คอลัมน์: รายงานพิเศษ
กล่าวว่า ถ้าจะรับฟังความคิดใครสักคนหนึ่ง เสียงจากคนในกลุ่มก๊วนเดียวกันมีค่าแก่การรับฟังเสมอ อย่างน้อยก็จะได้ความจริง เพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้
วันนี้สหายในเส้นทางเดียวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่เคยต่อสู้ร่วมกันเมื่อก่อน 19 กันยายน 2549 ออกมายืนนอกวง มองกลับไปที่พฤติกรรมในวันนี้ของพันธมิตรฯ ส่ายหน้าแสดงความไม่เห็นด้วย ซัดอย่างหมดเปลือก ผ่านสถานีโทรทัศน์ ช่อง NBT ถึงเบื้องหลังการขนม็อบเข้าร่วมชุมนุม ยันมีการจ้างคนเข้าร่วม และพรรคการเมืองเก่าแก่อยู่เบื้องหลังแน่นอน แนะแกนนำ คนรู้ไต๋หมดแล้ว เพิ่ง 4 เดือนควรให้โอกาสรัฐบาลทำงานก่อน ยันไม่ถูก มท.1 “เฉลิม อยู่บำรุง” ซื้อตัว-ปิดคดี “โจ้-ซีโฟร์” เพราะอยู่ในกระบวนการยุติธรรม แทรกแซงไม่ได้ เชื่อมั่นสหภาพฯ เล่นด้วยกับเวทีนี้แน่
“ที่เราไม่เข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯ ในครั้งนี้นะครับ มันมีปัจจัยอยู่ 2-3 ปัจจัย คือ เนื่องจากว่าองค์กรของผมเองมีปัญหาภายใน ปัญหาภายในของผมเองมีอยู่ 6-7 เรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องพนักงานขาด ไม่สามารถบริการให้กับประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความหนักใจให้กับเราเองด้วย แล้วเรื่องปัญหาปากท้องของพนักงาน มันมีปัญหามาอย่างยาวนาน เพราะว่าตัวผมเองมัวแต่ออกไปสู้ข้างนอก เมื่อปี 2549 ออกไปสู้เรื่องการแปรรูปอยู่ ดังนั้นในเมืองเราสู้เรื่องแปรรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัญหาภายในที่เรายังไม่สะสาง เราน่าจะมาทำเรื่องตรงนี้ให้จบ เลยไม่มีโอกาสที่จะไปร่วมด้วย
และประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ในการเปิดเวทีของพันธมิตรฯ ในครั้งนี้ ถามว่าในครั้งนี้ปี 2551 กับเมื่อปี 2549 มันแตกต่างกันอย่างไร ผมคิดว่า เท่าที่ผมตั้งข้อสังเกตนะครับ เงื่อนไขในการเคลื่อนไหวมันยังไม่เข้มงวดเท่าไร แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุด คนที่ขึ้นไปบนเวทีทั้งหลาย มีแต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังทางการเมืองเสียมากกว่า มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าผมเข้าไปเนี่ย ซึ่งผมเองเป็นคนกลาง เป็นพนักงานของรัฐ
