WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, August 20, 2010

บทความ: อาชญากรรมใหญ่ของแนวทางทักษิณ-จตุพร และอาชญากรรมเล็กของคนบางกลุ่ม

ที่มา Thai E-News

โดย ศิวะ รณยุทธ์
ที่มา ฟอร์เวิดด์เมล์
สิงหาคม 2553

หลังจากฆาตกรรมหมู่ประชาชนเพื่อยุติการชุมนุม "เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน"ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับการสอบถามอย่างมากมายจากเพื่อนร่วมแนวทางต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตยว่า จะวางท่าทีอย่างไรกับแนวทางการขับเคลื่อนที่ผิดพลาดของทักษิณ-จตุพรและคนบางกลุ่ม ที่นำพาผู้รักประชาธิปไตยไปสู่การสูญเสียอันยิ่งใหญ่

ผู้เขียน ใช้เวลาอดกลั้นเพื่อที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ที่ยึดกุมแนวทางการต่อสู้ของทักษิณ-จตุพร และคนเหล่านั้นนานร่วมสามเดือนแล้ว แต่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดในทางบวก ดังนั้น จึงสรุปว่า ได้เวลาที่จะต้องวิพากษ์กันอย่างจริงจังเสียที

ในข้อเขียนของผู้เขียนเมื่อก่อนการ”เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน ” (ย้อนดูรายละเอียดได้ใน แปรความเร่าร้อนและพลังให้กลายเป็นภูมิปัญญาครั้งใหม่: ภารกิจของผู้รักประชาธิปไตยไทย , 9 มีนาคม 2553) ได้วิเคราะห์ถึงจุดอ่อนหลัก 2 ประการของยุทธศาสตร์การชุมนุมทางการเมืองครั้งนั้นอย่างฉันท์มิตรไว้ว่า

1) เป็นยุทธวิธีที่สุ่มเสี่ยง นั่นคือ ใช้แข็งสู้อ่อน จำกัดเวลา และระดมมวลชนเข้าสู่ที่ชุมนุมจำนวนมากในลักษณะทุ่มกำลังเข้าโจมตี ทั้งที่อำนาจรัฐได้เตรียมการปราบปรามล่วงหน้าเพื่อทำลายล้างเต็มรูปไว้แล้ว โดยเสนอคำขวัญว่า หากรัฐบาลไม่ยุบสภา ก็ต้องปราบประชาชน ผิดหลักการต่อสู่ของฝ่ายที่ตกเป็นรองในการต่อสู้ จึงมีลักษณะสุ่มเสี่ยงแบบนักการพนันที่อันตรายอย่างยิ่ง ถือเป็นการประเมินคุณค่าของมวลชนที่ต่ำมาก

2) หากไม่ศึกษาบทเรียนจากกรณีเมษายนเลือด 2552 ที่เป็นความผิดพลาดของการนำอย่างชัดเจน นับตั้งแต่การที่ผู้มีบทบาทสูงคือทักษิณ ชินวัตรไม่ได้อยู่ในการชุมนุม และแกนนำบางคนแสดงบทบาทที่ไร้เดียงสา จนกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับของฝ่ายอำนาจรัฐ และเมื่อการชุมนุมสิ้นสุดลง ผู้นำการชุมนุมก็แสดงภาวะไร้ความเป็นผู้นำ ด้วยการปฏิเสธความรับผิดใดๆ

ผู้เขียนได้ท้วงติงไปว่า หากการชุมนุม”เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน”ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ มีเหตุซ้ำรอยกรณีเมษายนเลือด 2552อีก ก็ต้องถือว่า ความผิดของผู้นำในการชุมนุม คือ อาชญากรรม ที่ต้องจารึกเอาไว้อีกนานแสนนาน

น่าเสียดายที่ข้อเขียนฉันท์มิตรชิ้นดังกล่าวของผู้เขียน ที่กระจายลงไปยังสื่อของมิตรร่วมการต่อสู้หลายแห่งถูกปฏิเสธไม่ยอมให้นำเผยแพร่ หรือ เผยแพร่เพียงระยะสั้นแล้วลบทิ้ง ด้วยเหตุผลที่คับแคบยิ่งนักว่า เป็นการ”สาวไส้ให้กากิน” และขัดแย้งกับมวลชนเสื้อแดงที่ชื่นชมทักษิณ อาจเกิดความแตกแยกภายในได้ ทำให้งานเขียนชิ้นนั้นถูกเผยแพร่อย่างจำกัดยิ่ง

ในที่สุด สถานการณ์ที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์และท้วงติงล่วงหน้า ก็ได้เกิดขึ้นทุกประการ และภายใต้สถานการณ์ตกต่ำที่มวลชนผู้รักประชาธิปไตยถูกอำนาจรัฐเผด็จการอำมาตย์ไล่ล่าอย่างต่อเนื่องนับแต่ฆาตกรรมหมู่ที่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่าผู้ที่ร่วมก่ออาชญากรรมจากการระดมมวลชนไปสู่ความสูญเสียพ่ายแพ้ ไม่เพียงแต่ไม่ยอมสำนึกตัว ทบทวนบทเรียน และปฏิเสธความรับผิดใดๆออกมาเท่านั้น หากยังมีความพยายามครั้งใหม่ที่จะดำเนินการซ้ำรอยแบบเดิมอีกครั้ง หากมีโอกาสในอนาคตอันใกล้ ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจขอวิพากษ์แนวทางการต่อสู้ของขบวนแถวเสื้อแดงบางกลุ่ม ด้วยเจตนาที่จะชี้ว่า ต้องไม่ปล่อยให้อาชญากรรมเกิดขึ้นซ้ำอีก โดยแบ่งหัวข้อออกเป็น 4 ส่วน คือ

  • อาชญากรรมใหญ่หลวงของทักษิณ-จตุพร โดยปรับท่าทีจากการวิพากษ์ฉันท์มิตร มาเป็นการวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา
  • อาชญากรรมเล็กๆของนักปฏิวัติในโต๊ะหารือและหน้าเน็ตปรับท่าทีจากการวิพากษ์ฉันท์มิตร เป็นการวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา
  • ความหลงผิดของชาวสื่อใหม่เสื้อแดงบางกลุ่ม ยังคงยืนยันใช้ท่าทีวิพากษ์ฉันท์มิตรเช่นเดิม
  • ความหลงผิดของลัทธิอัศวินม้าขาวประชาธิปไตย เป็นการท้วงติงเพื่อตอกย้ำเป้าหมายที่แท้จริงของการต่อสู้
อาชญากรรมใหญ่ของแนวทางทักษิณ-จตุพร

เมื่อตอนที่ทักษิณ ชินวัตรตัดสินใจทิ้งเมืองไทยไปอยู่ในต่างประเทศครั้งที่สอง ในปี 2551 โดยอ้างถึงเหตุผลที่น่าเห็นใจ เขาได้ประกาศในแถลงการณ์ว่า
“..1.ผมและครอบครัวมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ทุกพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ แม้นว่ามีผู้จงใจใส่ร้ายมาตลอด

2.ถึงแม้นผมไม่ใช่คนดีสมบูรณ์แบบ แต่ผมขอยืนยันว่าผมไม่ได้เลวอย่างที่ถูกกล่าวหา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมผมจะแถลงความจริงให้ทุกท่านทราบ วันนี้ยังไม่ใช่วันของผม ขอให้ผู้สนับสนุนผมอดทนอีกนิดหนึ่งครับ

