WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, July 7, 2011

ปฏิบัติการ‘นิวมีเดีย’ของสมเกียรติ ตั้งนโม:‘รูปทรง’และความเป็นพลเมืองในอนาคตกาล

ที่มา ประชาไท

หมายเหตุ:

1. เผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การจากไปของอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

2. นำเสนอครั้งแรกในการอภิปรายหัวข้อ "ความรู้และปฏิบัติการของสมเกียรติ ตั้งนโม" จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2553 ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมเกียรติ ตั้งนโม (แฟ้มภาพ/สำนักข่าวประชาธรรม)

0 0 0

ผม เดาเอาว่า การกำหนดหัวข้อที่เราจะกล่าวรำลึกถึง อ.สมเกียรติ ในโอกาสนี้ คงจะเกิดขึ้นจากคำถามที่เรามักจะถามถึงผู้ที่จากไป นั่นคือคำถามที่ว่า “เราจะพูดถึง สมเกียรติ ตั้งนโม ว่าอย่างไร” ซึ่งเมื่อเราพยายามจะหาคำตอบ เราก็จะพบว่า มันยากที่จะบอกว่า อ.สมเกียรติ เป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง และคงจะต้องอาศัยผู้กล่าวรำลึกอีกหลายคน หากต้องการให้ครอบคลุมถึงสิ่งที่ อ.สมเกียรติ เป็นและทำในตลอดช่วงชีวิตของท่าน

สำหรับผมแล้ว ไม่ว่าเราจะพูดถึงสมเกียรติ ตั้งนโม ในฐานะไหน นักกิจกรรมทางการเมือง นักสื่อเสรี นักการศึกษา หรืออื่นๆ ในฐานานุรูปนั้นล้วนแต่สะท้อนออกมาจากความเป็นศิลปินทั้งสิ้น มันอยู่ในทุกเรื่องที่ อ.สมเกียรติ ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของ ‘New Media’ หรือกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงและเป็นรูปธรรมก็คือ ตัวเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ทำไมผมถึงเห็นว่า ศิลปะแฝงอยู่ในงานและชีวิตของสมเกียรติ ที่จริงผมอ่านงานของสมเกียรติไม่มากนัก แต่ผมไม่สงสัยเลยว่า อ.สมเกียรติให้ความสำคัญกับการมองเห็นของสายตาเพียงใด เวลาเรามองเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หลายคนอาจจะบ่นว่า พื้นดำตัวหนังสือขาวมันทำให้อ่านยากปวดตา แต่เราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่า ภาพของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้นมันติดตา กระทั่งมันช่วยจำ และมันส่งผลต่อรสชาติของการอ่านเอาเรื่องเอาเนื้อหาโดยตรง

ภาพที่ติด ตานี้ไม่ได้หมายถึงภาพปีศาจความมืด แต่มันคือการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน มันสร้างแรงบันดาลใจ มันบอกเราถึงความประณีตบรรจง หน้าเปิดหมวดหมู่ทุกหน้า คือการออกแบบใหม่หมด ปั้นมันด้วยมือทีละหน้าทีละชิ้น

และที่สุดอะไรวัดว่า มีศิลปะ สำหรับผมที่มีความรู้ด้อยเหลือเกินในเรื่องนี้ ผมใช้เกณฑ์ว่า มันอยู่ยาวข้ามความร่วมสมัยหรือไม่ เหมือนที่ศิลป์ พีระศรี บอกนั่นแหละว่า “ชีวิตนั้นสั้น ศิลปะยืนยาว”

ยกตัวอย่าง เช่น ผมนึกไม่ออกว่า เมื่อถึงวันที่เว็บไซต์ประชาไทต้องปิดตัวลง จะมีใครนึกหน้าหรือจำภาพเว็บไซต์ประชาไทออก ขณะที่หากคุณไม่ได้เปิดเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมานานหลายปี หรือเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนปิดตัวไป ผมเชื่อว่า ภาพจำของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็จะยังอยู่ หลับตาแล้วก็ยังเห็นภาพ

