ที่มา ประชาไท
ใน งานชุมนุมปาฐกถา ‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ ในวาระอายุ 70 ปี ‘เกษียร’ ปาฐกถา เรื่อง “ธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาล: จากไอเอ็มเอฟสู่ใต้ร่มธรรมราชา”
เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นกล่าวถึงชาญวิทย์ เกษตรศิริ ว่า เป็น 1 ในครู 4 คนที่เปลี่ยนวิธีมองโลกของตน พร้อมระบุว่าหลังรัฐประหาร ชาญวิทย์ถือเป็นหลัก เป็นที่พึ่ง เป็นแบบอย่างของนักวิชาการรุ่นลูกหลาน เพราะยึดมั่นในหลักบางอย่าง ซึ่งตนวิคราะห์ได้ว่าคือ 1.ชาญวิทย์เข้าใจว่าเป้าหมายทางการเมืองที่สุดโต่งจะทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ ต่อให้เป็นเป้าหมายที่ดี 2.ยึดหลักวิธีการสำคัญกว่าเป้าหมาย ในระยะที่ผ่านมา ในนามของเป้าหมายที่ดี สังคมไทยไม่เลือกวิธีการ รัฐประหารก็ทำ ความรุนแรงก็ใช้ โกหก ใส่ร้าย ป้ายสี ดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การรัฐประหารของ ‘คะป๊ก’ (คปค.) อยากต่อต้านคอร์รัปชั่น ฟื้นฟูความสามัคคี ปกป้องสถาบัน จนปัจจุบันถามว่าทั้งหมดเกิดขึ้นหรือไม่ด้วยวิธีการรัฐประหาร 3.ชาญวิทย์พิสูจน์ให้เห็นว่าคำโกหกป้ายสีผู้อื่นไม่ยั่งยืน
“บทเรียน สำคัญจากอาจารย์ชาญวิทย์คือ พลังการเมืองใดละทิ้งหลักการเหล่านี้ ถึงชนะใหญ่โตก็ชั่วครู่ชั่วยาม ไม่ยั่งยืน รังแต่พ่ายแพ้ เพลี่ยงพล้ำ เสื่อมถอย แตกแยก หดเล็กในระยะยาว เราพอเห็นกันอยู่ว่าตอนนี้ใช้วิธีการเลวร้ายทำลายพวกพ้องตัวเองแล้วตอนนี้ สุดท้ายวิธีการเลวร้ายดังกล่าวจะทำลายตัวผู้ใช้เองในที่สุด”
เกษียร ได้เข้าสู่การบรรยายในหัวข้อ “ธรรมรัฐ/ธรรมาภิบาล: จากไอเอ็มเอฟสู่ใต้ร่มธรรมราชา”โดยระบุว่าอยากวิจารณ์การนำเข้ามาเรื่องธร รมาภิบาลในสังคมไทย จากมุมมองทางการเมืองวัฒนธรรมไทย รวมทั้งการนำไปใช้ และการเคลื่อนเวลาใช้จริง ซึ่งแนวคิดบางส่วนนำมาจากบทความ Words in Motion โดยเริ่มต้นแนะนำลัทธิช็อกแห่งเสรีนิยมใหม่ อ้างจากแนวคิด ‘มิลตัน ฟรีดแมน’ ซึ่งนาโอมิ ไคลน์ นักวิชาการฝ่ายซ้ายตีความว่าเป็นลัทธิช็อกซึ่งมีหลักการในการทำการตลาดแนว คิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่กับนักการเมือง โดยฉวยใช้วิกฤตไปผลักดันนโยบายที่เอื้อกับเอกชน ขณะที่ฟรีดแมนพูดถึงลัทธินี้ว่า มีแต่วิฤตเท่านั้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้ มันจะเกิดจากความคิดที่เรียงรายล้อมรอบ เราต้องพัฒนาทางเลือกต่างๆ จากนโยบายเดิม ประคับประคองเผื่อไว้ จนกว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ใน ทางการเมือง
สำหรับเมืองไทยและเอเชียตะวันออกนั้นมีภาวะช็อกตอนมี วิกฤตต้มยำกุ้ง ทางเลือกถูกยัดเยียดมาจากภายนอก โดยไอเอ็มเอฟ ทำให้แนวนโยบายของรัฐต้องเปลี่ยนไปเพราะเงื่อนไขการกู้เงินไอเอ็มเอฟ ต้องเปิดเสรี ถามว่าอะไรคือกระบวนท่าตั้งรับกับการช็อค สิ่งเราใช้มาตั้งแต่ ร.5 คือ รับรูปแบบไว้ก่อน เช่น มีระบบราชการ ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ ทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ แต่เนื้อหาเราเลือกบางอย่าง แล้วโยนทิ้งบางอย่าง โดยใช้เกณฑ์ “การรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างอำนาจเดิม” ในการคัดเลือก
จาก นั้นเกษียรเสนอให้เห็นถึงความสำคัญในการแปลศัพท์ใหม่ๆ ที่สังคมไทยรับจากภายนอกให้เป็นภาษาไทย โดยชนชั้นนำยึดหลัก คุมคำ > คุมความหมาย > คุมความคิด >คุมคน โดยยกตัวอย่างคำเช่น ประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบันเรียกติดปากว่า ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ความหมายเดิมที่ ร.6 แปลเป็น ประชาธิปตัย ซึ่งหมายถึง รีพลับริก อันหมายถึง ไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน มีแต่ราษฎร แต่คำว่าประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นมาได้เพราะการประนีประนอมกับคณะราษฎร ทำให้เปิดช่องความเป็นไปได้ให้ใช้คำอย่างปัจจุบัน