3. หากผมยังมีวาสนา ผมจะขอกลับมาตายบนผืนแผ่นดินไทยเฉกเช่นคนไทยทุกคน...”
คำประกาศของทักษิณ คือความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า การรัฐประหาร และปฏิบัติการไล่ล่า”ระบอบทักษิณ”ที่เครือข่ายอำมาตย์อภิสิทธิ์ชนดำเนินการอย่างเอาเป็นเอาตายในลักษณะที่เรียกว่า”ตัดหนาม อย่าไว้กอ” ด้วยกติกาที่ไม่ชอบธรรม และชุดความคิดคร่ำครึแบบที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต (ตัวอย่างจากกรณีของบทเรียนของ ปรีดี พนมยงค์ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม/ ซอยราชครู และถนอม-ประภาส) แม้จะสามารถทำลายอำนาจนำของทักษิณที่สร้างเอาไว้กว่า 5 ปีได้บางส่วน แต่จะไม่สามารถทำลายความชอบธรรมลงได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธะทางอารมณ์อันแน่นแฟ้นระหว่างทักษิณกับผู้ที่ชื่นชมที่เกิดขึ้นจากคุณูปการในช่วงที่เขายังครองอำนาจทางการเมืองอยู่

พันธะทางอารมณ์ดังกล่าว คือ ความเชื่อมั่นอันเข้มข้นที่ได้ถูกย้ำให้เห็นในวาระสำคัญหลายครั้ง เช่น ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และอื่นๆ รวมทั้งการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงนับครั้งไม่ถ้วน และทักษิณกับพวก (ซึ่งแสดงออกผ่านคนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดของวงในคือ จตุพร พรหมพันธ์ นักต่อสู้ที่เติบโตมาจากกรณีพฤษภาคม 2535)ได้ใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการต่อสู้ของตนเอง ผ่านการเลือกตั้งและผ่านการต่อสู้บนท้องถนนขบวนการของคนเสื้อแดงควบคู่กัน

แนวทางการต่อสู้ที่ทักษิณ-จตุพรที่ใช้ยุทธวิธีขับเคลื่อนการเลือกตั้ง และการเมืองบนท้องถนนของขบวนการคนเสื้อแดง มีเป้าหมายทางยุทธศาสตร์เพื่อรักษาฐานที่มั่นด้วย"สงครามจำกัดวง"

ผลพวงของการเลือกใช้ยุทธศาสตร์แบบจำกัดวงดังกล่าว ไม่ว่าจะมียุทธวิธีใดๆ ที่คิดค้นขึ้นมาใช้ (ซึ่งหากวิเคราะห์ให้ชัด ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้กรอบที่ผิดพลาดคือ"วิธีการกำหนดเป้าหมาย"ที่แข็งทื่อตายตัว) ได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า ได้ถูกเครือข่ายอำมาตย์ที่พร้อมจะใช้เครื่องมือการต่อสู้ทุกรูปแบบที่พลิกแพลงเพื่อยึดกุมอำนาจเผด็จการของพวกมันเอาไว้ ทำการรุกไล่ในทุกระดับ กระทั่งท้ายที่สุด การต่อสู้ในรัฐสภาก็พ่ายแพ้หมดรูป เมื่อผู้นำกองทัพเข้ามาจัดการตั้งรัฐบาลเสียเองโดยชูอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด เหลือไว้ก็แต่การต่อสู้บนท้องถนนเท่านั้น ที่ยังคงมีพลังหลงเหลืออยู่

แม้จะพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ความดื้อรั้นของทักษิณ-จตุพรยังคงดำเนินต่อไป ไม่ยอมรับรู้ข้อเท็จจริงที่ว่า ยุทธศาสตร์สงครามจำกัดวงนั้น มีจุดอ่อนที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ได้เสมอ เมื่อเทียบกับสงครามเบ็ดเสร็จ แต่พยายามขับเคลื่อนการเมืองบนท้องถนน ประกาศจัดชุมนุมทางการเมืองโดยอาศัยกระแสตื่นตัวของผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ปลายปี 2551 โดยสร้างข้อเรียกร้องซ้ำซากให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ได้เป็นข้อเรียกร้องเดียวของแกนนำโดยหวังว่า จะนำไปสู่แรงเหวี่ยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ใหญ่หลวงกว่า ซึ่งเป็นการกระทำที่เปรียบได้กับการ”ปลูกมะนาว หวังเก็บกินส้มโอ”ที่ประเมินคุณค่าของมวลชนต่ำในระดับเพียงแค่เป็น”เครื่องมือของวิธีการ”ในการต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นสำคัญ

ผู้นำที่แท้จริงควรต้องตระหนักได้ว่า โดยแท้จริงแล้ว มวลชนทุกคนเป็นอิสรชนที่มีคุณค่า และเป็นเป้าหมายหลักของการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า มิใช่แค่เครื่องมือหรือโล่ห์มนุษย์ของแกนนำบางคน โดยเฉพาะคนที่(ไม่ว่าจะอยู่ทั้งใน หรือนอกวงต่อสู้) ชอบเอ่ยอ้างภาวะผู้นำของตนเองอย่างพร่ำเพรื่อ

บทเรียนจากการต่อสู้ในเดือนเมษายนเลือด 2552 คือกรณีศึกษาที่ชัดเจนที่สุด และที่น่าสนใจก็คือ โศกนาฎกรรมดังกล่าว กลับมาเกิดซ้ำอีกครั้งในปี 2553 โดยไม่มีการสรุปบทเรียนแต่อย่างใด

ในปี 2552 รูปแบบของแนวทางการต่อสู้บนท้องถนนของทักษิณ-จตุพร คือ ระดมมวลชนนัดชุมนุมกันตามที่ต่างๆ พร้อมกับโฟนอินมาทักทายมวลชนเพื่อส่งสารและปลุกเร้าให้มวลชนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จากนั้นก็นัดระดมชุมนุมใหญ่ นับแต่กลางเดือนมีนาคมเรื่อยไป โดยสร้างข้อเรียกร้องให้องคมนตรีบางคนนำโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ลาออก

ทักษิณประกาศในการโฟนอินเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552 ว่า “...ถ้าเมื่อไหร่เสียงปืนแตก ทหารยิงประชาชนผมจะเดินเข้าไปนำพี่น้องเดินเข้ากรุงเทพฯ ทันที ผมจะไม่ยอมอีกแล้วให้กับเผด็จการ..." เป็นการโหมโรงของการชุมนุมใหญ่ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน แต่ก่อนหน้านั้น 1 วัน รถประจำตำแหน่งของนายอภิสิทธิ์ถูกกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ทุบจนกระจกแตก แต่นายอภิสิทธิ์สามารถหลบหนีไปได้

