WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, August 20, 2010

"ศปช."เผยตัวเลข 168 เสื้อแดง โดนจับใน 5 จังหวัดอีสาน (2/2)

ที่มา ประชาไท

ตอน จบ

ภาพรวมสถานการณ์การจับกุมดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมของ นปช.
ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประมวลกฎหมายอาญา
ในพื้นที่ภาคอีสาน 5 จังหวัด (อุบลราชธานี ขอนแก่น มุกดาหาร อุดรธานี และมหาสารคาม) [1]
1. จ.อุบลราชธานี รวม 60 คน (ชาย 53 คน หญิง 7 คน)
ข้อหา: กระทำความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก ก่อให้เกิดความวุ่นวาย บุกรุก วางเพลิงเผาทรัพย์ มั่วสุม ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการแจ้งข้อหาเพิ่มจากดีเอสไอ 19 ราย เป็นข้อหาก่อการร้าย 1 ราย และสนับสนุนก่อการร้ายอีก 18 ราย
สถานะทางคดี: ผู้ต้องหาบางรายได้รับประกันชั่วคราว (ไม่สามารถระบุตัวเลขที่แน่ชัดได้ ณ ขณะนี้) ขณะที่บางราย (5 ราย) ขาดหลักทรัพย์ประกันตัว ส่วนผู้ต้องหาข้อหาวางเพลิงไม่มีใครได้รับอนุญาตประกันตัว
2. จ. ขอนแก่น รวม 14 คน (ชาย 8 คน หญิง 2 คน)
ข้อหา: วางเพลิง/ร่วมกันวางเพลิงและเผาทรัพย์ บุกรุกสถานที่ราชการ มีอาวุธปืนในครอบครอง ประทุษร้ายเจ้าพนักงาน หนีการจับกุม
สถานะทางคดี: ขณะนี้มีผู้ถูกจับกุมจำนวนหนึ่งที่ทราบว่าคดีของตนอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ผู้ถูกจับกุมจำนวนหนึ่งไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าของคดี ผู้ถูกจับกุม 6 ราย เคยขอยื่นประกันตัวแล้ว ในจำนวนนี้มี 1 ราย เท่านั้นที่ได้รับการประกันตัวแล้ว และมี 1 ราย เคยยื่นขอประกันตัว 2 ครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการประกันตัว ผู้ถูกจับกุมอีก 4 ราย ไม่เคยยื่นขอประกันตัว ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 รายที่ให้ข้อมูลว่าเป็นเพราะไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว
หมายเหตุ: ผู้ถูกจับกุม 1 ราย ได้รับการประกันตัวแล้ว ยังไม่มีข้อมูลด้านคดี
3. จ. มหาสารคาม รวม 12 คน (ชายทั้งหมด)
ข้อหา: วางเพลิง ออกนอกเคหะสถาน (ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) มีอาวุธ (มีกรณีผู้ต้องหารายหนึ่งมีเสื้อกันกระสุนโดยไม่มีใบอนุญาต)
สถานะทางคดี: ทั้งหมดอยู่ระหว่างการฝากขังและสอบสวน
หมายเหตุ: ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค.53
4. จ. มุกดาหาร รวม 28 คน (ชาย 27 คน หญิง 1 คน)
ข้อหา: วางเพลิงเผาศาลากลางและบุกรุกสถานที่ราชการ
สถานะทางคดี: อยู่ระหว่างสอบสวน (17 รายฝากขังครั้งที่ 5) และส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการฝากขัง จำนวนหนึ่งอยู่ระหว่างทยอยส่งฟ้อง ผู้ต้องหาบางรายไม่มีทนาย หรือสับสนว่ามีทนายหรือไม่ และ 10 รายระบุว่าต้องการความช่วยเหลือทางคดี ด้านการประกันตัว ผู้ต้องหาคดีบุกรุกเคหะสถานจำนวน 8 รายได้รับการประกันตัว ในขณะที่คดีเผาศาลากลางไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
5. จ. อุดรธานี รวม 54 คน
ข้อหา: พยายามวางเพลิง ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