ถ้าผมไปยืนฝั่งหนึ่งฝั่งใด ภาพของผมจะเสีย ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมตัวผมเองเคยสู้เมื่อปี 2549 แล้วทำไมวันนี้ไม่ออกไปสู้กับพันธมิตรฯ ล่ะ ซึ่งผมต้องบอกว่า เมื่อปี 2549 มันมีเหตุผลเรื่องการแปรรูปที่มันเข้มข้นมาก และทำให้ผมต้องออกไปต่อสู้ แต่ปีนี้เมื่อเห็นเงื่อนไขแล้ว ต้องถามว่าเงื่อนไขสำคัญไหม อย่างเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องหมิ่นเบื้องสูง เรื่องเขาพระวิหาร ถามว่าสำคัญหรือไม่ สำคัญ แต่เมื่อทุกอย่างมันได้ดำเนินการจบสิ้นลง ผมว่าทุกอย่างมันน่าจะจบด้วยดี เพราะประชาชนส่วนหนึ่งเขาให้ความร่วมมือในการเคลื่อนไหวอยู่แล้ว
ในส่วนของตัวผม ผมพยายามยืนอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง และอีกอย่าง ความคิดของผมไม่เหมือนคนอื่น ใครที่คิดว่าอยู่กลุ่มเดียวกัน แต่จะมาบังคับความคิดของผมไม่ได้ ผมมีเอกภาพในความคิดของผม ผมคิดว่าตรงนี้มันไม่ถูก ผมก็ไม่เอาด้วย เพราะฉะนั้นในการขึ้นเวทีแล้วเราบอกว่า เป็นภาคประชาชน แล้วยังมีนักการเมืองอิงอยู่เนี่ย มันเป็นภาพที่ไม่บริสุทธิ์ไง พอไม่บริสุทธิ์ก็จะทำให้คนตำหนิได้ วันนี้ต้องยอมรับความจริงว่า บนเวทีพันธมิตรฯ ยังมีนักการเมืองส่วนมากอยู่
พอถามว่าวันนี้ถ้าเราลงไปสู้ เขาจะถามกลับมาทั้งสองข้างนั่นแหละ ฝั่งนี้มีนักการเมืองหนุน ฝั่ง นปก. มีนักการเมือง แล้วเราจะทำอย่างไร ถามว่าเราเป็นคนกลาง เราเป็นคนของสังคม แล้วเราเป็นปัญญาชน ถามว่าแล้วเราจะทำให้ทั้งสองฝั่งทะเลาะกัน ผมคิดว่ามันไม่มีความจำเป็น นี่คือจุดหนึ่งที่ต้องการบอกกับประชาชนว่า ที่ผมไม่ออกไปเพราะแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ประชาชนได้ตัดสินใจดูว่า การจะเข้าข้างหนึ่งข้างใด ต้องคำนึงถึงบ้านเมืองเป็นหลักก่อน
แล้วคนที่มักจะพูดอ้างถึงเบื้องบน ผมอยากจะฝากว่า ถ้าอ้างแล้วคุณควรจะทำตามที่อ้างด้วย แล้วที่สำคัญที่สุด ข้างไหนเห็นว่ามันเดือดร้อน ควรจะหยุดและควรจะฟังเสียงประชาชนบ้าง ตรงนี้แหละผมคิดว่าจะได้ใจประชาชนมาก…เหตุผลยังไม่เพียงพอหรอกครับ และสำคัญที่สุด ผมคิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มันผ่านวิกฤติหรือยัง ผมคิดว่ามันผ่านแล้วนะ มันผ่านแล้ว และช่วงขณะที่ผ่านนี้ผมเห็นว่า วันนี้รัฐบาลมาแค่ 4 เดือนเอง พอ 4 เดือน คุณเรียกร้องไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เขาโอเค ยอมไปแล้ว แต่ว่ากว่าจะยอม เหนื่อยไหม ก็ยอมรับว่าเหนื่อย ท่าน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ลาออกแล้ว จบแล้ว ถ้าจบแบบนี้ท่านคิดว่าน่าจะจบไหมล่ะ
