บทความ: ทำไมถึงต้องแก้รัฐธรรมนูญ [ทั้งฉบับ]
ณัฐกร วิทิตานนท์
ข้อสอบข้อหนึ่งในรายวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญที่ผมเองเป็นผู้บรรยายให้ในเทอมก่อนหน้านี้ [ช่วงบริบทของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549] เลี่ยงที่จะถามอย่างกว้างๆ ในเชิงแสดงความคิดเห็นแทนว่า "...รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ในทัศนะของนักศึกษา ควรมีลักษณะอย่างไร..." โดยรวมแล้ว นักศึกษาตอบเหมือนๆ กันว่า รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดจะต้องมีความเป็นประชาธิปไตย [1] ขณะที่นักศึกษาอีกจำนวนไม่น้อย พยายามอธิบายประเด็นทางเทคนิคในเรื่องปลีกย่อยอื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญที่ดีควรมีข้อความชัดเจนแน่นอน หรือบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพประชาชนกว้างขวาง หรือไม่ควรยาวเกินไป หรือควรกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเอาไว้ เป็นอาทิ
คำตอบของนักศึกษาส่วนใหญ่ข้างต้น สะท้อนคำตอบเดียวกันกับที่ควรใช้ตอบในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่า เพราะเหตุใดสังคมจึงควรสนับสนุนให้มีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ทั้งฉบับ ทว่าแล้ว ประชาธิปไตย [Democracy] คืออะไร ? และยึดโยงกับรัฐธรรมนูญเพียงไร ? คงต้องอธิบายในส่วนนี้เสียก่อน
พูดกันตามจริง ส่วนใหญ่ของโลกเพิ่งจะเริ่มใช้ระบอบประชาธิปไตย [ในระดับชาติ] อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อสองร้อยกว่าปีมานี้เอง อันเป็นผลพวงจากแนวคิด รัฐธรรมนูญนิยม [Constitutionalism] ที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์สำคัญของโลก ก็คือ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลกในปี ค.ศ.1787
กระแสความคิดดังกล่าวแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ประดิษฐกรรมชั้นยอดของมนุษยชาติชิ้นนี้ มุ่งเน้นการจัดทำรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรในสถานะกติกา [As Rules] สูงสุด เพื่อใช้จัด ‘ระเบียบรัฐ' ด้วยการจำกัดอำนาจของผู้ปกครองให้อยู่ในขอบเขตอันเหมาะสม ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพผู้อยู่ใต้ปกครองเอาไว้อย่างชัดแจ้ง ตลอดจนมีหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย ภายใต้ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างกัน เพื่อให้อำนาจหนึ่งไปหยุดยั้งอีกอำนาจหนึ่ง ป้องกันการลืมตัวมัวเมาในอำนาจของผู้ปกครอง และอาศัยหลักการปกครองโดยกฎหมาย หรือ นิติธรรม [Rule of Law] สอดรับอย่างดีกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือเอามติปวงชนเป็นใหญ่
สรุปอย่างรวบรัดได้ว่า สาระสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยวันนี้ ซึ่งควรถูกสะท้อนโดยรัฐธรรมนูญนั้น อย่างน้อยๆ ก็ควรต้องยึดหลัก หนึ่ง อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน [popular sovereignty] สอง สิทธิเสรีภาพต่างๆ ของประชาชน [bill of rights] สาม ความสูงสุดของกฎหมาย [government of law, not of men] สี่ ความเสมอภาค [equal protection under law] และ ห้า เสียงข้างมาก [majority rule]
เมื่อเป็นดังนี้ ก็ต้องมาพิจารณากันต่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในฐานะฉบับปัจจุบัน พอที่จะนำมาใช้เป็นพิมพ์เขียว [As Blueprints] ฟื้นความเป็นประชาธิปไตยกลับคืนได้หรือไม่ กระนั้น การจะพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เพียงใด ก็ต้องดูจาก 2 ด้านหลัก คือ ในแง่ ที่มา กับ เนื้อหา ประกอบกัน
ที่มา :
ถ้านักกฎหมายยังคงยึดมั่นแนวคิดทางกฎหมายที่ว่า"เมื่อต้นไม้เป็นพิษผลของมันก็ย่อมเป็นพิษ" [fruit of the poisonous tree] แล้วล่ะก็ ก็ควรขานรับให้มีการ ‘ยกเครื่อง' รัฐธรรมนูญดังกล่าวทันที เพราะเป็นที่ชัดเจนมากว่า หากเลือกมองจากมุมนี้เพียงด้านเดียว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีทางที่จะเป็นประชาธิปไตยไปได้เลย เพราะมี ‘ที่มา' อันเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั่นเอง [กล่าวตามลำดับคือ คปค. ยึดอำนาจ >> ฉีก รธน. >> ออกประกาศ/คำสั่ง >> ตั้ง กกต./ปปช./คตส./สตง. >> ประกาศใช้ รธน. ชั่วคราว >> คมช. แต่งตั้ง นายกฯ/สนช./สสร. >> ตลก. รธน. ยุบพรรค ทรท. >> รธน. ผ่านประชามติ >> ให้ กกต./ปปช. อยู่จนครบวาระ >> เลือกตั้ง ส.ส./ สรรหา ส.ว. ตามกติกาใหม่ >> ???]
