ที่มา มติชน
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2554)
คณะ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพิ่งประชุมสรุปผลการตรวจสอบเหตุการณ์ 12 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 ไปเมื่อไม่นานมานี้ เพื่อจะนำมาแถลงต่อสาธารณะในช่วงวันสองวันนี้ กระนั้นก็ตามมีข้อมูลเผยแพร่เป็นข่าวออกมาแล้ว
ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดคิด เพราะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดนี้ แสดงจุดยืนแน่วแน่ในกรณี 91 ศพมาตลอด ว่าเห็นพ้องกับผู้กุมอำนาจรัฐ
เมื่อไม่นานมานี้มีเหตุการณ์ตลกร้าย ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ลาออกจากภาคีมรดกโลก
ไทย น่าจะเป็นประเทศแรกในโลกอีกเหมือนกัน ที่มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มายืนดูคนตายเพราะการชุมนุมประท้วง 91 ศพแล้วบอกว่า รัฐบาลและกลไกอำนาจรัฐทำถูกต้อง
บทสรุปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เพิ่งประชุมกันไปนั้นบอกชัดเจนว่า "รัฐบาลอภิสิทธิ์กระทำภายใต้หลักกฎหมาย" "ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เกินกว่าเหตุ" "ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน"
ส่วนการชุมนุมของ นปช.นั้น "มิใช่การชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ" "ละเมิดสิทธิผู้อื่น"
สรุปว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ทำถูกทุกอย่าง ส่วน นปช.ทำผิดทุกอย่าง
อาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เคยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอาจารย์อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ภายหลังผ่าน 19 พฤษภาคม 2553 ไม่กี่วัน
เขียนในฐานะนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาด้วยกัน โดยอาจารย์ยุกตินั้นรุ่นอ่อนเยาว์กว่า
"มานุษย วิทยามิได้แยกตนเองจากกระแสโลก หลักการสำคัญๆ ของมานุษยวิทยาสอดคล้องไปกับหลักการสากล ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานก็เช่นเดียวกัน นักมานุษยวิทยาย่อมเห็นตรงกันว่า การทำลายชีวิตมนุษย์และการปิดกั้นสิทธิในการแสดงตัวตนของมนุษย์ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้"
อาจารย์ยุกติเขียนอีกตอนหนึ่งถึงปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ว่า
"คน ที่ยืนอยู่บนพื้นที่เหล่านั้นย่อมสำคัญกว่าพื้นที่และที่ว่าง หรือหากจะให้ผมอ้างนักทฤษฎีหรือใครต่อใครมายืนยันว่าคนสำคัญกว่าพื้นที่ ก็คงจะต้องยกชื่อนักมานุษยวิทยามาหมดโลกนั่นแหละ แต่คนที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีและลึกซึ้งที่สุดคงไม่พ้นนักภูมิศาสตร์ชื่ออองรี เลอร์แฟบวร์ ที่วิพากษ์การทำพื้นที่ให้ไร้ความเป็นมนุษย์ เพื่อการที่ผู้มีอำนาจจะได้สามารถแปลงพื้นที่เหล่านี้ไปเป็นผลผลิตและการขูด รีดมนุษย์ ถ้าพูดแบบเลอร์แฟบวร์ ซึ่งอาจารย์ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย ถ้อยคำแบบ ศอฉ.และรัฐบาล เป็นภาษาที่นายทุนอำมหิตใช้เข่นฆ่าผู้คนอย่างไม่เห็นหัวมนุษย์ชัดๆ"
จดหมายเปิดผนึก ยังวิพากษ์ "อาจารย์อมราผู้เป็นศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยา" อีกหลายแง่มุม หาอ่านได้ในหลายๆ เว็บไซต์
ที่ อยากจะเสริมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดนี้ ซึ่งอันที่จริงก็มีผู้ทรงภูมิความรู้มากมาย แต่เหมาะสมกับความเป็นนักสิทธิมนุษยชนหรือไม่
เอาง่ายๆ กรณี พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด ซึ่งเป็นนายตำรวจมือดี เติบโตมาในสายกองคดี เป็นอดีตผู้ช่วย ผบ.ตร.ด้านกฎหมายและสอบสวน ตำแหน่งสุดท้ายคือที่ปรึกษา สบ10 ด้านความมั่นคง
เกียรติประวัติในชีวิตตำรวจดีงาม
ทั้งชีวิตก็คือผู้รักษากฎหมาย แล้วจิตวิญญาณนักสิทธิมนุษยชนก่อเกิดขึ้นเมื่อไร
เพียงแค่นี้ก็พอจะเข้าใจกรรมการสิทธิชุดนี้ได้ไม่ยาก