สถานะทางคดี: ยกเว้น 3 ราย (ดีเจวิทยุชุมชน) ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน และ 1 ปี 6 เดือน (ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ปลุกระดมให้คนมาชุมนุม) และอยู่ระหว่างอุทธรณ์คดี ปล่อยออกมา 29 คนเนื่องจากครบกำหนดผลัดฟ้องและเป็นข้อหาเบา (ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ชุมนุมเกิน 5 คน) ทยอยส่งฟ้องคดีเผาสถานที่ราชการ ถูกฟ้องคดีเผาศาลากลาง 11 คน เผาที่ว่าการอำเภอ 15 คน หรืออยู่ระหว่างสอบสวน
หมายเหตุ: ตัวเลขของผู้ถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่ใช่ผู้ที่ออกหมายจับทั้งหมด
000
สภาพปัญหา
1. การแจ้งข้อกล่าวหาและการออกหมายจับแบบเหวี่ยงแห
1.1 หลักฐานในการแจ้งจับไม่ชัดเจน
บางหมู่บ้านในจังหวัดอุบลราชธานี (เช่น อำเภอสว่างวีรวงศ์) ชาวบ้านจำนวนกว่าครึ่งถูกออกหมายจับ โดยหลักฐานที่ใช้เป็นเพียงภาพถ่ายซึ่งเห็นใบหน้าของผู้ถูกออกหมายจับไม่ชัดเจน บางรายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแล้วนำรูปมาให้ชี้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่รูปตนเองเลยต้องปล่อยตัว
ในจังหวัดอุดรราชธานี ผู้ถูกจับกุมข้อหาวางเพลิงเผาศาลากลางรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าขณะที่มีการชุมนุม เขาแวะไปดูเพราะอยากรู้ว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไรบ้าง จู่ๆพอมีการสลายชุมนุม “(ผม) ไม่รู้ทิศทางที่จะวิ่ง เพราะทหารตะโกนว่าใครไม่ได้ทำผิดอย่าหนี ก็เลยนั่งอยู่ที่เดิม”ก่อนถูกจับในที่สุด
1.2 ผู้ถูกออกหมายจับไม่ทราบว่าตนเองถูกออกหมาย
ในหลายจังหวัด ผู้ถูกออกหมายจับไม่ทราบว่าตนเองถูกออกหมายจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุม บางรายไปร่วมชุมนุม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเผาศาลากลางจังหวัด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำรูปถ่ายจากคนละเหตุการณ์มาเชื่อมโยงว่าเป็นเหตุการณ์เผาศาลากลางจังหวัด หรือบางรายไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมแต่อย่างใด แต่ในวันเกิดเหตุเข้าไปยืนสังเกตการณ์หรือถ่ายรูป บางรายแค่เดินผ่าน หรือมีรถของตนจอดอยู่บริเวณใกล้เคียงทำให้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกออกหมายจับ

ชาวบ้านรายหนึ่งปรากฏในรูปถ่าย [2] ตามหมายจับของตำรวจข้อหาวางเพลิง ทั้งๆ ที่เขาพยายามห้ามไม่ให้วางเพลิง คล้ายกับกรณีจับกุมผู้ใหญ่บ้านที่ขอนแก่น ซึ่งระบุว่าตนเองไปในที่เกิดเหตุเพื่อห้ามผู้ชุมนุมไม่ให้วางเพลิงและเผาทำลายสถานที่ราชการ (ที่มา: มติชนออนไลน์)
2. การปฏิบัติไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐขณะจับกุมและควบคุมตัว
2.1 ใช้กำลังทำร้ายขณะจับกุมและควบคุมตัว
ในจังหวัดมุกดาหาร ผู้ต้องหาทั้งหมด 16 รายที่อยู่ในที่ชุมนุมวันที่ 19 พฤษภาคม เล่าว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายขณะสลายการชุมนุมและจับกุมตัวแม้ไม่ได้ต่อสู้ขัดขวาง ยกตัวอย่าง ผู้ต้องหาชื่อนาย ก. เล่าว่าเขาไม่ได้ร่วมชุมนุมแต่ทราบว่ามีการเผาศาลากลางจึงมายืนดู เมื่อเห็นผู้ชุมนุมวิ่งหนีขณะมีการสลายการชุมนุม จึงวิ่งตามแต่ถูกตำรวจตีศีรษะแตกก่อนจะจับกุมตัวไว้ บางรายถูกตำรวจเตะด้วยร้องเท้าคอมแบตเลือดไหลออกจมูก และยังมีอาการเวียนศีรษะจนกระทั่งปัจจุบัน
