WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Saturday, November 15, 2008

อำนาจและความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย


คอลัมน์ : ประชาทรรศน์วิชาการ

โดย กำพล จำปาพันธ์
นิสิตปริญญาโท ประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


หลายคนคงยังจำได้ว่า ในปี พ.ศ.2544 มีคนกลุ่มหนึ่งคุยโวว่า สามารถยึดอำนาจรัฐได้โดยไม่ต้องกินเผือกกินมันอยู่ในป่าเขา ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ยินเมื่อไรเป็นต้องนึกหมั่นไส้และขบขันอยู่ในใจ แต่แล้วยังไงล่ะ ขณะที่ลุงป้าน้าอาไม่คิดว่าอำนาจรัฐมาจากปากกระบอกปืน (ได้ด้วยอีกทางหนึ่ง) ไปแล้ว วันที่ 19 กันยายน 2549 เราก็ได้เห็นฝ่ายทหารใช้ทฤษฎีนี้กันอีกครั้ง ผมถึงไม่แปลกใจที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จะบอกว่าฮีโร่คนหนึ่งของตนคือ “ประธานเหมา เจ๋อตุง” ที่กล่าวนี้ก็ไม่ใช่จะมาตอกย้ำซ้ำเติมอะไรกัน เพียงแต่ประเด็นนี้สะท้อนปัญหาบางอย่างที่มีอยู่ในระบบคิดของเรา ทำให้เราพลาด และรัฐประหารก็เกิดขึ้นท่ามกลางการคิดว่ามันพ้นยุคสมัยไปแล้ว

ระยะหลังมานี้ ทฤษฎีเกี่ยวกับอำนาจที่แพร่หลายและเป็นที่เชื่อถือไม่น้อย ได้แก่ ทฤษฎีที่เสนอว่าอำนาจมีหลากหลายและกระจัดกระจาย อำนาจรัฐเป็นแต่เพียงอำนาจหนึ่งในจำนวนหลากหลายอำนาจนั้น ฉะนั้น การยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถยึดกุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ ซึ่งก็มีประโยชน์ไม่น้อยสำหรับอธิบายบางกรณี แต่ปัญหาคือ นักทฤษฎีนี้เสนอต่อไปว่าการแก้ปัญหาที่มุ่งสู่อำนาจรัฐนั้นไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง หลายกรณีไม่เพียงแต่รัฐจะไม่สามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ แต่หลายครั้งที่รัฐเข้ามาจุ้น ปัญหาก็ทับถมทวีคูณขึ้นเท่านั้น และก็แน่นอนเช่นกัน หากถามผู้นิยมลัทธิมาร์กซ์ ทฤษฎีนี้จะถูกตีตกอย่างง่ายดาย เพราะมองว่ารัฐคือพื้นที่สำคัญในการต่อสู้ระหว่างชนชั้น หรือถ้าถาม สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ของผม คุณจะพบว่าในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่มีตัวอย่างมากมายที่จะทำให้ทฤษฎีนี้มีอันต้องล้มเหลวไปเช่นกัน

รัฐยังมีความสำคัญที่ต้องช่วงชิงและต่อรองไว้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนข้างมาก เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับอำนาจเป็นประเด็นที่ต้องอธิบายใหม่ การที่อำนาจมีหลากหลายไม่ได้หมายความว่า อำนาจรัฐจะอ่อนหรือแข็งท่ามกลางความหลากหลาย (และกระจัดกระจาย) อำนาจรัฐเหมือนกับอำนาจอื่นตรงที่เป็นอำนาจที่ต้องอ้างอิงและยึดโยงกับระบบของอำนาจที่มีอยู่ในสังคม พ่อจะไม่สามารถสั่งลูกได้เลย ถ้าอำนาจพ่อไม่ได้รวมศูนย์มาจากอำนาจของสถาบันครอบครัวและระบบชายเป็นใหญ่ ครูก็ไม่สามารถดุด่าเด็กได้ถ้าอำนาจครูไม่ได้ยึดโยงกับอำนาจของสถาบันการศึกษาและระบบรัฐประชาชาติ ฯลฯ การที่

อำนาจแต่ละชนิดจะแสดงตัวมันได้นั้น ตัวมันเองต้องผนวกรวมอำนาจอื่นเข้าด้วยกัน ไม่มีอำนาจโดดๆ ที่โลดแล่นกระจัดกระจายอย่างไร้ทิศทาง จะสามารถเป็นอำนาจอยู่ได้ดังที่เราเข้าใจกัน และอำนาจที่จะมีบทบาทต่อรองระดับรัฐและสังคมการเมืองได้นั้น คือ อำนาจที่ผ่านขั้นตอนการผนึกรวมส่วนกับอำนาจต่างๆ มาก่อนหน้านั้นแล้ว