ยิ่งกว่านั้น โดยปรัชญาประชาธิปไตย สัญญาประชาคม [The Social Contract] ของ รุสโซ แล้ว "กฎหมายซึ่งจะใช้เป็นกฎหมายได้ จะต้องมาจากเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนเท่านั้น..." แน่นอน หากนำเอาหลักคิดนี้มาใช้อธิบาย รัฐธรรมนูญเอง รวมถึงประกาศ [36 ฉบับ] และคำสั่ง คปค. [20 ฉบับ] ตลอดจนกฎหมายของ สนช. ทั้งหมด [พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ / พ.ร.บ. 215 ฉบับ] ก็ย่อมหาใช่กฎหมายแต่ประการใด ด้วยไม่อาจอ้างว่ามันมาจากประชาชน หรือตัวแทนประชาชนได้เลย ทว่าวิธีคิดเช่นนี้ กลับสวนทางกับจารีตนิยมแห่งอำนาจตุลาการไทย เพราะท่านมัก ‘ตีความ' คล้อยตามแนวทางอำนาจนิยมแบบ จอห์น ออสติน ที่เห็นว่า "กฎหมาย คือ คำสั่งคำบัญชาของรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งสั่งแก่ราษฏรทั้งหลาย..." เสมอมา [2]
ขณะเดียวกัน เสียงประสานของฝ่ายคัดค้านที่เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ผ่านสื่อมวลชนกระแสหลัก ประหนึ่งเสียงข้างมากของสังคม มักย้ำอ้างถึงแต่เฉพาะ ‘ปลายทาง' ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ที่ผ่านกระบวนการลง ประชามติ ด้วยคะแนนเห็นชอบถึง 14,249,520 เสียง [หรือ 57.81 % ของผู้ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ] ฉะนั้น จึงไม่ควรแก้ไขหรือยังไม่ควรแก้ไข เพราะเท่ากับเป็นการฝืนความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ให้การยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ [ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้ว ประชาชนที่ว่าคิดเป็นเพียงร้อยละ 32.66 ของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทั้งหมด และคิดเป็นแค่ร้อยละ 23.44 ของประชากรไทยทั้งประเทศเท่านั้น [3]]
โดยละเลย ‘จุดเริ่มต้น' อันเลวร้าย และมองข้ามความจริงที่ว่า ขณะเดียวกัน มันก็ถูก ‘ปฏิเสธ' อย่างชัดแจ้งจากประชาชนอีกมากถึง 10,419,912 คน หรือ 42.19 % ของผู้ใช้สิทธิออกเสียงประชามติ มิพักกล่าวถึงความพิลึกพิลั่นนานาของการลงประชามติคราวนี้ ถึงขนาดที่รัฐมนตรีประเทศเพื่อนบ้านเอาไปตั้งข้อสังเกตกับผู้แทนสหประชาชาติว่า การลงประชามติของเขาที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ น่าจะเป็นประชาธิปไตยกว่าของไทยเยอะ [4] ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญปี 50 จึงขาดไร้ความศักดิ์สิทธิ์ ‘สูงส่ง' โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของ ‘ความชอบธรรม' เป็นอันมาก
เนื้อหา :
ก่อนหน้าการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ปรมาจารย์ทางกฎหมายมหาชนคนสำคัญของบ้านเมือง เปรียบเปรยร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกับประกวดนางงาม จึงให้ดูภาพรวมทั้งตัว ทั้งที่หากกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ส่วนสำคัญที่สุดของนางงามที่ทำให้มีโอกาสชนะการประกวดในแทบจะทุกเวที ต้องอยู่ที่ หน้าตา ด้วยมิใช่หรือ ? แน่นอนว่าต่อให้หุ่นดีสมส่วนเพียงไร หากหน้าตาไม่สะสวยก็นับว่ายากลำบากในการคว้าตำแหน่งมาครอง ฉันใดฉันนั้น ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อาจมีความโดดเด่นหลากหลายประการ ถึงแม้นส่วนดีจะมีมากกว่าส่วนด้อย ทว่าในส่วนสำคัญที่สุด [หรือเปรียบได้กับใบหน้าของนางงาม] แล้วนั้น กลับยังคงพบข้อกังขาในทางประชาธิปไตยมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ‘ที่มา' ของสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ตลอดจนองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่อง ‘ใหญ่หลวง' ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
