WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, August 16, 2010

ไทยโพสต์แท็บลอยด์ สัมภาษณ์'ขวัญระวี วังอุดม': ค้นความจริง หาย-ตาย-เจ็บ

ที่มา ประชาไท


ปัญหาใหญ่ตอนนี้ไม่ว่ารัฐจะตั้งกรรมการมากี่ชุด เสื้อแดงเขาก็มีกำแพงที่ไม่ไว้ใจ
ทางเดียวที่จะสลายทางความรู้สึกนี้คือต้องเปิดพื้นที่ให้เขา ต้องจัดการเรื่องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นก่อน
ทุกคนพร้อมที่จะปรองดองพร้อมที่จะให้อภัย พร้อมที่จะกลับมาหันหน้าคุยกัน
ความไว้เนื้อเชื่อใจอาจจะไม่สามารถกลับมาได้ทันที แต่ถ้ามันมีพื้นที่ให้เขา
นำความจริง พูดเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ใครผิดก็ว่ากันไป...
ตอนนี้เวลาคนที่เสียเขาสูญเสียเขาออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมก็จะถูกสังคมบอกว่าออกมาทำไม
ไม่ต้องการความสงบเหรอ ไม่ต้องการปรองดองเหรอ ทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้เสียหายเป็นผู้เดือดร้อน

ตอนนี้รัฐสร้างบรรยากาศความหวาดกลัว ตัวคนที่ถูกหมายจับเองบางทีไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากมามอบตัวนะ
แต่เพราะเขาก็ไม่มีหลักประกันที่จะเชื่อใจอะไรได้เลย ว่าเขาจะประกันได้ไหม
เขาต้องคำนึงถึงครอบครัวเขาว่าแล้วใครจะดูแลครอบครัวเขาต่อไป บางคนที่ป่วยหนัก ถูกออกหมายจับอยู่
เขาอยากออกมามอบตัว แต่เขาไม่รู้ว่าถ้าออกมาเขาจะได้ประกันหรือเปล่า
เพราะถ้าไม่ได้ประกันเขาจะได้รับการรักษาทางการแพทย์ที่เพียงพอหรือเปล่า
เกือบหนึ่งเดือนแล้วที่ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกรณีสลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 (ศปช.) ทำหน้าที่รวบรวมหลักฐาน ข้อมูลข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม โดยมีนักวิชาการในนามเครือข่ายสันติประชาธรรมเป็นคณะที่ปรึกษา นอกจากจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือกับผู้สูญเสียแล้ว ภารกิจสำคัญอีกอย่างก็คือการค้นหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์การสลายการชุมนุม โดยจะทำงานคู่ขนานกับคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และหน่วยงานอื่นๆ
หลังรัฐบาลส่งกำลังทหารเข้ากระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่ม นปช. จนมีผู้เสียชีวิตเกือบร้อย บาดเจ็บอีกนับพัน แต่นักสิทธิมนุษยชนและผู้ปฏิบัติงานใน ศปช. อย่าง ขวัญระวี วังอุดม กำลังชี้ให้เห็นว่ายังมีผู้สูญหาย ถูกจับกุมดำเนินคดี และถูกคุกคาม โดยไม่มีพื้นที่ให้เรียกร้องความยุติธรรมแต่อย่างใด

ปรองดองในความหวาดกลัว
"พอสลายการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. เราก็มาคุยกัน เราเห็นว่ามันไม่มีพื้นที่ให้กับผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง เพราะว่าถ้าคนที่มีแนวคิดมีอุดมการณ์อีกแบบหนึ่ง พูดง่ายๆ ว่าเป็นเสื้อสีอื่น เขาก็จะไปหารัฐได้สะดวกใจ มีหน่วยงานของรัฐที่จะไปเยียวยาให้ หรือว่าอย่างองค์กรสิทธิฯ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับเรื่องร้องเรียน เสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบบางคนเขาก็ไม่ไว้วางใจ คือเราก็เห็นว่าถ้าเราต้องการทำความจริงให้ปรากฏ เสียงของพวกเขาควรจะมีคนได้ยินด้วย เราก็เลยพยายามที่จะเปิดพื้นที่ตรงนี้
“เริ่มต้นก็คือคุยกับนักวิชาการสันติประชาธรรม ก็จะมีอาจารย์จากจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล ซึ่งทุกคนก็สนใจ เพราะตอนนี้มันมีปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจ มันไม่ใช่เฉพาะประชาชนกับรัฐ แต่มันมีความไม่ไว้วางใจในภาคประชาชนด้วยกันเอง เพราะฉะนั้นตอนแรกที่เราประชาชนตั้งศูนย์ฯ นี้ขึ้นมามันติดปัญหาเรื่องความร่วมมือกัน แม้แต่การที่จะใช้ทรัพยากรบุคคล บางทีพอเขามีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่างกันมากจนบางทีเขาก็ไม่ให้ความร่วมมือ ฉะนั้นกว่าศูนย์ฯ จะเป็นรูปเป็นร่างมันใช้เวลามาก เราเพิ่งได้แถลงข่าวเปิดตัวเมื่อวันที่ 19 เดือนที่แล้วนี่เอง แต่ว่าก่อนหน้านั้นด้วยความที่ได้คุยกันก่อนกับนักวิชาการก็มีการจัดเสวนา ผลิตงานวิชาการออกมาชุดหนึ่งที่จัดสัมนาที่ธรรมศาสตร์ เมื่อ 19-20 มิ.ย.ที่ผ่านมา"
