ที่มา ข่าวสด
ทำบุญใหญ่อุทิศส่วนกุศลให้ 91 ศพ เหยื่อสลายม็อบแดงครบรอบ 3 เดือน จัดทำบุญที่วัดปทุมฯมีเสื้อแดงแห่ไปร่วมพิธี บ.ก.ลายจุดผูกผ้าแดง-วางกุหลาบแดงที่ราชประสงค์อาลัย 19 ก.ย.นี้จัดงานใหญ่ 4 ปีรัฐประหาร 4 เดือนราชประสงค์ แม่น้องเกดท้อคดี 6 ศพวัดปทุมฯไม่คืบ เตรียมทำบุญ 100 วันให้ลูกสาว เชิญชวนประชาชนไปร่วมงานด้วย เวทีมธ.ชำแหละพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกรอบ ย้ำศอฉ.เหวี่ยงแหจับคนเสื้อแดง จับก่อนแล้วค่อยหาหลักฐานทีหลัง จี้รัฐบาลเปิดรายชื่อผู้ถูกออกหมายจับทั้งหมด แฉบางรายไม่ได้ไปร่วมชุมนุมกลับถูกจับ บางรายถูกซ้อม บางรายป่วยหนัก หมอนิรันดร์ประณามขวางนิสิตจุฬาฯ ชูป้ายประท้วงมาร์ค ชี้ประชาชนมีสิทธิ์แสดงความเห็นตามรธน.
3 เดือน - พะเยาว์ อัคฮาด วางกุหลาบแดงระลึกถึงน.ส.กมนเกด ลูกสาว 1 ใน 6 ศพที่ถูกยิงเสียชีวิตในเขตอภัยทาน ระหว่างทำบุญครบ 3 เดือนการล้อมปราบผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ที่วัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 ส.ค.
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 19 ส.ค. กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รัฐบาลสั่งการให้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชา ธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพื่อกระชับและขอคืนพื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก รวมตัวกันทำบุญถวายภัตตาหารเพล แด่พระสงค์วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าว โดยเฉพาะผู้เสียชีวิต 6 ศพที่ถูกยิงจากมุมสูงภายในเขตอภัยทานวัดปทุมวนารามฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนเสื้อแดงต่างทยอยกันเข้าร่วมงาน อาทิ นางพะเยาว์ อัคฮาด อายุ 45 ปี มารดาของน.ส.กมนเกด หรือเกด อัคฮาด อาสาพยาบาลหนึ่งในผู้เสียชีวิต นายวสันต์ สายรัศมี หน่วยกู้ภัยที่ร้องเรียนขอความเป็นธรรมกรณีเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยกู้ชีพและอาสาพยาบาล 4 คนต้องสูญเสียชีวิต จนถูกหมายเรียกจากศอฉ. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
นอกจากนี้ยังมี นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด นักเคลื่อนไหวที่ถูกจับกุมเนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินจากการนำผ้าแดงไปผูกที่บริเวณป้ายแยกราชประสงค์ นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ หนึ่งในแกนนำ นปช. เป็นต้น โดยในงานมีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเข้าร่วมทำบุญด้วย เนื่องจากมีบางส่วนแยกตัวไปร่วมงานทำบุญในโอกาสย้ายที่ทำการใหม่พรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกันบริเวณทางเข้าวัดปทุมวนารามฯ มีคนเสื้อแดงทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสวมชุดนักโทษ บนตัวเสื้อเขียนข้อความว่า "หยุดให้ร้าย ตาย 90 ศพ เจ็บ 1,000 กว่า ล่าจับแกนนำ กระสุนจริงทั้งนั้น" พร้อมล่ามโซ่ตัวเอง นั่งอยู่ใต้ร่มที่แขวนไว้ด้วยปืนพลาสติก ด้านข้างมีหุ่นที่แทนศพผู้เสียชีวิตโดยมีรถถังวางทับไว้นอนอยู่ ผู้ร่วมงานต่างพากันมุงดูด้วยความสนใจและจับกลุ่มพูดคุยถึงเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 19 พ.ค. โดยส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่าเหตุการณ์ที่โหดร้ายดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริง
