จากกรณีการเสนอแนวคิดเรื่องการเมืองหใมท่ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันมีสาระสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเมือง ที่ปฏิบัติต่อเนื่องมาตามระบอบประชาธิปไตยยาวนานกว่า 70 ปี อย่างเช่นการให้มี ส.ส. จากการสรรหา 70% และมาจากการเลือกตั้งเพียง 30% นั้น ได้เป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และสาระสำคัญที่อาจจะเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย รวมไปถึงในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่พากันเป็นห่วงว่าอาจจะเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
นายอำนาจ แดงกุล ปลัดเทศบาลเมืองลำสามแก้ว อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี อดีตนายกสมาคมปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเมืองใหม่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่จะให้ ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง 30% สรรหา 70% โดยกล่าวว่า เป็นการทำลายสาระสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิประชาชนเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตน ทั้งยังเป็นการสวนทางกับการปกครองส่วนท้องถิ่นที่ให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียง สามารถเลือกผู้สมัครโดยตรง ซึ่งสามารถควบคุมตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“คงเป็นไปไม่ได้ที่จะกลับไปทำแบบนี้ เพราะพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไปไกลเกินกว่าที่จะย้อนกลับทำในสิ่งที่พันธมิตรฯ คิดกัน เพราะวันนี้มีการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว และมีการพัฒนาไปสู่การเป็นรากฐานและหัวใจของการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มรูปแบบอย่างแท้จริงมาเป็นลำดับ”
นายอำนาจกล่าวว่า วันนี้ประชาชนมีการตื่นตัวและตระหนักว่าการเลือกตั้งเป็นหนทางที่จะได้เลือกผู้แทนที่คิดว่าเหมาะสมไปทำงาน บุคลากรในองค์กรท้องถิ่นเองก็มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานเพื่อให้ประชาชนยอมรับ ที่สำคัญคือมีการควบคุมการตรวจสอบ การคานอำนาจ ซึ่งใครจะทำอะไรออกนอกลู่นอกทางไม่ได้ จึงไม่เข้าใจว่า วันนี้ประชาชนต้องการเลือกผู้แทนของตนเอง แต่ทำไมถึงมีแนวคิดมาจำกัดสิทธิและหน้าที่ของประชาชนเกิดขึ้น
ที่อ้างว่าเลือกตั้งก็ได้คนเก่าๆ นั้น อดีตนายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว จะเห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกระดับ คนเก่ามีอันต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งไปไม่น้อย เพราะประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น และกล้าที่จะแสดงออกและมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคนที่ดีที่สุด จะเห็นว่าคนใหม่ๆ ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาจะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์และต้องเป็นคนดี เพราะต้องเข้ามาทำงานเพื่อแข่งขันกันให้เกิดความเจริญของท้องถิ่น และมีการตั้งสถาบันพัฒนาภาวะผู้นำเพื่อเสริมสร้างความรู้และให้ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ คงไม่มีนักการเมืองคนไหนที่ทำตามใจตัวเอง โดยไม่ฟังเสียงประชาชนอีกแล้ว เพราะถ้าทำไม่ดีก็ถูกตรวจสอบ ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้
“อยากให้คิดให้มากว่า การที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ตั้งสุขาภิบาลขึ้น ก็เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ในการดูแลรักษาปกป้องผลประโยชน์ ให้มีสิทธิมีเสียงในการปกครองตนเอง แต่แนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการสรรหามากกว่าการเลือกตั้ง มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่ ถ้าจะต้องเป็นการแก้ปัญหาของคนอย่างที่พูดถึงคงทำอะไรได้ไม่มาก เพราะยังมีส่วนงานอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เริ่มตั้งแต่ก่อนการเข้าสู่ตำแหน่ง ในระหว่างที่มีตำแหน่ง จึงไม่อาจแก้ปัญหาพื้นฐานได้ ซึ่งคิดว่าแนวคิดการเมืองใหม่ที่ว่านี้ จะเป็นไปไม่ได้และคงไม่มีใครยอมรับ” นายอำนาจกล่าว
เพื่อไทย
Monday, July 7, 2008
ท้องถิ่นรุมต้าน’การเมืองใหม่’ทำลายเจตนารมณ์รัชกาลที่ 5
อปท.พากันต้านแนวคิด “การเมืองใหม่” ของกลุ่มพันธมิตรฯ ระบุระบอบประชาธิปไตยมีการพัฒนามาเป็นขั้นเป็นตอน และเดินมาไกลมากเกินกว่าจะย้อนกลับไปทำอย่างนั้นแล้ว โดยเฉพาะแนวทางการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มีการปรับปรุงมาจวนจะเข้าที่เข้าทาง ที่สำคัญแนวคิดดังว่ายังขัดพระราชประสงค์ในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่ทรงตั้งสุขาภิบาล ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมบริหารและรักษาท้องถิ่นของตัวเอง