(18 ส.ค.53) กลุ่มนิสิตกลุ่มหนึ่งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจ้งว่า วันนี้ นิสิตจุฬาฯ ประมาณ 7-8 คน ซึ่งทำกิจกรรมถือป้ายข้อความเกี่ยวกับเสรีภาพและประชาธิปไตย ถูกยึดป้ายและถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยใช้กำลังขัดขวาง ก่อนจะยื่นจดหมายให้นายกฯ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่สังหารประชาชน
กลุ่มนิสิต ระบุว่า ในงานวันครบรอบสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ไปกล่าวปาฐกถาเรื่องการกระจายอำนาจ ที่จุฬาฯ โดยนิสิตจุฬาฯ กลุ่มนี้ ต้องการยื่นจดหมายร้องเรียนถึงปัญหาการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และความหวาดกลัวของประชาชนภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยกลุ่มนิสิตได้เตรียมแผ่นป้ายกระดาษแข็ง 7 ใบ มีข้อความ ดังนี้
“จะหนึ่งคน หรือแสนคน รัฐบาลก็ต้องฟัง” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
"ผมอยากเห็นรัฐบาลมีบทบาทในการคุ้มครองประชาชนมากกว่านี้" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
"ยุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชน ดีกว่ารัฐบาลอยู่อย่างนี้แล้วพังไปเรื่อยๆ" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“หยุดปิดกั้นความคิด หยุดใช้ พ.ร.ก.”
“Political action is the highest responsibility of a citizen.” John F. Kennedy
“Justice delayed is democracy denied.” John F. Kennedy
“Those who make peaceful revolution impossible will make violent revolution inevitable.” John F. Kennedy และ
“Forgive your enemies, but never forget their names.” John F. Kennedy
รายงานข่าวแจ้งว่า นักศึกษายังไม่ทันจะได้แสดงข้อความ แผ่นป้ายส่วนหนึ่งก็ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยึดไป หลังจากนั้น แผ่นป้ายอีกส่วนหนึ่งก็ถูกนายวีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยึดไป โดยมีการยื้อแย่งกับนิสิตพักใหญ่ โดยนายวีระศักดิ์ไม่ยอมให้นิสิตแสดงความคิดเห็นโดยการชูป้าย และได้กล่าวว่า “นี่ไม่ใช่ที่จุฬาฯ นี่เป็นที่ของผม ฟ้องผมได้เลย”
นายวีระศักดิ์ ขณะโต้เถียงกับนิสิต
ในเวลาเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ได้เดินลงจากอาคารหลังจบการปาฐกถา นิสิตหญิงคนหนึ่งในกลุ่มได้พยายามนำจดหมายไปยื่นให้นายกฯ แต่ถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกักตัว ด้วยการเหนี่ยวแขนไว้อย่างรุนแรง และดันตัวไปจนชิดบันได จนนิสิตต้องตะโกนออกมาว่า “ท่านนายกฯ คะ!” เจ้าหน้าที่จึงปล่อยตัว ทำให้ยื่นจดหมายได้สำเร็จ แต่ไม่สามารถชูแผ่นป้ายอย่างสงบในมหาวิทยาลัยที่ตนเองศึกษาอยู่ได้
ร้องเลือกตั้งใหม่ เป็นการฟังเสียงประชาชนที่ง่ายที่สุด
สำหรับเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึก นิสิตกลุ่มนี้ได้เสนอให้รัฐบาลต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันที เนื่องจากมองว่าการเลือกตั้งจะเป็นการกระจายอำนาจ และการรับฟังความเห็นประชาชนที่ดีที่สุด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่สังหารประชาชนด้วย
นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ความปรองดองสามัคคีไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาโฆษณาหรือบอกให้เกิดขึ้นได้ แต่ต้องเกิดจากการยอมรับความต่าง พร้อมกับการยอมรับผิดต่อการกระทำกับประชาชน การปราบปรามความเห็นต่าง และการโฆษณาชวนเชื่อผ่านกลไกรัฐ ไม่ว่าจะเป็น คุก ศาล ทหาร ตำรวจ โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่มีแต่สร้างความขัดแย้งและเพิ่มพูนความโกรธแค้นแก่ประชาชน
จดหมายระบุว่า การปฏิรูปการเมืองบนกองเลือดเป็นสิ่งที่ไร้ค่า และย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องคิดถึงกระบวนการรับฟังความเห็นที่ซับซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณ ทางออกง่ายๆ ตรงไปตรงมา สามารถดำเนินการได้ผ่านการเลือกตั้ง อันถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ง่ายที่สุด
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
---------------------------------------------
(จดหมายเปิดผนึก)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ 18 สิงหาคม 2553
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