นางพะเยาว์กล่าวว่า จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเกี่ยวกับการเสียชีวิตของลูกสาว และรัฐบาลพยายามทำคล้ายว่าลืมเรื่องดังกล่าวไปแล้ว นอกจากนั้นยังคอยให้ร้าย การรวมตัวกันทำบุญเพื่อผู้เสียชีวิต เช่นกรณีการทำบุญครบรอบวันเสียชีวิต 50 วัน นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมากล่าวหาว่าเป็นเพียงการทำบุญบังหน้า เพื่อหาพื้นที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงเท่านั้น ดังนั้นในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของลูกสาว จะไปจัดงานที่บ้านพักในวันที่ 28 ส.ค. จะขอรอดูว่ารัฐบาลจะกล่าวหาอะไรอีก พร้อมประกาศเชิญประชาชนทุกคนเข้าร่วมในวันดังกล่าวด้วย นอกจากนั้นยังระบุอีกว่า ในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา ยังมีการใส่ร้ายอีกว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นการยิงกันเองของผู้ชุมนุม ทำให้รู้สึกว่ารัฐบาลไม่ยอมที่จะหาความจริงในเรื่องสาเหตุการเสียชีวิตของลูกสาว เมื่อรัฐบาลพยายามทำให้เรื่องดังกล่าวเงียบไป กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจะร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อไม่ให้สังคมลืมเลือนความจริงที่เกิดขึ้นต่อไป
นัดหมาย - นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ผูกผ้าแดงป้ายแยกราชประสงค์ เนื่องในวันครบ 3 เดือนการล้อมปราบผู้ชุมนุม เมื่อ 19 ส.ค. พร้อมกับนัดหมายมารวมตัวกัน 19 ก.ย. วันครบ 4 ปีปฏิวัติ
ด้านนายวสันต์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ยังถูกรังควานไม่หยุดหย่อน มีคนคอยสะกดรอยตามอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไรอยู่ หลายครั้งเคยโทร.บอกให้เพื่อนขับรถคอยตามผู้ที่สะกดรอยเพื่อจับตัวมาถามว่าเป็นใครและตามเพื่ออะไร แต่กลุ่มคนเหล่านั้นมักรู้ตัวและหลบหนีไปได้ก่อน ขนาดถูกตามเข้าบ้านพักและให้เพื่อนดักหัวซอยท้ายซอยยังไม่เคยจับตัวได้สักครั้ง ส่วนกิจกรรมหลังร่วมพิธีทำบุญให้ผู้เสียชีวิตแล้ว คาดว่าในช่วงบ่ายจะไปงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากมีอาจารย์คณะนิติศาสตร์เชิญให้ไปพูดเกี่ยวกับเรื่องการละเมิดพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อให้บอกเล่าว่า ที่ผ่านมาถูกกระทำอะไรบ้างที่เป็นการละเมิดสิทธิ์ และการใช้ชีวิตปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์แล้ว นายสมบัติพร้อมคนเสื้อแดงอีก 2-3 คน เดินเท้าจากวัดปทุมวนารามฯ ไปยังบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการผูกผ้าแดงและปักดอกกุหลาบสีแดงที่ป้ายชื่อแยกราชประสงค์ พร้อมชูเศษกระดาษที่เขียนข้อความด้วยลายมือว่า "พบกัน 19 ก.ย. ราชประสงค์" พร้อมระบุเชิญชวนให้คนไทยทั่วประเทศและทั่วโลกร่วมกันทำกิจกรรม เนื่องในวันครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร 4 เดือนราชประ สงค์ ด้วยการสวมเสื้อแดงและทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์พร้อมกันทั่วโลก โดยพื้นที่ กทม. มีกิจกรรมสวมเสื้อสีแดงขี่รถจักรยานออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วนรอบพื้นที่ทุกแห่งที่มีการสูญเสีย