ที่มา มติชน
โดย ปราปต์ บุนปาน
ชัยชนะขาดลอยของพรรคเพื่อไทยอาจไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์อัน "โรแมนติก" สักเท่าใดนัก
ประการแรก ความพ่ายแพ้ในสนาม กทม.ของพรรคเพื่อไทย มีนัยยะน่าสนใจอยู่
คือแม้จะเป็นความพ่ายแพ้อย่างฉิวเฉียดหากพิจารณาจากตัวคะแนน ไม่ใช่จำนวน ส.ส.
แต่ก็แสดงให้เห็นว่าความคิดเรื่อง "เผาบ้านเผาเมือง" "ต่อต้านนักการเมืองโกงกิน" หรือ "คนชนบทด้อยการศึกษาและถูกหลอก" ยังคงทรงพลังอย่างสูงในหมู่คนกรุงเทพฯ จำนวนมาก
รัฐบาลชุดใหม่จึงยังไม่มีอำนาจสัมบูรณ์เด็ดขาดแม้จะได้เสียงข้างมากในสภา
ขณะเดียวกัน ปัญหาความขัดแย้งเรื่องความคิดความเชื่อทางการเมืองก็ย่อมไม่ยุติลงง่ายๆ
แต่ละฝ่ายคงต้อง "ต่อสู้" กันอย่างหนักต่อไป โดยยังไม่มีใครมองเห็นจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งครั้งนี้ได้อย่างเด่นชัด
ประการต่อมา คือประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับ "คนเสื้อแดง" และความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน
ไม่เป็นที่สงสัยว่า พรรคเพื่อไทย และกลุ่ม นปช. (รวมทั้ง "คนเสื้อแดง" อีกหลากหลายกลุ่ม) ถือเป็นองค์กรทางการเมืองแบบคู่ขนาน ซึ่งไม่สามารถถูกพิจารณาอย่างแยกขาดออกจากกันได้
ไม่มีใครปฏิเสธว่า ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทยเป็นผลลัพธ์มาจากสายสัมพันธ์อันแน่นเหนียวดังกล่าว
ปัญหามีอยู่ว่า พรรคเพื่อไทยในฐานะ "รัฐบาล" กับ "กลุ่มคนเสื้อแดง" จะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้อย่างไร?
เมื่อรัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองอื่นๆ
ไปพร้อมกับการประนีประนอมกับ "คนเสื้อแดง" ด้วยกันเอง
เพราะไม่มีใครจะได้อะไรตามใจต้องการไปหมดเสียทุกอย่าง
กรณีให้ความยุติธรรมแก่ "คนเสื้อแดง" จำนวนมากที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาเป็นปี หลังเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 รัฐบาลชุดใหม่อาจดำเนินการได้ไม่ยากนัก
ส่วนการเปิดเผย "ข้อเท็จจริง" และมอบความยุติธรรมในกรณี "92 ศพ" อาจเป็นเรื่องยากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยก็มอบหมายให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ไปสานต่อภารกิจดังกล่าว
และคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากรัฐบาลเพื่อไทยจะพยายามรักษาระยะห่างจาก "คนเสื้อแดง" บางส่วนที่ "ไปไกล" มากๆ ในหลายประเด็น
น่าจับตามองในอนาคตว่า ถ้ารัฐบาลเพื่อไทยประนีประนอมกับ "ชนชั้นนำ" กลุ่มอื่นๆ "จนเกินไป"
ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลชุดนี้กับมิตรสหายคู่ทุกข์คู่ยากอย่าง "คนเสื้อแดง" จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นไหม?
แต่หากรัฐบาลเพื่อไทยเอียงข้าง "คนเสื้อแดง" มากไป การเมืองระหว่างกลุ่มชนชั้นนำก็อาจเกิดปัญหาขึ้นตามมา
ปัญหาทางการเมืองประการสำคัญที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้ารัฐบาลชุดใหม่ จึงได้แก่ พวกเขาจะเลือกหนทางไหน
ระหว่างการกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
กับการดำรงสภาพการณ์แบบเดิมเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้
หรือว่าจะคอยอำนวยการให้กาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงทำหน้าที่ของตัวมันเองไปตามธรรมชาติ