ที่มา มติชน
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
ประหนึ่งว่าเรื่องเล็ก และไม่ได้มากด้วยสาระ
กรณี "กรณ์ และวรกร จาติกวณิช" ใช้เฟซบุ๊กพาดพิงถึง "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ -เมีย-ลูก-พี่เลี้ยง"
มีเรื่อง "ร้านอาหาร เบียร์ และไวน์" ที่ทองหล่อเป็นฉากหลังอันสำคัญ
เป็นฉากหลังอันมีความ "นัย" ระหว่างบรรทัด ที่ต่อเชื่อมไปยังประเด็น "อำมาตย์" กับ "ไพร่"
"อำมาตย์" กับ "ไพร่" ที่เป็นสัญลักษณ์ความขัดแย้งที่ร้าวลึก เปราะบาง ของสังคมไทยในช่วงหลายปีมานี้
เรื่องเล็ก จึงไม่เล็ก
กล่าวสำหรับ "กรณ์ จาติกวณิช" ซึ่งเป็น "ผู้เริ่มต้น" ก่อนนั้น
ภาพที่เราเห็นตอนนี้ คือ นักการเมืองที่กำลังพยายามมัดใจชาวบ้าน ผ่านบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ทั้งเรื่องดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์กับการซื้อบ้านหลังแรกของคนมีรายได้น้อยและปานกลาง 1-3 ล้านบาท
ทั้งการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตให้กับประชาชน
แม้จะมีกลิ่นอายของการหาคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
แต่สำหรับนักการเมืองหนุ่มอนาคตไกล ความพยายามช่วยเหลือชาวบ้านในระดับล่างก็เป็นเรื่องที่น่าติดตาม
และพิสูจน์ในอนาคตว่านี่คือจุดยืนของเขาจริงๆ หรือไม่ กับการมุ่งเน้นไปช่วยเหลือคนยากคนจนจริงๆ
ภาพของ "กรณ์ จาติกวณิช" ที่เป็นนักเรียนนอก ทำงานกับบริษัทข้ามชาติมาค่อนครึ่งชีวิต ที่โน้มตัว "สูง" ยิ่ง ลงไปหาชาวบ้านระดับล่าง ทั้งในเมืองและชนบท จึงน่าสนใจ
แต่ พลันที่เขาเขียนข้อความในเฟซบุ๊ก หลังจากที่รู้ว่าตนเองนั่งดื่มเบียร์ในร้านเดียวกันกับนายณัฐวุฒิ ที่กำลังดื่มไวน์ ทำนองยั่วล้อว่า "เราอดนึกขำไม่ได้ว่า คนที่เรียกตัวเองว่าไพร่ ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตแตกต่างไปจากคนที่เขาเรียกว่าเป็นพวกอำมาตย์ สักเท่าใดนัก" ก็อด "สะดุด" ใจไม่ได้
สะดุดใจเพราะการตีฆ้องร้องป่าว ผ่าน "โซเชียลเน็ตเวิร์ก" ดังกล่าว อาจไม่ใช่แค่รู้มาบอกไป
เพราะมันมี "ความระหว่างบรรทัด" ที่สะท้อนความรู้สึกลึกๆ บางอย่างของคนเขียนด้วย
และคงหวังให้เรื่องนี้มี "ปฏิกิริยา"
ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
เพียงแต่มันไม่ได้มีเฉพาะปฏิกิริยา "Like" ในเฟซบุ๊กเท่านั้น
หากแต่มันยังมีฝ่ายที่ตั้งถามด้วยว่านี่คือ การดูถูกดูแคลน-การพยายามแยกเขาแยกเราหรือไม่
การยั่วล้อนี้ว่า นี่คือ การวางอิฐอีกก้อน เพื่อทำให้กำแพงแห่งความแตกต่างของคนในชาติสูงขึ้นอีก ใช่หรือไม่
และกรณ์ จาติกวณิช คือตัวแทนของคนที่ตรงข้ามกับไพร่ ใช่หรือไม่
นี่คือ ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น
แน่ นอน ฝ่ายคนเสื้อแดงก็ต้องหยิบฉวยใช้เป็นประเด็นทางการเมือง ที่ตอกย้ำว่า นายกรณ์ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ มีทัศนคติไม่ดีต่อคนเสื้อแดง
แม้ "กรณ์ จาติกวณิช" จะพยายามอธิบายในภายหลังว่า ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อย่างที่เข้าใจ และย้ำว่า "ประเด็น ของผมก็คือจะมาปลุกปั่นให้สังคมแตกแยกทำไม ในเมื่อทุกคนมีวิถีชีวิตไม่แตกต่างกัน ผมเองไม่เคยมองว่าคนไทยแตกต่างกัน และนั่นคือประเด็นสำคัญ"
น่าเสียดาย ที่คำชี้แจงนี้ ออกมาทีหลัง
ซึ่งสำหรับ "โซเชียลเน็ตเวิร์ก" ที่กรณ์ จาติกวณิช มุ่งใช้ประโยชน์ทางการเมืองสูงสุด รู้ดีว่า เพียงชั่วไม่กี่วินาที สิ่งที่สื่อออกไปทีหลังย่อมถือว่า "ล่าช้า" ยิ่งแล้ว
"ข้อความแรก" ที่สะพัดไปต่างหากคือไฮไลต์
แถม มีข้อสังเกตในเชิงจิตวิทยาว่า สิ่งที่ถ่ายทอดออกมาไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือเขียนอย่างดิบๆ และฉับพลันในโซเชียลเน็ตเวิร์ก นั่นแหละคือสิ่งที่สะท้อนว่าคนเขียนหรือพูด "คิดอย่างไร"′
ทำให้งานนี้นอกจากต้องจ่ายค่าอาหาร เบียร์ ให้ร้านที่ไปกินแล้ว
กรณ์ จาติกวณิช ต้องมี "รายจ่ายอื่น" ด้วย
และยังเป็นสิ่งยืนยันว่าสังคมไทยขัดแย้งและเปราะบางมากเพียงใด
เรื่องเล็ก อาจบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ได้หากไม่ระวัง