นอกจากนั้นกรณีของจังหวัดเดียวกัน หลังการสลายชุมนุม ผู้ถูกจับกุมทั้งหมดถูกนำตัวไปโรงพักก่อนจะถูกนำตัวกลับไปบริเวณศาลากลางอีกครั้งและถูกคุมขังอยู่ในรถขนผู้ต้องหา 2 คัน ทุกคนให้การว่าขณะถูกคุมขังอยู่บนรถ พวกเขาต้องฉี่ใส่ถุง จะได้รับอนุญาตให้เข้าห้องน้ำได้เฉพาะเวลาถ่ายหนัก และไม่ได้อาบน้ำตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน (จนกระทั่งวันที่ 21 พ.ค. เมื่อถูกย้ายมาฝากขังในเรือนจำกลางจังหวัด) การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นการทรมานและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกจับกุมอย่างชัดเจน
อีกจังหวัดผู้ถูกจับกุมรายหนึ่งซึ่งถูกจับกุมในวันที่ 19 พฤษภาคม ถูกเจ้าหน้าที่แต่งชุดทหารทำร้ายร่างกายหลังนำตัวผู้ถูกจับกุมไปยังด้านหลังศาลากลางจังหวัด แล้วลงมือซ้อม โดยถีบที่ใบหน้า 4-5 ครั้ง ระหว่างนั้นมีการเอาปืนหลายกระบอกและหลายชนิดจ่อหัว จนผู้ถูกจับกุมกรามขวาหักและหมดสติ
2.2 พูดจูงใจ/ขู่/ ใช้กำลังบังคับให้รับสารภาพ
กรณีนาย ว. ผู้ต้องหาเล่าว่าถูกจูงใจให้รับสารภาพว่ามีส่วนร่วมในการเผาศาลากลางจังหวัดแห่งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เหตุผลว่าหากรับสารภาพจะได้รับโทษเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อรับสารภาพกลับถูกขังและต้องคดีอาญา
หรือกรณีของนาย ส. เล่าว่าตำรวจบอกว่าหากไม่รับสารภาพว่าเผาศาลากลางจังหวัดแห่งหนึ่ง หรือชี้รูปอาจต้องติดคุกหลายสิบปี เขาจึงรับสารภาพแต่ไม่ได้ชี้รูปใคร และยังมีบางรายที่เล่าว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังบังคับให้รับสารภาพ[3]
ในอีกจังหวัด ผู้ต้องหารายหนึ่งเล่าว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหมายจับก่อนจับกุม แต่กลับระบุในหนังสือลงนามรับทราบข้อกล่าวหาว่าได้แสดงหมายจับแล้ว เมื่อเขาทักท้วง เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่า ได้แสดงหมายจับแล้ว เมื่อผู้ถูกจับกุมยืนยันอีกว่าไม่มีการแสดงหมายจับกลับถูกข่มขู่ว่า “จะเซ็นต์หรือไม่เซ็นต์ ในเมื่อเขาบอกว่าเอาให้ดูแล้ว เดี๋ยวกูจะคัดค้านมึงไม่ให้ประกันตัวเสียเลย” ผู้ถูกจับกุมเกรงจะไม่ได้รับการประกันตัว จึงยอมเซ็นชื่อในที่สุด
2.3 ยึดทรัพย์
ในทั้ง 5 จังหวัดมีการรายงานจากผู้ถูกจับกุมเกี่ยวกับการยึดทรัพย์โดยเจ้าหน้าที่รัฐขณะควบคุมตัว ยกตัวอย่างกรณีนาย ส. ถูกซ้อมจนสลบ เมื่อรู้สึกตัวก็พบว่าพระเครื่องของเขาหายไป บางรายถูกยึดทรัพย์สินหลายรายการ อาทิ เสื้อแดง 1 ตัว หนังสือเดินทาง โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง กระเป๋าเงิน และกุญแจบ้าน 1 ดอก
3. สิทธิในการเข้าถึงทนายความ/ ปัญหาทนายความไม่เพียงพอ
มีทนายความท้องถิ่นเข้าเยี่ยมผู้ต้องหาในเรือนจำ 5 จังหวัด แต่ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ยังไม่มีทนายความและไม่รู้สถานะทางคดีของตน หลายรายเข้าใจว่าพวกเขายังอยู่ในระหว่างฝากขัง ในขณะที่ความเป็นจริงกำลังจะถูกสั่งฟ้องในอีกไม่กี่วัน ปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้แก่ ปัญหาจำนวนทนายความไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ที่ถูกจับกุม นอกจากนั้นผู้ต้องหาบางรายปฏิเสธความช่วยเหลือจากทนายความสิทธิมนุษยชนที่ไปจากส่วนกลางบางส่วนเนื่องจากความไม่ไว้วางใจในตัวบุคคลและองค์กร