คืนวันที่ 7 เมษายน พ.ต.ท. ทักษิณ ได้พูดผ่านการถ่ายทอดภาพมายังกลุ่มผู้ชุมนุมว่า “...วันนี้ กำลังมาเจอกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อบอกว่าเราจะรวมพลังกัน เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริงให้กับประเทศไทย ให้กับลูกหลานในอนาคต....มีคนถามผมขึ้นมาว่า ถ้าได้กลับบ้านจะเลิกต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไหม คือเขาเป็นห่วงว่าทั้งหมด คือที่ผมออกมาต่อสู้ คงเพื่อตัวเองเท่านั้น อย่างที่ผมเรียนไปว่าผมปรับตัวได้แล้ว ไม่ใช่เรื่องของผมแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของชาติบ้านเมือง...ขอเชิญชวนว่าวันที่ 8 เม.ย.ต้องมา พี่น้องที่รักความยุติธรรม ที่ตกงาน ที่มองไม่เห็นอนาคต หรือที่เห็นว่าการค้ามืดมนชีวิตมืดมน เพื่อนข้าราชการ ครู ทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีเส้น ขอเชิญที่ถนนราชดำเนิน ที่บอกว่าเชิญกันมาเยอะจะไปอยู่ที่ไหน อยู่ตรงไหนก็ได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพลังครั้งนี้มากกว่า 14 ตุลา 17 พฤษภา … บุญคุณครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก ทำให้ผมรู้สึกว่า ผมต้องตอบแทนบุญคุณพี่น้อง ด้วยการรับใช้ชาติที่พี่น้องต้องการตลอดไป...” แต่เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งเริ่มการชุมนุมครั้งใหญ่ ก็มีข่าวว่าลูกๆและญาติพี่น้องของทักษิณขึ้นเครื่องบินออกไปยังต่างประเทศเพื่อความปลอดภัย

วันที่ 9 เม.ย. การชุมนุนมกระจายตัวกันไปด้วยยุทธวิธี“ดาวกระจาย”ไปตามสถานที่สำคัญ โดยคืนวันที่ 10 เม.ย. ทักษิณพูดกับผู้ร่วมชุมนุมว่า "...พี่น้องครับผมแพ้ไม่ได้ เพราะถ้าแพ้คือประชาชนแพ้ อนาคตลูกหลานแพ้ ประเทศไทยแพ้ มันไม่ใช่เพื่อผม บังเอิญว่าผมเป็นคนซึ่งนำการต่อสู้...พี่น้องครับอดทนอีกนิดเดียว ไม่เป็นไรวันนี้ทำมาหากินไม่คล่อง แท็กซี่ก็อุตส่าห์ไม่หากิน รอให้ผมกลับไปผมจะแก้เอง..."

เมื่อการชุมนุมได้ขยายตัวไปจนรัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชลบุรี ในที่ 11 เมษา และในกรุงเทพมหานครและพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งสั่งกองทหารปราบผู้ชุมนุม ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน เริ่มจับกุมแกนนำ และสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ดีสเตชั่นและสถานีวิทยุชุมชน ก็มีความพยายามจากฝั่งของทักษิณที่จะเปิดการเจรจากับรัฐบาล แต่ไม่เป็นผลจนถึงวันที่ 13 เมษายน ซึ่งทหารได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง จนมีคนได้รับบาดเจ็บถึง 66 คน โดยคืนวันที่ 13 นั้นเอง ทักษิณให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นของอเมริกา โดยตอบคำถามเรื่องจะกลับประเทศไทยเมื่อไรว่า "ผมพร้อมจะไปเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม แต่ขณะนี้ต้องการเห็นการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยสันติ…"

เวลาเช้า 8.00 น. ของวันที่ 14 เมษายน ทักษิณยังคงติดต่อเพื่อหวังจะมีการเจรจากับทางรัฐบาล แต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งเวลา 10.00 น. บรรดาแกนนำนปช. ที่นำการชุมนุมหลายคนจึงยอมมอบตัว ทำให้การชุมนุมสงบลง ตัวของทักษิณก็เงียบหายไปนานหลายวัน หลังจากที่พยายามฟอกตัวเองให้ผุดผ่องด้วยการปฏิเสธความรับผิดใดๆว่า ไม่เกี่ยวกับการชุมนุมแต่อย่างใด

ต่อมา นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ออกมาแก้ต่างว่า ทักษิณ ได้ตัดสินใจเดินทางกลับเข้าประเทศไทยในวันที่ 14 เมษายน โดยได้ขึ้นเครื่องบินส่วนตัว มาลงยังประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นวางแผนที่จะรวบรวมประชาชนในภาคอีสาน เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสมทบกับคนเสื้อแดงที่กำลังถูกสลายการชุมนุม แต่ถูก นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว และ ส.ส.ช่วยกันห้าม ซึ่งคำแก้ต่างนี้ ไม่มีใครรู้ว่า ข้อมูลนี้จริงหรือไม่

สิ่งที่มวลชนคนเสื้อแดงได้เห็นต่อจากนั้นก็คือ การดิ้นรนของทักษิณเพื่อเอาตัวรอดตามลำพังประดุจตัวตลกที่น่าเวทนา ทั้งการตัดพ้อต่อว่า และพร่ำพูดถึงชะตากรรมตัวเอง ในลักษณะทวงบุญคุณต่ออดีตพลพรรคที่ผละออกห่างไป โดยไม่ยอมพูดถึงผลประโยชน์รูปธรรมของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย พร้อมกับเตรียมการเพื่อนัดชุมนุมทางการเมืองรอบใหม่ โดยไม่มีการสรุปบทเรียนจากกรณีเมษายนเลือด 2552 แม้แต่น้อย
ก่อนการชุมนุม”เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน”จะเริ่มขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม 2553 มีการโหมโรงตามที่ต่างๆเพื่อปลุกเร้ามวลชนให้เข้าร่วม โดยทักษิณทำการโฟนอินอย่างต่อเนื่องทุกคืนไปยังที่ชุมนุนมทั่วประเทศ โดยในคืนวันที่ 12 มีนาคม ได้โฟนอินมาที่เชิงสะพานผ่านฟ้า โดยกล่าวย้ำคำเดิมเรื่องสองมาตรฐานของอำมาตย์ และ สื่อ "...ขออภัยพี่น้องกรุงเทพที่รถต้องติดขัดในช่วงนี้ จนกว่าจะได้ประชาธิปไตย ความยุติธรรมกลับมา เมื่อนั้นรถจะหายติด ถ้าผมกลับไปรถไฟ ฟ้า10สายแผ่ไปทั่วปริมณฑล และจะสร้างชุมชนบนสถานีรถไฟฟ้าเพื่อให้คนที่สร้าง เนื้อสร้างตัวมีที่อยู่อาศัยเดินทางได้สะดวก"

ก่อนการชุมนุมใหญ่ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 14 มีนาคม ครอบครัวของทักษิณ ก็เดินทางออกไปต่างประเทศอีกครั้ง โดยการชุมนุนมใหญ่คืนแรกนั้น ทักษิณก็ทำการโฟนอินอีกครั้ง โดยแสดงความยินดีล่วงหน้ากับผู้ชุมนุมที่จะมีส่วนสร้างประวัติศาสตร์ไทยให้ การเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคที่อำมาตย์ปกครองมาเป็นประชาธิปไตยเพื่อประชาชนจริงๆ และเปลี่ยนแปลงจากยุคที่บังคับใช้กฎหมายมาเป็นใช้หลักนิติธรรม “...ได้รับทราบว่ารัฐบาลมีการลำเลียงทหารและมีการเบิกอาวุธแล้ว ซึ่งครั้งนี้เป็นการใช้ทหารจำนวนมากที่สุด และอยากจะฝากข้อความนี้ไปยังรองผบ.ทบ.ว่าอย่าใช้กำลังอย่าห่วงตำแหน่งผบ.ทบ. และผบ.ทบก็ไม่ควรคิดปฏิวัติ เพราะจะเกษียณปีนี้แล้ว และอย่าคิดปราบปรามประชาชน...ขอเชิญชวนแกนนำคนเสื้อแดงตั้งเวทีที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อบอกว่าเรารักประชาธิปไตยและให้เข้ามาร่วมมากๆ..”

