.อยู่ต่อจนครบวาระ 7 ปี หรือ 9 ปี ทั้งที่ปกติให้อยู่แค่ 1 หรือ 2 ปี แล้วต้องสรรหาใหม่ นอกจากนี้ ยังลดอำนาจของวุฒิสภา มีหน้าที่เพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฝากชะตาของประเทศไว้กับคนแค่ 5 คน และกรณีที่เขียนนิรโทษกรรมในการปฏิวัติแต่ละยุคตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2502 จนถึง 2534 จะเขียนไว้เพียงว่า “ให้ชอบด้วยกฎหมาย” เฉพาะการกระทำที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ ไม่เคยเขียนให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต
เล็งแก้ รธน.ทั้งฉบับภายใน 6 เดือน
นายชูศักดิ์กล่าวว่า การหารือกันในพรรคแนวโน้มน่าจะเป็นการแก้ไขกันทั้งฉบับ เนื่องจากฟังเสียง ส.ส.พรรคพลังประชาชนส่วนใหญ่บอกว่า ไหนๆจะแก้กันแล้วก็อยากจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อประเทศเราได้รัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง เมื่อตอนหาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชาชนก็มีทีมวิชาการได้ศึกษาประเด็นที่สมควรแก้ไขไว้แล้ว เช่น ระบบเลือกตั้ง การให้ ส.ส.ต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน แต่องค์กรอิสระไม่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นต้น ทางคณะอนุกรรมการฯก็ไม่ได้มีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดว่าควรจะแก้ไขเพียง 7 ประเด็น ตามที่เสนอไปก่อนหน้านี้ เพราะอนุกรรมการฯเรามีหน้าที่เพียงยกร่างให้เมื่อเขามีการชี้ประเด็นมาให้ หากตัดสินใจที่จะแก้ไขกันทั้งฉบับก็แน่นอนว่า คงต้องใช้เวลาบ้างพอสมควร เป็นไปได้ที่อาจจะใช้เวลาดำเนินการ 180 วัน หรือ 5-6 เดือน อย่างที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเคยเสนอไว้
ยอมถอยอีกไม่ตัดทิ้งมาตรา 309
เมื่อถามว่าแต่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เห็นควรให้ไปใช้ญัตติที่ยื่นค้างไว้ในสภาฯ และให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญ นายชูศักดิ์ตอบว่า ถ้าอย่างนั้นต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลาอีกมาก แต่แนวทางของเรามีการศึกษากันไว้แล้ว รวมทั้งในช่วงที่ ส.ส.ร.ยุคปัจจุบันก็เคยเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปี 40 กับ 50 เอาไว้แล้ว ก็สมควรนำมาเดินหน้าได้เลย ส่วนจะเสร็จได้ทันการพิจารณาตัดสินคดียุบพรรคหรือไม่ ไม่เกี่ยวกัน ถือเป็นเรื่องอนาคต ทั้งนี้ใน ม. 237 ก็ไม่มีการแก้ไขให้คนผิดพ้นผิด ใครทำผิดยังต้องรับโทษต่อไป และยุบพรรคได้ถ้าพิสูจน์ได้ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่รู้เห็นหรือเป็นผู้กระทำผิด และ ม. 309 ก็ไม่ได้ตัดทิ้งแค่เขียนเพิ่มเติมวรรคสอง ให้ข้อความในวรรคหนึ่ง ใช้บังคับในกรณีที่การกระทำนั้น ต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพ และหลักนิติธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อสู้ได้ ไม่มีผลไปยุบ คตส. หรือยกเลิกประกาศ คปค.ใดๆ
เย้ย “เทพไท” เสี้ยมเขาปั่นราคาตัวเอง
นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แตกคอกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จริงตามที่โหร คมช.ทำนาย ว่านายเทพไทต้องการยกตัวเองขึ้นไปเทียบชั้นกับนายกฯ การเสี้ยมให้คนทะเลาะกัน ไม่ควรเป็นวิถีทางของนักการเมืองยุคนี้แล้ว นายเทพไท ก็เป็นคนรุ่นใหม่ สมควรจะช่วยพรรคประชาธิปัตย์ปรับปรุงการทำงานแบบใหม่ มากกว่าจะย้อนยุคไปเอาวิธีการเก่าสุดขุดขึ้นมาใช้ในปัจจุบัน สำหรับนายสมัครนั้นมองจากคนวงในต้องบอกว่าตอนที่เราเชิญท่านมา และท่านกรุณารับมาเป็นหัวหน้าพรรค เราก็ยอมรับว่าท่านมีความโดดเด่นหลากหลายในความสามารถ ท่านถือเป็นจอมยุทธ์ทางการเมืองรู้จังหวะจะโคนและอารมณ์ทางการเมือง แบบที่นักการเมืองรุ่นหลังหลายคนไม่รู้ ความคิดเห็นบางเรื่องที่ไม่ตรงกัน เป็นส่วนที่ท่านมาเติมเต็มให้สมบูรณ์ ไม่ได้ เป็นความขัดแย้งอะไรกัน เพราะทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณและนายสมัครล้วนเป็นผู้ใหญ่กันทั้งคู่ ก่อนที่พรรคพลังประชาชน จะเชิญนายสมัครมา ทั้งนายสมัครและ พ.ต.ท.ทักษิณได้ผ่านการถามใจตัวเองมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งแล้ว