แต่ งานศิลปะที่ อ.สมเกียรติทำ ในแอเรียของนิวมีเดียก็ไม่ได้มีแค่การออกแบบที่เห็นด้วยตาเท่านั้น แต่มันยังอยู่ในบทบาท กระบวนการนำเสนอ ซึ่งก็คือเนื้อหาและบทบาทหน้าที่ของเว็บไซต์ด้วย

0 0 0

ผม มีโอกาสไปร่วมงานเทศกาลศิลปะ Documenta ที่เยอรมนี กับ อ.สมเกรียติและเพื่อนอีกสามสี่คน ในฐานะ ‘นิวมีเดีย’ สื่อทางเลือก หรือจะเรียกว่าสื่ออิสระของสังคมไทยก็ได้ ที่นั่นทำให้เราทั้งหมดผูกพันกัน เราได้รับเชิญไปพูดในเรื่องนอกกรอบสังคมไทย ซึ่งหมายถึงเรื่องที่เราพูดในประเทศไทยไม่ได้ และด้วยความพยายามที่จะยืนยันในสิ่งที่ “ไม่เห็นจะน่ากลัวอะไร” และ “เราต้องพูดได้” ทำให้สิ่งที่เราทำในสนามของ “นิวมีเดีย” นี้กลายเป็นงานศิลปะไปอย่างที่ผมเองซึ่งอ่อนด้อยมากในเรื่องนี้ก็งงๆ ที่ต้องไปในเทศกาลศิลปะระดับท็อบเท็นของโลกนี้

ที่คาสเซิล เยอรมัน ทั่วทุกมุมเมืองกลายเป็นที่แสดงนิทรรศการศิลปะ Documenta ผมเปิดประเด็นเรื่องศิลปะกับ อ.สมเกียรติ ก่อนจะได้รับทัศนวิจารณ์ว่า มันน่าเบื่อเพียงใดที่ศิลปะยังคงหมกมุ่นอยู่กับ ‘รูปทรง’ และบางทีนั่นคือเหตุผลที่ทำให้เรา (ประชาไท มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ฟ้าเดียวกัน เควสชั่นมาร์ค โอเพ่น) ได้รับเชิญไปร่วมแสดงงานศิลปะระดับโลกนี้

คนใน ม เที่ยงคืนน่าจะเข้าใจความหมายของคำว่า ‘รูปทรง’ ของ อ.สมเกียรติดีกว่าผม ว่ามันไม่ได้หมายถึงกว้างคูณยาวคูณสูง 2พายอาร์ แต่มันยังรวมไปถึงการตั้งคำถามกับรูปแบบ (pattern) บางทีผมว่านะ อ.สมเกียรติอาจจะคิดแบบนี้นานแล้วก็ได้ นอกกรอบของพวกนอกกรอบในมหาลัยศิลปะมานมนามแล้วก็ได้ งานเขียนของ อ.สมเกียรติก็หนักไปทางโพสต์โมเดิร์นอยู่มาก แต่อาการคงมาหนักขึ้นเมื่อมี ม เที่ยงคืน แล้วก็กระโจนเข้าไปวาดภาพปั้นรูปในมิติทางสังคมการเมืองแทน

ผม อยากจะเล่าด้วยว่า ในงาน Documenta ที่เมืองคาลเซิลนี่เอง ที่ทำให้ผมและเพื่อนอีก 2 คนผูกพันเป็นพิเศษกับ อ.สมเกียรติ ซึ่งต้องเอ่ยนามในที่นี้ คนหนึ่งเป็นนักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ชื่อ อาทิตย์ สุริยวงศ์กุล ซึ่งหลังจาก อ.สมเกียรติจากไป ก็กลับไปอ่านและศึกษาสิ่งที่สมเกียรติทำไว้กับเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ส่วนอีกคนเป็นสาวชาวญี่ปุ่นชื่อ เคโกะ เซ ผมเข้าใจว่า อ.สมเกียรติ เป็นคนแรกๆ ที่เคโกะรู้จักในเมืองไทย เป็นดีลแรกๆ ที่แกต้องทำงานด้วย เพื่อทำฟอรั่มนิวมีเดียให้กับ Documenta ก่อนที่ อ.สมเกียรติจะเชื่อมโครงข่ายมาถึงพวกเรา