ไปจบที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ผู้ที่จะเข้าร่วมให้เตรียมสวมเสื้อสีแดง ผ้าแดง และเทียนแดง มาให้พร้อมเพื่อร่วมกิจกรรมให้แดงทั่วราชประสงค์ ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกในการเข้าร่วมให้สวมเสื้อสีแดงอยู่บ้านเพื่อเป็นการร่วมใจกัน พร้อมประกาศว่า ตราบใดที่รัฐบาลทำเป็นแกล้งลืมเรื่องคนตายจากเหตุการณ์ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามดังกล่าว จะรวมตัวกันทำกิจกรรมทุกเดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 26 ส.ค. วันครบรอบการเสียชีวิต 100 วัน นอกจากการ ทำบุญแล้วยังจะมีการจัดกิจกรรมเดินจากวัดปทุมวนารามฯ ไปยังสี่แยกศาลาแดงเพื่อจูบแผ่นดินบริเวณดังกล่าวเป็นการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้มีเสียงร่ำลือกันในหมู่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทยว่า ไม่มีผู้สื่อข่าวคนไหนกล้าที่จะติดตามทวงถามความคืบหน้าเรื่องสื่อมวลชนต่างประเทศที่เสียชีวิต จากการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 10-19 พ.ค. เนื่องจากถูกคำขู่จากกลุ่มบุคลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ จนตกอยู่ในอาการหวาดผวา แต่ทั้งหมดยังยืนยันว่า แม้ระยะนี้จะไม่สามารถ ขยับตัวได้ แต่จะไม่ยอมให้เรื่องดังกล่าวเงียบหายไป เมื่อมีโอกาสจะหาทางเปิด โปงข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ปรากฏต่อสังคม
เวลา 15.00 น. ที่ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายสันติประชาธรรม ได้แก่ นายอนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ นายชัยธวัช ตุลาธน อาสาสมัครศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) และน.ส.ขวัญระวี วังอุดม อาสาสมัครศูนย์ ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าภายหลังการทำงานครบ 1 เดือน
นายชัยธวัช เปิดเผยว่า ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การจับกุมคนเสื้อแดง ภายหลังรัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ภาคอีสาน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.อุบลราชธานี จ.ขอนแก่น จ.มุกดาหาร จ.อุดรธานี และ จ.มหาสารคาม สภาพปัญหาที่พบคือ การแจ้งข้อกล่าวหาและการออกหมายจับแบบเหวี่ยงแห และหลักฐานในการแจ้งจับไม่ชัดเจน ยกตัวอย่าง ชาวบ้านใน อ.สว่างวีรวงศ์ จ.อุบล ราชธานี จำนวนกว่าครึ่งถูกออกหมายจับ โดยหลักฐานที่ใช้เป็นเพียงภาพถ่าย ซึ่งเห็นใบหน้าของผู้ถูกออกหมายจับไม่ชัดเจน บางรายถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแล้วนำรูปมาให้ชี้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่รูปตนเองเลยต้องปล่อยตัว
นายชัยธวัชกล่าว ส่วนจ.อุดรธานี ผู้ถูกจับกุมข้อหาวางเพลิงเผาศาลากลางรายหนึ่งบอกกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์ว่า แวะไปดูเพราะอยากรู้ว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไรเท่านั้น แต่พบมีการสลายชุมนุม เขาไม่รู้จะวิ่งไปทางไหน เพราะเจ้าหน้าที่ทหารตะโกนว่าใครไม่ได้ทำผิดอย่าหนี จึงนั่งนิ่งๆ ที่เดิม สุดท้ายกลับถูกจับในที่สุด นอกจากนี้ยังพบปัญหาในเรื่อง ผู้ถูกออกหมายจับไม่ทราบว่าตนเองถูกออกหมาย เพราะประชาชนที่ถูกออกหมายจับในหลายจังหวัดไม่ทราบว่าตนเองถูกออกหมาย กระทั่งถูกจับกุม บางรายไปร่วมชุมนุม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเผาศาลากลาง แต่กลับถูกแจ้งว่าเผาศาลากลาง ที่สำคัญบางรายไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมแต่อย่างใดแต่ในวันเกิดเหตุ ได้เข้าไปยืนสังเกต การณ์ เดินผ่าน ห้ามปราม หรือจอดรถไว้บริเวณ ใกล้เคียง กลับตกเป็นผู้ต้องสงสัยและถูกออกหมายจับ