ความไม่ไว้ใจกันเองในภาคประชาชนเป็นอุปสรรคในการหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์การชุมนุม
"จริงๆ มันมาจากตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเขาไม่ไว้วางใจที่จะเข้าไปขอความช่วยเหลือจากภาคประชาชนกลุ่มนี้ ซึ่งจริงๆ เวลาองค์กรสิทธิฯ ทำงานมันอาจจะต้องมีการมาทำงานร่วมกัน หรือว่าจะไปเรียกร้องแนวทางในรูปแบบไหน อย่างไร แต่ว่าทางผู้เสียหายเขาก็ปฏิเสธทางกลุ่มนั้นด้วย เพราะฉะนั้นเราก็เลยต้องมาคุยกันใหม่แล้วว่าในทรัพยากรจำกัดเท่าที่เรามีมันจะทำได้อย่างไร"
กรณีคนหายมูลนิธิกระจกเงามีข้อมูลอยู่
"กระจกเงาเขาทำเรื่องคนหายมาอยู่แล้ว ด้วยตัวสถานการณ์คนก็เลยติดต่อไปที่กระจกเงา ศอฉ.ก็เป็นคนให้เบอร์กระจกเงาไปกับประชาชนด้วยว่าถ้ามีคนหายก็ให้ลองไปเช็กที่กระจกเงา แต่ว่าตอนแรกกระจกเงาเขาก็อาจจะไม่ได้เตรียมรับมือกับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่เขาก็มีจำกัด เรามีอาสาสมัครอยู่จำนวนหนึ่ง เราก็เลยส่งอาสาสมัครไปช่วยทางกระจกเงาด้วย ศูนย์ฯ เราดูทั้งกรณีหาย ตาย เจ็บ ถูกคุกคาม และก็ถูกจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างผู้เสียหายเขาเข้ามาขอความช่วยเหลือเรื่องคดี เราจะมีทีมทนายอาสาของเราเอง ส่วนถ้าเป็นเรื่องเยียวยาเราก็อาจจะลองติดต่อก่อนว่าเขาต้องการในลักษณะไหนบ้าง อย่างมีเคสหนึ่งของคุณสินีนาถ ชมพูษาเพศ ที่อุบลฯ ถูกจับ ยายก็เลยต้องเลี้ยงหลานให้ คุณยายอายุก็ 82 ปีแล้ว มีปัญหาสุขภาพด้วย กรณีนี้เราก็ไปเยี่ยมที่อุบลฯ มาด้วย ก็พยายามประสานความร่วมมือที่จะช่วยเหลืออย่างน้อยให้สร้างบ้าน เพราะว่าสภาพบ้านจะพังอยู่แล้ว ส่วนลูกสาวที่ถูกจับตอนนี้ทนายเราจะรับฟ้องให้ ต้องไปศาลวันที่ 16 ส.ค.นี้ เป็นคดีเผาศาลากลางจังหวัด ที่อีสาน 5 จังหวัด ส่วนใหญ่จะเป็นคดีเผาศาลากลาง ยกเว้นมหาสารคาม"
ญาติติดใจเรื่องผลการชันสูตร
"เท่าที่เราคุยกับญาติ 10 เม.ย. คือเขาก็ชันสูตรหมดแล้ว แต่ว่าเขาอาจจะติดใจกับผลชันสูตรที่ทำไมบางทีเขาก็เห็นชัดๆ ว่าถูกยิง แต่ก็ไปลงว่าถูกของแข็ง คือจะไม่ระบุรายละเอียด ญาติเขาก็รู้ว่าทำไมไม่ระบุว่าเป็นกระสุน บางคนเขาก็ยังไม่เผาศพนะ ยังเก็บไว้อยู่เพื่อจะต่อสู้ทางคดี"
"จุดประสงค์ของศูนย์ฯ อันแรกเลยก็คือทำความจริงให้ปรากฏ โดยการ fact finding เราก็จะเปิดรับเรื่องร้องเรียนให้เสื้อแดงเขาได้มีพื้นที่ ผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่คือจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเสื้อแดงก็ได้ คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค. เราก็เปิดพื้นที่ให้เขาทำความจริงให้ปรากฏ และจะมีการนำข้อมูลที่เราได้มาผลิตเป็นองค์ความรู้โดยนักวิชาการของศูนย์ฯ เพื่อที่จะตอบโต้กับวาทกรรมต่างๆ เช่น กระชับวงล้อม หรือว่าก่อการร้าย ในที่สุดแล้วเราก็จะนำผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบ โดยที่เราจะทำเป็นรายงานที่จะยื่นเป็นรายงานเงาให้กับทางสหประชาชาติ"
เป็นชุดคู่ขนานกับคณะกรรม ดร.คณิต
