คอลัมน์ : ละครชีวิต
ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ นายทหารยศพลเอก ตำแหน่งประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากองบัญชาการทหารสูงสุด สวมเครื่องแบบทหาร ประดับยศพลเอก ขึ้นเวทีม็อบพันธมิตร ปลุกระดมเชิญชวนให้ทหารออกมาร่วมชุมนุมกับม็อบพันธมิตร
ม็อบพันธมิตร ซึ่งมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และล้มล้างการปกครองระบอบ
ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เพื่อสถาปนาการปกครองระบอบใหม่ คือ ประชาธิปไตยแต่งตั้ง
มีความผิด 2 ประการ ปรากฏขึ้นจากการแต่งเครื่องแบบทหารร่วมเวทีม็อบพันธมิตรฯ ได้แก่
1.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ กระทำการอันอาจจะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้
2.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ เข้าร่วมและสนับสนุนกลุ่มบุคคลให้กระทำความผิดตามกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น อีกทั้งยังปลุกระดมทหาร ประชาชน ให้ร่วมกันกระทำความผิดอีกด้วย
ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประกาศกร้าวบนเวทีขับไล่รัฐบาลว่า หากทหารคนใดออกมาร่วมชุมนุมแล้ว ถูกลงโทษจากผู้บังคับบัญชา ให้มาบอก และขอเรียกร้องให้มาลงโทษตนเองแทน อีกทั้งยังประณามล่วงหน้าไปยังทหารที่ไม่เข้าร่วมชุมนุม และลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาที่จะมาร่วมชุมนุมว่า เป็นทหารขี้ขลาด
ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ กำลังสร้างลัทธิเอาอย่างให้เกิดขึ้นในกองทัพ กำลังปลุกระดมให้ทหารละเมิดวินัยทหาร กำลังชักนำทหารเข้าสู่การเมือง กำลังนำการเมืองเข้าไปใส่กองทัพ กำลังแอบอ้างกองทัพด้วยสัญลักษณ์เครื่องแบบทหาร และยศพลเอก เข้ามาหาประโยชน์ทางการเมืองบนเวทีม็อบพันธมิตรฯ
การกระทำของ ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ทั้งท้าทาย ทั้งสวนทางกับนโยบายของกองทัพไทย ที่ไม่ประสงค์จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก เนื่องจากเห็นบทเรียนจากประวัติศาสตร์แล้วว่า ทุกครั้งที่กองทัพเข้ามายุ่มย่ามข้องเกี่ยวกับการเมือง และเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการวางแผนแก้ปัญหาการเมือง ในฐานะเจ้าภาพเมื่อใด ความแตกแยก ความผุกร่อน และความไม่มีระเบียบวินัย ความสับสนอลหม่าน ระบบเด็กเส้นเด็กฝาก ก็จะปรากฏขึ้นในกองทัพทันที และเป็นการเปิดโอกาสให้การเมืองทั้งในระบบ และนอกระบบ เข้าแทรกแซงการปกครอง การบังคับบัญชากองทัพ จนทำให้กองทัพมีสภาพไม่ต่างจากกองกำลังนอกรัฐธรรมนูญ คือ ยึดประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ยึดกำลังของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ ยึดป้อมค่ายของแต่ละฝั่งเป็นตัวชี้วัด มากกว่าที่จะยึดระเบียบวินัยของกองทัพ
ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ประกาศให้ทุกคนได้รับรู้ว่า การขึ้นเวทีม็อบพันธมิตรฯ ปลุกระดมให้ทหารออกมาร่วมชุมนุม ไม่ได้ดำเนินการด้วยตนเองแต่เพียงลำพัง หากแต่ ได้ไปแจ้งเชิงขออนุญาตจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี แล้ว และคำตอบก็คือ สนับสนุนให้ทำได้ เพื่อชาติ
จากปากคำของ ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ เป็นการเปิดเผยอย่างจงใจให้ได้ทราบโดยทั่วกันว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนการชุมนุมของม็อบพันธมิตรฯ และเห็นว่าม็อบพันธมิตรฯ กำลังทำเพื่อชาติ
ไม่ได้เกินเลยไปจากความคาดหมายของประชาชนทั่วไปมากนักว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สนับสนุนการชุมนุมของม็อบพันธมิตรฯ (หาไม่ลูกรักสุดหล่อคงไม่นำมาอ้างได้) เสียงลือเสียงเล่าอ้าง ข่าวทำนองนี้ปรากฏเรื่อยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีพยานยืนยันชัดเจน และเป็นการประกาศบนเวทีอย่างเปิดเผยต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก มีสื่อสารมวลชนถ่ายทอดให้ได้ยิน ได้ฟัง ได้เห็นกันไปทั่วประเทศ บันทึกไว้เป็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่า...