ยกตัวอย่างในขอนแก่น ผู้ถูกจับกุมมีการแต่งตั้งทนายความแล้ว 2 ราย แต่รายหนึ่งเพิ่งได้พบทนายความของตนเพียงครั้งเดียวคือครั้งแรกที่ทนายความเดินทางมาเยี่ยม อีก 6 ราย ยังไม่มีการแต่งตั้งทนายความ ในจำนวนนี้มีผู้ถูกจับกุม 2 ราย ให้ข้อมูลว่า ไม่มีเงินจ้างทนายความ และผู้ถูกจับกุม 1 ราย ให้ข้อมูลว่า ไม่สามารถติดต่อใครได้ ในจำนวนนี้มี 9 ราย ต้องการความช่วยเหลือทางคดี
หมายเหตุ: ผู้ถูกจับกุม 1 ราย ได้รับการประกันตัวแล้ว ยังไม่มีข้อมูลด้านคดี
4. สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ผู้ต้องหาทั้งหมดไม่ได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) เนื่องจากศาลเกรงว่าจะหลบหนี หรือกลับมาก่อเหตุไม่สงบ ในขณะที่ความเป็นจริงผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่ได้มีความพยายามหลบหนีการจับกุมใดๆตั้งแต่แรก แต่เป็นเพราะไม่ทราบมาก่อนว่าพวกเขาโดนหมายจับของทางราชการจึงไม่ได้ไปมอบตัว หรือมีภาระทางครอบครัวที่ต้องดูแลเพราะเป็นเสาหลักของครอบครัว ไม่สามารถหนีไปไหนได้
นอกจากนั้น แม้บางกรณีในบางจังหวัดศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่ปัญหาหลักทรัพย์หรือเงินประกันสูง (ตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท) เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องหาที่มีฐานะยากจนไม่ได้รับการประกันตัว
5. สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ
สภาพในเรือนจำกลางของทั้ง 5 จังหวัดค่อนข้างแออัด ส่วนหนึ่งมาจากระเบียบเกี่ยวกับการสร้างอาคารห้ามไม่ให้สร้างสูงเกินรั้ว ทำให้เรือนจำหลายแห่งไม่สามารถขยายพื้นที่เพื่อรองรับนักโทษได้ หนึ่งในผู้ต้องหาอธิบายสภาพที่นอนในเรือนจำว่า “นอนเท่าหมอนกว้าง”
บางรายเล่าว่า “การถูกควบคุมตัวในเรือนจำนั้นมีความกดดันมากมาย เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับผู้ต้องขังคดียาเสพติด หรือคดีฆ่า อีกทั้งยังมีสายตาของผู้ต้องขังที่ไม่เคยรู้ข่าวคราว ข้อเท็จจริงภายนอก รับข่าวสารบิดเบือนจากรัฐบาลมาตลอด พวกเขามองว่าเราเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง เจ็บปวดมาก ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนเริ่มมีอาการทางประสาท มีความหวาดระแวงและขาดความไว้วางใจซึ่งกันละกัน อีกทั้งการกินอยู่หลับนอนก็แออัดยัดเยียด อาหารผู้ต้องขังยิ่งไม่ต้องบรรยาย”
มีเพียงเรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานีเท่านั้นที่สามารถแยกผู้ต้องหาชายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองออกจากผู้ต้องหาคดีอื่นๆ
6. ผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว
6.1 ขาดโอกาสศึกษาต่อและแบ่งเบาภาระครอบครัว
ยกตัวอย่างนักศึกษารายหนึ่ง เขาถูกทหารจับตัววันที่ 19 พ.ค. และตั้งข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉินชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป เขาเคยยื่นขอประกันตัวแต่ไม่ได้รับอนุญาตเพราะศาลเกรงว่าจะหลบหนี “ผมไม่ได้ทำผิดอะไร อยากออกไปดูแลพ่อแม่ซึ่งมีโรคประจำตัว และออกไปศึกษาต่อเพราะผมเพิ่งสอบติด”
6.2 ครอบครัวขาดเสาหลักในการทำมาหากินและที่พึ่งทางจิตใจ
