WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Wednesday, August 18, 2010

การฟื้นคืนพลังอนุรักษนิยมจารีตเป็น "ผู้เกินกว่าราชา"

ที่มา มคิชน

คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดโดย ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา วิเคราะห์การเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ของไทยจากสี่มิติ คือ วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจและสังคม ข้าพเจ้าประทับใจกับการวิเคราะห์ของท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องแนวคิดการเป็นสมัยใหม่จากสมัย ร.5 จนถึงปี 2523 (น.117-150) ทั้งนี้ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ ได้นำข้อมูลใหม่ๆ จากงานเขียนงานค้นคว้าเล่มใหม่ๆ และบันทึกความทรงจำของบุคคลสำคัญมาประกอบการวิเคราะห์และตีความ


จะขอนำประเด็นหลักๆ มาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบ โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 3 ช่วงดังที่ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ได้นำเสนอ


แต่จะหยุดอยู่ที่ พ.ศ.2523


1.เส้นทางและแนวคิดการเป็นสมัยใหม่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475


การวิเคราะห์ในส่วนนี้ ได้แบ่งช่วงสมัย ร.5 ร.6 และ ร.7 โดยละเอียดแต่เนื่องด้วยเนื้อที่จำกัด จะขอกล่าวโดยสรุป ณ ที่นี้


ในด้านวัฒนธรรมและสังคม รับเอาวิถีชีวิตแบบตะวันตกด้านวัตถุ เช่น การสวมเสื้อแบบฝรั่ง นั่งเก้าอี้ ใช้ช้อนส้อม การเลิกประเพณีหมอบคลาน


แต่ในเรื่องอุดมการณ์พื้นฐาน ยังยึดโยงกับจารีตเดิม คืออ้างอิงทุกอย่างในสังคมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่ตอนหนึ่งในราชประเพณีกรุงสยามประกาศว่า พระมหากษัตริย์ "เป็นที่เกิดแห่งยศถาบันดรศักดิ์" ในความเห็นของ อ.อรรถจักร "ปัจเจกชนนั้นไม่สามารถมีสถานภาพได้ด้วยตนเอง"


ร.6 ทรงพัฒนาอุดมการณ์ชาติ-กษัตริย์นิยม "ชาติไทย" ต้องมีประมุข "คือ พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนศีรษะของอินทรี ชาติจะขาดเสียมิได้ เป็นศูนย์รวมที่ทำให้อินทรีเป็นเอกภาพ" นอกจากนี้"ชาติ"ยังโยงใยกับศาสนาพุทธ


สำหรับที่ทางของชาวจีนและชาวนา ร.6 ทรงเห็นว่าหากชาวจีน "จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม เขาจึงจะเป็นไทยแท้" สำหรับชาวนาควร "ตั้งจิตประพฤติตนให้เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอันประเสริฐ" มอบกายบอกยอมด้วยความเต็มใจว่า "ข้าเจ้าผู้เป็นไทยใจจงรักภักดี.........ขอพึ่งพระสมภาร ทุกวันวารขอเป็นข้า........ชีวิตไม่เสียดาย ทูลถวายเป็นพลี" ให้มีการ "ฝึกสอนกล่อมเกลา....ให้ได้รูปอย่างที่เรียกว่าเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอันดี"


ในทางเศรษฐกิจเส้นทางเป็นสมัยใหม่ก่อน 2475 ส่งเสริมทุนนิยมการค้า โยงกับการผลิตเกษตร แต่ไม่มีนโยบายเปลี่ยนสู่ระบบโรงงานอุตสาหกรรมที่กว้างขวาง งบประมาณรัฐมุ่งไปที่การรักษาความมั่นคงของประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยและราชสำนัก งบการศึกษามีสัดส่วนร้อยละ 3 ของงบทั้งหมดของประเทศ (พ.ศ. 2438-2463)


ในทางการเมือง บทบาทรัฐเน้นไปที่การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพฯ รวมทั้งระบบภาษีอากร การรักษาความมั่นคง สำหรับส่วนภูมิภาคจัดตั้งระบบเทศาภิบาล ดร.ชัยอนันต์ มีความเห็นว่ารัฐบาลในสมัยนั้น "ยังไม่ได้นำมาพิจารณาให้ความสำคัญ...... [เรื่อง] การให้บริการแก่ประชาชน..........การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครอง โดยมีรัฐสภาและสิทธิเลือกตั้งทั่วไป"


ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ กล่าวถึงว่า "ร.7 ทรงคิดเรื่องการพระราชทานรัฐธรรมนูญ.....เป็นความคิดเฉพาะของพระองค์ท่าน แต่ทว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดหลักว่าด้วยระบอบการปกครองของประเทศ" ร่างรธน. ในสมัยนั้นคล้ายกับ รธน.เมจิของญี่ปุ่นที่ให้อำนาจจักรพรรดิมาก และเมื่อมีผู้ไม่เห็นด้วย ร.7 ก็ไม่ได้พระราชทาน รธน.


ทรงให้สัมภาษณ์ว่า ต้องให้ประชาชนเรียนรู้การเลือกตั้งและการมีเสียงในการปกครองระดับท้องถิ่นไปก่อน ในประเด็นนี้นั้นอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยในขณะนั้น (พ.ศ.2471-2479) บันทึกไว้ว่า "....ผู้เขียนมีความเห็นว่า รอไปอีกหนึ่งร้อยปีก็ไม่มีวันสำเร็จ"


โดยสรุป แนวคิดการเป็นสมัยใหม่ก่อน 2475 นั้นคือ ส่งเสริมทุนนิยมการค้า ใช้ประโยชน์จากความเจริญทางทางเทคโนโลยีตะวันตก ไม่มีความสนใจคิดค้นพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการก่อร่างสร้างอุตสาหกรรมระบบโรงงาน แต่รักษารัฐรวมศูนย์อำนาจ และวัฒนธรรมจารีตของศักดินาไว้อย่างแข็งขัน เชิดชูสังคมมีช่วงชั้น เป็นอัตลักษณ์ของความเป็นสังคมและวัฒนธรรมไทย


2.แนวคิดการเป็นสมัยใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงรัฐประหาร 2490


2475 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญด้านการเมือง ในการวิเคราะห์ของ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ "อุดมการณ์ของ 2475 คือการเปลี่ยนระบบสังคม ล้มระบบศักดินา ก่อตั้งระบบใหม่.....และพยายามมุ่งสู่การสถาปนายุคศรีอารยะของราษฎร" ดังที่คณะราษฎรประกาศว่า "ประเทศเรานี้เป็นของราษฎรไม่ใช่ของกษัตริย์..."


คณะราษฎรเสนออุดมการณ์ประชาธิปไตยและไม่รับรัฐและวัฒนธรรมศักดินา


ในทางเศรษฐกิจ คณะราษฎรประกาศในเค้าโครงเศรษฐกิจ พ.ศ.2476 ต้องการให้กระจายอำนาจการปกครองและการจัดการเศรษฐกิจไปอยู่ที่ราษฎร โดย "แบ่งการประกอบเศรษฐกิจนี้เป็นสหกรณ์ต่างๆ" นายปรีดีมุ่งหวังให้ "ปรับปรุงการภาษีอากร พยายามเปลี่ยนระบบราชการเก่า....จัดให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขึ้นกับกระทรวงการคลัง"


ในด้านวัฒนธรรม "นายปรีดีเห็นความสำคัญ...ของสถาบันชุมชนของประชาชน...มุ่งให้ตำบลเป็นองค์กรสังคมสมัยใหม่" การประกาศให้วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ และให้วันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชทาน รธน.เป็นวันรัฐธรรมนูญ แสดงจิตสำนึกของการสถาปนาอีกสมัยหนึ่งที่เน้น "ความเสมอภาคระหว่างรัฐบาลหรือการปกครองกับประชาชน"


การยกเลิกพิธีกรรมที่ส่งเสริมอำนาจของกษัตริย์ เช่น พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ประเพณีการหมอบคลาน พระราชพิธีแรกนาขวัญ การยกเลิกบรรดาศักดิ์ คือการลดทอนสัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ประกาศว่า ทุกคนเสมอภาคกัน


การเพิ่มงบประมาณการศึกษาและสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อว่าคนทั่วไปจะมีโอกาสศึกษาระดับสูงภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญ


แต่คณะราษฎรมีอำนาจอยู่เพียง 9 ปี อีกทั้งยังมีสงครามโลกครั้งที่สอง มาทำให้ความพยายามในการพัฒนาเศรษฐกิจ และการทำนุบำรุงประชาธิปไตยติดขัด

ที่สำคัญฝ่ายอนุรักษ์พยายาม "ดิสเครดิต" (discredit) 2475 ทำให้ 2475 ไม่น่าเชื่อถือ


การดีสเครดิตนี้ทำโดยให้เหตุผลว่า


1) พระมหากษัตริย์ประสงค์จะให้ประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่ทรงเห็นว่าราษฎรยังไม่พร้อม จึงจะรอให้พร้อม คณะราษฎรชิงตัดหน้าไปเสียก่อน


และ 2) ระบอบที่คณะราษฎรเสนอไม่ใช่ประชาธิปไตย โดยอ้างถึงพระดำรัสของ ร.7 เมื่อสละราชสมบัติ (พ.ศ.2477) ว่า ไม่ทรงยินยอมยกอำนาจให้ผู้ที่ใช้อำนาจโดยสิทธิขาดโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร


ในเรื่องนี้ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่นำมาอ้างทั้ง 2 ข้อ ข้อมูลที่มีอยู่ชี้ว่า ส่วนใหญ่ของชนชั้นนำไทยก่อน 2475 คิดว่าราษฎรไม่พร้อมที่จะปกครองตนเอง ทั้งๆ ที่แนวคิดและขบวนการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีขึ้นแล้วตั้งแต่เหตุการณ์ ร.ศ.103 (พ.ศ.2428) และร.ศ.130 (พ.ศ.2454) อุดมการณ์ของคณะราษฎรเป็นประชาธิปไตยและสืบเนื่องกับเหตุการณ์ก่อนหน้าทั้งสองนี้


สำหรับเหตุผลข้อที่ 2 ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ ชี้ให้เห็นว่า "คำประกาศรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติการสำคัญหลายประการ...[ทำให้เชื่อว่า] คณะราษฎรมีความบริสุทธิ์ใจที่ต้องการจะประดิษฐานหลักประชาธิปไตยของราษฎรให้ถาวรบนพื้นแผ่นดินไทย"


ในการประเมินคณะราษฎรนั้น ควรให้น้ำหนักกับหลักการและอุดมการณ์ของขบวนการ 2475 ที่มี "จุดประสงค์สร้างระบบสังคมและวัฒนธรรมที่ประชาชนมีเสรีภาพและความเสมอภาค ประชาชน...มีพื้นที่และเป็นผู้อำนวยการ


การที่รัฐบาลคณะราษฎรบางครั้งอาจใช้อำนาจเข็มงวดเป็นเรื่องที่ควรวิจารณ์ แต่ [ศ.ดร.ฉัตรทิพย์]เห็นว่าไม่เป็นสิ่งที่ลบล้างคุณูปการทางด้านอุดมการณ์ และหลักการของคณะฯ และการใช้อำนาจเข้มงวดมากขึ้น...นี้เกิดขึ้นหลังสงครามกลางเมืองกรณี "ขบวนการบวรเดช" พ.ศ.2476 และความพยายามอย่างรุนแรงที่จะฟื้นคืนอำนาจของคณะฝ่ายเจ้า"


3.รัฐประหาร 2490 จนถึงปี 2523


เหตุการณ์ในปี 2490 ยุติบทบาทของคณะราษฎรเป็นจุดหักเหสำคัญ โดยเป็นการหวนกลับไปสู่แนวคิดรับความเจริญทางวัตถุจากตะวันตก แต่คงไว้ซึ่งรัฐและวัฒนธรรมจารีตของระบบศักดินาแบบสมัยก่อน 2475


