ที่มา ข่าวสด
รายงานพิเศษ
น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมหลักฐานกรณีเหตุการณ์ที่ เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่ง ชาติ(นปช.) ได้รายงานผลการศึกษาผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.2553 - 19 พ.ค.2553 ต่อที่ประชุมกสม. เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา
ในรายงานมีความยาว 80 หน้า กำหนดการตรวจสอบไว้ 9 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 เหตุการณ์การสั่งการของรัฐบาล การปฏิบัติหน้าที่และผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553
ผล การสอบสวนได้ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2553 นปช.ได้ปลุกระดมมวลชนนัดชุมนุมเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาหรือลาออก บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถ.ราชดำเนิน และเคลื่อนขบวนปิดล้อมสถานที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และมีลักษณะยืดเยื้อยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ต่อมานายอภิสิทธิ์ ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
วันที่ 17 มี.ค. นปช.ได้เจาะเลือดและนำไปเทและขว้างใส่บ้านพักส่วนตัวนายกฯ และวันที่ 21 มี.ค. สถานการณ์ตึงเครียดลดลง นำไปสู่การเจรจา ที่สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถ.แจ้งวัฒนะ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และเหตุการณ์ได้ขยายกว้างขึ้น
วันที่ 7 เม.ย. นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และกลุ่มนปช. ได้ปิดล้อมอาคารรัฐสภา ต่อมารัฐบาลมีคำสั่งปิดระบบสัญญาณสถานีโทรทัศน์พีทีวี ทำให้สถานการณ์เริ่มมีความรุนแรง กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. รัฐบาลได้ประกาศขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน และเกิดการปะทะกันจนมีประชาชนเสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 889 คน
ใน รายงานระบุว่า ข้อเท็จจริงจากการให้การของพยานบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 28 ราย นปช. 54 ราย ผู้ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่อยู่ในเหตุการณ์ 26 ราย รวมทั้งพยานเอกสาร เช่น ข้อเท็จจริงจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ทำให้ฟัง ได้ว่า
1.1 ผู้ชุมนุม การชุมนุมของกลุ่มนปช. ซึ่งชุมนุมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมี.ค. - 10 เม.ย. ได้ปิดกั้นการจราจร ทั้งที่ถนนราชดำเนิน และสี่แยกราชประสงค์ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเกินสมควร และกระทบต่อสิทธิ์ของคนอื่นในการใช้ชีวิตโดยปกติ และถือเป็นการกระทำที่เกินไปกว่าการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ
แม้ ในเบื้องต้นการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ แต่วันที่ 10 เม.ย. การที่รัฐบาลขอคืนพื้นที่ ปรากฏข้อเท็จจริงว่ากลุ่มนปช.ได้มีการต่อต้านและขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ของรัฐ ทั้งมีกลุ่มชายชุดดำติดอาวุธปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม อันถือว่าเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนที่มีอาวุธและมีลักษณะเป็นกระบวนการที่พร้อม ใช้อาวุธและความรุนแรงได้ตลอดเวลา ดังนั้น การชุมนุมดังกล่าวจึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
1.2 รัฐบาล การขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 10 เม.ย. เป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ประชาชนทั่วไป ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินการตามมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนจริง กระทำจากเบาไปหาหนัก จึงเป็นการกระทำภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แม้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อผู้ชุมนุมทั้งการใช้กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง แต่เมื่อพิจารณาย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝ่ายผู้ชุมนุมที่มีอาวุธและผู้สนับสนุนที่มีอาวุธ สงคราม