วันที่ 18 สิงหาคม 2553 ขณะที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิกำลังแสดงปาฐกถาเรื่องการกระจายอำนาจ พร้อมทั้งโวหารที่สวยงามเกี่ยวกับการคืนอำนาจให้กับประชาชน ณ ประเทศนี้เมื่อไม่นานมานี้มีประชาชนจำนวนมหาศาลรวมตัวกันเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล คืนอำนาจให้แก่พวกเขา การชุมนุมเรียกร้องที่ยาวนาน จบลงด้วนการนองเลือด การปราบปรามของรัฐบาลยังผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าหนึ่งร้อยชีวิต เวลาล่วงมาเป็นเวลากว่าสามเดือนแล้ว...ดูเหมือนรัฐบาลจะลืมไปแล้วว่า ได้ทิ้งบาดแผลอะไรไว้กับประชาชนผู้สูญเสีย ที่ซึ่งไม่มีถ้อยคำแสดงความเสียใจใดๆ จากผู้นำรัฐบาล
หลังการสูญเสีย รัฐบาลพยามรณรงค์เรื่องความสมานฉันท์ และสามัคคีแบบที่ผู้นำไทยในอดีตเคยทำหลังจากมีการสังหารหมู่ประชาชนใจกลางมหานครแห่งนี้ แต่ความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อรัฐบาลยังคงปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง ด้วยเครื่องมืออย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคมถูกควบคุมตัว รวมถึงประชาชนธรรมดาที่มีความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ยังคงถูกคุกคามและจับกุมอย่างต่อเนื่อง ด้วยข้อหาการเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติและรัฐบาล
การดำเนินการของรัฐบาลมีแต่สร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาชนให้ทวีคูณขึ้น นายกรัฐมนตรีลืมสัญญาเรื่องการคืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการเลือกตั้ง แนวทางการสร้างความสามัคคีผ่านการปราบปราม และไม่ให้พื้นที่ความเห็นที่แตกต่างกันในสังคม จะนำสู่การล่มสลายของสังคมในที่สุด ล่าสุดเพื่อนเยาวชนนักกิจกรรมของเราที่เชียงราย ถูกควบคุมตัว จากการถือป้าย “ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์” การควบคุมความเห็นที่แตกต่างกันในฐานะเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงและมีความบกพร่องทางจิตนั้น ไม่สามารถเป็นทางออกให้แก่สังคมได้อย่างแน่นอน
รัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้อย่างไร ในประเทศที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และไร้หลักประกันใดๆ ในชีวิต ประชาชนใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกไร้ซึ่งอดีต ปัจจุบันและอนาคต พวกท่านตอบสนองข้อเรียกร้องเรื่องการยุบสภาอันถือเป็นข้อเรียกร้องอันน้อยนิดของพวกเขาด้วยกระสุนปืน และการปราบปราม หลังจากพวกท่านสังหารญาติพี่น้องและมิตรสหายของพวกเขาแล้ว พวกท่านยังคงปราบปรามพวกเขาและโฆษณาชวนเชื่อให้พวกเขาหลงลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมา....ความสามัคคีย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นในสังคมแห่งการปราบปราม
เพื่อพิสูจน์ความจริงใจของพวกท่าน ที่กำลังพูดด้วยโวหารที่สวยงามเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ และการรับฟังความเห็นของประชาชน พวกเราในฐานะตัวแทนของกลุ่มกิจกรรมเยาวชน มีข้อเสนอดังต่อไปนี้
1.การกระจายอำนาจ และการรับฟังความเห็นประชาชนที่ดีที่สุดคือการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่ดี แม้ท่านจะนำเสนอคุณธรรมที่สูงส่งแต่สังคมปราศจากเสรีภาพในการรับฟังความเห็น คุณธรรมของท่านก็ไม่ต่างจากข้ออ้างของเผด็จการ....ดังนั้นรัฐบาลต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ทันทีพร้อมดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่สังหารประชาชน
2.ความปรองดองสามัคคี ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาโฆษณาหรือบอกให้เกิดขึ้นได้ แต่ต้องเกิดจากการยอมรับความต่าง พร้อมกับการยอมรับผิดต่อการกระทำกับประชาชน การปราบปรามความเห็นต่าง และการโฆษณาชวนเชื่อผ่านกลไกรัฐ ไม่ว่าจะเป็น คุก ศาล ทหาร ตำรวจ โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่มีแต่สร้างความขัดแย้งและเพิ่มพูนความโกรธแค้นแก่ประชาชน
3.การปฏิรูปการเมือง บนกองเลือดเป็นสิ่งที่ไร้ค่า การตั้งคณะกรรมาธิการที่มิได้มีความเห็นชอบจากประชาชนด้วยหมู่คณะอภิสิทธิ์ชนที่เห็นดีเห็นงามกับการสังหารหมู่ประชาชน....ท่านไม่จำเป็นต้องคิดถึงกระบวนการรับฟังความเห็นที่ซับซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณ ทางออกง่ายๆ ตรงไปตรงมา สามารถดำเนินการได้ผ่านการเลือกตั้ง อันถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ง่ายที่สุด
จงคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็วไวขณะนี้ประชาชนจำนวนมหาศาลยังคงเชื่อมั่นวิธีการเปลี่ยนแปลงผ่านช่องทางทางประชาธิปไตย เพราะพวกเขายังคงเชื่อว่าเป็นหนทางที่ยังคงรับประกันซึ่งอำนาจของพวกเขา หากรัฐบาลยังคงรีรอและปฏิรูปการเมืองเพื่อสนองประโยชน์ต่อชนชั้นอภิสิทธิ์ชนเพียงลำพัง ท้ายที่สุดแล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้นย่อมไม่สามารถแก้ไขได้ผ่านช่องทางรัฐสภาในที่สุด