ภาพการแถลงลาออกของ ?อภิรักษ์ โกษะโยธิน? จากตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.หลังถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในในมหากาพย์โครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของกทม.มูลค่า 6,687 ล้านบาท
ต้องบอกว่าสีหน้า ลีลา และมีวิธีการพูดจาที่ดูอ่อนน้อมถ่อมตน แม้ลึกๆ จับน้ำเสียงอาจไม่ยอมรับการตัดสินของ ป.ป.ช. เห็นได้จากการกล่าวซ้ำๆ ว่า "คดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นมากว่า 4 ปีแล้ว" ก็ตาม
แต่ก็ช่วยลดแรงกดดันสังคม ซึ่งปลดภาระบนบ่าของพรรคประชาธิปัตย์ต้นสังกัดได้อักโข
เบื้องลึกคดีนี้ ว่ากันว่ามีการวิ่งเต้นเพื่อให้ชื่อ ผู้ว่าฯกทม. หลุดวงโคจรความผิดทุกวิธีทาง ไม่ว่าการพยายามเบี่ยงเบนให้อภิรักษ์มีความผิดทางแพ่งอย่างเดียว
หรือแม้กระทั่งขอให้ "อำนาจเก่า" และ "คนวงใน" เข้าไปในล็อบบี้ใน ป.ป.ช.ก็ตาม
ทว่าไร้ผล?
เนื่องจากข้อเท็จจริงรัดตัว "อภิรักษ์" จนยากจะดิ้นหลุด อดีตผู้พิพากษา นักกฎหมาย และกรรมการอีกจำนวนหนึ่งใน ป.ป.ช. ต่างพากันส่ายหน้าเมื่ออ่านสำนวนจบ
ฟันธง "งานนี้รอดยาก"
แม้จะมีอยู่ 1-2 เสียง ที่เห็นว่า "ผู้ว่าฯอภิรักษ์" ยังมีช่องหายได้อยู่ ทำให้การประชุม ป.ป.ช.วันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จึง "ดุเดือด" มีถกเถียงกันในประเด็นนี้ รวมถึงการต้องพักงานตามมาตรา 55 กฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่
แม้ท้ายสุดเสียงส่วนใหญ่จะชนะส่วนน้อย โดยลงมติเชือด "ผู้กระทำผิด" ทุกคนด้วยคะแนน 9 ต่อ 0 เสียงเท่ากัน ก็เพื่อแสดงเอกภาพ
แต่ ป.ป.ช.ยังต้องออกเอกสารชี้แจงรายละเอียดคดีนี้อย่างละเอียดยิบถึง 22 หน้า ซึ่งว่ากันว่าออกมาเพื่อให้พรรคฝ่ายค้านที่มีนักกฎหมายทะลักพรรคได้อ่านว่าเหตุใด "อภิรักษ์" ถึงไม่หลุด
ส่วนหนึ่งของเอกสารมีการยกกรณี "คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน" ปลัด กทม.สมัยนั้นมาเปรียบเทียบกับกรณีที่ "อภิรักษ์" อ้างเหตุเปิดแอล/ซี ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยระบุว่าแม้คุณหญิงณัษฐนนทจะอ้างว่าต้องปฏิบัติตามผู้บังคับบัญชาการ แต่เมื่อรู้ว่าการทำสัญญามีผิดแล้วไม่ยับยั้ง ก็ต้องถือว่ามีความผิดเช่นกัน
วินาทีที่มติ ป.ป.ช.เล็ดลอดออกมาจากที่ประชุม ฝ่ายกฎหมายและ ส.ส.ของ ปชป.ก็จับกลุ่มถกเถียงถึงอนาคตเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.สมัยที่สอง ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งมาอย่างหมาดๆอย่างเคร่งเครียด
โดยสรุปความเห็นเป็น 2 แนวทาง นั่นคือ "พักงาน" หรือ "ลาออก"
โดย ส.ส.สายของ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการพรรค และ ส.ส.อาวุโสบางส่วนเสนอว่าไม่ควรลาออกจากตำแหน่ง ให้พักงานไว้จนกว่าคดีจะยุติดีกว่า
แต่ก็มี ส.ส.อีกส่วน เสนอว่าควรลาออกเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบมาที่พรรค เนื่องจากก่อนหน้านี้พรรคเคยโจมตี "3 รัฐมนตรี" คดีหวยบนดิน ที่ไม่ยอมแสดงสปิริตด้วยการลาออกอย่างหนัก หาก "อภิรักษ์" ไม่ลาออก กระแสอาจพลิกกลับมาโจมตีพรรคได้
นอกจากนี้ ยังกังวลหาก "อภิรักษ์" ถูกพักงาน ทั้งรองผู้ว่าฯและที่ปรึกษา ฯลฯ ที่ "อภิรักษ์" แต่งตั้ง ต้องพักงานตามไปด้วยหรือไม่ ซึ่งหากเกิดเหตุเช่นนั้นจะทำให้เกิดสุญญากาศใน กทม.ทันที
ค่ำวันดังกล่าว มีเกิดกระแสข่าว ผู้ว่าฯกทม.จะแถลงข่าวลาออกลือหึ่ง จนทำให้ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคต้องเข้ามายับยั้งไม่ให้ "อภิรักษ์" ลาออกจากตำแหน่ง
ขณะมีคนหาทางช่วย "อภิรักษ์" โดยตีความกฎหมาย ป.ป.ช.ว่าระบุให้ "อภิรักษ์" ยุติการปฏิบัติหน้าที่เพียงคนเดียวเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงทีมงานด้วย ดังนั้น จึงอาจให้รองผู้ว่าฯกทม.บางคน อาทิ นายประกอบ จิรกิติ หรือ พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ ขึ้นมารักษาการแทน แล้วให้ "อภิรักษ์" ยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการลาพักร้อนเป็นเวลา 45 วัน!
แต่ท้ายสุด "อภิรักษ์" ก็แถลงลาออกจากตำแหน่ง หลังหารือกับแกนนำพรรคหลายคน
รวมถึง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ปชป. ที่มีรายงานว่าได้แนะนำให้ "อภิรักษ์" ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อลดกระแส และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ภายใน 90 วัน โดยจะส่งตัวลงแทนพรรคคนอื่นลงเลือกตั้งแทน
แต่แม้ตัวแทนที่ ปชป.เตรียมเปิดมา อาจพอลุ้นชิงดำกับ "ประภัทร์ จงสงวน" ตัวแทนจากพลังประชาชนเจ้าของ 5 แสนเสียงในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ล่าสุดได้ แต่การต้องควักเงินหลายสิบล้านบาทเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง หลังเพิ่งผ่านงานระดมทุนนั้นยากจะทำใจยอมรับ
ท้ายที่สุด แม้ว่าการลาออก "อภิรักษ์" จะลดผลกระทบกับพรรคได้ระดับหนึ่ง แต่แผลไฟไหม้จากคดีรถ-เรือดับเพลิงครั้งนี้ก็ทำเอา ปชป.บาดเจ็บสาหัส ยากจะเยียวยาจริงๆ