หลังจากนั้นเหตุการณ์”เคลื่อนพลทั้งแผ่นดิน ก็ดำเนินมาจนถึงคืนวันที่ 10 เมษายน ที่มีการปราบปรามประชาชนที่ผ่านฟ้าและสี่แยกคอกวัว ทักษิณก็เงียบหายไป (มีแต่ญาติพี่น้องบางคนเท่านั้นเช่นนายพายัพ ชินวัตรที่ยังออกมาให้ข่าวสารอย่างไร้สาระเพื่อขอเจรจา ประหนึ่งเป็นตัวแทนของมวลชนที่ชุมนุม) แต่ได้สั่งการผ่านทางนายจตุพรโดยตลอด ท่าทีและการเคลื่อนไหวของจตุพรจึงถือว่าเป็นท่าทีของทักษิณโดยตรง

เมื่อการฆาตกรรมหมู่ได้เริ่มขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม ก็มีภาพข่าวของทักษิณกับลูกสาว เดินช็อปปิ้งอย่างสบายใจที่ห้างหลุยส์ วิตตอง กลางกรุงปารีส ไม่ได้มีท่าทีอนาทรร้อนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อมวลชนที่เขาอ้างเสมอว่าเป็นผู้นำการต่อสู้ จนกระทั่งจบสิ้นลงจนมีมวลชนเสียชีวิตเกือย 100 คน และบาดเจ็บเกือบ 2 พันคน ทักษิณก็ยิ่งหายเงียบไปยาวนาน มีเพียงข้อความสั้นๆผ่านทวิตเตอร์ที่ไม่มีสาระสำคัญอะไรมากนักนอกจากพร่ำบ่นกับตัวเองและสถานการณ์รอบด้าน โยนความผิดทุกอย่างให้กับพวกอำมาตย์เป็นสำคัญ เช่นข้อความเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่ว่า “ ผู้บาดเจ็บ ญาติผู้เสียชีวิต/ผู้สูญหาย อดทนอีกนิด รอให้รัฐบาลใจร้ายเข่นฆ่าประชาชนของตัวเองแล้วโทษคนอื่นพ้นวาระไปก่อนจะได้ มีการเยียวยากันดีๆ” และวันที่ 25 กรกฎาคม “... ผู้ที่รักผมและปรารถนาดีต่อ ผมต้องอดทนอดกลั้นต่อความไม่เป็นธรรม ความโหดเหี้ยมในช่วงนี้ โปรดอย่าหาทางออกด้วยความรุนแรง ผมไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยครับ..”

ในการโฟนอินกับพรรคเพื่อไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 61 ปีของเขา ทักษิณบอกว่า “..ผมสบายดี...ดูซิวันที่ก่อนจะมีการสลาย ผมเดินปารีส พาลูกสาวไปช็อบปิ้งซื้อหลุยส์ วิตตอง แต่ในวันรุ่งขึ้น นักช็อปปิ้งกลับเป็นผู้ก่อการร้ายเสียแล้ว ถ้าก่อการร้ายต้องนั่งห้องบัญชาการซิ...ผมอยากให้ประเทศกลับมามีสามัคคีเหมือนเดิม ผมพูดคุยกับใครก็ได้ ขอให้มีความเป็นคน ขอให้ สส.ยืนให้มั่นพูดความจริง แต่ถ้าปิดสื่อ สส.ต้องทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ความจริงปรากฎชัด บ้านเมืองก็จะสงบเอง แล้วท่านจะเห็นว่า สิ่งที่ท่านอดทนรอคอยมันจะเป็นรางวัลกลับมาให้ตัวเราอย่างมากมาย...” และได้พูดโฟนอินกับชาวสันกำแพง เชียงใหม่ว่า “..ขอบคุณที่ยังไม่ทิ้งกัน ขอให้ทุกคนอดทนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นไม่นานจะกลับประเทศไทยเร็ว ๆ นี้ และขอให้ทุกคนเดินหน้ารักษาประชาธิปไตยต่อไป ส่วนสุขภาพตอนนี้แข็งแรงมากไม่ต้องห่วง..”

คำพูดเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าบาดแผลของการต่อสู้ที่มวลชนซึ่งถูกระดมเข้ามาชุมนุมได้รับ เป็นเรื่องของ"คนอื่น"ที่ไม่ได้อยู่ในความคิดที่จะใส่ใจของคนชื่อทักษิณแม้แต่น้อย เช่นเดียวกันท่าทีของจตุพรซึ่งขับเคลื่อนแนวทางของเขาในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นต่อบรรดาแกนนำที่ถูกจับกุม หรือที่หลบหนีการไล่ล่า

กรณีศึกษาที่ชัดเจนก็คือ คนที่เคยเข้าร่วมการต่อสู้อย่าง”อ้อ-อ้าย”ที่ถูกกล่าวหาว่าวางระเบิดพรรคภูมิใจไทย ซึ่งถูกไล่ล่าจนต้องหลบหนีไปยังกัมพูชาและถูกกัมพูชาส่งตัวกลับ โดยที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน กลับถูกจตุพรออกมาระบุในทันทีทันควันอย่างปัดสวะเอาตัวรอดว่า คนทั้งคู่เป็น”สายลับ”ของอำนาจรัฐ ซึ่งคำกล่าวหาของจตุพรเช่นนี้ เป็นเจตนาละทิ้งมวลชนอย่างเอาดีเข้าตัวที่ต้องประณามอย่างถึงที่สุด

ที่ร้ายไปกว่านั้น ล่าสุดบรรดาญาติพี่น้องของทักษิณบางคน ยังเริ่มออกมากระพือข่าวเพื่อลอยแพคนที่ร่วมการต่อสู้บางคน โดยกล่าวหาว่า เป็นคนทรยศที่ขายตัวให้กับพวกอำมาตย์ไปแล้ว

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการปฏิบัติต่อคนที่ถูกจับกุมในที่คุมขัง กับที่ยังหลบหนี ซึ่งมีลักษณะกะปริบกะปรอย และเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน โดยคนส่วนใหญ่ถูกลอยแพโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการเล่นพรรคพวกที่สะท้อนการไร้ภาวะความเป็นผู้นำอย่างล่อนจ้อน

อาชญากรรมที่แนวทางทักษิณ-จตุพรได้ขับเคลื่อนไปเหล่านี้ ยังกินความรวมถึงความอ่อนด้อยต่อความเข้าใจถึงขั้นตอนการสะสมชัยชนะในการขับเคลื่อนการต่อสู้อย่างมีขั้นตอนและเป็นรูปธรรม ทั้งในเวทีรัฐสภา และบนท้องถนน ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าวถือเป็นการยกระดับความรับรู้และประสบการณ์ของมวลชนทั้งด้านลึกและกว้างพร้อมกันที่จำเป็น ถือเป็นกระบวนการสร้างความคึกคักให้กับมวลชนพร้อมไปกับการสรุปบทเรียนการต่อสู้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่หลวงในอนาคต