พอกล่าวถึงแง่นี้แล้ว คงต้องพูดด้วยว่า อ.สมเกียรติ คือบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการเชื่อมต่อนักกิจกรรมนิวมีเดียที่เป็นสื่ออิสระ เข้าหากัน และทำให้ที่ทางของสื่อใหม่ที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพอย่างแข็งขัน มีที่ทางขยับขยายเพิ่มขึ้นอีกนิดในนามของ “งานศิลปะ”

0 0 0

12 ปีทีผ่านมานับตั้งแต่การเกิดขึ้นของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โลกของการสื่อสารเปลี่ยนไปมากมายและเร็ว เรากำลังพูดถึงเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่บล็อกยังไม่มี Social Media ยังไม่เกิดขึ้น Mark Zuckerberg ผู้สร้าง Facebook อายุเพิ่งจะได้ 13 ปี

ผม จึงอยากจะชวนให้เราเห็นถึงโลกที่เราอยู่กันสักนิดก่อนว่า มันเป็นโลกแบบไหน มีหน้าตาเปลี่ยนไปอย่างไร ภูเขาสูง หุบเหว ที่ราบที่เหมาะแก่การหว่านพืชพันธุ์ล้วนแล้วแต่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ โลกของการสื่อสารก็เช่นเดียวกัน ภูมิประเทศของการสื่อสารก็เปลี่ยนไปแล้ว

ใน เรื่องของช่องทาง หรือเครื่องมือ ในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะเต็มพื้นที่ในประเทศไทย (หากเรายังเป็นประเทศเสรีอยู่) ผู้คนจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ไม่มีคอมพิวเตอร์ก็มีมือถือที่พอจะเข้าถึงได้ และเด็กน้อยอายุ 78 ปี นับจากปี 2475 ก็จะเริ่มพูดได้ อ่านออกเขียน (กับสาธารณะ) ด้วยเรื่องของตัวเองมากขึ้น เขียนไม่เป็นไม่เป็นไร เพราะเดี๋ยวนี้คนเขียนเป็นก็หันไปเขียนสั้นๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร แต่เขียนบ่อยๆ แทน เขียนมันใน Social Media อย่าง Facebook อย่าง Twitter ซึ่งใช้ความยากในการส่งผ่านมือถือเท่ากับความยากในการส่ง SMS ช่องทางผ่าน Social Media จะมีบทบาทกำกับ หรือกลายเป็นส่วนสำคัญในระบบศีลธรรมใหม่ในไม่ช้านี้

พอพูดอย่างนี้ บางคนอาจจะนึกไปถึงภาพของการฟ้องหย่าในอเมริกาเกินกว่า 80% ที่ใช้หลักฐานใน Facebook มาอ้างอิง (ซึ่งน่ากลัวมาก) อาจจะนึกถึงตำรวจนิวเจอร์ซี่ ใช้การประจานผ่าน Facebook เป็นมาตรการลงโทษอย่างหนึ่ง เราอาจจะเห็นภาพของการไล่ล่าแม่มดในประเทศไทย แต่เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลาอดทนรอคอยให้มันคลี่คลายไปสักนิดหนึ่ง (Mark Zuckerberg นี่ เกิดในปี 1984 เป็นปีเดียวกับชื่อนิยายอันโด่งดัง ‘1984’ แล้วสร้าง Facebook ตอนอายุ 20 ปี นี่ถ้า Facebook มันเกิดในปีที่Zuckerberg เกิด มีหวังเราต้องเรียก Zuckerberg ว่า Big brother แน่)

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะชอบไม่ชอบ ดีหรือไม่ดี หากพูดด้วยภาษาแบบ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เราก็อาจจะบอกได้ว่า การสื่อสารมันไหลเวียนมากขึ้น ด้วยช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ ที่เราอาจจะเรียกรวมๆ ว่า ‘นิวมีเดีย’ แต่การไหวเวียนของข้อมูลข่าวสาร มันไม่ได้เกิดขึ้นในระดับการข้ามชาติไปมาเท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงการข้ามชนชั้น วัฒนธรรม ในสังคมไทยเอง นิวมีเดีย จึงไม่ใช่แค่อินเทอร์เน็ต หากแต่ยังรวมไปถึง วิทยุชุมชน และเคเบิลทีวี