"มีผู้ต้องหาจากมุกดาหารเล่าว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายตีศีรษะแตกก่อนจับกุมตัว โดยที่เขาไม่ได้ต่อสู้ขัดขวางใดๆ เลย ขณะที่บางรายถูกเตะด้วยร้องเท้าคอมแบตจนเลือดไหลออกจมูก ทำให้ปวดหัวมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะใช้กำลังทำร้ายขณะจับกุมและควบคุมตัว ขณะที่ผู้ต้องหาอีกจังหวัดถูกทหารทำร้ายร่างกายด้วยวิธีเอาปืนจ่อหัว ถีบที่ใบหน้า 4-5 ครั้ง จนกรามขวาหักและหมดสติ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการพูดจูงใจ ขู่ หรือใช้กำลังบังคับ เพื่อให้ให้รับสารภาพ"
นายชัยธวัชกล่าวว่า จากการทำงานมาระยะเวลาหนึ่งพบว่าผู้ต้องหายังไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงทนายความ หรือจำนวนทนายความไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ที่ถูกจับกุม สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพราะศาลเกรงว่าจะหลบหนี แม้บางคดีศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่ผู้ต้องหามีฐานะยากจนจึงไม่มีหลักทรัพย์มายื่นประกัน เพราะต้องใช้เงินประกันตั้งแต่ 1-5 แสนบาท นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบทางครอบครัว เนื่องจากผู้ต้องหาส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย จึงขาดเสาหลักในการทำมาหากิน และโรคประจำตัวหรือได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม ผลสำรวจพบว่าทั้ง 5 จังหวัด ที่กล่าวมามีผู้ต้องขังที่ป่วยเป็นโรคประจำตัว เช่น ที่เรือนจำ จ.อุดร ธานี ผู้ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ และโรคไต ที่เรือนจำ จ.อุบลราชธานี มีผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัว จำนวน 23 ราย จากทั้งหมด 45 ราย อาทิ ลมชัก เบาหวาน เลือดจาง ความดันสูง ไทรอยด์ และมีปัญหาทางจิต
น.ส.ขวัญระวี กล่าวว่า ยกตัวอย่างนาย ประยุทธ มูลสาร อายุ 54 ปี ผู้ถูกออกหมายจับ ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ระยะสุดท้าย แต่ไม่กล้าไปรายงานตัว เพราะกลัวไม่ได้รับสิทธิในการรักษาตัว เพราะแพทย์ให้ทำคีโม 9 ครั้ง แต่ทำไปได้เพียง 7 ครั้ง ก็มีการชุมนุมใหญ่ที่กทม. จึงตัดสินใจนำชาวบ้านเข้ามาร่วมชุมนุมอีกครั้ง เพราะคิดว่าร่างกายยังไหวอยู่ กระทั่งวันที่ 5 พ.ค. อาการป่วยกำเริบหนัก จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปรักษาที่บ้านเกิดอีกครั้ง และตั้งเวทีขึ้นบริเวณข้างศาลากลางจังหวัดเพื่อชุมนุมปราศรัยเป็นประจำทุกวัน กระทั่งวันที่ 20 พ.ค. ที่มีการเผาศาลากลาง นายประยุทธยืนยันว่าไม่รู้เรื่องและไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หลังจากนั้นจึงถูกออกหมายจับในข้อหายั่วยุ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และปลุกระดมผ่านวิทยุชุมนุม เขาจึงหลบหนีไปตามจังหวัดต่างๆ และไม่กล้าไปรายงานตัวเพราะถ้าถูกจับ กลัวจะไม่ได้รับการรักษา อาศัยกินยาแก้ปวด วันละ 4 เม็ด เพื่อบรรเทาอาการ