ที่สำคัญที่สุดวันนี้ที่ผมมอง คือในช่วงที่รัฐบาลมาอยู่แค่ 4 เดือนนี้ เราอุตส่าห์เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง เลือกตั้งแล้วมันจะโกง หรือซื้อเสียง สุดแล้วแต่ ไปตัดสินด้วยกระบวนการยุติธรรมเอา ไม่เป็นไร แต่การบริหารประเทศมันต้องไปด้วย ดังนั้นเขาทำงานมา 4 เดือน แล้วคุณมาบอกว่ารัฐบาลต้องไปนี่ แล้วเงินที่จัดการเลือกตั้งมาล่ะ 2-3 พันล้านบาท เดือนละ 500-600 ล้านบาท แล้วใครจะเป็นคนออก ภาษีประชาชนทั้งนั้นแหละ ถ้าคุณบอกว่ารัฐบาลชุดนี้อยู่แค่ 4 เดือนยังไม่ดีพอ คุณหาวิธีการอย่างอื่นที่คิดว่ามันชัดเจนกว่านี้ได้ไหม ผมจะได้ออกไปร่วมด้วย แต่วันนี้ผมยังมองไม่ออกครับ ดังนั้น ผมคิดว่าน่าจะเปิดโอกาสให้เขาทำต่อไป
แต่ที่สำคัญ หลังจาก 4 เดือนแรกของรัฐบาลนี้ รัฐบาลต้องสนใจปัญหาปากท้องของประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าไปสนใจเรื่องพรรคพวก เรื่องการช่วยเหลือกัน ซึ่งภาพมันจะออกมาต่อเนื่อง จะทำงานกันลำบาก ในยามวิกฤติเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ ผมอยากจะฝากไปถึงรัฐบาลด้วยว่า วันนี้มองถึงประชาชนจริงๆ ด้วยนะครับ ถ้ามองแบบนี้ผมคิดว่าไม่มีใครออกมาเคลื่อนไหวหรอกครับ”
เพียร ยงหนู ยังพูดถึงการถอยออกมาข้างนอกว่า “ตอนที่เขาออกไปนั้น เขามาประชุมกับผมนี่แหละ ประชุมเพื่อขอมติวิสามัญ ผมบอกว่าผมไม่ให้ การประชุมวิสามัญนี่มันเป็นการแลกด้วยองค์กรนะ ต้องนำพาองค์กรไปสู่การประชุมวิสามัญ แล้วพาคนออกไปที่ถนนราชดำเนิน มันไม่ถูก ผมบอกว่าเมื่อเราเป็นสมาชิก สรส. (สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์) เมื่อคุณรับมติ สรส. เขาเอาเฉพาะคนที่เขาถนัดต้องการอยากจะไป หรือมีวัตถุประสงค์จะไป ก็ไปได้
คือประกาศก็ประกาศได้ แต่การประกาศแล้วคนจะไปได้หรือไม่ อันนั้นมันสุดแล้วแต่ แต่ผมยืนยันว่า ถ้าผมยังยืนอยู่ที่จุดๆ นี้ น้อยมากที่คนจะไป เพราะคนในโรงไฟฟ้า คนในเครือข่ายที่ไหนก็ตาม เขาเชื่อมั่นในผู้นำ แต่ว่าผมไม่บังคับใคร และสำคัญที่สุด เราไม่ต้องการไปหัก สรส. เขา ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรฯ อยู่นี้ เขาต้องการทำกิจกรรม เราให้เขาไปทำกิจกรรม แล้วรองเลขาฯ
ผม ในฐานะเป็นน้อง เขาอยากจะไปทำก็ให้ไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกภายในเท่านั้นเอง…ผมไม่ได้เห็นแก่ตัวนะ แต่อย่างน้อยที่สุดเราต้องมองว่า การออกไปแล้วเนี่ย มันเกิดอะไรขึ้น มันได้อะไร มันเสียอะไร ถ้าออกไปแล้วมันเสียผมก็ไม่เอาเหมือนกัน นี่ไง! จุดตรงนี้ไงที่ผมต้องรักษาสงวนท่าทีผม