"เป็นคู่ขนานตรวจทานกันมากกว่า เพราะว่าคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา คนที่เขาเสียหายก็ไม่ไว้ใจ คือที่เราเห็นองค์กรที่เปิดให้ความช่วยเหลือส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ ถึงได้เป็นที่มาว่าทำไมเราจึงต้องมีศูนย์ฯ นี้ องค์ความรู้ที่เราจะทำขึ้นจะเป็นงานวิชาการมากกว่า นอกจากนั้นมันจะมีบางส่วน แม้ไม่ใช่งานของศูนย์โดยตรง แต่ด้วยความที่เราได้รับเรื่องร้องเรียนมาจากผู้เสียหายก็พยายามที่จะคุยกับพวกเขาว่าอยากให้เขาลองตั้งเป็นกลุ่มผู้เสียหายเหมือนอย่างญาติวีรชนพฤษภา ซึ่งถ้าเขามีการรวมตัวกันเอง ข้อเรียกร้องหรือแม้แต่เขาจะไปติดตามเรื่องคดี กดดันให้เจ้าหน้าที่ทำคดีอย่างมีประสิทธิภาพ มันก็จะมีน้ำหนักมากกว่า ก็พยายามผลักดันตรงนี้อยู่เหมือนกัน ทั้งญาติ 10 เม.ย. ญาติ 14-19 พ.ค. ได้มารวมตัวกัน"
เริ่มมองเห็นศักยภาพของผู้เสียหาย
"ตอนนี้แทนที่เขาจะเป็นเหยื่อ เขาลุกขึ้นมาไม่ใช่แค่ต่อสู้เพื่อตัวเขาคนเดียว เขาก็เรียกร้องให้คนอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างแม่ของน้องเกด แกก็พยายามที่จะออกมาต่อสู้ในภาพใหญ่ ซึ่งน้องเกดเขาก็ไม่ใช่เสื้อแดง แต่แม่เขารับไม่ได้กับการบิดเบือนข้อเท็จจริงในที่เกิดเหตุ ซึ่งถ้าใครได้คุยกับคุณแม่น้องเกด น้องเกดกับครอบครัวนี่เขาชื่นชมคุณหมอพรทิพย์มาก เขาถึงอยากมาทำงานเป็นพยาบาลอาสา แต่พอผลชันสูตรออกมา คุณแม่เขาก็ตั้งคำถามว่าทำไมไม่บอกว่ามีกระสุนที่ท้อง นอกจากนี้คลิปของ ศอฉ.ที่ออกมา ญาติบางคนเขาก็ได้ดูแล้ว และรู้สึกว่ามันไม่จริงเลย อย่างน้องชายของคุณวสันต์ สายรัศมี ที่ถูกยิงที่ศีรษะ ในคลิป ศอฉ.บอกว่าเป็นการยิงแนวราบ ซึ่งจริงๆ ยิงมาจากข้างบน สมองหายไปซีกหนึ่งเลย"
ในจำนวนผู้เสียหายมีหลายคนที่ไม่ต้องการรอการทำงานของคณะกรรมการที่รัฐตั้งขึ้น เช่น กรณีของพ่อน้องเฌอ (สมาพันธ์ ศรีเทพ) ที่เห็นว่าการหาความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีตไม่เคยปรากฏด้วยฝีมือคณะกรรมการที่ตั้งโดยรัฐ
"พ่อน้องเฌอถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะว่าแกก็พยายามที่จะไม่ให้ญาติผู้เสียหายใช้อารมณ์ ถึงแม้ว่าตัวแกเองก็สูญเสียลูกชาย ก็พยายามที่จะให้หันหน้ามาคุยกัน แต่ว่าไม่ใช่หันหน้าคุยโดยที่ไม่ดูต้นตอของที่มา และก็ไม่ใช่เหมือนกับว่าให้ลืมๆ ไปซะ แต่ต้องให้รับผิดชอบ เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม"
"ตอนแรกที่เราลงไปมันมีปัญหาเรื่องทนายไม่พอ เพราะว่าเคสเยอะมาก แค่อุบลฯ ที่เดียวก็ประมาณ 400 กว่าเคสแล้ว มันมีเผามีละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ละเมิดตอนเคอร์ฟิวที่ออกมายามวิกาล มีเผา NBT ปลุกปั่นยั่วยุ ทนายเราที่ลงไปตอนแรกเข้าไปที่เรือนจำด้วย ได้ไปคุยปรากฏว่าชาวบ้านบางคนก็ไม่รู้สถานะทางคดีของตัวเอง คือคิดว่าถูกฝากขังไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ แล้วอีก 2 วันกำลังจะถูกสั่งฟ้อง เราก็คุยกับทนายในพื้นที่เหมือนกันจะได้ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน ก็ประสานความร่วมมือกัน เดิมชาวบ้านเขาใช้ทนายของพรรคเพื่อไทย หรือถ้าบางคนที่เขามีฐานะเขาก็จ้างทนายของเขาเอง แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านยากจน ก็อย่างที่เราลงไปทนายของเราก็ลองยื่นประกันดู เป็นเคสแรกก็สำเร็จ ตอนแรกมี 7 รายที่เข้ามาหาเรา เราก็ลองยื่นประกันดู ได้ประกัน 5 ราย คือตัวผู้เสียหายเข้าใจว่าเขามีแค่คดีเดียว เราก็ช่วยเขาได้คดีหนึ่งให้ประกัน แต่ว่าพอมาดูแล้วกลายเป็นว่าติดอยู่ 2 คดี วันนั้นก็เลยประกันได้ 5 คน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้นในการที่ช่วยชาวบ้าน
