ที่มา ประชาไท
แถลงทำงาน 1 เดือน เผยพบปัญหาทั้งเหวียงแหจับ-ข่มขู่ให้สารภาพ-เข้าไม่ถึงทนาย-ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมเสนอ 5 แนวทางการแก้ไข จี้รัฐเปิดเผยข้อมูลการจับกุม ด้านทนายชี้การไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างเหตุเกรงไปกระทำความผิดซ้ำ เท่ากับเชื่อว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง ขัดหลักสากลพิสูจน์ความบริสุทธิ์
วันนี้ (19 ส.ค.53) ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 (ศปช.) โดยเครือข่ายสันติประชาธรรม ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้จัดแถลงข่าวการทำงานครบรอบ 1 เดือน เปิดเผยภาพรวมสถานการณ์การจับกุมดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประมวลกฎหมายอาญา ในพื้นที่ภาคอีสาน 5 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ขอนแก่น มุกดาหาร อุดรธานี และมหาสารคาม พบไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ศปส.ก่อตั้งขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเข้าร้องเรียน และให้ข้อมูล ทั้งในกรณีผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหาย ผู้ถูกจับกุม ผู้ถูกดำเนินคดี และผู้ถูกคุกคาม โดยต้องการทำงานคู่ขนานกับคณะกรรมกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งเสนอโดยรัฐบาล สืบเนื่องจากการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐต่อผู้สูญเสียจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมยังไม่ครอบคลุม อีกทั้งยังพบว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกจับกุมคุมขังอีกนับไม่ถ้วน
5 จังหวัดอีสาน ถูกจับรวมกว่า 168 คน
นายชัยธวัช ตุลาธน อาสาสมัคร ศปช. กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์การจับกุมในพื้นที่ภาคอีสาน 5 จังหวัด จากตัวเลขล่าสุดของ ศปช.จำนวนรวมกว่า 168 คน ว่า ใน จ.อุบลราชธานี มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี 60 คน เป็นชาย 53 คน และหญิง 7 คน ข้อหากระทำความผิดต่อเจ้าพนักงาน บุกรุก วางเพลิงเผาทรัพย์ ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และถูกแจ้งข้อหาเพิ่มจากดีเอสไอ 19 คน เป็นข้อหาก่อการร้าย 1 คน และสนับสนุนก่อการร้ายอีก 18 คน ผู้ต้องหาบางรายได้รับประกันชั่วคราว นอกนั้นขาดหลักทรัพย์ประกันตัว
ที่ จ.ขอนแก่น มีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 14 คน เป็นชาย 8 คน และหญิง 2 คน ในข้อหาวางเพลิง ร่วมกันวางเพลิงและเผาทรัพย์ บุกรุกสถานที่ราชการ มีผู้ถูกจับกุมจำนวนหนึ่งที่ทราบว่าคดีของตนอยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจ แต่ผู้ถูกจับกุมจำนวนหนึ่งไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าของคดี ผู้ถูกจับกุม 6 คน ยังไม่ได้รับการประกันตัว
ส่วนที่ จ.มหาสารคาม ผู้ถูกจับดำเนินคดีเป็นชายทั้งหมด 12 คน ข้อหาวางเพลิง และผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดอยู่ระหว่างการฝากขังและสอบสวน ขณะที่ จ.มุกดาหารมีผู้ถูกจับกุม 28 คน เป็นชาย 27 คน และหญิง 1 คน โดยมีข้อหาวางเพลิงเผาศาลากลางและบุกรุกสถานที่ราชการ ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการฝากขัง
นายชัยธวัชกล่าวต่อมาว่า ใน จ.อุดรธานี มีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 54 คน มีข้อหาพยายามวางเพลิง ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเว้น 3 รายที่เป็นดีเจวิทยุชุมชน ปล่อยตัวออกมา 29 คนเนื่องจากครบกำหนดผัดฟ้องและเป็นข้อหาเบา คือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมเกิน 5 คน และมีการทยอยส่งฟ้องคดีเผาสถานที่ราชการ