และ ไม่ว่าเครื่องมือมันจะเป็นอะไร เนื้อหาของมันคืออะไร แต่ประเด็นและหัวใจของมันยังคงเป็นเรื่องของการไหลเวียนของข่าวสาร ข้ามชาติ ข้ามชนชั้น ข้ามศาสตร์ ข้ามอาชีพ หรือหากจะพูดด้วยภาษาของครูนักการสื่อสารมวลชนอย่าง อ.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ก็ต้องบอกว่า นิวมีเดีย เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร ที่เป็นคนละเรื่องกับวิชาชีพ หรือจรรยาบรรณของสื่อสารมวลชน ที่กำลังเป็นคำถามของนักวิชาชีพสื่อสารมวลชน ซึ่งมักจะเรียกร้องความรับผิดชอบของผู้สื่อสารกับสาธารณะ ทั้งๆ ในเวลานี้ ผู้สื่อสารกับสาธารณะนั้นกลายเป็นใครก็ได้ไปแล้วในเวลานี้

พูดอีก อย่างก็คือ อำนาจของการสื่อสารกับสาธารณะ มันไม่ได้จำกัดหรือผูกขาดอยู่แต่เพียงโดยรัฐ นักสื่อสารมวลชนแบบมืออาชีพ หรือผู้ทรงภูมิอีกต่อไป ไม่ว่าใครก็สื่อสารกับสาธารณะได้ อาจจะดีกว่าสื่อมืออาชีพ อาจจะเก่งกว่าและส่งผลสะเทือนในทางเหตุและผลกว่าผู้ทรงภูมิ หรืออาจจะผลิตความรู้ได้ดีกว่านักวิชาการ อาจจะทำงานศิลปะได้ดีกว่าศิลปินหลายๆ คน โดยไม่ต้องเรียกตัวเองว่าศิลปิน หรืออาจจะป็นแค่การสื่อสารขยะ ยั่วยุ ไร้ความรับผิดชอบก็ได้

ไม่ว่า อย่างไร สิ่งเหล่านี้ได้ปลดปล่อยพันธนาการหรืออำนาจที่จะนิยามว่า อะไรดี อะไรจริงกว่า และเรียกร้องต้องการให้สังคมวัฒนธรรมก้าวสู่การปรับตัวครั้งใหญ่สู่วุฒิภาวะ ใหม่ นั่นคือ การคิดเอง เรียนรู้และใช้วิจารณญาณด้วยตัวเอง

สิ่ง เหล่านี้ คือภูมิศาสตร์ใหม่ของการสื่อสารที่เราเห็นเป็นประจักษ์ในปัจจุบัน และสมเกียรติทำมันมาตั้งแต่ 12 ปีที่แล้ว บุกเบิกมันด้วยเว็บไซต์ ม เที่ยงคืน ในสมัยที่ไม่มีโปรแกรมสำเร็จรูปใดๆ

ครั้งหนึ่งในเดือน มกราคม 2549 ก่อนที่เราจะไปร่วมงานเทศกาลศิลปะที่เยอรมนี Documenta ได้จัดให้มีฟอรั่มขึ้นในเมืองไทยที่เชียงใหม่ เรื่อง “บทบาทของศิลปะและสื่อในการพัฒนาคิดวิเคราะห์สังคมไทย” โดยมี อ.สมเกียรติเป็นแม่งาน ดึงเอาสื่อทางเลือกในประเทศไทยมาคุยกัน ซึ่งเคโกะ เซ เล่าให้ฟังว่า อ.สมเกียรติปักหมุดกิโลเมตรให้กับฟอรั่มนั้นว่า นั่นคือ ‘เวทีของสื่ออิสระเวทีแรกในประเทศไทย’ และในเอกสารโครงการของเวทีนี้ ได้พูดถึงเรา “นิวมีเดีย” (ในเวลานั้น) มีข้อความท่อนหนึ่ง ซึ่งจะขออนุญาตอ่านในที่นี้

“สังคมไทยอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบองค์กรทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่มีอำนาจเหนือชีวิตของทุกคน