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี สนับสนุนและเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และต้องการสถาปนาการเมืองใหม่ ที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่สนับสนุนการเลือกตั้ง ตัดทอนอำนาจของประชาชน
การถูกดึงให้เข้ามาเกี่ยวข้องและสนับสนุนม็อบพันธมิตรฯ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในครั้งนี้ ดูจะปฏิเสธยากกว่าเมื่อครั้งที่ “ลูกป๋า” ต้องดาหน้าออกมาปฏิเสธว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หลังจากที่นายทหารใหญ่ของ คมช. บอกกับนักข่าวว่า ได้รายงานเรื่องแผนรัฐประหารให้ พล.อ.เปรม ทราบ ก่อนที่จะลงมือยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ตามด้วยการสำทับข้อมูลของ สุริยะใส กตะศิลา ว่า พล.อ.เปรม คือ ผู้บัญชาการกองกำลังรัฐประหาร และใช้บ้านสี่เสาเทเวศร์เป็นกองบัญชาการ
บทบาทของ พล.อ.เปรม ที่ผู้แอบอ้างว่าเป็นลูกป๋า นำมาเปิดเผยต่อประชาชนและสื่อมวลชน เป็นการทำให้เห็นภาพ พล.อ.เปรม อีกมุมหนึ่งว่า ยิ่งนานวันยิ่งถลำลึก ยิ่งนานวันยิ่งเปิดเผยอย่างมากกับเข้ามาเกี่ยวข้องกับขบวนการโค่นล้มรัฐบาล ฉีกรัฐธรรมนูญ และล้มล้างการปกครอง ชัดขึ้นๆ ซึ่งสอดรับกับความสงสัยของประชาชนทั่วไปว่า ม็อบพันธมิตรฯ ต้องมี “แบ็ก” ดี มีผู้มีอิทธิพลให้การสนับสนุน และอยู่เบื้องหลัง ไม่เช่นนั้นคงไม่กล้ากระทำการขัดต่อกฎหมาย ไม่กล้าขัดคำสั่งศาล ไม่กล้าเสนอแนวทางการเมืองใหม่ที่เป็นกบฏ และไม่กล้าเผชิญหน้ากับตำรวจ ไม่กล้าด่ากองทัพ ไม่กล้าปลุกระดมให้ทหารออกมาขับไล่รัฐบาล โดยที่ตำรวจและทหารไม่กล้าตอบโต้ ไม่กล้าใช้กฎหมาย ยอมให้ด่า ยอมให้โขกสับ ยอมให้ทุบตีทำร้ายอยู่ฝ่ายเดียว
รัฐธรรมนูญ มาตรา 15 บัญญัติไว้ว่า ก่อนเข้ารับตำแหน่ง องคมนตรี ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า “จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
บัดนี้มีนายทหารคนหนึ่ง ยศพลเอก ประกาศบนเวทีม็อบพันธมิตรฯ ที่มีเป้าหมายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามแนวทางที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ กล่าวอ้างว่าได้รับการสนับสนุนจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้มาร่วมปลุกระดมทหาร และประชาชน ออกมาขับไล่รัฐบาล
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังจะนิ่งเพื่อยอมรับ หรือจะปฏิเสธเพื่อแก้ความเข้าใจผิดของประชาชน
สองทางเลือกนี้ ไม่น่าจะตัดสินใจยากสำหรับท่านประธานองคมนตรี ผู้ที่ถูกแอบอ้างเสมอมา
ส่วนปฏิเสธแล้วใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ก็เป็นสิทธิของผู้ฟัง จริงไหม?