การขอคืนพื้นที่ของรัฐบาลในครั้งนี้ ยังขาดการวางแผนที่ดี ทั้งเชิงรุกและรับ การข่าวที่ไร้ประสิทธิภาพและการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของฝ่ายผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงและมีอาวุธร้าย แรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจำนวนมาก ซึ่งการที่รัฐบาลไม่สามารถวางแผนหรือบริหารจัดการควบคุมสถานการณ์อย่างมี ประสิทธิภาพเพื่อปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ เป็นเหตุให้ประชาชนและผู้ชุมนุมเสียชีวิต รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการชดใช้เยียวยาความเสียหาย
นอกจากนี้เหตุ ระเบิดในที่ประชุมนายทหารโดยการเข้าเป้าด้วยแสงเลเซอร์ แสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนเพื่อฆาตกรรมนายทหาร ได้แก่ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และส.ท.ภูริวัฒน์ ประพันธ์ อันเป็นการกระทำที่แฝงอยู่ในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มชายฉกรรจ์ จึงเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา ซึ่งรัฐบาลต้องสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ
กรณีที่ 2 เหตุการณ์กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2553
จาก การสอบถามพยานบุคคลที่อยู่ในที่เกิดเหตุ 21 ราย และพยานเอกสาร สรุปว่าการชุมนุมของนปช.เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ มีการใช้ความรุนแรงโดยระเบิดเอ็ม 79 ทั้ง 5 ลูกถูกยิงมาจากทิศทางที่กลุ่มนปช.ชุมนุม โดยมีแกนนำรับรู้ล่วงหน้า มีการ เตรียมการระวังป้องกันมิให้ผู้ชุมนุม นปช.ได้รับบาดเจ็บ มีการวางแผนจุดพลุตะไลและประทัดเพื่อบิดเบือนการยิงระเบิดเอ็ม 79 ขณะที่รัฐบาลมอบให้ตำรวจเข้ามาแก้ไขสถานการณ์
แต่จากพยานหลักฐาน นอกจากตำรวจจะนำรถควบคุมผู้ต้องหามากั้นบริเวณสี่แยกศาลาแดงแล้ว มิได้ดำเนินการอื่นใดให้เหตุการณ์สงบ นอกจากนี้เวลา 21.45 น. ตำรวจได้ออกมาจากโรงแรมดุสิตธานี โดยตั้งแถวหน้ากระดานและเปิดไฟสว่างใส่กลุ่มวัยรุ่นบนถนนสีลมที่ขว้างปาขวด ใส่ผู้ชุมนุม นปช. และไล่ตีกลุ่มวัยรุ่น รวมถึงประชาชนที่ไม่รู้เรื่องโดยไม่มีการประกาศเตือน การกระทำดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิมนุษยชน
กรณีที่ 3 เหตุการณ์กรณีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2553
คณะ กรรมการเห็นว่า การที่มีทหารเสียชีวิตจากอาวุธปืน ประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนทั่วไปและทหารที่เสียชีวิต แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าฝ่ายใดเป็นผู้กระทำ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชันสูตรพลิกศพได้ให้ข้อมูลว่า ทหารที่เสียชีวิตถูกยิงจากระยะไกลเนื่องจากไม่พบคราบเขม่า ดังนั้น รัฐบาลต้องมีหน้าที่นำคนผิดมาลงโทษ
กรณีที่ 4 เหตุการณ์กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสภากาชาดไทย และการบุกเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2553
คณะ กรรมการเห็นว่า กลุ่มนปช.ได้ขยายพื้นที่การชุมนุม จากสี่แยกราชประสงค์ มาถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ และการชุมนุมมีการจัดตั้งถังแก๊สหน้าโรงพยาบาล จนต้องย้ายผู้ป่วย ถือเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิ์ของผู้ป่วย รวมทั้งแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนการเข้าไปตรวจค้นในโรงพยาบาลจุฬาฯ นั้น เข้าข่ายบุกรุกและเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ มีการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ทำลายทรัพย์สินของโรงพยาบาล
กรณีที่ 5 เหตุการณ์กรณีการสั่งการของรัฐบาล การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค.2553 รวมทั้งเหตุการณ์ต่อเนื่อง เช่น การเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารต่างๆ
คณะ กรรมการเห็นว่าการชุมนุมของ นปช. เป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและมีอาวุธปืนอยู่ในสถานที่ชุมนุม มีกลุ่มบุคคลติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในกลุ่มชุมนุมส่งผลต่อความมั่นคงภายในประเทศ
ส่วนมาตรการกระชับพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณโดยรอบ ตั้งแต่วันที่ 13-19 พ.ค.2553 ตามประกาศของศอฉ.นั้น เห็นว่าเป็นกรณีที่รัฐบาลกำหนดขึ้นโดยความจำเป็นตามวัตถุประสงค์ของพระราช กำหนดดังกล่าว แต่มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีผู้เสียชีวิต 57 ราย และบาดเจ็บ 437 คน