การดำเนินการแบบทุ่มกำลังเชิงปริมาณในการต่อสู้บนท้องถนน เพื่อสร้างข้อเรียกร้องที่ไม่สอดคล้องกัน โดยที่ควรรู้ล่วงหน้าว่า เป็นการขับเคลื่อนที่ไม่มีทางชนะพร้อมกับความเชื่ออันเลื่อนลอยใน 2 ขั้นตอน(ซึ่งแอบแฝงการพึ่งพาสิ่งที่มองไม่เห็นและควบคุมไม่ได้) คือ ด้านหนึ่ง กองทัพจะไม่กล้าปราบปรามมวลชน ซึ่งก็จะส่งผลให้รัฐบาลง่อยเปลี้ยล้มลงไป ส่วนอีกด้านหนึ่ง หากกองทัพร่วมมือกับรัฐบาลปราบปราม ก็จะมีคนบางคนในกองทัพลงมาช่วยมวลชน ทำให้ทำรัฐประหาร หรือ ปราบปรามมวลชนไม่ได้ ซึ่งผลลัพธ์ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง สะท้อนให้เห็นความอ่อนด้อยทางประวัติศาสตร์การเมือง เป็นจุดอ่อนของการนำมวลชนที่เกิดจากสมมติฐานที่ผิดพลาด เพราะฆาตกรรมหมู่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ยืนยันชัดเจนว่า ความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นความจริงทั้งสองกรณี

อาชญากรรมของแนวทางทักษิณ-จตุพรเช่นนี้ เป็นเรื่องที่มวลชนจะต้องรีบสรุปบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมา โดยไม่ต้องหวั่นวิตกกับข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการเคลื่อนขบวนของมวลชนในอนาคต โดยมวลชนจะต้องทำสองประการพร้อมกันไปคือ ด้านหนึ่ง เร่งสรุปบทเรียนถึงการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาอย่างรอบด้าน โดยไม่ต้องหวั่นวิตกกับความขัดแย้งภายใน เพราะหากว่าการวิพากษ์ด้วยข้อเท็จจริงอย่างสร้างสรรค์ ถูกถือว่าเป็นการสร้างความแตกร้าวแล้ว นั่นแสดงว่า จิตสำนึกของผู้เข้าร่วมการต่อสู้บางคนและบางกลุ่ม ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงพอ

อีกด้านหนึ่ง มวลชนจะต้องพร้อมที่จะ ปฏิเสธเข้าร่วมต่อสู้ภายใต้การนำที่ผิดพลาดของทักษิณ-จตุพร หรือ แกนนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างถึงที่สุด ถ้าหากพิจารณาโดยแจ่มชัดแล้วว่า แกนนำกลุ่มหรือบุคคลเหล่านั้นกำลังกระทำไปบนพื้นฐานของความเห็นแก่ตัว ไร้ยุทธศาสตร์ การไร้ภาวะความเป็นผู้นำ และการดูถูกเหยียดหยามจิตใจของมวลชนที่ร่วมการต่อสู้ในฐานะแค่”เครื่องมือ”มิใช่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ในการต่อสู้ เป็นอาชญากรรมที่ไม่ควรจะปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำอีกเป็นครั้งที่สาม

ในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของมนุษยชาติ ผู้นำที่ละทิ้งและเพิกเฉยต่อมวลชน สมควรถูกมวลชนละทิ้งเป็นผลตอบแทนที่สาสมแล้ว

อาชญากรรมของนักปฏิวัติในโต๊ะหารือและหน้าเน็ต

เกือบ 40 ปีมาแล้ว นับแต่กลุ่มนักศึกษาปัญญาชนไทยที่เริ่มรู้จักกับทัศนะการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมใหม่อย่าง”ก้าวหน้า” ได้รับเอาวิธีการวิเคราะห์สังคมแบบมาร์กซิสม์ หรือเศรษฐศาสตร์การเมืองมาใช้ นับตั้งแต่อย่างเถรตรงและกลไกจากฝ่ายจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนถึงยุคหลังหมดศรัทธา มรดกของจารีตการวิเคราะห์สังคมได้กลายเป็นพิธีกรรมแบบที่กวีจีนรุ่นสงครามโลกครั้งแรกอย่าง หลู่ซิ่น เคยกล่าวเตือนสติเอาไว้ถึงอันตรายของ “นักปฏิวัติในร้านเหล้า(หรืองานชุมนุม)”ว่า เป็นความโน้มเอียงไปสู่การเดินเอียงขวาที่ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงสังคมได้เลย

ในปัจจุบันพิธีกรรมพบปะหารือเพื่อจับกลุ่มวิเคราะห์สังคมในลักษณะ”วาทะกรรมพร่ำเพ้อ”ได้แพร่กระจายไปสู่เครือข่ายสังคมบนอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย ก่อให้เกิด”นักปฏิวัติหน้าเน็ตภายในบ้าน”รุ่นล่าสุด ที่ลงมือพายเรือในอ่างไม่จบสิ้น โดยไม่สามารถหาข้อยุติที่เป็นฉันทามติและนำไปขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมได้ว่าอนาคตของสังคมจะมุ่งไปทางใด เป็นการใช้เวลาอย่างโมฆะและเปลืองเปล่า

คนเหล่านี้แหละ ที่มุ่งมั่นนำเสนอสันติวิธีทางการเมืองอย่างเพ้อเจ้อ โดยไม่ได้ถ่องแท้ถึงความหมายของสาระสำคัญของการต่อสู้ด้วยสันติวิธีทางการเมืองเอาเสียเลย เพียงแต่เชื่ออย่างหลงผิดว่า ข้อเสนอของตนคือลูกแก้ววิเศษส่องอนาคต แยกไม่ออกระหว่าง การต่อสู้ กับ การยอมจำนน อันผิดหลักการ 5 กล้าหาญของสัตยาเคราะห์ ( 1) กล้าเผชิญกับการเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการต่อสู้ ทั้งทางตรงและอ้อมอย่างเท่าทัน 2) กล้าขัดแย้ง 3) กล้าศึกษาบทเรียนในอดีตทั้งของตนเองและศัตรูหรือมิตร 4) กล้าจินตนาการเพื่อวาดสังคมในอุดมคติล่วงหน้า เพื่อให้มวลชนร่วมสร้างเจตนารมณ์ร่วม 5) กล้าทำความสะอาดบ้านตนเองเพื่อกำจัดจุดอ่อนภายใน ) อันเป็นต้นแบบรากฐานของมหาตมะ คานธี

ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ข้อเรียกร้องให้ใช้สันติวิธีอย่างไร้ยุทธศาสตร์ กลายเป็นสันติวิธีของคนขี้ขลาด ไม่ใช่สันติวิธีของนักต่อสู้เพื่อมุ่งสู่ชัยชนะของมวลชนผู้รักความยุติธรรมและประชาธิปไตย เพื่อนำไปสู่กระบวนการจัดตั้งของพลังก้าวหน้า

การสุมหัวสร้างวาทะกรรมทั้งในวงหารือในวงแคบ หรือหน้าเน็ต เพื่ออวดอ้างภูมิปัญญาส่วนบุคคล จึงเป็นการเคลื่อนไหวของคนที่หวาดกลัวว่าตนเองจะขาดการเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ”ไทยมุง”ทางปัญญาเพื่อสนองตอบความอยากรู้อยากเห็นที่ไร้คุณค่าในรอยต่อประวัติศาสตร์การต่อสู้ของภาคประชาชนเท่านั้นเอง ถือเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่ไร้คุณค่า และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสังคมที่เป็นรูปธรรม

