ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
โภคิน พลกุล เปิดใจครั้งแรก
“ถ้าเราคิดเอาชนะคนอื่น ไม่มีวันได้ชัยชนะ และยิ่งแพ้ตัวเองไปทุกวัน"
“ถ้าเราคิดเอาชนะคนอื่น ไม่มีวันได้ชัยชนะ และยิ่งแพ้ตัวเองไปทุกวัน"
หลังจากเงียบหายไปนาน วันนี้
อดีตรองนายกฯ อดีตประธานรัฐสภา และอดีตรองประธานศาลปกครองสุงสุด
ตกผลึกทางความคิด เขามีมุมมองโลกและการเมืองที่เปลี่ยนไป !!!
หลังถูกเว้นวรรคทางการเมือง
“ดร.โภคิน พลกุล” อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา
และอดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด
เลือกที่จะใช้ชีวิตเงียบๆ ที่บ้านกรุงเทพและบ้านพักที่แปดริ้ว
กล่าวกันว่า ถ้า ดอกเตอร์จากฝรั่งเศส ผู้นี้ไม่หลงกลิ่นการเมือง วันนี้
เขาอาจได้นั่งเป็น ประธานศาลปกครองสูงสุด ก็เป็นได้
ล่าสุด ดร.โภคิน ปรากฏตัวบนเวทีสาธารณะในรอบหลายปี
เมื่อเดินทางมาร่วมฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ในวันที่ “อดัม คาเฮน” บรรยายเรื่อง
การขับเคลื่อนการส่งมอบประเทศไทยให้ลูกหลาน ที่สมาคมนักข่าว ฯ
ดร.โภคิน สนทนากับ นักข่าวประชาชาติธุรกิจ หลังจาก
เขาไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมาอย่างยาวนาน
เขาพูดเรื่อง ทิศทางอนาคตสังคมไทย รวมทั้งชีวิต ความคิด
และตัวตน ท่ามกลางกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปของนักกฎหมายมหาชน
@ ฟังข้อเสนอของ อดัม ฮาเคน แล้วเห็นทางออกจากวิกฤตความขัดแย้งบ้างไหม
ผมได้ฟังและได้อ่านหนังสือของเขา ถ้าจะเปรียบเทียบกับพวกเราเอง
เราก็คงจะมีทางออกจากวิกฤตในแบบของเรา รัฐบาลเองก็ตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ขึ้นมา
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอาจจะมองว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่น่าจะใช่ เขาก็เสนอของเขาอีกอย่าง
แต่การที่เรามีคนนอก (อดัม ฮาเคน) อย่าไปมองว่าเขาเป็นฝรั่งหรือเป็นใครมาจากไหน
เขาก็เป็นคนๆ หนึ่ง
ซึ่งอาจจะไม่รู้ปัญหาเรามากนัก แต่เขาก็พยายาม
เขามารับรู้รับทราบปัญหา ด้วยการไปคุยกับคนมากมาย รวมทั้งนายกรัฐมนตรีด้วย
เพื่อฟังว่าทุกคนมองปัญหาของตัวเองอย่างไร
เขาก็พยายามหาและสร้างโมเดลในการแก้ปัญหา
สร้างกระบวนการขั้นตอนในการแก้ปัญหา ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่ารับฟัง
และที่ผมประทับใจเขาในแง่ปรัชญาหรือมิติในการแก้ปัญหา ก็คือ
1. เราต้องใช้สันติวิธี ไม่ใช้กำลัง อันนี้ตรงกัน
2. การแก้ด้วยสันติวิธีต้องแก้ด้วยการพูดและการฟัง เราบอกว่าก็พูดก็ฟังกันอยู่ทุกวัน
แต่มันไม่ใช่แบบนั้น คือ ไม่ใช่พูดในสิ่งที่เราอยากจะพูด