รัฐธรรมนูญทำนองนี้จึงเท่ากับเป็นการลดพื้นที่ประชาธิปไตยในทางการเมืองของประชาชนลงมา เป็นต้นว่า
หนึ่ง การเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน ย้อนยุคหันกลับไปใช้ ระบบ ‘แบ่งเขต เรียงเบอร์' ย่อมก่อให้เกิดผลเสียหายตามมาหลายประการ ทั้งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ที่มีสิทธิในบางเขต เพราะแต่ละคนมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนได้ไม่เท่ากัน บางเขตเลือกได้ถึง 3 คน ขณะที่บางเขตกลับมีผู้แทนได้แค่คนเดียว และไม่เอื้อให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ระบบเลือกตั้งเช่นว่าทำให้เกิดระบบหลายพรรคขึ้นมา ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างที่เห็น การเมืองจึงขาดทั้งเอกภาพและเสถียรภาพ ฯลฯ
สอง การเลือกตั้ง ส.ส. สัดส่วนอีก 80 คน จาก 8 กลุ่มจังหวัด ทำให้การแข่งขันทางการเมืองขาดความชัดเจน เนื่องจากประชาชนไม่สามารถทราบถึง ‘คณะรัฐมนตรีเงา' [นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอื่นๆ] ของแต่ละพรรคเหมือนกับก่อนหน้านี้ได้ เพราะแต่ละพรรคต่างก็ต้องจัดทำบัญชีรายชื่อถึง 8 บัญชีตามแต่ละกลุ่มจังหวัด อีกทั้งการแบ่งกลุ่มจังหวัดที่ปรากฏออกมาก็ยังไม่สอดคล้องกับภูมิประเทศและวัฒนธรรมท้องถิ่นแท้จริง ฤาเป็นวาระซ่อนเร้นเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองหนึ่งโดยเฉพาะ ?
สาม การเลือกตั้ง ส.ว. แบบเลือกตั้ง 76 คน เต็มไปด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามหยุมหยิม เช่น ไม่ให้บุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว., ผู้สมัคร ส.ว. จะต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนานมาถึง 5 ปีขึ้นไป อีกทั้งก็ยังต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือเคยศึกษาอยู่ หรือเคยรับราชการในจังหวัดนั้นๆ มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ฯลฯ ส่งผลให้บรรยากาศของการเลือกตั้งเป็นไปอย่างเงียบเชียบถ้วนทั่ว ท่ามกลางบทกำหนดที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้อีกสารพัด เช่นให้คนกรุงเทพฯ มี ส.ว. ได้คนเดียวเท่ากับคนในจังหวัดอื่นๆ ทุกจังหวัดของประเทศ โดยหาได้คำนึงถึงจำนวนประชากรอันแตกต่างไม่ เป็นต้น
สี่ ขณะที่ ส.ว. สรรหา อีก 74 คน กลับมาจากการคัดเลือกโดยอภิชนหยิบมือเดียว ซึ่งต่างก็เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานองค์กรอิสระและผู้พิพากษาตุลาการจากศาลต่างๆ รวมกันแล้ว 7 คนแค่นั้น แถมยังขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิงอีกด้วย ส.ว. ประเภทนี้ มักหนีไม่พ้นข้าราชการระดับสูง และนักกฎหมายอาวุโสซะเป็นส่วนใหญ่ ทว่ารัฐธรรมนูญกลับให้ถืออำนาจหน้าที่เท่าๆ กันกับ ส.ว. แบบเลือกตั้ง ทุกประการ เช่นสามารถจะ ถอดถอน ผู้ที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาก็ได้
ห้า กระบวนการสรรหาบุคคลในองค์กรอิสระต่างๆ ยังคงให้อำนาจแก่สถาบันตุลาการ จนดูราวกับว่าประเทศนี้ฝากความหวังของบ้านเมืองทั้งปวงไว้กับองค์กรทั้ง 3 แห่งนี้ ก็คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และ ศาลรัฐธรรมนูญ ไปเสียทั้งหมด [องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาแต่ละองค์กรมากบ้างน้อยบ้างตามแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนด อย่างเช่น 7 กรรมการสรรหา กกต. เป็นฝ่ายตุลาการถึง 5 คน, 5 กรรมการสรรหา ปปช. เป็นฝ่ายตุลาการถึง 3 คน] ทั้งนี้เราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า อำนาจนั้นย่อมต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ แล้วศาลท่านพร้อมแสดงความรับผิดชอบในทางการเมืองแบบเต็มตัวอย่างที่คนอื่นๆ มี แล้วรึยัง ?