ใน สภาพแวดล้อม เช่นนี้ สิ่งที่ที่สำคัญสำหรับประชาชน คือความคิด และความสามารถในการอ่านภาพ และเสียง ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของมัน เพราะมันคือสิ่งสำคัญที่จะยืนยันถึงอิสรภาพและการตัดสินใจด้วยตัวเราเอง

เพื่อ ฝึกฝน สิ่งเหล่านี้ เราต้องสร้างพื้นที่เพิ่มเติมสำหรับบทสนทนาที่สำคัญ เพื่อสู้กับวาทกรรม และปลดปล่อยตัวเองออกจากพันธนาการของอำนาจและความรู้ที่ครอบงำสังคมอยู่

วารสาร และสื่อ ออนไลน์เหล่านี้ เป็นเวทีสำคัญสำหรับการเจรจาในเรื่องที่สำคัญและตั้งคำถามกับวาทกรรมเหล่า นี้ บรรณาธิการของนิตยสารและสื่อออนไลน์เหล่านี้ได้ทำประโยชน์ บำรุงความคิดวิจารณญาณของประชาชน”

นั่นคือข้อความในเอกสารของ Documenta

และ หากกล่าวเฉพาะเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในวาระที่ผมจะได้มากล่าวในที่นี้นี่เอง เคโกะ เซ ยังได้กรุณาส่งข้อเขียนสั้นๆ มาให้ผม ที่ได้บอกถึงความคิดและความทรงจำที่เธอมีต่อสมเกียรติว่า

“สำหรับ ฉัน แล้ว เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน คือแหล่งเพื่อการศึกษาออนไลน์ ซึ่งริเริ่มและดำเนินการโดยอาจารย์สมเกียรติ เป็นโครงการบุกเบิก เป็นสถาบันที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังสามารถเป็นโมเดลรูปธรรมด้านการศึกษาทางเลือกสำหรับประเทศไทย และประเทศอื่นๆ

ที่ ผ่านมา ฉันได้แนะนำโมเดลแบบเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนให้กับนักกิจกรรมด้านการศึกษา ชาวพม่าที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน ที่ได้พยายามเริ่มโครงการคล้ายๆ กันนี้เพื่อชาวพม่าที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก จุดประสงค์และความสำเร็จเป็นที่รับรู้และยกย่องทั้งในและนอกประเทศ และเมื่อเว็บถูกบล็อกในปี 2006 นักวิชาการและประชาชนกว่าพันคนจากทั่วโลกได้ร่วมกันเข้าชื่อแสดงความไม่เห็น ด้วยกับการกระทำดังกล่าว

อ.สม เกียรติ เป็นผู้ที่มักจะตั้งคำถามกับการศึกษาที่มีฐานอยู่บนอินเทอร์เน็ต เพราะการเข้าถึงที่จำกัดของมัน แต่ถึงกระนั้น เขาก็เริ่มต้นเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและดำเนินการต่อ พิสูจน์ให้เห็นถึงจิตวิญญาณที่พร้อมจะเปิดรับและทดลองไปสู่ความท้าทายต่อ สื่อใหม่ ในยุคต้นๆ ของอินเทอร์เน็ต

ผู้บุกเบิกอย่างอ.สมเกียรติมักสร้างงานเพื่อพัฒนาสื่อในระยะยาวเสมอๆ และนี่คือสิ่งที่เขาทำ”

0 0 0

บทบาท และอิทธิพลของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้นทรงพลังมากกว่าที่เราคิด กัน มันได้สร้างแรงบันดาลใจอย่างมากมาย น้องในประชาไทคนหนึ่ง ยังบอกกับผมว่า เคยตั้งใจว่าจะอ่านทุกเรื่องใน ม เที่ยงคืนให้ได้ ตั้งใจจะอ่านให้ทัน (แต่ปรากฏว่า อ.สมเกียรติขยันกว่า เลยอ่านไม่ทัน)