แต่ต้องพยายามอธิบายให้ได้ว่า ที่เราคิดอย่างนี้มันมีเหตุมีผลเพราะอะไร อย่างไร
มีคำอธิบายว่า ทำไมเราถึงพูดอย่างนี้
ส่วนการฟัง ส่วนใหญ่เราก็อยากจะฟังในสิ่งที่เราอยากฟัง
อะไรฟังแล้วขัดใจก็ไม่อยากฟัง แต่ผมคิดว่า เราต้องฟังในสิ่งที่เราไม่อยากฟัง
เพราะในปัญหาหนึ่ง คนที่สัมผัสปัญหาและมุมมองต่อปัญหานั้น มีหลากหลายมาก
เขาอาจจะสะท้อนไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิดเลย ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็จะปฏิเสธ
บางคนมองว่าคนนี้ใช้ไม่ได้
บางคนมองว่า พวกคุณไม่มีความรู้หรือเปล่า
พวกคุณชาวบ้านไปหรือเปล่า
หรือชาวบ้านมองว่า
พวกคุณเนี่ยอยู่ข้างบน เอะอะก็เอาอะไรก็มายัดเยียดให้ฉันตลอดเวลา คือ
คิดแทนกันหมด ทำไมไม่รับฟังเขาก่อน
ผมคิดว่า เป็นสิ่งไม่เสียหายสำหรับบ้านเรา
ที่จะเรียนรู้ประสบการณ์จากเพื่อนบ้าน สิ่งไหนเห็นว่าดีเป็นประโยชน์ก็นำมาปรับใช้
แม้ขณะนี้จะมีกรรมการของรัฐบาลก็ดี หรือเป็นคณะอะไรจากไหนก็แล้วแต่
แต่วันนี้เมื่อปัญหาเป็นอย่างนี้ ยิ่งมีหลากหลายเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดการพูดจามากขึ้น
คนเรา ถ้าพูดจากันมากขึ้น ความตึงเครียดที่จะมีต่อกันก็น้อยลง
ยิ่งถ้าได้พูดจากับคู่กรณี ได้มาอยู่ในเวทีเดียวกัน หลายคนบอกว่า
คู่ขัดแย้งบางคนเป็นเพื่อนกันมาทั้งนั้น แต่วันนี้กลับโกรธกันเอาเป็นเอาตาย ไม่เผาผีกัน
ผมคิดว่า ถ้ามาดูเหตุการณ์แตกแยกทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง
ผมยังนึกไม่ออกว่ามันเกิดจากอะไร ศาสนา เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ก็ไม่มี
หรือการกดขี่ข่มเหงกันอย่างในอดีตจนจำฝังใจ
อย่างปัญหาภาคใต้เคยมีปัญหานี้ คนที่นับถือศาสนาอิสลาม
เขารู้สึกว่ารัฐไทยรังแกเขามาตลอด ตรงนี้เราก็ต้องยอมรับว่ามันมีอย่างนั้นจริงๆ
แต่ก็ต้องมาดูวิธีการแก้ปัญหาของเรา
ทำให้เขารู้สึกว่า เขาก็คือเพื่อนร่วมแผ่นดินอย่างเรา อยู่ร่วมกันได้ ก็ต้องพยายามทำตรงนั้น
แต่วันนี้ปัญหาของเราไม่มี
แต่เรากลับสร้างให้หนักกว่าปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เข้าไปอีก
ซึ่งจริงๆ ไม่น่าจะมีอะไรเลย
ฉะนั้น ตรงนี้ จะว่ายากก็ยาก เพราะเหมือนมันไม่มีปัญหา แล้วมันมาได้ยังไง
จะว่าง่ายก็ง่าย ถ้าคลิ๊ก พูดจากัน ฟังซึ่งกันและกัน
ผมเสนอว่า ความจริงเราก็เป็นคนพุทธ อยากให้ลดอัตตาลง คือ
อย่าคิดว่าเราถูก แล้วคนอื่นผิดหมด เหมือนที่ อดัมพูดว่า
ทุกคนมีส่วนถูกและผิดพอๆ กัน คือ เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยกัน
แต่วันนี้บางคนอาจจะคิดว่า ฉันไม่ใช่ปัญหา เธอนั่นแหละปัญหา