ส่วนนายอนุสรณ์ กล่าวว่า เครือข่ายสันติประชาธรรมขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลทั้งหมด 5 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ถูกออกหมายจับและถูกจับกุม ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเดือนเม.ย.และพ.ค.ที่ผ่านมา 2.ด้านสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ เหมาะสม เนื่องจากการบริการด้านการแพทย์ของเรือนจำมีเฉพาะยารักษาโรคพื้นฐานและไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ดังนั้นหากผู้ต้องหามีความจำเป็นที่จะได้รับการรักษาพยาบาลที่เกินกว่าเรือนจำจะสามารถให้บริการได้ พวกเขาควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมซึ่งอาจหมายรวมถึง การได้รับการประกันตัวเพื่อออกมารักษาตัวภายนอก 3.คดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุมเป็นคดีการเมือง ประกอบกับมีการประกาศจับผู้ต้องหาอย่างเหวี่ยงแหและคลุมเครือซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดังนั้นสมควรพิจารณากระบวนการออกหมายจับ โดยให้หาหลักฐานให้พร้อม สามารถฟ้องคดีได้ทันทีก่อนออกหมายจับ เมื่อจับมาแล้วให้ส่งฟ้องทันทีโดยไม่ต้องฝากขังอีก 84 วัน 4.การประกันตัว 1-5 แสนบาทต่อราย แต่เนื่องจากผู้ต้องหาส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่มีหลักทรัพย์หรือเงินประกันตัว ดังนั้นควรสั่งปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องอาศัยหลักประกัน และ 5.ควรปฏิบัติตามหลักสากลว่าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิด ดังนั้นรัฐต้องทบทวนกระบวนปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยเฉกเช่นผู้บริสุทธิ์ เช่น เรื่องการฝากขัง ควรยกเลิกการฝากขังทั้งหมด การออกหมายจับ ให้ออกหมายจับได้เมื่อมีหลักฐานพร้อมฟ้องคดีเท่านั้น ไม่ใช่จับตัวมาก่อนแล้วค่อยหาหลักฐานฟ้อง
วันเดียวกัน น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ถูกยึดป้ายและขัดขวางไม่ให้ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ขณะเดินทางมาบรรยายในงานคณะรัฐศาสตร์ ว่า การออกมาขัดขวางกลุ่มนักศึกษากลุ่มนี้เพื่อไม่ให้แสดงออกทางการเมืองนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางการเมืองได้ตามกรอบรัฐธรรมนูญ และนักศึกษากลุ่มนี้ก็เพียงต้องการที่จะสื่อสารข้อมูลให้กับผู้ที่เขาต้องการจะสื่อด้วยรับรู้ รับทราบถึงปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ควรที่จะรับฟัง และควรปล่อยให้เขาแสดงออกมาเต็มที่ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์ที่กลุ่มนักศึกษาและนักเรียน จ.เชียงราย ถูกจับกุมในข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งก็เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพเช่นกัน
น.พ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในหลายๆจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย และอุบล ราชธานี ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีและจะทำให้สถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงอยู่ตอนนี้เบาบางลง ลดความกดดันลงไปได้มาก
เพื่อไทย
Friday, August 20, 2010
ทำบุญครบ3เดือน อุทิศ91ศพ
เวทีมธ.ชำแหละ"พรก." ย้ำ"ศอฉ."เหวี่ยงแหจับ หมอนิรันดร์ประณาม ขวาง"นิสิตจุฬา"ชูป้าย