ในอีสานเวลานี้มีจับเพิ่มทุกวัน บางทีประกาศหมายจับไปเขายังไม่มามอบตัว การออกหมายจับมันไม่ชัดเจนเลย บางทีคุณไปเอารูปสมัยที่เขาอาจจะแค่เดินผ่านที่ชุมนุม หรือว่าเขาร่วมชุมนุม แต่ว่าเขาไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์เผา ถ้าเข้าไปในเว็บไซต์ของสถานีตำรวจอุบลฯ เขาจะเอารูปภาพคนที่ถูกออกหมายเข้าไปโพสต์ ซึ่งภาพแต่ละอันก็เลือนลางมาก บางคนก็ไม่รู้ว่าเป็นตัวเขา เขาไม่ได้ตั้งใจจะหนี แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นตัวเขา ที่จริงรัฐควรจะต้องประกาศรายชื่อเลยว่าใครถูกออกหมายบ้าง ใครที่ถูกจับกุมตัวแล้วบ้าง เพราะเราไม่สามารถเข้าไปในเรือนจำได้ เราไม่รู้ ตอนนี้เราก็ยังไม่สามารถมีรายชื่อครบถ้วนทั้งหมด ขอไปทาง ศอฉ.ก็ไม่ได้ เราไม่รู้ว่ารัฐเขาทำตรงนี้เป็นระบบกันแค่ไหน และตอนหลังก็ไปโยนให้ดีเอสไอไปดูแลในเรื่องคดีเผาและก่อการร้าย"
โดยหลักสากลแล้วต้องประกาศรายชื่อผู้ถูกจับทั้งหมด
"มันจะได้เชื่อมโยงกับเรื่องคนหายด้วย ถ้าไม่ประกาศชื่อเราก็ไม่รู้ว่าเขาหายหรือเปล่า หรือเขาถูกจับไปแล้ว คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือญาติ เพราะเขาไม่รู้ว่าลูกเขาตายหรือยัง หรือหายไปไหน แต่กรณีคนหายตัวเลขตอนนี้จะนิ่ง เพราะเคสคนหายจะเป็นช่วงเดือนสองเดือนแรก ช่วงนี้จะมาหนักในเรื่องผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกคุกคาม เพราะตอนนี้รัฐสร้างบรรยากาศความหวาดกลัว ตัวคนที่ถูกหมายเองบางทีไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากมามอบตัวนะ แต่เพราะเขาก็ไม่มีหลักประกันที่จะเชื่อใจอะไรได้เลย ว่าเขาจะประกันได้ไหม เขาต้องคำนึงถึงครอบครัวเขาว่าแล้วใครจะดูแลครอบครัวเขาต่อไปล่ะ อย่างบางคนที่เข้ามาหาเราป่วยหนักถูกออกหมายจับอยู่ เขาอยากออกมามอบตัว แต่เขาไม่รู้ว่าถ้าออกมาเขาจะได้ประกันหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ได้ประกันเขาก็จะได้รับการรักษาทางการแพทย์ที่ดีเพียงพอหรือเปล่า และยังมีเคสที่เป็นการคุกคามที่ชัดเจน มันมีหลายกรณี ทั้งเด็กมัธยมที่เชียงรายถือป้ายแล้วถูกจับ คือตอนนี้เจ้าหน้าที่เขาก็อ้างว่าทำตามหน้าที่ เพราะมันมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันก็อยู่ที่รัฐบาลนั่นแหละ ถ้าคุณบอกว่าอยากปรองดองก็อย่าใช้วิธีแบบนี้ ถ้าไปคุกคามแล้วความจริงไม่ปรากฏแน่ๆ"
พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการค้นหาความจริงในชุด อ.คณิตด้วยซ้ำ
"มันเป็นอุปสรรคทั้งในส่วนการทำงานของสมัชชาปฏิรูปในชุดหมอประเวศด้วย เพราะการลงไปในพื้นที่ที่ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชาวบ้านเขาก็มีกิจกรรมเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้ จะไปรับฟังความคิดเห็นคนเสื้อแดงในพื้นที่เขาก็ไม่ไว้ใจที่จะออกมาร่วม รัฐบาลเองก็พูดแย้งในตัวเองตลอด ประชาสัมพันธ์ว่าตอนนี้เหตุการณ์ปกติแล้ว ให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวได้แล้ว ถ้าปกติแล้วทำไมคุณยังต้อคงง พ.ร.ก.ไว้ มันขัดแย้งในตัวเอง คือทุกอาทิตย์มีข่าวตลอดว่าจะพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.จังหวัดนั้นจังหวัดนี้ แต่ก็ยังคงไว้ มันควรจะยกเลิกได้แล้ว ให้คนเขาได้มีพื้นที่แสดงออก รัฐเองอยากผลักคนลงไปใต้ดินเหรอ ไม่มีใครอยากลงใต้ดินหรอกถ้ามีความยุติธรรมให้เขา แต่รัฐเป็นคนผลักเขาลงไปเอง คนเขาไม่มีพื้นที่ ความเห็นเขาความรู้สึกเขาไม่มีใครรับฟัง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปลิดรอนสิทธิเขาอีก ความจริงมันไม่จำเป็นต้องมีในประเทศเลยด้วยซ้ำกฎหมายฉบับนี้ เพราะ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ก็เพียงพออยู่แล้ว ให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากพอแล้ว ถ้าถามความเห็นส่วนตัว คิดว่ากฎหมายอาญาก็เพียงพอแล้ว ยิ่งมาตรา 17 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันให้อำนาจที่เกินขอบเขต คนทำผิดไม่ต้องรับโทษเลย มันตีความได้กว้าง เพราะเขียนว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหน้าที่โดยสุจริต ซึ่งมันตีความอย่างไรก็ได้"