ส่วนอีกฝ่ายก็มองกลับกัน มันก็ไม่จบ
ทั้งหมดก็เพราะ พยายามจะป้องกันตัวเองมากกว่าจะเปิดเผยตัวเองออกไป
ทำไมเราไม่เปิดเผยตัวเองออกไป
แล้วดูคนอื่นเขาเปิดเผยตัวเองด้วย แล้วมาหาทางออกร่วมกัน
ผมคิดว่าทั้งหมดไม่ใช่เรื่องกระบวนการวิธี
แต่เป็นเรื่องของท่าที อันนี้สำคัญมาก ถึงมีกระบวนการที่เลอเลิศ
แต่ถ้าท่าทีไม่เป็นมิตร ไม่มองอย่างอภัยและเมตตากัน อย่างอื่นทำยากหมด
@ มองปรากฎการณ์ 2 มาตรฐานในสังคมไทย อย่างไร
เมื่อก่อน เราพูดกันเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม เช่น
ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจน เป็นหลัก
แต่วันนี้เราพูดกันถึงเรื่องความไม่เป็นธรรมในทางบรรทัดฐานทางกฎหมาย
ซึ่งเราต้องถามตัวเองก่อนว่า มันเป็นอย่างนั้นมั๊ย มันใช่อย่างนั้นมั๊ย
บางอัน ผมคิดว่าไม่ต้องไปหาคำตอบ มันใช่เลย ดังนั้น
ถ้าเราแก้ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมทางกฎหมายไม่ได้
มันก็จะนำไปสู่การแตกร้าวของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะแต่ก่อน คนที่เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมมักจะเป็นชนชั้นล่าง
แต่วันนี้คนทุกระดับอาจจะโดนได้หมด เป็นเพราะว่า ความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ซึ่งเราสร้างมันขึ้นมา ผมเชื่อว่า
ถ้าเราเห็นภาพว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมทางกฎหมาย มันอาจจะเป็น 100 % ไม่ได้
บางคนถามผมว่า แล้วความเป็นธรรมทางกฎหมาย
จะวัดจากอะไร ผมบอกว่า จริงๆ แล้วมันง่ายมาก ถ้อยคำก็มีในรัฐธรรมนูญ
หรือ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง ก็คือ
คนที่เกี่ยวพันกับกฎหมายโดยเฉพาะศาล ก็ดี
หรือหน่วยงานสำคัญๆ ด้านกฎหมาย ต้องทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ
เราต้องถามตัวเอง ผมก็เคยเป็นผู้พิพากษามาก่อน
คือ ทุกคนมีอคติ โดยเราไม่รู้ตัว จะรัก ชอบ เกลียด หรืออะไรก็แล้วแต่
แต่เมื่อเรามีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ต้องตัดสินใจ ที่เราต้องเสนอทางออก
ทำอย่างไรเราถึงจะละ สิ่งที่เป็นอคติออกไปให้มากที่สุด ถ้าตัวเราสามารถทำได้อย่างนั้น
คนที่ได้รับผลจากคำสั่งหรือคำวินิจฉัยจากเรา เขาก็จะมีความรู้สึกว่า น่าจะแฟร์
ถามว่าทำไมแฟร์ ก็เพราะดูแล้วปราศจากอคติ ซึ่งผมว่าปัญหาใหญ่อยู่ตรงนี้
ฉะนั้น ถามว่าความยุติธรรม คืออะไร ก็คือ เอาอคติออกจากตัวเองให้มากที่สุด
มันก็จะมีการมองปัญหาที่รอบด้าน เที่ยงธรรมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าเราไปบอกว่า
ความยุติธรรมคือทำตามกฎหมาย คือบางทีฟังแล้วงง ผมไม่ได้มีอำนาจไปตัดสินใครทั้งสิ้น