ดังนั้น วันนี้องค์กรเรานี้ หน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทยเข้ามาเป็นผู้ดูแล รมว.มหาดไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้ดูแล ท่านเป็นผู้บังคับบัญชาเรา ท่านอาจจะเสียในสายตาคนอื่นเขา แต่ท่านยังไม่เสียในสายตาผม ผมร้องขอ 5-6 ข้อ ท่านทำให้ผมหมด แล้วอยู่ๆ ผมจะเปิดประชุมวิสามัญไปขับไล่ท่าน คิดว่ามันชอบธรรมไหมล่ะ คนในองค์กรเขาจะ มามองผมว่า เอ๊ะ...ประธานสหภาพฯ ทำแบบนี้แสดงว่าท่านเองไม่มีจุดยืนเลยสิ!! ท่านไม่เลือกเรื่องอะไรเลย ท่านเอาแต่เรื่องสนุกๆ เอาแต่เรื่องมีปัญหาๆ แบบนี้ การทำแบบนี้ไม่ใช่ผมนะครับ
ทุกเรื่องที่เขาเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ผม 6 ข้อนี่ ผมว่าเป็นที่พอใจของคนในโรงไฟฟ้า และเป็นที่พอใจ เชื่อว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ด้วย อย่างน้อยๆ คนที่ขาด ในส่วนบริการประชาชน เราได้รับสมัครเพิ่มขึ้น นี่เห็นชัดว่าท่านแก้ปัญหา แต่ใครจะบอกว่าท่านไม่ดี ท่านเลว อันนั้นสุดแล้วแต่ใครจะว่า แต่ในส่วนที่ดีนั้นผมจะต้องแสดงให้เห็นว่า ท่านดีกับผมนะ”
ทั้งยังกล่าวถึงการถูกใส่ร้ายว่า ไม่เข้าร่วมเพราะผลประโยชน์ “พอผมไม่ไป มีการโยน คือพูดตรงๆ จากพี่น้องเรา พันธมิตรฯ นี่แหละ ปล่อยข่าวว่าผมรับเงินจากรัฐมนตรีเฉลิม 300 ล้านบาท วิพากษ์วิจารณ์จนผมเสียหาย ซึ่งตรงนี้เอง ผมอยากจะฝากไปให้พี่น้องพันธมิตรฯ เรา และทางประชาชนด้วยว่า คนอย่างผม ถ้ารับเงิน ผมรับตั้งแต่แปรรูปผมสบายไปแล้ว ผมมีจุดยืนของผม
และสำคัญที่สุด ผมถามว่า แค่ผมไม่ไป แล้วโยนเผือกร้อน โยนบาปให้ผม แล้วบอกว่า ไม่ใช่พวก คุณเอาไปกินเถอะ มันเป็นเผือกร้อน ผมถามว่ามันเป็นธรรมกับผมไหม ในขณะที่ผมอยู่ของผมอย่างนี้ ดูแลของผมอยู่อย่างนี้ ขณะที่ผมได้รับข่าวจากหลายองค์กร ไม่ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิต วิพากษ์วิจารณ์ผมอย่างหนัก บางคนโทร.มาหาผมทุกวัน บางทีผมทำใจไม่ได้เลย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ด่าผมเสียๆ หายๆ ผมเคยมีบารมี พูดตรงๆ ว่าคนที่ยอมรับผม การประปานครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เกือบทุกองค์กรหาว่าผมไปรับเงิน เพราะผมไม่ไปร่วมต่อสู้กับพันธมิตรฯ