เกษียรยกตัวอย่าง ต่อว่า ในยุคหลังก็มีหลายคนที่เป็กันชนรับแรงช็อคแบบไทยๆ โดยยกตัวอย่างคำว่า “ธรรมรัฐ” ซึ่งชัยวัฒน์ สถาอานันท์นิยามให้ธรรมะมีอำนาจกำกับรัฐ ธีรยุทธ บุญมี นิยามอีกแบบหนึ่งว่าเป็นการหาฉันทามติร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน ประชาสังคม ขณะที่อานันท์ ปันยารชุน นิยามว่าเป็นการเน้นเรื่องการจัดการ ประสิทธิภาพ ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่ประเวศ วะสี หมายความไปถึงชุมชนนิยม ถักทอสายใยสังคมเพื่อเพิ่มพลังของประชาสังคม
“ไอเอ็มเอฟคงงง ส่งคำนี้มาแล้วแตกเป็น 5 เจ้า” เกษียรกล่าว
เกษียร กล่าวต่อว่า 14 ปีต่อมา ผลของการผลิตคำพวกนี้สู้ไอเอ็มเอฟได้แค่ไหนนั้น เขาเห็นว่าพอต้านทานไว้ได้บางส่วน แม้มีแรงต้านจากภาคประชาสังคมแต่ทุกอย่างก็ดำเนินไป เมื่อมาถึงยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เดินนโยบายโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ แต่บริหารจัดการเอง ไม่ใช่เอาแต่ทำตามคำสั่ง แต่ก็เอาโอกาสใหม่ๆ ให้พวกพ้อง จึงถูกโค่นโดย คปค. จากนั้นรัฐบาล พล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในทางปฏิบัติแปลว่า เศรษฐกิจโลกภิวัตน์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้ปิดตลาด แต่ความเสี่ยงต้องอยู่ใต้บริหารจัดการโดยรัฐไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็น ประมุข
ด้านเอ็นจีโอ แรงงาน ปัญญาชน ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกนิติบัญญัติ (สนช.) จำนวนมาก พลังเหล่านี้แยกกันปฏิรูป มีความพยายามยกเลิกร่างกฎหมายการแปรรูป แม้ไม่สำเร็จทั้งหมด แต่หลังจากนั้นดูเหมือนการแปรรูปดูเหมือนจะหยุดไป ส่วนคำว่าธรรมรัฐถูกทำให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน แปลใหม่เป็นธรรมาภิบาล และไปอยู่ในกลไกราชการด้วย
เกษียรกล่าวว่า การทำให้ธรรมรัฐเป็นเรื่องการเมือง ใน 4-5 ปีนี้ ตกอยู่ใต้อำนาจนำของพลังภาคประชาชน-ราชาชาตินิยม ธรรมรัฐ ถูกใช้เป็นคำขวัญต่อต้านคอร์รัปชั่นโดยทั่วไป และถูกใช้ต่อต้านทักษิณเป็นการเฉพาะ ทำให้คำนี้พลิกผันไปตามสถานการณ์การเมือง สุดท้าย พลังการเมืองบางกลุ่มได้นำคำนี้ไปใช้ จนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังแอนตี้ประชาธิปไตย
จากนั้น เกษียร ยกตัวอย่างการกล่าวถึงและให้ความหมายของ “ธรรมรัฐ” โดยบุคคลต่างๆ เช่น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กล่าวเมื่อ 2547 อธิบายว่า ธรรมรัฐแบบไทยเกิดก่อนตะวันตกหลายสิบปี ดังปรากฏในปฐมบรมราชโอการในพระราชพิธีบรมราชาภิเสกที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นี่คือกุศโลบายแบบฉบับของอนุรักษนิยมในการรับมือกับวาทกรรมต่างชาติว่า “ไม่มีอะไรใหม่”
ขณะที่สมุดปกขาว คมช. (2549) ก็มีการอ้างว่าถึงเหตุผลในการทำรัฐประหารว่าการบริหารประเทศด้วยเครื่องมือ ในระบอบประชาธิปไตย คลายเคลื่อนไปจากหลักการที่แท้จริงโดยขาดธรรมาภิบาล ทำให้คำว่าธรรมรัฐกลายเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมว่าทำไมต้องโค่นประชาธิปไตย
“พูด ราวกับธรรมาภิบาลกับประชาธิไตยเป็นคนละเรื่อง” เกษียรกล่าว และยังยกตัวอย่างการอ้างธรรมรัฐของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และอดีต ส.ว.รสนา โตสิตระกูล ที่มีบทบาทในการใช้คำนี้ในการโค่นอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร
เกษียร กล่าวปิดท้ายปาฐกถาว่า จากที่กล่าวมาอาจสรุปเรื่องประชาธิปไตยกับธรรมรัฐว่า อย่างเบา คือ เป็นคนละเรื่อง แต่อย่างหนัก คือ ไปกันไม่ได้ ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
เรียบเรียงจากงานมุทิตาจิต “ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” ที่หอประชุมบูรพา ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 7 พ.ค.54
คลิกชมรายละเอียด และวิดีโอคลิป ประชาไท