แต่เวลาเราคิดอะไรกับใคร พอเราคิดว่า เช่น เห็นนาย ก. เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
เราต้องมาถามตัวเองว่า ที่เราคิดว่าเขาเป็นอย่างนั้น เราเอาอคติอะไรใส่ไปหรือเปล่า
หรือเราหมั่นไส้เขาหรือเปล่า ไม่ชอบเขาเรื่องนี้หรือเปล่า แล้วอย่าโกหกตัวเอง(นะ)
ถ้าเราไม่โกหกตัวเอง เรายังคิดตรงนี้อีกนิดหนึ่ง
ถ้าเราเอาตรงนี้ออก เราจะมองเขายังไง เปลี่ยนไปจากเดิมไหม
ซึ่งที่สุดแล้ว อย่างที่ผมบอก คือ อยู่ที่ท่าที ที่เราจะมีต่อบุคคลอื่น
ถ้าเราเอาอคติทั้งหลายออกจากตัวเราให้มากที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร
ถ้าทุกคนช่วยกันตรงนี้ หลักพุทธธรรมดาเลย(ครับ) ผมว่าน่าจะดีขึ้น
แต่วันนี้ เหมือนกับทุกคนเอาอคติเป็นมาตรฐาน
เอาความชอบ ความกลัว ความเกลียด เป็นมาตรฐาน ไปตัดสินคนอื่น
ตรงนี้มีสิ่งเหล่านี้อยู่ค่อนข้างมาก ถ้าเราละวาง ได้มากเท่าไหร่
เราก็จะเห็นว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้
@ จะแก้ปัญหาเรื่อง 2 มาตรฐานในสังคมไทยได้อย่างไร
ก็ตอบยาก(นะ) มันอยู่ที่วิธีมองปัญหาของเรา
แต่ที่ผ่านมาเราก็มองว่าปัญหาประเทศไทย ต้องแก้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ก็เห็นเขียนมากี่รอบแล้ว มันก็ไม่ได้แก้ปัญหา
ผมถึงย้ำว่า ปัญหาที่แท้จริงคือ
ท่าทีของเรา แก้ที่ตัวเรา คิดซะว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
ทำอย่างไรที่จะเอาเราออกจากปัญหา อย่าไปเอาคนคนอื่นเขาออกก่อน
เมื่อเราเอาตัวเองออกจากปัญหาก่อน คนอื่นเขาก็มองเรา และอาจจะเอาตัวเขาออกบ้าง
ถามว่า เราต้องสู้กับใคร ถ้าเราบอกว่าเราต้องสู้กับตัวเอง
ในแง่ไหน ในแง่ความไม่ดีสารพัด บางคนติดบุหรี่ ติดเหล้า
บางคนเต็มไปด้วยอคติ ความเกลียด ความแค้น ความรัก ความหลงทั้งหลายแหล่
ซึ่งเราต้องเอาตัวเองออกจากตรงนั้นให้มากที่สุด แ
ต่ถ้าเราบอกว่า เราจะเป็นของเราอย่างนี้ ใครจะทำไม มันไม่จบ(ครับ)
เคยอ่านหนังสือของสุภาพสตรีท่านหนึ่ง
เมื่อก่อนเธอบอกว่า ใช้ชีวิตปาร์ตี้สุดเหวี่ยงมาก แต่เมื่อถึงอายุหนึ่ง
เขาก็บอกตัวเองว่ามันไม่ถูกแล้ว ต้องเลิกสูบบุหรี่ เลิกกินเหล้า ซึ่งที่สุด
เขาทำได้ภายในวันเดียว เขาบอกว่าความเย้ายวนมันยังมีมาก
แต่ความตั้งใจที่จะไม่ทำมันแรงกว่าสิ่งเย้ายวน ผมว่านี่เป็นคำตอบที่มันง่าย สามัญมาก
แต่มันแฝงด้วยความลึกซึ้ง
สรุปก็คือ เอาชนะตัวเอง อย่าเอาชนะคนอื่น
ถ้าเราคิดเอาชนะคนอื่น ไม่มีวันได้ชัยชนะ และยิ่งแพ้ตัวเองไปทุกวัน
เราก็ยิ่งเป็นตัวปัญหาที่หนักขึ้นไปทุกวัน เดี๋ยวนี้ผมคิดอย่างนี้นะ
และอยากให้ทุกคนช่วยกัน หรือแม้แต่คนอื่นเขาไม่คิดเหมือนเรา ด่าว่าเรา