ครอบครัวของผู้ต้องหาหลายรายได้รับผลกระทบจากการที่คนในครอบครัวของพวกเขาถูกจับกุม ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อรายได้ ชีวิตครอบครัว สูญเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ทำลายสภาพจิตใจสมาชิกในครอบครัว หลายครอบครัวต้องอยู่อย่างลำบากเนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเสาหลักของครอบครัว
ยกตัวอย่าง กรณีนาย ม. ภรรยามีอาการทางประสาท ไม่มีใครหาเลี้ยงลูกสามคนซึ่งกำลังอยู่ในวัยเรียนหลังจากที่เขาถูกจับ หรือกรณีสองสามีภรรยาถูกจับกุมขณะเข้าไปดูการเผาศาลากลาง โดยปัจจุบันจากการสอบถามญาติยังไม่ทราบข้อกล่าวหาที่แน่ชัด และยังไม่มีทนายดูแล ทั้งสองมีบุตรด้วยกัน 2 คนกำลังอยู่ในวัยเรียน และต้องเลี้ยงดูยายชราและตาที่ป่วยเป็นโรคอัมพาต “ผมและภรรยาต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพราะครอบครัวเดือดร้อนอย่างสาหัส ลูกชาย 2 คนต้องไปโรงเรียนไม่มีเงิน ทราบว่าไม่ค่อยยอมไปโรงเรียนเพราะคิดถึงพ่อแม่ที่ต้องมาติดคุก ตายายต้องเลี้ยงดู โดยเฉพาะตาป่วยเป็นอัมพาตได้ 2 ปี มียายชราดูแลตาคนเดียว เมื่อขาดผมกับภรรยาที่เป็นคนทำงานหาเงิน ทำให้เดือดร้อนมากๆ ผมมีความทรมานจิตใจอย่างมากที่โดนกักขังร่วม 3 เดือนแล้ว คิดถึง เป็นห่วงลูกชาย 2 คนมากและห่วงตายาย มีปู่แก่ๆมาเยี่ยม”
7. มีโรคประจำตัวหรือได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม
มีผู้ต้องขังในเรือนจำกลางทั้ง 5 จังหวัดป่วยเป็นโรคประจำตัวซึ่งต้องการการดูแลทางการแพทย์ที่เชียวชาญเฉพาะด้านอย่างใกล้ชิดและต้องการยาที่เฉพาะด้าน อาทิ ในเรือนจำจังหวัดอุดรฯมีผู้ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ และโรคไต เรือนจำจังหวัดอุบลฯผู้ต้องขังจำนวน 23 ราย จากทั้งหมด 45 รายมีโรคประจำตัวอาทิ ความดันสูง เบาหวาน ลมชัก มีปัญหาทางจิตหวาดระแวง เลือดจาง ไทรอยด์ หรือได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม เช่น โดนยิงและถูกอายัตตัวจากโรงพยาบาล และอาการยังไม่ทุเรา
...................................................................
[1] ข้อมูล ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2553 จำนวนผู้ต้องหาและสถานะทางคดีในเรือนจำทั้งหมดนำมาจากเอกสารการเข้าเยี่ยมเรือนจำกลางของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ระหว่างวันที่ 8 – 11 กรกฎาคม 2553 ขอขอบคุณคณะอนุฯที่เอื้อเฟื้อข้อมูล ส่วนข้อมูลที่เหลือมาจากการลงพื้นที่ของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายชุมนุม เม.ย.–พ.ค. 53 ซึ่งทั้งหมดทำการอัพเดท ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2553
ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลและการบันทึกปากคำบางส่วนจำเป็นต้องตัดออกเพื่อความปลอดภัยของผู้ถูกจับกุมและเพื่อไม่ให้กระทบรูปคดีที่ยังดำเนินการอยู่
[2] เว็บไซด์ตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี, หมายจับผู้กระทำผิดห้วงรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่อุบลราชธานีhttp://www.ubonratchathani.police.go.th/1_1_new_ubon/tung2010/tung-new/chukchen/Cho7.html
[3] ไม่สามารถใส่รายละเอียดได้เพื่อความปลอดภัยของผู้ต้องหา