WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, July 10, 2008

นักวิชาการติงอย่าโทษ‘นพดล’แนะมีสติ-เข้าใจประวัติศาสตร์

“ปราสาทเขาพระวิหาร” ยังไม่สิ้นหวัง กมธ. ต่างประเทศหนุนไทยขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกับเขมร พร้อมเดินหน้าลงพื้นที่ประสานรอยร้าว 2 ชาติ หลังถูกหยิบมาจุดกระแสการเมือง ขณะที่นักวิชาการ แนะให้ย้อนมองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ชี้หากการขึ้นทะเบียนทำให้ไทยเสียดินแดนจริงก็ไม่ควรโทษเฉพาะ “นพดล” แต่ต้องรวมไปถึงทีมทนายที่แพ้คดี และผู้ที่ยอมรับแผนที่ ค.ศ.1907 ของฝรั่งเศส แนะสังคมมีสติ อย่าปล่อยให้มีการปลุกปั่นสร้างกระแสชาตินิยมจนเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรู

หลังจากคณะกรรมการมรดกโลกประกาศให้ปราสาทเขาพระวิหารของกัมพูชาเป็นมรดกโลก พร้อมตั้งกรรมการจาก 7 ปท. รวมทั้งไทย บริหารจัดการร่วมกับกัมพูชา รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 ชี้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น

* ชูจดทะเบียนร่วมไทย-กัมพูชา
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม นายดนุพร ปุณณกันต์ และ ดร.รัชดา ธนาดิเรก โฆษกคณะกรรมาธิการต่างประเทศ ได้แถลงผลการประชุมคณะกรรมาธิการต่างประเทศครั้งที่ 2 โดยผลสรุปการประชุมกำหนดบทบาทของคณะกรรมาธิการ ซึ่งจะเน้นกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ในประเด็นเขาพระวิหาร ซึ่งถือว่าเป็นความเปราะบางและสะเทือนจิตใจของประชาชนชาวไทย โดยคณะกรรมาธิการต่างประเทศมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีขึ้น

นอกจากนี้คณะกรรมาธิการฯ ยังเตรียมผลักดันให้ประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ทำการยื่นจดทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกัน พร้อมทั้งจัดกรอบการพัฒนาผลประโยชน์ และพื้นที่รอบปราสาทเขาพระวิหาร เพื่อให้ไทยและกัมพูชาได้ผลประโยชน์ร่วมกัน

ด้าน ดร.รัชดา หนึ่งในทีมโฆษกกล่าวเสริมว่า คณะกรรมาธิการฯ จะเน้นในเรื่องการปกป้องสิทธิประโยชน์ของคนไทยทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา 3 คณะ คือ คณะอนุกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะอนุกรรมาธิการสิทธิประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ และ คณะอนุกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วย

กมธ.ห่วงสัมพันธ์ 2 ประเทศ
ส่วนกรณี นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทางคณะกรรมาธิการฯได้มีแนวคิดอย่างไรนั้น นายดนุพร กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมาธิการฯ ไม่มีการพูดคุยกันในที่ประชุมแต่อย่างใด แต่ในขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาหาผู้กระทำผิด แต่ควรยึดถือในเรื่องของผลประโยชน์ของคนไทย และของประเทศไทยมากกว่า ซึ่งกรณีของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรม และต้องรอรับฟังคำตัดสินของศาลน่าจะเป็นการดีที่สุด

ด้านปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้นั้น ดร.รัชดา กล่าวเสริมว่า ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ได้ทำการหารือเพื่อแก้ปัญหาในเชิงลึก โดยคาดว่าในเร็วๆ นี้จะมีการลงพื้นที่ไปยัง จ.ศรีสะเกษ และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อหารือถึงปัญหาและผลกระทบเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และประชาชนในพื้นที่ต่อไป พร้อมกันนี้จะทำการเชิญเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย มารับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อพูดคุยและสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และอาจทำให้กระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจได้

ผบ.ทบ.เกรงกระทบเพื่อนบ้าน
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. กล่าวว่า กองทัพรู้สึกเป็นห่วงว่าจะเกิดความบาดหมางระหว่าง 2 ประเทศ หลังจากที่กัมพูชาเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารได้สำเร็จ ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เหตุผลและหลักกฎหมายเป็นเครื่องตัดสิน

ส่วนมติของคณะกรรมการมรดกโลกที่ให้ 7 ประเทศ บริหารจัดการปราสาทเขาพระวิหารร่วมกันนั้น ผบ.ทบ. ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น โดยกล่าวว่า เป็นเรื่องที่ไกลจากกองทัพ อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารแล้ว การดูแลตามแนวชายแดน กองทัพก็ดูแลปกติ โดยเฉพาะในส่วนการปักปันเขตแดน ก็มีคณะกรรมการติดตามอยู่แล้ว

เวทีเสวนาแนะสร้างความเข้าใจ
ขณะเดียวกันที่โรงแรมสยามซิตี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดการเสวนาความมั่นคง “เขาพระวิหาร: วิกฤติและโอกาส” โดยมีผู้แทนจากกรมแผนที่ทหาร กองทัพบก กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมจำนวนมาก

รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ประเด็นเขาพระวิหารได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนไทยในพื้นที่ จนมีเสียงเรียกร้องไปไกลถึงขนาดจะทวงคืนจังหวัดพระตะบองและเสียมเรียบที่เคยเป็นของไทย

รศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า ตนจึงมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาก่อนที่จะนำไปสู่ปัญหาระหว่างประเทศ คือ รัฐบาลไทยต้องเร่งสร้างความเข้าใจต่อประเด็นปัญหาปราสาทเขาพระวิหารผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อไม่ให้ปัญหาขยายตัวไปสู่ความรุนแรง และจะต้องแยกประเด็นมรดกโลกออกจากประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อน รวมทั้งควรพิจารณาเรื่องเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวระหว่างไทยกับกัมพูชาเข้าด้วยกัน ที่สำคัญไทยและกัมพูชาต้องยึดหลักการทูตในการแก้ปัญหา และต้องตระหนักว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ปราสาทเขาพระวิหารเป็นเขตอธิปไตยของกัมพูชาไปแล้ว จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 ได้

* นักวิชาการย้ำเป็นของเขมร
ทางด้าน คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการเสวนาวิชาการหัวข้อ “วิวาทกรรมเขาพระวิหาร : การใช้โบราณสถานเป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ” มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว และเปิดโอกาสให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสรับรู้ และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ในมุมมองเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง และสังคม ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีนักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาประมาณ 100 คน ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวในระหว่างการเสวนาว่า ปราสาทเขาพระวิหารนั้น หากมองในแง่ของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์แล้ว คงต้องยอมรับว่าเป็นของกัมพูชา เพราะถูกสร้างขึ้นโดยบรรพชนขะแมร์กัมพูชา (ขอม) ที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาปัจจุบัน

รศ. สมชาย กล่าวว่า กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันอยู่ในเวลานี้ กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองทั้งในส่วนของประเทศไทยและกัมพูชา กล่าวคือในส่วนของไทย ฝ่ายที่พยายามโค่นล้มรัฐบาล ก็ใช้กรณีนี้โจมตีรัฐบาลว่าทำให้ไทยเสียดินแดนให้กับกัมพูชา ขณะที่เอ็นจีโอในกัมพูชา ก็โจมตีรัฐบาลว่ากำลังตกหลุมพรางของไทย และจะนำไปสู่การเสียดินแดน ซึ่งในที่สุดแล้วไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นฝ่ายใดที่เสียดินแดน

สงสัยทำไมโทษแต่ “นพดล”
“สมมติว่าผลจากการที่คณะกรรมการมรดกโลกรับรองให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก จะทำให้ไทยเสียดินแดนจริง เหตุใดจึงมีแต่ความพยายามที่จะโทษว่า เป็นความผิดของ นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่เพียงผู้เดียว ผมมองว่าควรโทษ ตั้งแต่คณะทนายความของไทยนำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ทำให้ไทยแพ้ในการตัดสินของศาลโลกในกรณีเขาพระวิหาร หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่เคยเสด็จเยือนปราสาทพระวิหาร โดยที่ก็ยอมรับโดยนัยว่า พื้นที่ตรงนั้นไม่ได้เป็นของไทย รวมไปถึงผู้ลงนามยอมรับในแผนที่ ค.ศ.1907 ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ใช้เป็นหลักฐานในการขึ้นศาลโลกด้วย”

* วอนอย่าปลุกกระแสชาตินิยม
รศ. สมชาย กล่าวถึงสิ่งที่ควรจะทำต่อไปว่า ทุกฝ่ายควรจะตระหนักว่า การขีดเส้นแบ่งเขตแดนจนเกิดขึ้นเป็นรัฐไทย เพิ่งจะมีขึ้นในสมัย ร.5 เท่านั้น โดยที่ก่อนหน้านั้นดินแดนไม่ได้มีการขีดแบ่ง ผู้คนสามารถไปมาหาสู่กันได้และมีความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย

ทั้งนี้ตนเห็นว่า ในเวลานี้อย่าปล่อยให้มีการปลุกปั่นสร้างกระแสชาตินิยมขึ้น จากกรณีปราสาทเขาพระวิหารแล้วทำให้คนไทยมองเห็นกัมพูชาเป็นศัตรู ซึ่งสังคมไทยจะต้องมีสติและไตร่ตรองให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดความเกลียดชังระหว่างกันขึ้น

รศ.สมชาย กล่าวว่า น่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะให้มีการบริหารจัดการพื้นที่ บริเวณปราสาทเขาพระวิหารและโดยรอบ ร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะมีตัวอย่างลักษณะเดียวกันนี้ให้เห็นมาแล้วในยุโรป
* ระวังตกเป็นเหยื่อปลุกระดม

ด้าน อ.เอกกมล สายจันทร์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ เป็นเพราะปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่บนพื้นที่เขตแดนระหว่างรัฐ และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการเป็นมรดกโลกของปราสาทเขาพระวิหาร เพราะปัจจุบันการท่องเที่ยวถือเป็นสิ่งที่นำรายได้เข้าสู่กัมพูชาอย่างมาก ส่วนจะเกี่ยวข้องกับกรณีเกาะกงหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่มีข้อมูลเพียงพอ

อ.เอกกมล กล่าวว่า ตนมองกรณีที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็นเหยื่อของการเมืองทั้ง 2 ประเทศ โดยในส่วนของกัมพูชากำลังมีการเลือกตั้ง ก็ใช้ในการเรียกคะแนน ส่วนไทยกลุ่มที่เคลื่อนไหวก็ใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกกระแสชาตินิยม