ที่มา ข่าวสด
การเมืองเดินเข้าสู่วาระสำคัญอีกครั้งในสัปดาห์นี้
การประชุมสภาผู้แทนฯเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ในวันที่ 18-19 สิงหาคมนี้
เป็นด่านอรหันต์ ที่รัฐบาลจะต้องแหกหักผ่านไปให้ได้อีกครั้ง
ถ้ายังต้องการความได้เปรียบในยุทธจักรการเมือง ที่ต่อสู้ชิงอำนาจกันอย่างแหลมคม
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเสียฟอร์มไปพอสมควร จากเหตุการณ์สภาล่มเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา
เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการประชุมครม.ในวันที่ 10 สิงหาคม ที่มีการเบรกโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่กระทรวงคมนาคม ผลักดันเข้าพิจารณาในครม.มา 4 ครั้งแล้ว
และยังโยงไปถึงวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งผบ.ตร.สำเร็จ ด้วยการสนับสนุนจากคนของภูมิใจไทยที่อยู่ในคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ได้แก่นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และนายมานิต วัฒนเสน ปลัดมหาดไทย
เมื่อรถเมล์ 4 พันคันต้องจอดแช่ที่ด่านสกัดของพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้เกิดเสียงขู่จากพรรคภูมิใจไทยทันทีว่า ให้จับตาการประชุมสภาในวันที่ 11 สิงหาคม
แล้วสภาก็ล่มเข้าจริงๆ
วิปรัฐบาลพยายามแก้แทนพรรคภูมิใจไทย แม้ว่าการทำหน้าที่ประธานสภาของนายชัย ชิดชอบ จากพรรคภูมิใจไทยในวันนั้น สร้างข้อสงสัยให้กับหลายๆฝ่าย
และยังเปิดเผยข้อมูลที่ว่าส.ส.ที่โดดประชุมจนสภาล่ม คือส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์
พร้อมกับแสดงสปิริตกล่าวขอโทษที่ประชาธิปัตย์ทำให้สภาล่ม
แต่ก็ไม่ช่วยให้ภาพความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรคหลักในรัฐบาล ลดความรุนแรงลง
รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาในตัวเองมาตั้งแต่ต้น
ทั้งการพึ่งพามือที่มองไม่เห็น การที่มีฝ่ายทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง ฯลฯ ทำให้เกิดข้อครหาในเรื่องความชอบธรรมมาตลอด
การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปกอดกับนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำภูมิใจไทย ถือเป็นการข้ามสายพันธุ์ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้
เมื่อตั้งรัฐบาลแล้ว แม้จะมีลักษณะของการ"ต่างตอบแทน" เออออห่อหมกกันไปในหลายๆเรื่อง
แต่อีกหลายๆเรื่องก็ไม่ราบรื่น
การผลักดันโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครง การใหญ่ เกิดเหตุการณ์ปีนเกลียวระหว่าง 2 พรรคใหญ่อยู่เรื่อยๆ
หลังเหตุการณ์สลายม็อบเสื้อแดง เกิดความ ระส่ำระสายในรัฐบาล เนื่องจากบางพรรค ไม่ต้องการร่วมรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
กลุ่มพญานาค กลุ่มโคราชของพรรคเพื่อแผ่นดิน ตัดสินใจโหวตสวน 2 รัฐมนตรีภูมิใจไทยในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ
และถูกปรับออกจากรัฐบาล เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้คะแนนเสียงของรัฐบาลลดวูบลง
ส่งผลเพิ่มความสำคัญให้กับพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากมีส.ส.เป็นกลุ่มก้อน หากขาดหายไปเมื่อไหร่ สถานะของรัฐบาลจะลำบากทันที
ในขณะที่ในทางการเมือง การร่วมอยู่ในรัฐบาลผสมเดียวกัน พรรคภูมิใจไทยเป็นฝ่ายเติบโต และได้เปรียบโดยตลอด
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะถดถอยลงไปเรื่อยๆ
การแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันอยู่ในที ทำให้ยิ่งนานวัน ความสัมพันธ์ระหว่างสองพรรคยิ่งห่างเหิน
แต่ก็แยกจากกันไปไหนไม่ได้
โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่คนเสื้อแดงยังตรึงกำลังคุมเชิง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็มีเหตุที่จะต้องเคลื่อนไหวต่อไป
และรัฐบาลเองยังไม่พร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งที่ตัวเองคุมเกมไม่ได้
ดังนั้นแม้พรรคภูมิใจไทย ไม่พอใจท่าทีของประชาธิปัตย์ในโครงการรถเมล์ 4 พันคันอย่างรุนแรง
แต่แกนนำประชาธิปัตย์ก็ยังเชื่อว่า ยังไม่มีเหตุผลที่พรรคไหนจะชิงทุบหม้อข้าวตัวเอง ด้วยการตีรวนหรือสร้างปัญหาในการลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ
นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล ถึงกับประกาศว่า โหวต 100 ครั้งชนะ 100 ครั้ง
นักการเมืองด้วยกัน ย่อมรู้ไส้รู้พุงกันดีว่า ไม่มีพรรคการเมืองไหนจะปฏิเสธวงเงินงบประมาณ 2.07 ล้านล้านบาท
ไม่ว่าจะเป็นยามปกติ หรือยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ไม่รู้จะยุบสภาเลือกตั้งวันไหน
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยก็รู้ดีเหมือนกันว่า พรรคประชาธิปัตย์เองก็ต้อง การใช้งบประมาณเช่นกัน ที่สำคัญยังต้องการยื้อเวลา ยืดการเลือกตั้งออกไปให้ยาวนานมากที่สุด
ทั้งยังพยายามหาเสียง เพิ่มต้นทุนให้ตัวเอง ด้วยการสกัดโครงการรถเมล์ ซึ่งในแง่หนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะเจ้าของพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องการเครดิตจากโครงการนี้
กรณีรถเมล์ 4 พันคัน จึงจะยังไม่จบง่ายๆ
และอาจเป็นชนวนระเบิดระหว่าง 2 พรรค เพราะพรรคภูมิใจไทยทุบโต๊ะเปรี้ยงปร้าง ประกาศแล้วว่า โครงการนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบของครม.ภายหลังการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ
ถือเป็นคำประกาศที่ท้าทายศักดิ์ศรีพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์อย่างแรง
ท่ามกลางเสียงพยากรณ์แบบ "ตอกลิ่ม" จากพรรคฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย ที่อ่านใจประชาธิปัตย์ออกมาดังๆ ว่า
หลังผ่านพ.ร.บ.งบประมาณ ประชาธิปัตย์อาจปรับครม.อีกครั้ง ทวงกระทรวงสำคัญคืนมา เพื่อสร้างผลงานแก้ตัว ก่อนยุบสภา
ตรงหรือไม่ตรงพรรคประชาธิปัตย์รู้ดี ปัญหาคือทำไม่ได้หรือไม่กล้าทำ