ก็พยายามหลีกเลี่ยง อย่าไปโกรธเขา พยายามหาคำตอบว่าทำไมเขายังคิดแบบนั้นอยู่
วันนี้สังคมไทยชอบบอกว่า ฉันดี เธอไม่ดี คนที่ถูกว่า ก็บอกว่า เธอนั่นแหละยิ่งกว่าฉัน
สุดท้ายก็ไม่ได้แก้ปัญหา
@ ชีวิตช่วงเว้นวรรคการเมือง ดูเหมือน จะปลงกับชะตากรรมของตนเอง
จริงๆ ส่วนใหญ่ผมก็ตระเวนสอนหนังสือ เท่าที่จะสอนได้ (ครับ)
บางทีก็เป็นประธานสอบวิทยานิพนธ์บ้าง เกี่ยวกับด้านกฎหมาย หรือไปบรรยายบ้าง
แต่ไม่อยากรับบรรยายอะไรที่เป็นประจำ ที่สำคัญคือ
ได้ทำหลายอย่างในชีวิตที่อยากทำแล้วไม่ได้ทำ
เพราะที่ผ่านมางานรัฐมนตรี หรืองานอะไรต่างๆ มันแทบจะ 24 ชั่วโมง
แต่วันนี้ ผมได้ไปเที่ยวสวนสัตว์ ใช้เวลาว่างอ่านหนังสือ
โดยเฉพาะหนังสือที่ทำยังไง เราจะช่วยกันปกป้องโลกจากอันตรายทั้งหลาย
ได้หันมาสนใจสิ่งแวดล้อม หรือจะทำยังไงที่จะแก้ปัญหาเรื่องพลังงาน
แล้วก็เลี้ยงสัตว์(ครับ)
ผมได้เลี้ยงนก ได้เลี้ยงสุนัข เลี้ยงจิปาถะไปหมด พยายามศึกษาเขา ดูเขา
แต่ที่สนุกมากคือ พยายามอ่านหนังสือทุกประเภท แต่ที่ชอบมากที่สุด คือ
หนังสือสารคดีเกี่ยวกับโลก ธรรมชาติ
หรือมนุษยชาติให้อยู่กันอย่างสันติสุขได้อย่างไร เดี๋ยวนี้ไม่รู้สิ ชอบอะไรแบบนี้
แล้วผมก็ดูแลเรื่องสุขภาพ คือ ทำยังไงเมื่อเราอายุมากขึ้น
1. ก็ทานน้อยลง
2. เลือกทานที่เหมาะกับสุขภาพของเรา เช่น
เลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม ถ้าอยากให้มีรสชาติหน่อย ขอทานเปรี้ยว ทานเผ็ด ดีกว่า
ผมเคยหนักถึง 81 กิโลกรัม วันนี้ลดลงเหลือ 70 กิโล ใช้เวลา 2-3 ปี คือ
ผมก็ทานไปตามปกติ(นะ) แต่เนื้อเนี่ย นานๆ ครั้ง
แต่ที่ทานมากที่สุก็คือ ผัก และ ผลไม้
เพราะร่างกายเราถูกออกแบบมาให้ทานของธรรมชาติ คือ
สิ่งที่ผ่านการปรุงแต่งมาก ก็หลีกเลี่ยง
คือ คนเราจะติด ติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดน้ำอัดลม
ทำยังไงเราถึงจะไม่ติดในสิ่งที่เป็นพิษต่อร่างกาย แล้วติดสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น
ติดน้ำเปล่า ติดผัก ติดผลไม้ที่ไม่หลานจัดเกินไป หรือ
ทานข้าวซ้อมมือให้มากกว่าข้าวขาว
ซึ่งผลที่ออกมาทำให้สุขภาพผมแข็งแรงขึ้นมากเลย
เชื่อมั๊ยครับ ผมไม่เป็นหวัดเลยแม้แต่วันเดียว เข้าปีนี้ปีที่ 3 แล้ว
เพราะถ้าเราดูแลสุขภาพ และไม่เป็นภาระคนอื่น
@ มีหลายคนถามว่า อาจารย์จะกลับสู่ถนนการเมืองในนามพรรคเพื่อไทยหรือไม่
คงยังตอบไม่ได้(ครับ) แต่วันนี้ที่ตั้งใจไว้ก็คือ
ผมอยากทำอะไรก็ได้ ที่ทำให้สังคมเกิดความเป็นธรรมอย่างที่ผมพูด
เกิดเมตตาธรรมต่อกัน เกิดการพูดคุยกันอย่างเหมือนพี่เหมือนน้อง
เถียงกันได้ วิพากษ์วิจารณ์กันได้ แต่จบ แล้วช่วยกันเดินหน้าต่อไป