เรื่องนี้มัน สะท้อนอาการโหยหาความรู้ใหม่ๆ ที่หาไม่ได้ในท้องตลาด และมันมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้คนลองลิ้มชิมรสกับอิสรภาพ และการหลุดออกจากพันธนาการของอำนาจที่มากับความรู้เดิมๆ มันทำให้คนอ่านออกเขียนเองได้ และการปลดปล่อยนี้ เว็บ และ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ไม่ได้ฉีดโปรแกรมใหม่ๆ หรือให้ความรู้ชุดใหม่ หรือความเชื่อใหม่ๆ เหมือนที่เราเห็นได้ในเว็บเจ้าใหญ่ที่มาพร้อมกับเคเบิลทีวีสีเหลืองนะครับ แต่มันปลดปล่อยเฉยๆ และก็แบให้คุณไปประกอบสร้างเอง คิดเอง ประกอบสร้างเอง และเขียนออกมาเอง

อาทิตย์ สุริยวงศ์กุล เพื่อนในทริป Documenta เขียนถึง อ.สมเกียรติและเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนครอบคลุมใน 2 ประเด็นด้วยกัน คือ ประเด็นเรื่องการข้ามศาสตร์ ข้ามสื่อ กับประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมที่ทุกคนทำได้ อ่านเขียนด้วยกันได้ และฝากประเด็นมาให้ผมกล่าว แต่ผมคงไม่พูด แต่จะขอนำเอาข้อเขียนของอาทิตย์มาอ่านในที่นี้

“ลักษณะ สำคัญ อันหนึ่งของเวิลด์ไวด์เว็บ ก็คือไฮเปอร์ลิงก์ (hyperlink) ที่เชื่อมโยงบทความ ความรู้ รูปภาพ และสิ่งต่าง ๆ ไปมาหากันอย่างไม่จำกัด ไม่มีจุดเริ่มแรก ไม่มีจุดปลายสุดท้าย

ใน ทาง เทคนิค-รูปแบบ สมเกียรติใส่ลิงก์เหล่านี้อยู่ในทุกหน้าของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (ยกเว้นช่วงแรกๆ) ทั้งลิงก์ไปบทความก่อนหน้า-ถัดไป สารบัญตามลำดับเวลา สารบัญตามประเด็น ตามชื่อผู้เขียน และตามคำสำคัญ

นอก จากนี้ยัง มีลิงก์ไปหา "บทความเกี่ยวเนื่อง" ดังที่ได้อธิบายไว้ใน “สารานุกรมลัทธิหลังสมัยใหม่และความรู้เกี่ยวเนื่อง” ของเว็บไซต์ (http://www.midnightuniv.org/pomo/index.html) ว่า

"อีก ประการ หนึ่งซึ่งควรสังเกตไว้เพื่อประโยชน์เพิ่มขึ้นคือ ในแต่ละบทความ จะมีอักษร R ปรากฏอยู่ ซึ่งหมายถึง related หรือบทความเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะโยงไปสู่ความรู้ที่สัมพันธ์กันไปเรื่อยๆ ทำให้นักศึกษาได้ประโยชน์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการค้นคว้าข้อมูลดังกล่าว โดยเหตุนี้ จึงควรได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงและข้อมูลสัมพันธ์ตามลำดับ"

อาทิตย์ บอกว่า

“ลิงก์ ประเภทต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งปกติธรรมดาในยุค "เว็บ 2.0" สิ่งที่น่าตกใจคือ ในขณะที่เว็บ 2.0 ทุกวันนี้ สร้างลิงก์เหล่านี้ด้วยซอฟต์แวร์อัตโนมัติ สมเกียรติทำมันด้วยมือ (เว็บ 2.0 เป็นคำเรียกลักษณะการทำงานของเว็บ ที่ผู้อ่านก็เขียนเองได้ โพสต์เองได้เช่น วิกีพีเดีย ยูทูป หรือFB เป็นต้น)

พูด ง่ายๆ ก็คือ vision ของสมเกียรตินั้นไปไกลกว่าเครื่องมือที่เขามี เขาทำเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนภายใต้ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีของยุคสมัย รวมไปถึงข้อจำกัดการเรียนรู้เทคโนโลยีของผู้ใช้เทคโนโลยีในระดับทั่วๆ ไป แต่ในคนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ แต่ อ.สมเกียรติผลักพรมแดนมันไปจนสุด