คนเหล่านี้ซึ่ง"มากด้วยอุบาย แต่ไร้การตัดสินใจ" ชอบเอ่ยอ้างอย่างซ้ำซากแบบอมภูมิว่า “มวลชนลุกขึ้นสู้แล้วก็จริง แต่สถานการณ์ยังไม่สุกงอม” จึงมีบทบาทเป็นได้อย่างมากก็แค่ฝิ่นของปัญญาชนที่พร้อมจะพร่ำเพ้อไปทั่วอย่างสะเปะสะปะในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่อารมณ์ตายด้าน ทั้งก่อนและหลังการต่อสู้ทุกครั้ง โดยไม่เคยคิดจะเข้าร่วมการต่อสู้ในทุกระดับอย่างเอาการเอางานแม้แต่น้อย ไม่สามารถทำตัวให้มวลชนพึ่งพาได้แม้แต่น้อย

ฆาตกรรมหมู่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า นักปฏิวัติในโต๊ะหารือและหน้าเน็ต คือ ส่วนเกินที่ไม่จำเป็นของสังคมอีกต่อไป แม้จะไม่ได้ร่วมประกอบอาชญากรรมใหญ่เหมือนกับทักษิณ-จตุพร หรือ อำนาจรัฐอำมาตย์ที่ชั่วช้า หรือ แฝดอิน-จันจอมลวงโลก แต่ก็มีฐานะและบทบาทเป็นแนวร่วมมุมกลับของอำนาจเผด็จการอำมาตย์ ที่พยายามสร้างความมึนชาให้กับมวลชนโดยสุจริต

อาชญากรรมของสื่อเครือข่ายเสื้อแดง

ผู้เขียน เคยย้ำหลายครั้งแล้วว่า การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมทุกครั้งในปัจจุบัน การต่อสู้ในสงครามชิงพื้นที่ข่าว เป็นหนึ่งเวทีที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ท่ามกลางการต่อสู้นั้น จะต้องยึดมั่นกับหลักการที่คาลิล ยิบราน ได้เคยกล่าวเอาไว้ชัดเจนว่า “การปฏิวัติด้วยการโกหก คือ การขุดบ่อน้ำในทะเลทราย”

อำนาจรัฐเผด็จการของอำมาตย์ที่ฉ้อฉล ได้เข้ายึดกุมแย่งชิงสงครามชิงพื้นที่ข่าวมายาวนานนับแต่ก่อนการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยของทักษิณในปี 2549 มาโดยตลอด และ สร้างเงื่อนไขครอบงำสังคมให้ยอมจำนนกับภาพลวงที่วิธีการสามานย์สร้างขึ้นมา ปรากฏบนสื่อทุกประเภท สื่อใดที่ปฏิเสธจะยอมจำนน จะถูกอำนาจคุกคามหรือให้ระงับการเผยแพร่

ไม่ใช่เรื่องประหลาดที่อำนาจรัฐเผด็จการย่อมคุ้นเคยกับการสร้างสงครามหญ้าเทียม เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองเต็มรูป เพื่อบิดเบือนข้อมูลและผลิตชุดข้อมูลใหม่ที่สามารถครอบงำให้คนฉลาดเลิกต่อต้าน คนโง่หลงงมงาย และฝ่ายตรงข้ามหมดฤทธิ์ โดยการสมรู้ร่วมคิดของสื่อที่กระหายหิว

ทางเลือกที่สำคัญของการต่อสู้กับสงครามชิงพื้นที่ข่าว ไม่ใช่การตอบโต้ด้วยวิธีการอันสามานย์กว่าอย่างเอาเป็นเอาตายเสมือนหนึ่งจะไม่มีอนาคตอีกแล้ว แต่ต้องด้วยข้อเท็จจริงที่เหนือกว่า ทัศนคติที่ถูกต้อง และ ความกล้าหาญเชิงจริยธรรม

ในอดีต นักคิดและนักต่อสู้ระดับโลกอย่าง ดังเต้ของอิตาลี มาร์ติน ลูเธอร์ ของเยอรมนี จอห์น มิลตันและแมรี่ วอลล์สโตนคราฟท์ ของอังกฤษ อีราสมุสของฮอลแลนด์ วอลแตร์ มองเตสกิเออ และรุสโซของฝรั่งเศส ทอมัส เพนของอเมริกา หลูซิ่นของจีน พุชกิ้นของรัสเซีย โว เหวียน ย้าบ ของเวียดนาม แมกซิม กอร์กี้ของรัสเซีย และเซร์บานเตสของสเปน ล้วนได้ใช้เครื่องมือทั้งสามของสงครามชิงพื้นที่ข่าวต่อสู้เพื่อช่วงชิงชัยชนะทางด้านอุดมการณ์อย่างโชกโชนให้ปรากฏลือลั่นมาแล้ว

น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ข้อกล่าวหาอันกล้าหาญของ ธงชัย วินิจจะกุล ที่ระบุว่า “สื่อไทยกำลังร่วมมือก่ออาชญากรรม”มิได้ถูกต้องเฉพาะสื่อที่อำนาจรัฐเผด็จการของอำมาตย์ครอบงำเท่านั้น แต่ยังรวมความถึงพฤติกรรมของสื่อที่บรรดาคนเสื้อแดงหรือสนับสนุนคนเสื้อแดงเข้าไว้ด้วย

พฤติกรรมปิดหูปิดตามวลชนพวกเดียวกันเอง โดยที่ยังไม่สามารถอธิบายและพิสูจน์ความถูกต้องของข้อมูล โดยอ้างเหตุผลคับแคบอย่างอัตวิสัย สะท้อนคุณภาพและจิตสำนึกที่ไร้สมรรถภาพต่อความสามารถยกระดับการวิพากษ์ของฝ่ายรักความยุติธรรมและประชาธิปไตยอย่างเกินเลย ถือเป็นพฤติกรรมของคนโง่ขึ้นสวรรค์ ซึ่งหมายถึงคนที่พยายามสร้างความหวังใหม่จากความมืดมนของชีวิตรอบด้าน ที่ไม่สมควรปล่อยให้เกิดขึ้นอีก

ในอดีต ผู้รักความยุติรรมและประชาธิปไตยจำนวนมากได้เคยวิพากษ์วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ปฏิเสธการวิพากษ์ ใช้ความเงียบทำลายเสียงวิพากษ์เพื่อซื้อเวลาให้คนลืมความผิดพลาด เป็นสิ่งที่สมควรกระทำ ผู้เขียนก็ขอยืนยันในสิทธิวิพากษ์สื่อเครือข่ายเสื้อแดงอย่างฉันท์มิตร และขอส่งคำเตือนด้วยความปรารถนาดีว่า หากขืนยังกระทำซ้ำเดิมอีก ก็จะต้องปรับท่าทีกันใหม่

ความหลงผิดของลัทธิอัศวินม้าขาวประชาธิปไตย

ความหลงผิดที่สำคัญอย่างหนึ่งของขบวนการต่อสู้ของมวลชนก็คือ ความเชื่อว่า การมีผู้นำที่ยิ่งใหญ่คือเส้นทางลัดสู่ชัยชนะ ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามมวลชนอย่างถึงที่สุดของลัทธิอัศวินม้าขาว เพราะโดยแท้จริงแล้ว ความเป็นผู้นำ ไม่ได้หล่นจากฟ้าประทาน หรือ จากการแอบอ้างของใครบางคน แต่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการคัดเลือกบุคคลที่สามารถนำ ท่ามกลางการต่อสู้

ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในโลก ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยง่ายดายหรือสวรรค์ประทานแบบนิทานปรัมปรา ไม่ว่าจะเป็นอเล็กซานเดอร์มหาราช จันทรคุปต์แห่งเมาริยะ สปาร์ตาคัส หรือนโปเลียน ล้วนถือกำเนิดขึ้นมาจากกระบวนการต่อสู้ที่แหลมคมในยุคสมัยและสังคมรอบข้างของตนเอง ส่วนผู้นำในโลกยุคใหม่ อย่างเหมา เจ๋อ ตง เคมาล อตาเติร์ก เนลสัน แมนเดล่า คานธี ฟิเดล คาสโตร หรือ อลาตุลยาห์ โคไมนี ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยกำเนิดแต่อย่างใด

แม้แมคเคียเวลลี เองจะบอกว่า คุณสมบัติข้อเดียวของผู้นำที่ยอดเยี่ยมคือ นำมวลชน แต่ก็ยอมรับว่า หลักประกันว่าจะมีมวลชนเดินตามผู้นำอย่างปราศจากข้อสงสัย ต้องเกิดจาก 3 คุณสมบัติสำคัญ 3 คือ บุคลิกภาพ นิสัย และ พฤติกรรมมีส่วนร่วมทุกข์สุขอย่างมุ่งมั่นกับสถานการณ์หนึ่งๆ ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวขึ้นกับความสามารถในการสร้างดุลถ่วงระหว่างการเป็นที่ชื่นชมและเกลียดชังของคนรอบข้าง

ผู้นำจึงเกิดจากการคัดสรรของมวลชน มิใช่เกิดจากการแอบอ้างอย่างเชื่อมั่นแบบหลงตนเองของใครบางคน และเงื่อนเวลาของความสามารถในการนำของผู้นำแต่ละคนนั้น ก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าผู้นำจะต้องนำตลอดไป และผู้ตามจะต้องตามตลอดไป

นักสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้น ล้วนต้องผ่านการคัดเลือกอย่างแท้จริง มิใช่ผู้นำที่หลบหนีอย่างขี้ขลาดตาขาวที่พร้อมจะ”เปลี่ยนม้ากลางลำธาร”เมื่อถึงคราวเสียเปรียบ

เหมา เจ๋อ ตง เมื่อตอนเข้าร่วมการปฏิวัตินั้น เป็นเพียงแค่ผู้ปฏิบัติงานระดับล่างในชนบทที่ไม่มีความสำคัญ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนยุคแรกนั้น เน้นการต่อสู้ในเขตเมืองเป็นหลักตามแนวทางของโคมินเทิร์นหรือสากลที่สาม และเหมาเองยังเคยถูกศูนย์กลางพรรคประณามว่าละเมิดวินัย เมื่อชูธงต่อสู้ในชนบท จนกระทั่งเมื่อถูกเจียง ไคเช็ค ปราบปรามครั้งใหญ่ในเขตเมือง ทำให้ผู้นำพรรคจำนวนมากล้มหายตายจากไปและหมดความสามารถชี้นำ เหมาจึงก้าวเข้ามามีบทบาทภายหลังชัยชนะที่จิ่ง กัง ซาน อันกลายเป็นตำนานยุคใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลาต่อมา

เคมาล อตาเติร์ก เป็นลูกชายของชนเผ่าเร่ร่อนที่เข้ามาเป็นทหารในกองทัพจักรวรรดิมุสลิมออตโตมันที่ฟอนเฟะ หลังจากที่จักรวรรดิพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งแรก ทำให้ดินแดนจักรวรรดิถูกแบ่งออกเป็นเสี่ยงๆ ทำให้อตาเติร์กร่วมกลุ่มนายทหารในกองทัพ ตัดสินใจว่า โครงสร้างอันล้าหลังของจักรวรรดิออตโตมันคือปัญหาการล่มสลายของสังคม จึงทำสงครามปฏิวัติกอบกู้ให้ดินแดนที่แบ่งแยกกันออกไปด้วยน้ำมือพันธมิตรหลังสงครามโลก แม้จะถูกไล่ล่าจากรัฐบาลแต่ก็สามารถรวมกำลังมวลชนโค่นล้มอำนาจสุลต่านลงไป สร้างรัฐสมัยใหม่ที่เป็นต้นแบบของรัฐอิสลามยุคใหม่ขึ้นมาเป็นประเทศตุรกีที่เข้มแข็ง

เนลสัน แมนเดล่า เป็นชนชั้นสูงของชาวผิวดำในอาณานิคมใต้อำนาจอังกฤษที่กลายมาเป็นประเทศแอฟริกาใต้ ที่ต้องมีฐานะตกต่ำลง เขาเข้าสู่การต่อสู้เพื่อต่อต้านการรังเกียจสีผิวของรัฐบาลเน้นแบ่งแยกสีผิวรุนแรง เพื่อรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลโดยสันติวิธี แต่หลังจากกรณีสังหารหมู่ที่ชาร์พวิลล์ เขากลับถูกจับกุมร่วมกับผู้นำผิวดำ 150 คน ในข้อหาขบถ ครั้นออกจากคุก เขาก็เข้าร่วมการต่อสู้กับกลุ่มที่เรียกร้องให้ทำการตอบโต้รัฐบาลของพรรคชาตินิยมอย่างรุนแรงขึ้น โดยก่อตั้งและได้รับเลือกให้นำกองกำลังติดอาวุธMK ทำการลอบวางระเบิดสถานที่ และรบแบบกองโจร ในฐานะเป็นมาตรการสุดท้าย จนมีพลเรือนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก และถูกตั้งข้อหานักก่อการร้ายระดับหัวแถว

เมื่อถูกจับกุมเพราะสายลับซีไอเอ.จากสหรัฐขายตัวเขาให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ แมนเดล่าถูกตั้งข้อหาร้ายแรง และทำการไต่สวนที่ริโวเนีย ซึ่งที่นี่เขาได้กล่าวถ้อยคำอันยิ่งใหญ่ว่า “ ตลอดชีวิตของข้าฯ ได้อุทิศตัวเองแก่การต่อสู้เพื่อประชาชนแอฟริกัน ….ข้าฯยินดีต่อประชาธิปไตยอันเป็นอุดมคติและสังคมอันเสรี ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถอยู่ด้วยกันอย่างสันติและเสมอภาค นี่คืออุดมคติอันข้าพเจ้าหวังจะมีชีวิตอยู่ให้ถึง แต่หากจำเป็น ข้าฯก็พร้อมจะตายเพื่ออุดมคตินี้..” และเมื่อถูกจำคุกนานถึง 27 ปี เขาก็ยืนกรานต่อสู้ ไม่ยอมรับเงื่อนไขที่รัฐบาลเสนอให้เขาเอ่ยคำประณามการใช้ความรุนแรง เพื่อแลกกับการได้รับอิสรภาพ ยังผลให้แม้เมื่อเขาหลุดออกจากคุกและขึ้นเป็นประธานาธิบดีแอฟริกาใต้แล้ว เขาก็ยังไม่สามารถเดินทางเข้าสหรัฐฯได้ เพราะติดในบัญชีรายชื่อ ผู้ก่อการร้ายหัวแถว

คานธี ไม่ได้ประดิษฐ์ข้อเสนอหลักการต่อสู้ทางการเมืองอย่างสันติวิธีแบบคิดเอาเอง หรือ ท่องจำ แต่สั่งสมประสบการณ์และการดัดแปลงความคิดยาวนานในการต่อสู้ที่เป็นจริง เมื่ออยู่ในแอฟริกาใต้ เขาใช้คำว่า การต่อต้านแบบเฉื่อยเนือยเพื่อสื่อสารกับคนพื้นเมือง แต่เมื่อกลับมาอินเดีย เขาเปลี่ยนไปใช้คำว่า การแข็งขืนอย่างอารยะสื่อสารกับปัญญาชนในอังกฤษและยุโรป รวมทั้งเข้าร่วมกับรัฐบาลอังกฤษในอินเดียเพื่อเกณฑ์คนอินเดียเข้าเป็นทหารในสงครามโลกครั้งแรก ซึ่งขัดแย้งกับหลักการสันติวิธี โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อเปิดทางแลกเปลี่ยนกับการได้เอกราชของอินเดีย”