ปชป.เตือนอย่าใช้พวกมากลากไป
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น โดยต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ประกาศใช้ด้วยการลงประชามติของประชาชน แต่พรรค ไม่เห็นด้วย ถ้าจะใช้เสียงข้างมากลากไป แก้รัฐธรรมนูญให้พ้นผิดจากสิ่งที่ทำผิดหรือหนีการถูกยุบพรรค
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากเรียนว่าการคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 237 นั้น เพราะเห็นว่าเป็นการเสนอแนวคิดให้แก้ไข เพราะหวังผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าประโยชน์ของส่วนรวม และที่สำคัญพรรคเห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้ามีการแก้ไขมาตรานี้ โดยเฉพาะการพิจารณาคดี ที่เกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง ที่นำไปสู่การยุบพรรคควรเป็นไปตามครรลองของการพิจารณา การพิจารณายุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญคงจะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง โดยหากมี การยุบพรรคการเมืองจริง ช่วงเวลานั้นจะทำให้ ส.ส.ในพรรค สามารถย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ หรือตั้งพรรคการเมืองสำรองได้ภายใน 60 วัน
ระบุแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหนียุบพรรค
นายองอาจกล่าวอีกว่า หลายคนก็ทราบกันดีว่ามีหลายพรรคที่เตรียมไปจัดตั้งพรรคการเมืองสำรองเอาไว้แล้ว เพื่อให้ ส.ส.จำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ไปสังกัดพรรคการเมืองนั้น ดังนั้น บุคคลที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินยุบพรรค ก็จะมีกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น ซึ่งมีทั้งรัฐมนตรีส่วนหนึ่งและ ส.ส.ส่วนหนึ่ง ประมาณ 60 กว่าคน จะเห็นได้ว่าจำนวนนี้จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ แทนคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ถ้าดูแนวโน้มการเลือกตั้งรอบใหม่ที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนว่า ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลมักจะได้รับเลือกกลับเข้ามาอีก ด้วยเหตุนี้โครงสร้างของรัฐบาลและ ส.ส.ที่สนับสนุนรัฐบาล จึงไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก และพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังสามารถเป็นรัฐบาลต่อไปได้เหมือนเดิม โดยมีเสียง ส.ส.สนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฏร พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการ แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 ไม่ได้ประโยชน์ว่าเราจะกลับมาเป็นรัฐบาล แต่เราเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ และเพื่อมาช่วยแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากการยุบพรรค ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ รัฐบาลต้องชัดเจนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการพิจารณาตัดสินว่าจะยุบพรรคหรือไม่
ควรรับฟังความคิดเห็นคนอื่นบ้าง
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามข้อกล่าวหาและข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะได้ประโยชน์โดยกลับมาเป็นรัฐบาล จึงออกมาคัดค้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นความจริง แต่เราคัดค้านเพราะต้องการเห็นหลักการที่ถูกต้องเกิดขึ้นในบ้านเมือง ไม่ต้องการเห็นการใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง การที่นายกฯไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ในบ้านเมือง เช่น นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่านายกฯควรรับฟังความเห็นที่แตกต่าง แล้วนำมาใช้ปรับปรุงในการทำงาน ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือตัวรัฐบาลและประชาชน แต่ถ้ารัฐบาลไม่สนใจเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ โดยมองว่าเป็นเสียงที่น่ารำคาญ น่าเบื่อหน่าย รัฐบาลก็จะเดินไปสู่การทำงานที่ไม่ถูกต้อง และผลกระทบก็ตกอยู่ที่ประชาชนและประเทศ
ส.ว.43 จัดสัมมนาถกแก้ รธน.