ด้วย ไฮเปอร์ลิงก์เหล่านี้ ทำให้บทความต่าง ๆ ถูกอ่านข้ามบริบทกัน เทียบบริบทกัน กลายเป็นไฮเปอร์เท็กซ์ (hypertext) และนั่นนำไปสู่สิ่งที่ “อุทิศ อติมานะ” กล่าวถึงใน "สมเกียรติ ตั้งนโม กับโครงการทางการเมืองที่ยังไม่เสร็จ" คือการพยายามสร้างชุมชน ที่คิดวิเคราะห์อย่างเชื่อมโยง แบบบูรณาการ-สหวิทยาการ

ไม่ เพียงปล่อยให้ไฮเปอร์ลิงก์ทำ งาน กองบรรณาธิการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ยังทำหน้าที่เหมือนภัณฑารักษ์ ที่ทดลองหยิบงานในสื่อต่าง ๆ มาวางเคียงกัน เพื่อสร้างความหมายหรือคำถามใหม่ที่สัมพันธ์ต่อสถานการณ์ในสังคมในขณะนั้น

ตัวอย่าง เช่น บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ 497 ที่ชื่อ "วิลลี บรันดท์-หมอป่วย-ตากใบและ บก.ฟ้าเดียวกัน" http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9721.html ที่รวบรวมข้อเขียน 3 ชิ้น จากเว็บบอร์ดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มารวมทดลองเสนอเป็นชิ้นเดียวกัน ภายใต้คำโปรยว่า "สาระจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ว่าด้วยความรุนแรงหลากมิติ" และหมายเหตุในวงเล็บ "การทดลองนำเสนอ เพื่อเป็นการเชิญชวนนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่านให้ใช้กระดานข่าว"

ข้อ เขียนสามชิ้นจากเว็บบอร์ด พูดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต่างกัน แต่มีประเด็นร่วมกันที่ กองบก.มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมองเห็น และได้ทำการเน้นประเด็นนั้น ไฮไลท์มันด้วยวิธีการนำข้อเขียนสามชิ้นนี้มาวางเคียงกัน คล้าย ๆ กับศิลปะภาพตัดปะ (montage)

ไม่ ว่าจะเป็นการหยิบเอาข้อเขียน จากเว็บบอร์ดมาวางเคียงกัน หรือข้อเขียนจากสิ่งพิมพ์อื่นตามท้ายด้วยความคิดเห็นข้อวิพากษ์จากเว็บบอร์ด จาก "ผู้อ่าน" เช่นกรณี บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนลำดับที่ 653 ที่ชื่อ "องค์ภูมิพล: เอกอัครปัญญาชนสาธารณะแห่งความเป็นไทย" <http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document9566.html> เหล่านี้

ไม่ เพียงแสดงถึงความพยายามในการ เชื่อมโยงความรู้ความคิดเห็นต่างๆ เข้าด้วยกัน แต่ยังแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของสมเกียรติต่อสื่อรูปแบบใหม่ เช่น เว็บบอร์ด

เว็บบอร์ด บล็อก และสื่อใหม่ต่าง ๆ ถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่า จะมีศักดิ์ศรีในทางความรู้วิชาการหรือความน่าเชื่อถือได้เพียงใด เมื่อเทียบกับสื่อเก่า หรือกระทั่งเว็บไซต์ที่มีการจัดการรัดกุมมีผู้รับผิดชอบชัดเจนกว่า

การ หยิบเอาข้อเขียนต่าง ๆ จากเว็บบอร์ดมานำเสนอในอีกรูปแบบ เป็นการทดลองที่จะเสนอให้ผู้อ่านมองเห็นว่า นี่ไง เนื้อหาเดียวกัน คุณภาพแบบนี้ คุณสามารถหาได้ในเว็บบอร์ด มันไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบวารสารวิชาการ หรือจากนักเขียนชื่อดัง มันอยู่ในเว็บบอร์ดได้ มันอยู่ที่ไหนก็ได้ และใครจะเขียนมันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องผ่าน บก...(ดังนั้น ไปใช้เว็บบอร์ดกันเถอะ)

ใน ยุค YouTube ที่ทุกคนพูดถึง user-generated content "ผู้อ่าน" ที่เป็น "ผู้เขียน" ด้วย นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร -สมเกียรติพยายามสนับสนุนและชี้ให้คนเห็นสิ่งเดียวกันนี้ อย่างน้อยก็เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