อำนาจของนายกฯ ในสังคมการเมืองไทยที่เป็นมานั้น เป็นอำนาจแปลกประหลาดตรงที่ต้องเป็นอำนาจของการแสดงว่าไม่มีอำนาจ ฉะนั้น ถ้าจับประเด็นตรงนี้ได้จะเข้าใจว่าทำไมผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองจึงไม่พอใจคุณทักษิณ เพราะคุณทักษิณได้ละเมิดอะไรบางอย่างที่เป็นจารีตของอำนาจที่มีมาก่อนหน้า แต่ไม่ใช่ความผิดนะครับ ผมเพียงแต่บอกว่าการละเมิดมันขึ้นอยู่กับระบบทวิมาตรฐานบางอย่างเท่านั้นเอง ในอดีต จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็เคยละเมิด ต่างกันตรงที่ยุค จอมพล ป. นั้น ผู้หลักผู้ใหญ่ต่างถูกกระแสการปฏิวัติ 2475 โหมกระหน่ำจนแพ้พ่ายไปตามกัน กว่าจะกลับฟื้นขึ้นได้ก็หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ ส่วนจอมพลสฤษดิ์นั้น แม้ความสัมพันธ์กับผู้หลักผู้ใหญ่จะราบรื่น แต่สิ่งที่จอมพลสฤษดิ์ละเมิดนั้นคือ “ประชาธิปไตย” ฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงว่าทำไมจอมพลสฤษดิ์ถึงอยู่ในอำนาจได้แต่ไม่มีความชอบธรรม จนกลายเป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย มีชื่อกล่าวขานเป็นจอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง และ “ข้าพเจ้ารับผิดชอบเพียงผู้เดียว”

ในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นธรรมดาที่อำนาจผู้นำจะผนึกแน่นกับอำนาจของประชาชน ซึ่งโดยหลักการถือเป็นอำนาจสูงสุดในขณะเดียวกันด้วย การเลือกตั้งจึงมีความสำคัญในฐานะเป็นเครื่องแสดงการยอมรับจากประชาชน หรือนัยหนึ่งคือการให้อำนาจผ่านการเลือกตั้งนั่นเอง แต่ที่ผ่านมาเราจะพบว่า มีความพยายามในการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกลไกการเลือกตั้งค่อนข้างมาก สร้างภาพให้ร้ายตัวแทนประชาชนต่างๆ นานา ซ้ำดูถูกดูแคลนประชาชนผู้หย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเสียอีก อำนาจที่ชอบธรรมถูกทำให้ไม่ชอบธรรมไปในที่สุด

มุมมองเช่นนี้ ใช่ว่าจะใช้ได้แต่ในกรณีระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมเท่านั้น เพราะเป็นพื้นฐานของระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับอำนาจต่างๆ ในสังคมทั่วไป เช่น ในแนวสังคมนิยมนั้น มาร์กซิสต์จะปฏิวัติไม่ได้ถ้าขาดอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพ แม้จะมีพรรคการเมืองแบบเลนินนิสต์เคลื่อนไหวอยู่ก็ตาม ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) พยายามผนึกรวมอำนาจต่างๆ ที่กระจายอยู่ตามชายขอบเข้าด้วยกัน โดยหมายจะโอบล้อมเข้าสู่ศูนย์กลาง แต่ถูกศูนย์กลางตีโต้สกัดกั้นไว้ตั้งแต่ในชนบท ไม่ปล่อยให้เข้ามาล้อมเมืองได้ คำสัญญาของสหายหลายคนที่บอกจะ “พบกันที่สนามหลวง” และ/หรือที่พร่ำร้อง “จะกลับไปกรีดเลือดพาลล้างลานโพธิ์” จึงกลายเป็นความเพ้อฝันเพียงชั่วขณะนั้นเอง
อำนาจและความชอบธรรมเป็นของคู่กัน จนเกือบจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว เพราะความชอบธรรมเป็นเหมือน “ศีลธรรมของอำนาจ” อีกต่อหนึ่ง อำนาจสามารถเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลหรือเพียงบางกลุ่มได้ แต่ความชอบธรรมเป็นเรื่องของสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เมื่อมีลักษณะเหมือนเป็นศีลธรรมจึงกำกับอย่างเลื่อนลอย จับต้องไม่ได้ เปลี่ยนแปลงยาก แต่ทรงอิทธิพลอย่างมหาศาล เปรียบไปก็เหมือนแรงโน้มถ่วงของโลกทางการเมืองเลยทีเดียว ฉะนั้นผู้นำที่มาจากรัฐประหาร (โดยเฉพาะรัฐประหารที่ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง) จึงบกพร่องในเรื่องความชอบธรรมอย่างรุนแรง (ไม่ใช่บกพร่องในเรื่องของอำนาจนะครับ คนละประเด็นกัน)