ส่วนผมอยู่ตรงไหนก็ได้ หรืออาจจะร่วมงานกับภาคประชาชนก็เป็นได้
คือ ผมฝันอยากเห็นสิ่งนี้ เพราะผมเชื่อว่า ถ้าเราสร้างพื้นฐานได้อย่างนี้
การเมืองที่เราด่าว่ากัน มันก็อาจจะดีขึ้น
โดยการสร้างทัศนคติเอาความไม่ดีออกจากตัวเราให้ได้มากที่สุด
ถ้าคิดกันได้อย่างนี้หมด ก็จะมองคนอื่นแบบเมตตา
ถามว่า คนนี้ทำไมค้ายาเสพติด เราก็ต้องทำความเข้าใจว่า
มีบริบทอะไรที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น
แล้วเขาจะออกจากบริบทนี้อย่างไร มากกว่าจะไปนั่งประณาม นั่งด่าว่า
หวังจะลงโทษเขาให้เต็มกำลัง แต่โอเคว่า
กระบวนการทางกฎหมายที่จะต้องมีการจัดการ ก็ต้องมี ฉะนั้น
ทำยังไงที่จะสร้างความเข้าใจว่า
ทำไม คนๆ หนึ่งเป็นอย่างนั้น ทำไมอีกคนไม่เป็น ทำไมอีกคนติดบุหรี่
แต่อีกคนไม่ติด หรือทำยังไงให้เขาไม่ติด นั่นคือการมีท่าที มีทัศนะที่ดีต่อกัน
อย่างสมัยผมเป็นรัฐมนตรี หลายคนบอกว่า ปัญหาภาคใต้ 3 เดือนจบ 6 เดือนจบ
แต่ผมบอกว่า เจเนอเรชั่นเราไม่รู้จะจบหรือเปล่า ถามว่าเพราะอะไร
เพราะความรู้สึกตัวตนเขาแปลกแยกกับเรา
แปลกแยกเรื่องอะไรบ้าง เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา
ความรู้สึกที่ไม่มีความยุติธรรมให้เขา คือ
ถ้าเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา ปฏิบัติกับทุกคนเหมือนพี่เหมือนน้อง ถ้าอย่างนี้ก็ง่าย(ครับ)
@ ฟังดูราวกับว่าอาจารย์มีความสุขและเข้าใจชีวิตมากขึ้น
ถือว่า ได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากจะเป็น
ได้อ่านหนังสือ ดูสารคดี สอนหนังสือเท่าที่สอนได้
มันมีเวลาดูและทบทวนตัวเองมากขึ้น
แต่ก่อนชีวิตเหมือนหมุนไปตามกงจักร เป็นรัฐมนตรี มีนัดตั้งแต่เช้าจรดเย็น
พอว่างก็มีคนมาแทรก จะไม่ทำก็ไม่ได้ จริงๆ ไม่ทำก็ได้นะ
แต่เหมือนไม่กล้าทะลุออกไป
วันนี้ก็มานั่งทบทวน อย่างงานแต่งไม่ต้องไปทุกงานก็ได้ งานศพไม่ต้องไปทุกงานก็ได้
ถ้าไปหมดก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว วันนี้ก็มาเลือกว่า อันไหนเหมาะสมเราก็ไป
ให้คนเข้าใจว่าเราอยากมีชีวิต มีวิถีตัวตัว ที่เราทบทวนตัวเองอย่างนี้
บางคนบอกว่าผมหายไปเลย ผมบอกว่าไม่ใช่หรอก ก็เหมือนเดิม
ถึงมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่ง
ฉะนั้น ก็พยายามทำให้เขาเข้าใจว่า วันนี้เราอยากขออย่างนี้บ้าง
หรือแต่ก่อนเวลาไปงาน มีจัดฉากเยอะ พอเราไม่มีตำแหน่ง พอไปเยอะ อ๋อ ...
แต่ก่อนตรงนี้เขาจัดฉากให้เรา (หัวเราะ)
ผมคิดว่า เป็นสิ่งที่ดีที่ได้ทบทวนชีวิต อย่างน้อยก็ 2 มิติ คือ ไม่ใช่ดำอย่างเดียว
แต่มีขาวด้วย หรือในที่ขาวก็มีดำ ถ้าเราเป็นอย่างนี้ได้ มันก็คือธรรมชาติ