"ในคดีก่อการร้ายที่สั่งฟ้อง 19 คน มีคนหนึ่งเขามาหาเรา เขาไม่ได้เป็นแกนนำ แต่ถูกพ่วงไปด้วย สั่งฟ้องพร้อมกันที่จะขึ้นศาลวันที่ 16 นี้ คือรัฐเหวี่ยงแห หลักฐานไม่ชัดเจน ข้อหาก่อการร้ายก็คล้ายกับคดีหมิ่นฯ เพราะคุณไปตีตราเขาไปแล้วว่าผิด ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการไต่สวน ที่สำคัญจำเลยต้องหาข้อแก้ต่างให้ตัวเอง แทนที่ทางรัฐหรือคนที่กล่าวต้องหาหลักฐานมามัดเขาให้แน่น แต่กลายเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาต้องมาพิสูจน์ว่าเขาไม่ผิด"
คณะกรรมการปฏิรูปชุดคุณอานันท์เสนอให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่มีผลสะเทือนอะไร
"มันก็สะท้อนออกมาเรื่อยๆ ว่าไปสร้างเครดิตให้กับรัฐบาลเท่านั้นเอง ส่วนตัวคุณอภิสิทธิ์เองก็พยายามจะพูดเรื่องปรองดอง แต่กลไกรอบข้างไม่ไปในทางเดียวกัน มันก็ชัดว่าอำนาจก็ไม่ได้อยู่ที่คุณอภิสิทธิ์เลย เพราะคนที่เอาไปปฏิบัติก็ไม่สอดคล้องกับนโยบายปรองดองปฏิรูป"
หลักการสิทธิฯ ผิดเพี้ยน
สิทธิในการมีชีวิตเป็นสิทธิพื้นฐานที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้ การใช้กำลังและอาวุธจัดการความขัดแย้งทางการเมืองจึงผิดหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งแม้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ถือเป็นบรรทัดฐานของนานาอารยประเทศ
"ตามที่เราสัมภาษณ์ญาติเขามา อย่าง ศอฉ.เขาประกาศว่าเขาได้ทำตามหลักสากล การใช้อาวุธของเขาจะเป็นขั้นตอนตั้งแต่เบาไปหาหนัก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้สามารถทำได้ตามหลักสากล แต่ในสถานการณ์ตอนนั้นผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เขาก็ไม่ได้มีอาวุธ การเริ่มตั้งแต่เบาไปหาหนัก รัฐบาลบอกว่าวันที่ 10 เม.ย.ไม่มีการใช้อาวุธจริงเลย เขาเพิ่งมาเห็นว่ามีไอ้โม่งมาตอนกลางคืน แต่ว่าเคสที่เราสัมภาษณ์มันก็มีที่ถูกกระสุนจริงยิงตั้งแต่ตอนบ่ายของวันที่ 10 เม.ย. ตอนนี้กระสุนก็ยังฝังอยู่ในตัวเขา ผ่าออกไม่ได้มันอันตราย ถ้าตามหลักสิทธิฯ ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และก็มีบางรายที่ถูกสไนเปอร์ที่ศีรษะ เฉพาะบางรายเท่าที่เราได้สัมภาษณ์จริงๆ และบางรายที่เขาได้ถามจากหมอที่เก็บกระสุนไว้ก็จะบอกว่าอาวุธจะเป็นเอ็ม 16"
"คือหลักการดี แต่ปฏิบัติล้มเหลวก็เพราะว่าตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. เขาบอกว่าไม่ใช้อาวุธกับผู้ชุมนุม หรือแม้แต่การใช้แค่กระสุนยางต้องเป็นไปเพื่อสกัดกั้นอย่างเดียว สกัดกั้นฉะนั้นต้องยิงต่ำกว่าเอว แต่ความจริงมียิงทั้งศีรษะ ลำคอ พ.อ.สรรเสริญบอกว่าห้ามยิงรัว แต่ช่วง 14-15 พ.ค. ก็มีการยิงรัวกับนักข่าวเนลสัน ของ FRANCE 24 ซึ่งเราก็ไปสัมภาษณ์มาคือเวลาใกล้กันเขาโดน 3 จุด ที่ลำตัว แขน ขา ท้อง แม้พอเขาล้มลงแล้วการ์ดเสื้อแดงคนหนึ่งมาช่วยเขาไว้ลากเขาขึ้นซ้อนมอเตอร์ไซค์ก็ยังถูกยิงตามอีก 2 นัด มันก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามนั้น และคุณเนลสันก็ระบุว่ามันเป็นกระสุนที่มาจากวิถีของทางเจ้าหน้าที่ เป็นการยิงรัว ไม่ใช่การยิงทีละนัด ไม่เลือกเป้า หรือถ้าจะอ้างว่าเป็นการกระทำของไอ้โม่งของผู้ก่อการร้าย ตามหลักก็ต้องระบุได้ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายจริง มีอาวุธที่จะคุกคามชีวิตเจ้าหน้าที่"
แต่ก็ถือเป็นกิจการภายในที่กลไกสิทธิมนุษยนชนระหว่างประเทศไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้