เพราะ “ศีลธรรมของอำนาจ” ที่หมายถึง “ความชอบธรรมของความชอบธรรม” (ของอำนาจ) นั้นคือ การได้มาซึ่งอำนาจโดยการเลือกตั้งจากประชาชนส่วนข้างมากนั้น ยังคงดำรงอยู่ของมันอย่างนั้น หาได้ถูกเลิกล้มไปกับรัฐประหารไม่ อย่างมากรัฐประหารก็ล้มได้เฉพาะอำนาจ แต่ล้ม “ศีลธรรม” ที่กำกับ “อำนาจ” นั้นอยู่ไม่ได้ เพราะยุ่งยากและซับซ้อนเกินกว่าที่บรรดาบิ๊กๆ ของกรมกองทั้งหลายจะเข้าใจ ไล่กวาดจับอย่างไรก็ไม่หมด รถถังเป็นร้อยคันก็ทำอะไรไม่ได้ ทางออกที่เป็นสูตรสำเร็จของรัฐประหารก็เลยอ้างว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งความหมายก็เท่ากับฉวยอ้างความชอบธรรมจากระบบก่อนเกิดรัฐประหารนั่นเอง

ลุถึงปี พ.ศ.2551 นี้แล้ว แทบไม่น่าเชื่อว่าจะยังมีบางกลุ่มคิดตื้นๆ ว่า การยึดทำเนียบได้จะทำให้ตนบรรลุเป้าหมายในการล้มล้างอำนาจและความชอบธรรมของรัฐบาล แม้ว่าเดิมทีกลุ่มนี้จะมีภาษีจากการรวบเอาอำนาจส่วนต่างๆ ที่ไม่พอใจรัฐบาลมาเป็นกำลังของตน โดยเฉพาะอำนาจสถาบัน ข้าราชการ ทหาร ตุลาการ สื่อ เอ็นจีโอ ฯลฯ แต่การใช้อำนาจนี้ในขั้นตอนการต่อรองระดับชาติกลับเป็นผลเสีย เพราะเสนอรัฐประหาร และ 70:30 ซึ่งเท่ากับเอาอำนาจที่ผนึกมาไปทำลายความชอบธรรมของอำนาจนั้นเสียเอง ขบวนการมวลชนถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการเมืองระบอบประชาธิปไตย แต่สิ่งที่กลุ่มนี้กำลังกระทำคือ การใช้อำนาจที่ได้จากระบอบประชาธิปไตยมาทำลายประชาธิปไตย ดุจเดียวกับขบวนการมวลชนฝ่ายขวาอื่น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มต่อต้านคณะราษฎรและต่อต้านนักศึกษาหลัง 14 ตุลา ที่มักอาศัยบรรยากาศการเมืองที่กำลังเปิดกว้างสู่ประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมมวลชน

อย่างไรก็ตาม ลักษณะเอดิปุสเช่นนี้ก็มีผลทำให้ความชอบธรรมกลายเป็นความไม่ชอบธรรม เมื่อไม่มีความชอบธรรมต่อไปก็จะไร้ซึ่งอำนาจในการต่อรอง การอ้างสถาบัน ใส่เสื้อเหลืองปล้นทำเนียบ ผูกขาดความจงรักภักดี ใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทำลายฝ่ายตรงข้าม จึงสะท้อนภาวะการไร้อำนาจและความชอบธรรมของตนเองในการเมืองระดับชาติ อาศัยเงื่อนไขของระบอบประชาธิปไตย แต่กลับไม่มีความเป็นประชาธิปไตยแม้แต่น้อย บางคนเสียสติถึงขั้นจะรัฐประหารโดยกองทัพประชาชน โดยหารู้ไม่ว่าการคุกคามด้วยอำนาจมวลชนเช่นนี้รังแต่จะทำให้ต้องเผชิญวิกฤติความชอบธรรมมากยิ่งๆ ขึ้นไป จะเล่นคุณไสย ใช้โกเต๊กซ์ พรมน้ำมนต์ ฯลฯ อีกสักเท่าไรก็ไม่ช่วยให้อะไรมันดีขึ้นเลย จะเห็นได้ว่า แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งเสียสติ อ่อนหัด และไร้น้ำยาเกินจะจัดการกับปัญหาวิกฤติความชอบธรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มตน นายสนธิไม่ได้เข้าใจในเรื่องนี้แม้แต่น้อยเลยครับ!