อาสาสมัคร ศปช.กล่าวด้วยว่าพบปัญหาในเรื่องผู้ถูกออกหมายจับไม่ทราบว่าตนเองถูกออกหมายในหลายจังหวัด กระทั่งถูกจับกุม บางรายไปร่วมชุมนุม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเผาศาลากลาง แต่กลับถูกแจ้งว่าเผาศาลากลาง ที่สำคัญบางรายไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมแต่อย่างใดแต่ในวันเกิดเหตุ ได้เข้าไปยืนสังเกตการณ์ เดินผ่าน ห้ามปราม หรือจอดรถไว้บริเวณใกล้เคียง กลับตกเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกออกหมายจับ
เผยพบปัญหาเหวียงแหจับ-ข่มขู่ให้สารภาพ-เข้าไม่ถึงทนาย-ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ส่วนสภาพปัญหาของผู้ถูกจับกุมที่พบจากการทำงาน 1 เดือนที่ผ่านมา นายชัยธวัช กล่าวว่า มีอยู่ 7 ข้อ คือ 1.มีการแจ้งข้อกล่าวหาและการออกหมายจับแบบเหวี่ยงแห โดยหลักฐานในการแจ้งจับไม่ชัดเจน และผู้ถูกออกหมายจับบางคนไม่ทราบว่าตนเองถูกออกหมาย 2.การปฏิบัติไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐขณะจับกุมและควบคุมตัว โดยมีทั้งการใช้กำลังทำร้ายขณะจับกุมและควบคุมตัว และพูดข่มขู่รวมทั้งใช้กำลังบังคับให้รับสารภาพ อีกทั้งยังพบว่ามีการยึดทรัพย์ด้วย
3.ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงทนายความ 4.ปัญหาเรื่องสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว 5.สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ 6.ผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว และ 7.ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมและในบางรายที่เจ็บป่วยในขณะถูกควบคุมตัว ซึ่งในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวด้วย
จี้เปิดเผยข้อมูลการจับกุม-หาหลักฐานให้พร้อมก่อนออกหมายจับ
ด้านนายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ถูกออกหมายจับและถูกจับกุมในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา 2.เรื่องสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม หากผู้ต้องหามีความจำเป็นที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่เกินกว่าเรือนจำจะสามารถให้บริการได้ ก็ควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึงการได้รับการประกันตัวเพื่อออกมารักษาตัวภายนอก
3.คดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุมเป็นคดีการเมือง ประกอบกับมีการประกาศจับผู้ต้องหาอย่างเหวี่ยงแหและคลุมเครือส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้นควรพิจารณากระบวนการออกหมายจับ โดยให้หาหลักฐานให้พร้อม และสามารถฟ้องคดีได้ทันทีก่อนออกหมายจับ เมื่อจับมาแล้วให้ส่งฟ้องทันทีโดยไม่ต้องฝากขังอีก 84 วัน 4.จากการตั้งราคาประกันตัว 100,000 – 500,000 บาทต่อราย แต่เนื่องจากผู้ต้องหาส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่มีหลักทรัพย์หรือเงินประกันตัว ดังนั้น ศาลควรสั่งปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องอาศัยหลักประกัน
และ 5.ศาลควรปฏิบัติตามหลักสากลว่าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิด การออกหมายจับ ให้ออกหมายจับได้เมื่อมีหลักฐานพร้อมฟ้องคดีเท่านั้น ส่วนการปล่อยชั่วคราวจะต้องเป็นหลักว่าศาลต้องให้ปล่อยตัวชั่วคราวทุกคดี ทุกคน และการเรียกหลักประกันต้องเรียกตามฐานะของผู้ต้องหาหรือจำเลย
ทนายชี้ผู้ชุมนุมถูกจับกุม เป็น “แพะ” หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตีความ
นายประเวศ ประภานุกูล ทนายความซึ่งได้ร่วมลงพื้นที่ดูข้อมูลการจับกุมดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.กล่าวว่า ตามหลักกฎหมายเรื่องการออกหมายจับโดยทั่วไปจะต้องมีการออกหมายเรียก 2 ครั้งแล้วจึงออกหมายจับ แต่กฎหมายมีข้อยกเว้นในกรณีความผิดร้ายแรง ให้สามารถออกหมายจับได้เลยโดยไม่ต้องมีหมายเรียก ซึ่งในความผิดตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีการเมือง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ถูกตีความเป็นความผิดร้ายแรง และมีการหยิบข้อยกเว้นนี้มาใช้ออกหมายจับเป็นกรณีทั่วไป ทำให้เกิดปัญหาคนไม่รู้ว่าตัวเองถูกออกหมายจับจำนวนมาก ทั้งที่การบังคับใช้กฎหมายตามข้อยกเว้นควรใช้ให้น้อย ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาของข้อกฎหมายที่เขียนไว้กว้างจนเกินไป
นายประเวศกล่าวถึงกรณีการตั้งคำถามว่าผู้ถูกจับกุมเป็นผู้กระทำผิดหรือเป็นเพียงแพะรับบาปว่า ขึ้นอยู่กับการให้ความหมาย ซึ่งหากจะให้ความหมายอย่างแคบก็จะพบว่าในกลุ่มผู้ชุมนุมมีผู้ที่ได้ลงมือเผาจริงอยู่ แต่ในความหมายอย่างกว้าง จากตัวอย่างที่ได้ลงพื้นที่ไปดูคดีการจับกุมที่จังหวัดอุบลราชธานีพบว่า ก่อเกิดการเผา ได้มีการยั่วยุจากเจ้าหน้าที่โดยการยิงปืนเข้าหาผู้ชุมนุม และมีการปล่อยข่าวว่ามีผู้ชุมนุมถูกทหารยิงเสียชีวิต นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตว่าอาคารที่ถูกเผานั้นไม่มีข้าราชการคนอื่นๆ นอกเหนือจากผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานอยู่เลย อีกทั้งเอกสารสำคัญต่างๆ ได้ถูกขนย้ายออกจากอาคารดังกล่าวก่อนหน้านั้นแล้ว
“ผู้ชุมนุมถูกยั่วยุ และหลอกล่อให้จุดไฟเผา ให้กระทำ ตามความหมายอย่างกว้างตรงนี้คือแพะทั้งหมด” นายประเวศกล่าว
นายประเวศกล่าวด้วยว่า กรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องร้ายแรง และเกรงไปกระทำความผิดซ้ำ เท่ากับเชื่อว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง แต่หากเชื่อว่าบริสุทธิ์ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ การไม่ให้ประกันตัวโดยอ้างเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าเหตุผลไม่ได้วางอยู่บนความเป็นกลางในการพิจารณาคดี และขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิด
“ตามหลักสากล ปล่อยคนผิด 10 คน ดีกว่าประหารคนถูก 1 คน แต่ของบ้านเราคิดกลับกันเป็นประหารคนถูก 10 คนดีกว่าปล่อยคนผิด 1 คนเอาไว้” นายประเวศแสดงความเห็น
ด้านน.ส.ขวัญระวี วังอุดม นักสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการทำงานของ ศปช.ว่า ขณะนี้มีผู้โทรมาแจ้งเรื่องกับทางศูนย์เป็นระยะ โดยเฉลี่ยเดือนที่ผ่านมาราว 20 ราย มีทั้งในกรณีของการข่มขู่คุกคามโดยการที่เจ้าหน้าที่ไปหาถึงที่บ้าน และในกรณีแม่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 10 เมษา โทรมาให้ข้อมูลว่ายังไม่ได้ทำการเผาศพลูก แต่ทั้งนี้ ไม่นับร่วมการโทรมาระบายอารมณ์ หรือโทรมาให้กำลังใจ นอกจากนี้ทาง ศปช.ยังได้ทำการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในระดับพื้นที่ด้วย ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะถูกรวบรวมจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูล เพื่อนำมายันกับข้อมูลของ คอป.และจะมีการอัพเดตข้อมูลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปอีก
ทั้งนี้ ผู้เดือดร้อนจากการชุมนุม หรือผู้ที่ต้องการช่วยเหลือ สามารถแจ้งรายละเอียดหรือติดต่อได้ที่ ศปช.ฮอตไลน์ 08-6060-5433 หรืออีเมล์: peopleinfocenter@gmail.com อีกทั้งมีบัญชีรับบริจาค เลขที่บัญชี 645-2-02766 -4 ธนาคารกสิกรไทย สาขา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ชื่อบัญชี "น.ส.กฤตยา อาชวนิจกุล และนายอภิชาต สถิตนิรามัย และ น.ส.ขวัญระวี วังอุดม และ นายชัยธวัช ตุลาธน"
ส่วนข้อมูลและข้อเท็จจริงจะมีการนำเสนอรายงานต่อสาธารณชนเป็นระยะๆ โดยผู้สนใจ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์สันติประชาธรรม www.peaceandjusticenetwork.org หรือติดตามได้ใน Facebook ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53
000