"มันต้องเริ่มจากในประเทศของเรา อย่างรัฐไทยก็เป็นสมาชิกของสหประชาชาติก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคมโลก อีกอย่างหนึ่งรัฐไทยก็เป็นภาคีอนุสัญญากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมือง การเมือง อันนี้มันมีพันธะทางกฎหมายด้วย แปลว่ารัฐเองจะต้องปฏิบัติตามหลักสากลอันนี้ และก็ต้องมาปรับกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกัน ในกลไกตรงนี้รัฐเองก็ต้องรายงานการละเมิดสิทธิฯ สถานการณ์สิทธิฯ ในประเทศให้กับสหประชาชาติทุก 4 ปี ซึ่งรัฐไทยตั้งแต่ภาคีมา 30 ปี เพิ่งจะส่งรายงานไปแค่ครั้งเดียว ที่จริงต้องรู้หน้าที่ เพราะถือว่าเป็นภาคสมาชิก โดยเฉพาะตอนนี้คุณสีหศักดิ์เข้ามาเป็นประธานของสมัชชาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนก็ควรจะต้องผลักดันให้กลไกตรงนี้เป็นจริง เอื้อให้มันเป็นจริงให้ได้ กลไกของสิทธิฯ ระหว่างประเทศเองจริงๆ ภาคประชาสังคมก็สามารถร้องเรียนไปได้ เขาจะมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในเรื่องการสังหารนอกกฎหมาย เราสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนเพื่อที่จะกรอกแบบฟอร์มส่งไปได้โดยตรง การที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ จะเข้ามาตรวจสอบรัฐบาลไทยจะต้องยินยอมให้เขาเข้ามา อย่างพม่าเกิดการละเมิดสิทธิมากมาย แต่ว่าผู้แทนของยูเอ็นไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะรัฐบาลพม่าไม่ให้เข้า รัฐไทยเองพูดว่าเป็นประชาธิปไตย คุณอยากจะเป็นเหมือนพม่าหรือเปล่า ถ้าเป็นประชาธิปไตยแล้วคุณเคารพสิทธิหรือเปล่า รัฐบาลพูดมาตลอดว่าเป็นรัฐบาลที่พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน คุณพร้อมที่จะให้เขาเข้ามาหรือเปล่า"
ตำแหน่งของคุณสีหศักดิ์ในทางสากลมีนัยแค่ไหน
"ตอนมีข่าวนี้เหมือนว่าสถานการณ์สิทธิฯ ในประเทศไทยดี จริงๆ แล้วไม่ใช่ ถ้าคนที่เข้าใจกลไกตำแหน่งมันเป็น routine เป็นการเวียน ตอนนี้ทวีปมันไปหมดแล้วเหลือเอเชีย ประเทศที่เหลือก็จะมีอย่างมัลดีฟ อัฟกานิสถาน ศรีลังกา ซึ่งภาคประชาสังคมเขากดดันให้ถอนตัว ภาคประชาชนเขาเข้มแข็ง เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิเยอะมาก ศรีลังกาก็ถอนตัวไป เหลือไทยกับมัลดีฟ แต่ถึงกระนั้นคุณสีหศักดิ์ก็ควรจะผลักดันกลไกตรงนี้ เอื้อกลไกเหล่านี้ให้ใช้งานได้จริง"
"แต่หากกลไกนี้ใช้งานไม่ได้ นอกจากรัฐส่งรายงานทุก 4 ปี ภาคประชาชนเองก็สามารถทำรายงานเงาเป็นรายงานคู่ขนานไปได้ เขาก็จะมีเวทีสมัชชาตรงนั้นที่ภาคประชาชนสามารถเข้าไปตั้งคำถามกับรัฐตรงนั้นได้เลย สมัยคุณทักษิณที่ถูกตั้งคำถามเรื่องฆ่าตัดตอนยาเสพติด รัฐบาลไทยตอนนั้นก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ ตอนนี้ก็เหมือนกันมันเป็นช่องทางที่อย่างน้อยเราก็ใช้กลไกตรงนี้ได้ ตอนนี้ต่างประเทศเขาก็เริ่มเข้าใจเรื่องราวในประเทศไทยมากขึ้น เพราะบางทีรูปแบบอาจจะไม่ใช่เผด็จการชัดเจนเหมือนพม่า แต่ไทยมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่า ต่างชาติเขาก็พอจะมองเห็นจุดนี้ว่ามันมีการละเมิด แม้ว่าเราจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เขาก็ตั้งคำถามหลายอย่าง อย่างเรื่องไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้ เพราะในต่างประเทศเขาสามารถพูดได้ ตราบใดที่ไม่ได้ไปพูดใส่ร้าย ไม่ได้ไปทำให้เขาลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านั้น มันก็น่าจะสามารถทำได้ เพราะถือว่าเป็นกลไกภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นกลไกเหล่านี้ต้องตรวจสอบได้ ยิ่งเวลานี้มันมีความเป็น 2 มาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม ขนาดคนที่ไม่ใช่เสื้อแดงเขาก็รู้สึกอย่างนั้น"
ในสถานการณ์ที่ประชาชนถูกละเมิด คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรจะมีบทบาท แต่กลับเป็นฝ่ายที่ถูกสังคมตั้งคำถามเสียเอง