ผมถามว่าแบบนี้คุณกำลังผลักผมให้เป็นศัตรูนะ ใช่ไหมครับ ถ้าว่าผมรับเงิน ผมถามว่ามันมีเหตุผลอะไรที่จะมาว่าผมไปรับเงิน คุณเฉลิมเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้ผมนี่ แล้วผมถามว่า รัฐมนตรีเฉลิมแถมเงินให้ผมอีกหรือ ผมถามว่าถ้าอย่างนี้รัฐมนตรีเฉลิมเป็นคนดีหรือคนบ้าไม่รู้นะ ช่วยแก้ปัญหาของผม 6 ข้อที่สำคัญแล้ว ยังมาให้เงินผมอีกนะหรือ มันไม่ใช่นะ
ผมอยากจะฝากว่า ทุกคนที่ไปพูด ตัวนี้อย่าพยายาม ผลักมิตรให้กลายเป็นศัตรู ถ้าผลักมิตรให้เป็นศัตรู ผมเชื่อว่าการต่อสู้จะลำบากมากยิ่งขึ้น อย่างน้อยที่สุด คนรักผมก็มีเยอะ คนที่เกลียดผมมีบ้าง ไม่เป็นอะไร คนที่รักผมมีเยอะนะครับ อย่างน้อยที่สุดคนในโรงไฟฟ้า เขาเชื่อมั่นในฝีมือผม ว่าผมเป็นคนอย่างไร และผมไม่เคยทรยศต่อหน้าที่ผม
เพียร ยงหนู กล่าวถึงการเมืองใหม่ที่พันธมิตรฯ เรียกร้องว่า “ผมถามว่า ทางพันธมิตรฯ ต้องการเปลี่ยนการเมืองใหม่ใช่ไหม ผมถามว่า ถ้าคุณได้แล้วคนเขาจะยอมรับหรือเปล่า ผมถามว่า แล้วอำนาจในการตัดสินใจมันอยู่ที่คน 5 คนหรือ คนทั้งประเทศนะ คนที่เอาด้วยก็มี คนไม่เห็นด้วยก็มี คุณดูการลงประชามติรัฐธรรมนูญ หมิ่นเหม่นะ ฉิวเฉียด เฉี่ยวๆ นะ กว่าจะได้ วันนี้คุณต้องเข้าใจนะ คุณทำการเมืองภาคประชาชน ต้องเป็นภาคประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ภาคประชาชนแอบแฝง แค่คุณทำภาคประชาชนแบบนี้ คนก็มองแบบว่า อันนี้ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน แต่เป็นการเมืองที่มีแบ็ก (เบื้องหลัง) แบบที่คุณบอก อย่างนี้เขาเรียกการเมืองแบบประชาธิปไตยไหม มันไม่ใช่นะครับ
เพราะฉะนั้นผมบอกว่า ถ้าจะเปลี่ยนภาคการเมืองแบบใหม่ ต้องหล่อหลอมคนมากกว่านี้หน่อย แล้วต้องทำความเข้าใจ และเข้าไปหาเนื้อหาสาระของมันว่า จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความกระทบ ทะเลาะเบาะแว้งกัน วันนี้คุณมาบอกว่า ทำการเมืองใหม่ ขณะที่คนกำลังแตกแยกกันเป็นฝักเป็นฝ่าย คุณทำอย่างไร วันนี้คุณต้องเอาประชาชนทั้งหมดกลับมาก่อน ไม่ใช่มาบอกว่า ปักษ์ใต้ไม่ต้องไปลง ที่โน่นใครลง ส.ส.ปักษ์ใต้ไม่ได้หรอก เพราะที่โน่นพรรคใหญ่ ประชาธิปัตย์เขาฟาดเรียบ ไปอีสานไม่ต้องไปหรอก
พรรคพลังประชาชนเขาฟาดเรียบ นี่คนยังแบ่งอยู่เลย คุณทำอย่างไร ภาคการเมืองทั้งหมด ใครก็ได้ไปลงสมัคร แต่เป็นคนกลาง คนที่สามารถแก้ปัญหาประชาชนจริงๆ ผมเชื่อว่าอันนี้คือจุดจบของมัน แต่วันนี้ผมยืนยันได้ว่า คุณทำสักร้อยปีก็ไม่ประสบความสำเร็จ ผมบอกให้ ถ้าทำอย่างนี้นะ”
อย่าพลาดข้อมูล มุมมองของคนที่เคยเดินในเส้นทางเดียวกัน หาอ่านได้ที่ ประชาทรรศน์ รายสัปดาห์ ฉบับที่ 75 เท่านั้น วางแผงแล้ววันนี้