วันเดียวกัน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ชมรม ส.ว. 43-49 ได้จัดสัมมนาเรื่อง “แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อใคร? ประชาชนได้อะไร?” โดยมีอดีต ส.ว.ปี 2543 เข้าร่วมประมาณ 20 คน อาทิ นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา และมีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 150 คน โดยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เอ็นบีทีด้วย โดยนายสุขุม เฉลยทรัพย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กล่าวดำเนินรายการว่า หลายคนพยายามทำตัวเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ พูดกันไปมาว่ารัฐธรรมนูญแตะหรือแก้ไม่ได้ แต่ถ้าฉีกยอม หรือให้เก็บไม่ต้องใช้ จึงต้องมีการเปิดเวทีสาธารณะให้สังคมได้ถกเถียง
นายสุชนกล่าวว่า เราใช้รัฐธรรมนูญ 50 มา 5 เดือนเศษ จนวันนี้มีการพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แถมคนบางกลุ่มบางพวกก็แย่งกันเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญเพียงคนเดียวกลุ่มเดียว ชมรม ส.ว.43 จึงจัดเวทีสาธารณะให้ได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา เพราะทุกคนก็พูดว่ารักประชาธิปไตย แต่ก็ไปคนละทาง พูดคนละทีสองที แต่ประชาชนผู้ใช้อำนาจอธิปไตยจริงกลับไม่มีเสียงพูด
ตอก ส.ส.ร.อย่าคิดเป็นเจ้าของ รธน.
นายสุชนกล่าวว่า ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายฉบับใดบอกว่าห้ามแก้ และรัฐธรรมนูญให้อำนาจผู้แทนปวงชนเป็นผู้แก้ไข วันนี้รัฐธรรมนูญควรยกร่างใหม่เกือบทั้งฉบับ เหลือไว้แต่หมวดพระมหากษัตริย์ ส่วนกรณีที่ กกต.เตรียมพิจารณาคดียุบพรรค ในวันที่ 8 เม.ย.นี้ ตนก็มีพรายกระซิบว่าคงไม่น่าเร็ว น่าจะรอให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ก่อน แต่ไม่ขอก้าวก่ายการพิจารณาของ กกต. เพราะทราบว่ามี กกต.คนหนึ่งไปอยู่ที่เชียงใหม่ด้วย สำหรับสาระการสัมมนาในวันนี้ ทางชมรมฯจะเสนอต่อรัฐสภา และองค์กรประชาชนทั่วไป แต่ตรงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะคนมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญคือสมาชิกรัฐสภาทั้ง 630 คน ถึงวันนี้ไม่น่าจะมีเสียงค้านแล้ว เพราะบางคนก็ค้านทั้งที่ยังไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งชี้แจงประชาชนว่า ไม่ได้แก้เพื่อพวกพ้องตัวเอง และการแก้รัฐธรรมนูญจะทำได้เร็ว ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องเป็นเจ้าภาพ เพราะหากตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาอาจมีข้อครหาอีก ดังนั้น พรรคการเมืองต้องร่วมมือกัน ต้องไม่คิดว่าเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล โดยนำฉบับ 40 และ 50 มาปรับปรุง เชื่อว่าภายใน 3 เดือนก็เสร็จ
องค์ประกอบ รธน.ทายาทเผด็จการ
นายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 ทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยน้อยลงมาก ที่ผู้ทำรัฐประหารบอกว่าจะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเป็นการพูดอย่างทำอย่าง เพราะถ้าดูจากเนื้อหาพบว่าเป็นการกดขี่อำนาจปวงชนมากสุดฉบับหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพราะการจัดแบ่งและถ่วงดุลของ 3 อำนาจอธิปไตยนั้นปรากฏว่าอำนาจ 2 ใน 3 ส่วน ประชาชนถูกแย่งเอาไปใช้โดยกลุ่มที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอำนาจนิติบัญญัติในส่วนของ ส.ว. มีการออกแบบให้ ส.ว.ส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา ถือว่ายึดโยงอำนาจจากผู้ทำรัฐประหาร ซึ่งผู้ที่ได้รับการสรรหาได้รับสิทธิพิเศษจากที่เผด็จการจัดอำนาจไว้ให้ และแต่งตั้งคนของตัวเข้าไปเป็น ส.ว. ดังนั้น ส.ว.ส่วนนี้เข้ามาโดยการแย่งอำนาจจากประชาชน และคนกลุ่มนี้จะเป็นฝ่ายค้านตลอดเวลา จึงเหมือนอำนาจของประชาชนถูกปล้นไปด้วยกฎหมาย ส่วนอำนาจตุลาการ ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้กำลังสรรหากันอยู่ ก็ยึดโยงมาจากอำนาจเผด็จการรัฐประหาร ตุลาการชุดก่อนหน้านี้ก็ไปยุบพรรคแบบดูแล้วขัดหลักนิติธรรม ตุลาการภิวัตน์ที่พูดกัน น่าจะหมายถึงการดึงเอาคนอาชีพตุลาการ ศาลยุติธรรม มาใช้อำนาจเผด็จการมากกว่า