"ตั้งแต่ที่มาก็เป็นปัญหาแล้ว ไม่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะฉะนั้นการได้มาซึ่งคนที่มีมุมมองมีมิติทางด้านสังคมก็อาจจะถูกตั้งคำถาม และการทำงานที่เกิดขึ้นเองก็ถูกวิจารณ์มากว่าค่อนข้างทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลมากเกินไป รวมทั้งปัญหาในตัวบุคคล ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเขาก็ไม่สะดวกใจจะเข้าไปหา ต้องถามว่าตั้งแต่เหตุการณ์ เม.ย.เมื่อปีที่แล้วจนถึงปีนี้ผลการตรวจสอบก็ยังไม่ออกมา หลังจาก 10 เม.ย. กรรมการสิทธิฯ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาก็ไม่ได้ทำงานอะไรเป็นเรื่องเป็นราวจนสมาชิก 4 คนก็ลาออก เพราะเขาเห็นว่าไม่ได้ทำอะไร ส่วนตัวก็อยากตั้งคำถามด้วยว่าการแต่งตั้งกรรมการชุดนี้เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ว่าคนนี้ๆ เพียงแต่บอกว่าอย่างน้อยก็มีทั้งเหลืองทั้งแดง แต่การตรวจสอบความจริงมันไม่ใช่การโต้วาทีที่จะต้องมีตัวแทน 2 ฝ่ายเท่าๆ กัน มันต้องมีหลักเกณฑ์คัดเลือกบุคลากรที่ชัดเจน การหาความจริงมันควรจะต้องมีคู่กรณีมีผู้เสียหายอยู่ในชุดนั้นด้วย แต่มันไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้เลย"
ตามหลักการแล้วกรรมการสิทธิฯ ต้องโฟกัสไปที่การละเมิดของรัฐ
"และก็ฟ้องร้องแทนผู้เสียหายถ้าผู้เสียหายต้องการ แต่เทียบกับกรรมการสิทธิฯ ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งตอนนั้นกรรมการสิทธิฯ อำนาจน้อยกว่าตอนนี้อีก ชุดนั้นเขายังฟ้องไม่ได้ด้วย แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าชาวบ้านผู้เสียหายไม่สะดวกใจที่จะเข้าไปขอความช่วยเหลือจากกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ รวมทั้งแถลงการณ์ของกรรมการสิทธิฯ หลายกรณีก็ถูกตั้งคำถามในเรื่องหลักการของเขาเอง โดยเฉพาะหลักการการไม่เลือกข้างมันก็เป็นปัญหา เรื่องวงการสิทธิฯ บ้านเรามันเป็นระบบอุปถัมภ์ อีกอย่างเป็นข้อจำกัดของมุมมองด้านสิทธิฯ ด้วยที่บิดเบือนหลักการ"
แม้ตอนนี้กรรมการสิทธิฯ จะกลับลำทัน เข้าไปเยี่ยมเสื้อแดงในเรือนจำก็ไม่ช่วยอะไร
"แต่ก็มีผู้ต้องหาบางคนก็ไม่สะดวกใจที่จะมาเจอ เขาไม่ไว้ใจ อันนี้มันคือปัญหาใหญ่ ตอนนี้ไม่ว่ารัฐจะตั้งกรรมการมากี่ชุด เสื้อแดงเขาก็มีกำแพงที่ไม่ไว้ใจ ทางเดียวที่จะสลายทางความรู้สึกนี้คือต้องเปิดพื้นที่ให้เขา ต้องจัดการเรื่องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นก่อน ทุกคนพร้อมที่จะปรองดอง พร้อมที่จะให้อภัย พร้อมที่จะกลับมาหันหน้าคุยกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจอาจจะไม่สามารถกลับมาได้ทันที แต่ถ้ามันมีพื้นที่ให้เขา นำความจริง พูดเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ใครผิดก็ว่ากันไป รัฐบาลไทยพยายามจะเปรียบเทียบกับ ATRC ของแอฟริกาใต้ ซึ่งมันไม่เหมือนกัน แอฟริกาใต้กระบวนการเขากว่าจะนำความจริงมาปรากฏประมาณ 15 ปีมั้ง และที่สำคัญรัฐคู่กรณีพ้นอำนาจไปแล้ว เป็นรัฐบาลชุดใหม่ที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ตราบใดที่รัฐที่เป็นคู่กรณียังอยู่มันยาก
อย่างการทำงานของ คอป.ที่ตั้งขึ้นมาก็ใช้เงินภาษีของประชาชนทุกคน ไม่ใช่เงินของประชาชนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างน้อยก็ควรจะจัดเวทีให้เสื้อแดงดำเนินการเองเลย ไม่ต้องว่าจะต้องอยู่ภายใต้ คอป. แต่ คอป.กันพื้นที่ให้เขาก็ว่าจัดงบประมาณมาให้องค์กรที่เขาอยากจะทำการตรวจสอบคู่ขนาน มันไม่มีอะไรเสียหาย นี่ถ้า คอป.ต้องการที่จะเป็นกลางจริงๆ ตั้งชุดคู่ขนานเองได้เลย อาจจะมาจัดเวทีว่าเออสุดท้ายแล้วข้อมูลมันตรงกันไหม ถ้าจะมาแสวงหาความจริง ถ้าไม่อย่างนั้นมันจะไม่จบ ความยุติธรรมถ้ามันล่าช้ามันก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมเพิ่มต่อไปเรื่อยๆ เพราะตอนนี้เวลาคนที่เสียเขาสูญเสีย เขาออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมก็จะถูกสังคมบอกว่าออกมาทำไม ไม่ต้องการความสงบเหรอ ไม่ต้องการปรองดองเหรอ ทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้เสียหาย เป็นผู้เดือดร้อน ลูกเขาตาย สามีเขาตาย"