แม้ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏกรณีเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย จากการยิงปะทะกันระหว่างทหารและกลุ่มผู้ติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ในนปช. ผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมเป็นไปได้ว่ามาจากการกระทำของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ทหาร รัฐบาลจึงมีหน้าที่รับผิดชอบเยียวยาผู้ที่เสียหาย และต้องสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ส่วนพฤติการณ์การกระทำของ ฝ่ายกลุ่มผู้ชุมนุมในการเผาอาคารทรัพย์สิน ขยายไปถึงการเผาศาลากลางในหลายจังหวัด เห็นได้ว่าเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายและไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นและกระทำผิดกฎหมายอาญา
กรณีที่ 6 การเสียชีวิต 6 ศพและการกระทำในรูปแบบอื่นๆ ในวัดปทุมวนาราม ระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค.2553
คณะ กรรมการพิจารณาเห็นว่า รัฐบาลโดย ศอฉ.ได้ปฏิบัติการกดดันกระชับพื้นที่อย่างจริงจังมาตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. จนเกิดสถานการณ์การยิงปะทะในบริเวณพื้นที่ชุมนุมและพื้นที่โดยรอบ ในสภาพที่บ้านเมืองวุ่นวาย ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต 6 ศพและบาดเจ็บ 7 คน ในวัดปทุมฯ
การรวบรวมหลักฐานในชั้นนี้ ไม่มีพยานยืนยันว่าใคร ฝ่ายใดเป็นผู้ยิงทั้ง 6 ศพและผู้เสียชีวิตบางรายเป็นการเสียชีวิตนอกวัด บางศพไม่รู้ว่าเสียชีวิตบริเวณ ใด แต่ทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายมาไว้ในวัด ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิด ขึ้น และควรสืบสวนหาข้อเท็จจริงและหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการ ยุติธรรม
กรณีที่ 7 เหตุการณ์กรณีนายกฯประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 และการดำเนินการเพื่อระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ พีเพิลชาแนล และการระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสถานีวิทยุชุมชน
คณะ กรรมการพิจารณาเห็นว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวมีเจตนาให้อำนาจแก่นายกฯ โดยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี การที่นายกฯใช้มาตรการดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายและ เป็นความจำเป็นเหมาะสมในสถานการณ์ความรุนแรง และไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กรณีที่ 8 เหตุการณ์กรณีชุมนุมและการเคลื่อนขบวนของกลุ่มนปช. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. - 20 พ.ค.2553 ทั่วกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมถึงการล้อมอาคารสถานที่ต่างๆ
คณะกรรมการพิจารณาแล้วแยกเป็น 2 กรณี 1.การเคลื่อนไหวของ นปช.ทั่วกทม.และปริมณฑลในลักษณะขบวนรถยนต์และจักรยานยนต์นับพันคัน รวมทั้งมีเครื่องขยายเสียงกว่า 10 คัน เป็นการกระทำให้เกิดการจราจรติดขัดไปทั่วกทม. และเมื่อวันที่ 12 เม.ย.2553 ยังปรากฏว่านปช.ได้ทำร้ายคนขับแท็กซี่และทุบกระจกรถจนแตก เป็นการละเมิดสิทธิ์ในร่างกายและทรัพย์สิน
2.กรณีที่ นปช.เจาะเลือดของผู้ชุมนุมและนำไปเทที่พรรคประชาธิปัตย์และทำเนียบรัฐบาล การเจาะเลือดนั้น เป็นการกระทำของแพทย์และพยาบาลนั้น เป็นการกระทำผิดต่อวิชาชีพตนเองและละเมิดต่อผู้ที่รับการเจาะเลือดอีกด้วย แม้เจ้าตัวยินยอม และการนำไปเทที่พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น
กรณีที่ 9 การเสียชีวิตและบาดเจ็บ ตลอดจนความรุนแรงต่อสื่อมวลชนในรูปแบบอื่น
คณะ กรรมการฯ พิจารณาว่าผลการเสียชีวิตและบาดเจ็บของสื่อมวลชนเกิดขึ้นจากการยิงปะทะ ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มบุคคลผู้ติดอาวุธแฝงในกลุ่มผู้ชุมนุม แม้ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้ใดเป็นผู้ยิง และกลุ่มที่ติดอาวุธแฝงเป็นใคร ดังนั้น รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบจึงมีหน้าที่เยียวยาช่วยเหลือ ครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
กสม. ยังได้ทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาไว้ 7 ข้อ อาทิ ให้รัฐบาลสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงและติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษ การสังเคราะห์บทเรียนจากความขัดแย้ง เป็นต้น