ข้อมูลใหม่จากเอกสารชิ้นใหม่ๆ (เช่น 1 ศตวรรษศุภสวัสดิ์ และงานค้นคว้าของ ดร.สรศักดิ์ ส.ต.อ.เฉียบ อ.ณัฐพล) ทำให้ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ ต้องประเมินรัฐประหาร 2490 ใหม่ โดยได้เปลี่ยนจากที่เคยคิดว่า เป็นการกระทำของทหารและเป็นจุดเริ่มก่อตัวของระบอบเผด็จการทหาร ความเข้าใจใหม่ คือ รัฐประหาร 2490 "มีวัตถุประสงค์ล้มล้างอำนาจของคณะราษฎร เป็นปฏิปักษ์ทางอุดมการณ์ต่อคณะราษฎร.....เป็นการใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นการใช้ประโยชน์จากความคับแค้นใจของทหารกลุ่มหนึ่ง ที่คิดว่าถูกรัฐบาลและคณะเสรีไทยกระทำ"


การกลับไปสู่ระบบจารีตนิยมแนวศักดินาก่อน 2475 ชัดเจนยิ่งขึ้น หลัง พ.ศ.2500 ในสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์


หลัง 14 ตุลา 2516 รูปลักษณ์ของรัฐไทยปรับเปลี่ยนไปบ้าง แต่ไม่ได้เปลี่ยนเส้นทางการเป็นสมัยใหม่ ดังที่งานของประจักษ์ ก้องกีรติ ได้ให้ภาพไว้อย่างดี


ความพยายามกลับไปสู่ระบบจารีตนิยมสะท้อนให้เห็นในทฤษฎีราชประชาสมาศัยของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ซึ่งต้องการตอบโต้แนวคิด 2475 และปรับอุดมการณ์จารีตในสมัยที่แนวคิดประชาธิปไตยตะวันตกแพร่เข้ามาในหมู่ชนชั้นกลางและนักศึกษา คือ


"ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เสนอให้พระมหากษัตริย์กับประชาชนร่วมกันปกครองแผ่นดิน ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบประชาธิปไตย และให้ประชาชนมีอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบประชาธิปไตยที่แล้วมา"


ม.ร.ว.คึกฤทธิ์พยายามขยายความว่า "พระมหากษัตริย์หมายถึงเฉพาะพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ในฐานะบุคคล ไม่ได้หมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทฤษฎีราชประชาสมาศัยในความหมายสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการทั่วไป ก็ถูกอ้างถึงต่อมาและบางครั้งได้ถูกเสนอเป็นแนวทางของรัฐไทย"


ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ ยอมรับว่า "พลังอนุรักษนิยมจารีตมีอำนาจมากในสังคมและวัฒนธรรมไทยตลอดมา และหลังช่วงทศวรรษของคณะราษฎร พลังนี้ได้ฟื้นคืน" แต่ก็ได้ชี้ให้เห็นด้วยว่า ร.7 "ทรงมีจิตใจแบบลิเบอรัล(liberal)......ในพระราชหัตถเลขาประกาศสละราชสมบัติ ได้ทรง ′เต็มใจที่จะสละอำนาจ....ให้แก่ราษฎร′.......ทรงเลือกที่จะรับข้อเสนอของคณะราษฎร ที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แทนที่จะต่อสู้ด้วยอาวุธ ทั้งๆ ที่หากทรงเลือกที่จะสู้ยังมีโอกาสชนะอยู่ ทรงตัดสินใจดังกล่าว...ทรงรู้สึกว่า จะนั่งอยู่บนราชบัลลังก์ที่เปื้อนโลหิตไม่ได้ และหากจะทรงสละราชย์ทันที


′อาจจะมีการรบกันจนนองเลือดทั้งยุ่งยากต่างๆ...′"


ดังนั้นเมื่อพระมหากษัตริย์ (ร.7) ทรง "เต็มใจที่จะสละอำนาจ....ให้แก่ราษฎร" เราจึงจะต้อง "ให้ความสำคัญอย่างมากต่อพระประสงค์ รับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ"


พลังอนุรักษนิยมจารีตที่พยายามฟื้นคืนจึงเป็น "ผู้เกินกว่าราชา" ดังที่นายปรีดีได้ตั้งข้อสังเกตไว้


ที่ข้าพเจ้าได้พยายามนำเสนอแบบรวบยอดนี้ เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของหนังสือ การเป็นสมัยใหม่กับแนวคิดชุมชน ของ ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ยังมีประเด็นและเรื่องราวด้านอื่นๆ เกี่ยวกับสำนักคิดและประสบการณ์ในหลายประเทศอีกมาก ขอแนะนำให้รีบหาอ่านโดยพลัน