////////////////////

ความจริงที่เจ็บปวด
ถึงใครจะบอกว่าคนเสื้อแดงเป็นชนชั้นล่าง ไร้การศึกษาและยากจน แต่ก็น่าแปลกที่หลังจากศูนย์ข้อมูลประชาชนเปิดรับเรื่องราวความเดือดร้อน ทุกสายที่เข้ามาไม่เคยโทร.มาเพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องเงินเลยแม้แต่รายเดียว
"นอกจากเขาจะโทร.มาให้ข้อมูล มาให้ช่วยเรื่องคดี ก็มีไม่น้อยที่โทร.มาระบาย เขาบอกไม่รู้จะไประบายกับใคร อึดอัดมากโทร.มาคุยเป็นครึ่งชั่วโมง เพราะว่ารัฐก็ไม่เปิดพื้นที่แบบนี้ให้เขา และตลอดเกือบเดือนที่ผู้เสียหายโทร.มานี่ไม่เคยมาขอให้ช่วยเรื่องเงินเลยนะ เพราะเขาเข้าใจว่าองค์กรเราเป็นอย่างไร เขาจะขอให้เร่งในเรื่องคดีมากกว่า อันดับแรกคือคดีทางแพ่ง เพราะอายุความแค่ปีเดียว เรื่องกระบวนการยุติธรรมสำคัญกับเขามากที่สุด และเราอยากให้ประชาชนในสังคมได้รับรู้ข้อมูลที่แตกต่างไปจากที่รัฐให้ ทางศูนย์ฯ จึงจะจัดแถลงข่าวทุกวันที่ 19 ของเดือน รายงานความคืบหน้าการติดตามคดี การละเมิดสิทธิ วันที่ 19 ส.ค.นี้จะพูดเรื่องภาพรวมการจับกุมคดีในพื้นที่ รวมถึงการคุกคามที่เกิดขึ้นในพื้นที่"
การทำงานของศูนย์ฯ ไม่ได้นั่งรอรับโทรศัพท์อย่างเดียว แต่พยายามหาข้อมูลเอง โดยมีอาสาสมัครลงพื้นที่ทางภาคอีสาน เนื่องจากมีคนแจ้งเข้ามาว่าคนที่ถูกจับและควบคุมตัวโดยหน่วยงานรัฐไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ด้านหนึ่งก็ได้กลุ่มทนายความด้านสิทธิฯ (ที่ปลดแอกแล้ว) รวมตัวเข้ามาช่วยเหลือคนที่ถูกจับกุมและผู้ที่คุกคาม
นี่คือตัวอย่างของความจริงที่เจ็บปวด
นับตั้งแต่น้องเกด (น.ส.กมนเกด) ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมฯ ผู้เป็นแม่พยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับลูกสาวมาโดยตลอด ทั้งไปแจ้งความที่กองปราบปราม และ สน.ปทุมวัน เพื่อให้สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ซึ่งเมื่อวันที่ 20 พ.ค. เพื่อนร่วมงานน้องเกดได้ถ่ายคลิปวิดีโอขณะที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สภาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าไปชันสูตรศพ โดยพบว่ามีหัวกระสุนคาอยู่ที่ปากแผลที่หน้าท้อง ซึ่งหมอพรทิพย์ยังบอกให้เจ้าหน้าที่นำพลาสเตอร์มาปิดทับหัวกระสุนไว้ไม่ให้สูญหาย เพราะเป็นหลักฐานสำคัญ แต่หลังจากนั้นกลับไม่มีหน่วยงานราชการออกมาแถลงถึงผลตรวจพิสูจน์หัวกระสุนดังกล่าวเลย ทำให้สงสัยว่ามีการตรวจพิสูจน์จริงหรือไม่ หัวกระสุนหลักฐานยังอยู่หรือเปล่า
ศิณีนาถ ชมพูษาเพศ ชาวนาวัย 29 ปี ไปร่วมชุมนุมและพยายามห้ามไม่ให้คนเสื้อแดงก่อเหตุเผาศาลากลาง จ.อุบลราชธานี แต่กลับถูกตำรวจยิงขาบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ต่อมาตำรวจตามจับกุมตัวไปคุมขังยังเรือนจำข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทิ้งลูก 3 คนให้ยายเลี้ยง
กรณีตำรวจ สภ.เมือง จ.เชียงราย ดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาและนักเรียน รวมทั้งแกนนำคนเสื้อแดง 4 คน ได้แก่ นายกิตติพงษ์ นาตะเกศ อายุ 24 ปี และนายนิติ เมธพนฎ์ อายุ 23 ปี นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) นักเรียนอายุ 16 ปี จากโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง และนายธนิต บุญญนสินีเกษม แกนนำกลุ่มพลังมวลชน
////////////
หมายเหตุ : ศปช.ฮอตไลน์ 0-86060-5433 0-86060-5433 หรือเว็บไซต์ www.peaceandjusticenetwork.org บัญชีรับบริจาค เลขที่ 645-2-02766-4 ธนาคารกสิกรไทย สาขา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ชื่อบัญชี 'น.ส.กฤตยา อาชวนิจกุล และนายอภิชาต สถิตนิรมัย-น.ส.ขวัญระวี วังอุดม และนายชัยธวัช ตุลาธน'

ที่มา: ไทยโพสต์ แท็ลอยด์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2553