หก การกำหนดห้ามมิให้ ส.ส./ ส.ว./ นายกฯ/ รมต. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของข้าราชการประจำ เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ไว้อย่าง กำกวม โดยให้ถือว่าเป็น การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ด้วยนั้น ย่อมทำให้ฝ่ายการเมืองอ่อนแอจนอาจถูกฝ่ายราชการครอบงำเช่นในอดีตได้ ตรงนี้ขัดกับทฤษฎีทางการบริหารรัฐกิจที่ได้รับการยอมรับกันทั่วไป ซึ่งในเชิงความสัมพันธ์ทางอำนาจแล้ว ‘อำนาจทางการเมือง' (ที่มาจากเลือกตั้งของประชาชน) ย่อมต้อง เหนือ กว่า ‘อำนาจทางการบริหาร' (ระบบราชการ) ยึดตามหลัก Civil Supremacy [5] ของอารยประเทศ
เจ็ด การกำหนดให้การ ‘ยุบพรรค' สามารถทำได้ง่ายดาย สะท้อนความไม่เข้าใจหลักการว่าด้วย เสรีภาพ ในการรวมตัวกันเป็นกลุ่มต่างๆ กระทั่งจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองในฐานะสถาบันการเมืองสำคัญของประชาชน ทั้งนี้ ในหลายๆ ประเทศการยุบเลิกพรรคการเมืองจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อวิถีทางของพรรคนั้นขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง เช่น เน้นมุ่งการใช้ กำลังรุนแรง ล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศฉับพลัน ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าจึงเต็มไปด้วยพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์อันหลากหลาย เช่น พรรคกัญชา [Marijuana Party], พรรคคอมมิวนิสต์ [Communist Party], พรรคสังคมนิยม [Socialist Party], พรรคสีเขียว [Green Party] ฯลฯ
แปด มาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็น ‘สิ่งตกค้าง' อันเลวร้ายต่อการเดินทางต่อของระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา ความหวังให้การรัฐประหารครั้งนี้เป็นสุดท้ายไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง เพราะมาตรานี้คือการปิดโอกาสในการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะก่อการยึดอำนาจและผู้เกี่ยวเนื่อง ผ่านกระบวนการทางศาลต่างๆ โดยสิ้นเชิง อย่างเช่นกรณีทุจริตคอรัปชั่นก็ไม่อาจจะดำเนินคดีได้ เนื่องจากถูกบัญญัติรับรองเอาไว้ในมาตรานี้แล้ว อะไรๆ มันก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งนั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ กรณี ‘เอกสารลับ' สกัดกั้นพรรคพลังประชาชน ลงนามโดยอดีตประธาน คมช. ซึ่งต่อมา กกต. เสียงข้างมาก ก็ออกมายืนยันว่า ไม่อาจดำเนินการใดๆ สำหรับการกระทำของ คมช. ได้ เพราะถือเป็นการกระทำที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 36 และมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 และมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วนี่เอง
ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น ผมจึงไม่อาจเห็นด้วยได้กับข้อเสนอของผู้แทนปวงชนชาวไทยบางท่านที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะในบางประเด็นเช่นนั้น เพราะหากทำแค่นั้น ก็เท่ากับว่าท่านยอมจำนนและรับได้ใน ที่มา อันไม่ถูกต้องของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมองเห็นว่ามันเป็นปัญหาแค่ในเชิง เนื้อหา เพียงเท่านั้น
ถึงแม้นเราจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญการยกร่างรัฐธรรมนูญที่สุดในโลก [นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา เรามีรัฐธรรมนูญใช้มาแล้ว 18 ฉบับ เปลี่ยนบ่อยพอๆ กับรอบของการจัดกีฬาโอลิมปิกหรือฟุตบอลโลกแต่ละครั้ง ก็คือเฉลี่ยแล้วทุก 4 ปีเศษๆ] แต่เพื่อมิให้เป็นการสูญเสียงบประมาณแผ่นดินซ้ำซาก โดยทัศนะส่วนตัว ผมเห็นว่าการนำเอา รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาเป็นต้นร่าง จากนั้นจึงค่อยๆ ทำการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะในบางประเด็น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี และประหยัดที่สุด