เปิดศึกอัด “ธีรยุทธ” ลิ่วล้อเผด็จการ
“นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ซึ่งการทำงานของนายธีรยุทธ เป็นการเคลื่อนตัวทางการเมือง เพราะท่านมีข้อมูลวงใน หรือที่เรียกว่าอินไซเดอร์ คอยปั่นหุ้นที่เป็นหุ้นทางการเมือง ท่านรู้มาก่อนจะเกิดเหตุ 19 กันยาฯ 49 รู้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรเพื่อเป็นเหตุนำไปสู่การปฏิวัติ จึงมีการผลักดันโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อ เพื่อสยบจิตวิทยามวลชนให้ยอมรับ แต่นายธีรยุทธ ก็ยอมรับว่าวิเคราะห์ผิดพลาด และคาดไม่ถึงว่าหลังคดียุบพรรคไทยรักไทยแล้ว แกนนำไทยรักไทยกลับไม่แตกกระสานซ่านเซ็นอย่างที่ท่านวิเคราะห์ เพียงแค่เปลี่ยนชื่อใหม่ การวิเคราะห์ผิดเพราะท่านเข้าใจสังคมไทยและคนชนบทผิดพลาด ความรู้เกี่ยวกับประชาชนของท่านจำกัดมาก มาถึงวันนี้ออกมาแถลง เพราะก๊กดังกล่าวตั้งเป้าว่าจะให้ตุลาการภิวัตน์เพื่อให้ยุบพรรคอีก ท่านคงได้ข้อมูลวงในตรงนี้จึงออกมาแถลงให้ประชาชนยอมรับกันไว้ก่อน ดังนั้น ฝ่ายที่ตั้งรับตอนนี้อาจต้องเป็นฝ่ายรุกก่อน” นายวรพลกล่าว
อาจารย์จุฬาฯออกโรงหนุนแก้ รธน.
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 มีปัญหาตั้งแต่ที่มาของ ส.ส.ร. มีปัญหาล็อบบี้วุ่นวาย และคมช.ก็ส่งคนของตนเองเข้ามา เมื่อหันดูเนื้อหาพบว่ามีปัญหา เช่น ส.ว.เป็นระบบครึ่งผีครึ่งคน เพราะระบบสรรหาก็มีคนไม่กี่คนสรรหา ส่วนที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องไปมีผลต่อคดียุบพรรคก็มีปัญหา หลายคนมีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญตอนนี้ ฝ่ายการเมืองกลัวการยุบพรรค แต่ตนมองว่ายังใช้เวลาอีกพอสมควร มากกว่า 6 เดือนแน่ เพราะคดีนายยงยุทธ ติยะ-ไพรัช ต้องให้ศาลฎีกาพิจารณาแล้วคดียุบพรรคจึงค่อยมาในส่วนศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ที่จะแก้รัฐธรรมนูญบางประเด็นในตอนนี้ใช้เวลา 3 เดือนก็เกินพอ และก็ควรแก้เพราะรัฐธรรมนูญ 50 ทำให้การเมืองอ่อนแอ ต้องการกันสภาผัวเมีย แต่ได้สภาพี่น้องมาแทน
ยุแจ้งจับโหร คมช.ส่งเสริมปฏิวัติ
จากนั้นได้มีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้แสดงความเห็น ส่วนใหญ่แสดงความเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนางประทีป อึ้งทรงธรรม ส.ว.43 และอดีตแกนนำ นปก.รุ่น 2 กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 50 มีที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย มาจากปลายกระบอกปืน เป็นอมาตยาธิปไตย ให้คนคนเดียวสวมหมวก 5 ใบ เช่น เป็นผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เป็น คตส. เป็นกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งทุกคนรู้อยู่ว่าเป็นใคร แต่ก็รณรงค์กันให้รับไปก่อนแล้วแก้ภายหลังจนผ่านประชามติ แต่เนื้อหามีข้อบกพร่องมาก กันประชาชนออกจากระบบการปกครอง
นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ อดีต ส.ว.สิงห์บุรี กล่าวว่า บ้านเมืองต้องเชื่อวิชาธรรมศาสตร์ ไม่ใช่เชื่อโหราศาสตร์ภาคเผด็จการ การออกมาพูดแบบนี้ ต้องแจ้งตำรวจจับเพราะเป็นการยุยงส่งเสริมให้คนปฏิวัติรัฐประหาร ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญต้องสนับสนุน เพราะมีหลายมาตราที่บกพร่อง อย่างมาตรา 309 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 40 และ 50 ห้ามรัฐประหาร และมีโทษ รวมถึงโทษตามกฎหมายอาญาที่ให้ประหารชีวิต แต่พวกที่ปฏิวัติกลัวมากจนต้องบัญญัติการนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมออกกฎหมาย พวกนักกฎหมายก็ช่วย ขอเรียกว่าเป็นนักกฎหมายขายวิญญาณ สำหรับเรื่องตุลาการภิวัตน์ วันนี้ต้องรื้อ เพราะตุลาการไม่ใช่ภิวัตน์ แต่ดิ่งลงเหว
ที่มา ไทยรัฐ