หลังสงครามโลกครั้งแรกสิ้นสุดลง การสังหารหมู่ที่อัมฤตสาร์ ทำให้คานธี ต้องปรับยืมเอาแนวคิดของราม ซิงห์ มาปรับใช้เป็นสัตยาเคราะห์ (ผสมแข็งขืนเชิงอารยะเข้ากับแนวทางไม่ร่วมมืออำนาจรัฐ) ด้วยเหตุผลว่า สัตยาเคราะห์เหมาะกว่าในการใช้เพื่อสื่อสารกับสังคมที่มีหลายวรรณะ ผลลัพธ์คือ คานธีกลายเป็นผู้ชี้นำพรรคคองเกรสที่ปรับโครงสร้างใหม่ให้คนอินเดียทุกวรรณะได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ แต่ก็เปิดทางให้แนวทางอื่นมีโอกาสปฏิบัติการเคลื่อนไหวแบบคู่ขนานระหว่างสันติวิธีกับการใช้กำลังควบคู่กันมาโดย ตลอด โดยต่างอดกลั้นไม่กล่าวหาซึ่งกันและกัน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อังกฤษยื่นข้อเสนอให้พรรคคองเกรสร่วมชักชวนคนอินเดียเข้าร่วมในสงคราม แรกสุดคานธีไม่ยอมรับข้อเสนอ เพราะขัดแย้งกับหลักการของตนเอง แต่สมาชิกและผู้นำพรรคคนอื่นๆเห็นด้วย ท้ายสุดคานธีตัดสินใจออกนอกห้องประชุม ปล่อยให้พรรคลงมติเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีคนอินเดียเข้าร่วมในสงครามมากที่สุดถึงกว่า 1 ล้านคน และตายไปหลายแสนคน การตัดสินใจครั้งนั้น ทำให้พรรคคองเกรสแตกเป็นหลายเสี่ยง และอิทธิพลของคานธีก็ลดลงไปชั่วคราว เนื่องจากท่าทีต่อการเข้าร่วมสงคราม

เมื่อเสียงเรียกร้องเอกราชในอินเดียรุนแรงมากขึ้น มีการลุกฮือหลายครั้ง ผสมกับกองกำลังติดอาวุธต่อต้านในพม่า และการเคลื่อนไหวของคานธี สร้างกระแสให้สื่อมวลชนและประชาชนในอังกฤษเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจามอบเอกราชให้อินเดียก่อนที่เศรษฐกิจอังกฤษจะพินาศ คานธีจึงกลายเป็นผู้นำที่โดดเด่นอีกครั้ง

ฟิเดล คาสโตร เป็นเด็กหนุ่มนักกีฬามหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมทางการเมืองเพราะความจำเป็นของสถานการณ์เพื่อต่อต้านคอรัปชั่น และความอยุติธรรมทางสังคม อันเนื่องจากรัฐบาลหุ่นที่หนุนหลังโดยสหรัฐฯ ทำให้เขาต่อต้านสหรัฐฯโดยปริยาย เมื่อเขาเข้าสู่วงการเมืองโดยสมัครเป็นสส.ตามระบบ ก็ถูกสหรัฐฯหนุนหลังให้บาติสต้าทำรัฐประหารยึดอำนาจสร้างรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากลงใต้ดินเพื่อทำการปฏิวัติ โดยร่วมกับเพื่อนนำกลุ่ม 26 กรกฎาคม ทำสงครามกองโจรที่เรียกว่า โฟโค (การโฆษณาทางการเมืองติดอาวุธ) ซึ่งหลังจากปฏิวัติคิวบาสำเร็จ เขายังถูกซีไอเอ.วางแผนลอบสังหารทุกรูปแบบมากกว่า 380 ครั้ง แต่รอดมาได้ทุกครั้ง

อลาตุลยาห์ โคไมนี เป็นนักบวชชิอะห์ที่มุ่งมั่นกับการปกป้องวัฒนธรรมเปอร์เซียเก่าแก่ให้พ้นจากพิษภัยของการพัฒนาแบบตะวันตกของชาห์ เรซ่า ปาเลห์วี ที่เรียกว่า”ปฏิวัติขาว” ซึ่งมุ่งสร้างสังคมแบบตะวันตกโดยรวมศูนย์อำนาจเด็ดขาด โดยฉีกรัฐธรรมนูญ และปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์และเสรีนิยม แถมยังลดบทบาทตามรัฐธรรมนูญของนักบวชชิอะห์ที่เคยเป็นที่ปรึกษาของชาห์ลงไป ทำให้เขาเขียนคำชี้แนะอนาคตของรัฐอิสลาม จนต้องหนีไปลี้ภัยในอิรัคนานหลายปี จนกระทั่งเมื่อความไม่พอใจต่อระบอบชาห์รุนแรงยิ่งขึ้น เขาก็กลายเป็นต้นแบบที่สร้างโรดแม็บสำหรับสังคมอิหร่านใหม่ ที่ทำการลุกฮือโค่นล้มชาห์ลงไปได้ และกลายเป็นผู้นำสูงสุดตามความเรียกร้องของมวลชน เพื่อทำการล้มล้างระบอบวัฒนธรรมนำเข้าจากตะวันตกเพื่อสถาปนาฟื้นฟูรัฐอิสลามขึ้นมาใหม่

ข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ลัทธิอัศวินม้าขาวนั้น ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงของสังคมในปัจจุบันและอนาคตอย่างรุนแรง ผู้นำที่มวลชนเรียกร้องต้องการไม่ว่าจะเป็นผู้นำแบบไหน(แบบบารมีสูง แบบจารีต หรือ แบบตามเหตุผล)ล้วนเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติท่ามกลางการต่อสู้ในบรรดาหมู่มวลชนนั่นเอง ไม่ต้องหาจากที่อื่น

จิตใจที่วีระอาจหาญอย่างถึงที่สุดของมวลชนอย่าง ผุสดี งามขำ นางพยาบาลสาววัย 45 ปีจากจังหวัดแพร่ ซึ่งยืนหยัดอยู่ที่หน้าเวทีราชประสงค์เผชิญหน้ากับฆาตกรรมหมู่ของอำนาจรัฐเผด็จการจนถึงวินาทีสุดท้ายอย่างไม่หวาดหวั่นต่อความตายในการต่อสู้หลังจากที่ยืนหยัดมานานถึง43 วัน พร้อมกับเสื้อยืดสีแดงและผ้ามัดหัวสีแดง ในมือถือธงแดงแน่วแน่ แม้หลังจากที่แกนนำได้มอบตัวทำให้การชุมนุมจบลง เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่มวลชนจำนวนมหาศาลยังมีจิตใจเยี่ยงนี้กันอย่างเต็มเปี่ยม ก็ไม่มีความจำเป็นต้องโหยหาผู้นำแม้แต่น้อย

มวลชนสร้างผู้นำ แต่ผู้นำที่ดีและกล้าแกร่งเท่านั้น จึงรู้และเข้าใจคุณค่าของมวลชน