โดยในชั้นแรกก็ต้องให้มีการแก้ไขใน มาตรา 291 เสียก่อน เพื่อเปิดทางให้มีกระบวนการนำเอารัฐธรรมนูญของปี 40 กลับมาปรับปรุงบางส่วน ตามที่ องค์กรพิเศษ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้น ‘ใหม่' [เพื่อการนี้โดยเฉพาะ] ตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว เห็นสมควรให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมประการใด ส่วนชื่อ โครงสร้างองค์กร รูปแบบที่มา สัดส่วนองค์ประกอบ และจำนวนของสมาชิก รวมถึงกรอบระยะเวลาการทำงาน ตลอดจนเงื่อนไขอื่นๆ อันแสดงให้เห็นถึงความยึดโยงระหว่างตัวรัฐธรรมนูญใหม่กับประชาชน จักเป็นประการใดนั้น นับเป็นเรื่องที่สังคมควรให้ความสนใจถกเถียงกันต่ออีกมาก
ทั้งนี้ หากปรารถนาก้าวให้พ้นจาก ประวัติศาสตร์ แบบเดิมๆ เราควรใช้ชื่อเรียกรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมาแทนที่ว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 [แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2551]" เพื่อรักษา ศรัทธาของประชาชน จำนวนมหาศาลที่มีต่อ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เอาไว้ เพื่อให้สานต่อความต่อเนื่องบนเส้นทางวิวัฒนาการ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ มิให้ตกอยู่ในสภาพ ‘ถอยหลังเข้าคลอง' หรือยังคงวนเวียนอยู่ใน ‘วงจรอุบาทว์' อีกต่อไป แน่นอนว่า ลักษณะดังกล่าวใช่ว่าทำไม่ได้ เพราะในอดีตรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6 ก็เคยทำเช่นนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ภายใต้ชื่อเรียกขาน "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495"
แน่ละ ถึงแม้นประชาธิปไตยจะไม่ใช่ระบอบที่ดีสมบูรณ์แบบ เพราะทั้งสิ้นเปลืองเวลา เงินทอง และก็มีความขัดแย้ง/ ยุ่งเหยิง/ ไร้ระเบียบอันเกิดจากการแข่งขันในทางต่างๆ อีก แต่บทเรียนครั้งแล้วครั้งเล่าก็ได้ตอกย้ำให้เราต้องเรียนรู้/ ยอมรับกันว่านี่คือ ระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด แล้วนะครับ !!!
เชิงอรรถ
[1] ทว่าก็อาจเกิดข้อถกเถียงได้ว่า สำหรับสังคมการเมืองไทยหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะยิ่งหากรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยสูงเท่าใดก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกยกเลิกได้อย่างง่ายดายรวดเร็วอยู่เสมอ นักศึกษาหลายๆ คนที่คิดในทำนองเช่นนี้ ก็มักจะเสนอว่ารัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดต้องมีความสอดรับกับวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมการเมืองนั้นๆ ต่างหาก มันถึงจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนสืบไป
[2] ดังเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1234/2523 ซึ่งวินิจฉัยว่า "...เมื่อคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินย่อมมีอำนาจที่จะออกประกาศหรือคำสั่ง อันถือว่าเป็นกฎหมายใช้บังคับแก่ประชาชนทั่วไปได้ แม้จะมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยออกประกาศใช้แล้วก็ตาม แต่หาได้มีบทกฎหมายยกเลิกประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติหรือคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินไม่ ประกาศหรือคำสั่งนั้น จึงยังเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่..." สำหรับผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติม โปรดดู สมชาย ปรีชาศิลปกุล, "หลักนิติรัฐประหาร," ฟ้าเดียวกัน ฉบับพิเศษ รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2550), หน้า 190-202.
[3] อ้างถึงใน ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2550, หน้า 1.
[4] อ้างถึงใน http://blog.nationmultimedia.com/supalak/2008/03/11/entry-1
[5] ดังคำกล่าวว่า "forty eight stars triumph over five" ของประธานาธิบดีทรูแมนในการสั่งปลดนายพลแมกอาร์เธอร์ที่บังอาจท้าทายภาวะผู้นำของประธานาธิบดี ในปี ค.ศ.1951 ซึ่งเป็นการยืนยันความเหนือกว่าของผู้นำพลเรือนต่อทหาร อ้างถึงใน ติน ปรัชญพฤทธิ์, ศัพท์รัฐประศาสนศาสตร์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 254
ขอขอบคุณณัฐกร วิทิตานนท์ เป็นบทความที่ก่อประโยชน์ต่อการเรียนรู้และเผยแพร่สู่สาธารณะชนได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านจึงขออนุญาตนํามาเสนอแก่ผู้อ่านอีกครั้งครับ
คืนรัง