อาทิตย์ ลงท้ายไว้ในข้อเขียนที่ส่งตรงถึงผมว่า

“ถ้า เราเชื่อ ว่า ความคิดเห็นนั้นสำคัญเท่ากับความรู้ เพราะสิ่งที่เรานับว่าเป็น "ความรู้" "กระแสหลัก" ในทุกวันนี้ต่างก็เคยเป็นความคิดเห็นกระแสรองมาแล้วทั้งสิ้น

การเปิดพื้นที่เว็บบอร์ดดังที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทำ ก็คือการยืนยันในความเชื่อนั้น”

อย่าง ไรก็ตาม ผมไม่คิดว่า อ.สมเกียรติ มีทัศนะที่จะปลดปล่อยความรู้ ถอดรื้อ หรือประกอบสร้างแบบของใครของมัน เพราะในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งกับประชาไท เกี่ยวกับเว็บบอร์ด มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อ.สมเกียรติพูดถึงเว็บบอร์ดว่า

“มัน ทำหน้าที่ เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ เป็นที่ที่ผู้คนสามารถเปิดใจรับฟังสิ่งที่แตกต่างจากความเชื่อของตนเอง เป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถถกเถียงทางการเมืองได้ ซึ่งในสังคมไทยแทบจะไม่มีเหลือแล้ว เพราะสื่อสาธารณะโดยทั่วไปถูกยึดครองโดยนักการเมืองและโฆษณา แต่การถกเถียงไม่ควรจบเพียงเท่านั้น ควรนำไปสู่ฉันทามติ หรือข้อโต้แย้งบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม”

0 0 0

ที่ จริงยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมาก เช่น เรื่อง “ลิขซ้าย” ที่แปลมาจาก Copyleft ตรงข้ามกับ Copyright ซึ่งเป็นสิ่งที่ อ.สมเกียรติน่าจะให้ความสำคัญมากพอดู หากดูจากหน้าเว็บที่เรื่องนี้ค่อนข้างจะได้รับการเน้นอย่างโดดเด่น

12 ปีของเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นี่นับเป็นเวลาที่ยาวนาน ในโลกที่การสื่อสารมันไหลเวียนคล่องตัวขนาดนี้ แต่เราก็รู้ใช่ไหมว่า เว็บแบบ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมันมีน้อยเกินไป และน้อยจนน่าใจหาย เว็บที่รวบรวมเนื้อหา อาศัยใจและความประณีตทำมัน มีผลต่อการสร้างแรงบันดาลใจ มีผลต่อตั้งคำถาม ถอดรื้อ เชื่อมโยงบูรณาการ เพื่อให้อิสรภาพแก่ผู้คนได้ประกอบสร้าง เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้ถกเถียง และอื่นๆ

สุดท้าย ผมนึกถึงคำถามที่ผมเริ่มไว้ตอนต้น เพราะเมื่อเราตระหนักว่า โลกในอนาคตข้างหน้า สถานะและความชอบธรรมของสถาบันต่างๆ จะลดลง หรือถูกท้าทายได้ง่ายขึ้น เมื่อ “นิวมีเดีย” มันเข้าไปตรวจสอบ ถอดรื้อ หรือละลายมัน แม้กระทั่งความจริงความงาม และการวัดคุณค่า เมื่อมันกลายเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการข้ามชั้น ข้ามวัฒนธรรม ข้ามศาสตร์ ข้ามวีชาชีพ และใครๆ ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญได้ โลกของผู้คนจะใกล้กันมากขึ้น ความต่างทางภาษา ทางลำดับชั้น ทางอาวุโสจะลดความหมายลง

ด้วยเหตุนี้ หรือไม่ อ.สมเกียรติจึงไม่ได้สัมพันธ์กับใครด้วยการอวดโอ่ว่าตัวเองเป็นศิลปิน เป็นนักวิชาการ หรือเป็นผู้ทรงภูมิ หรืออาจจะยังมีอยู่บ้างก็ได้ แต่นั่นคงไม่ใช่ประเด็น เพราะประเด็น คือสิ่งที่แกทำ และสิ่งที่แกทำในส่วนที่เกี่ยวกับนิวมีเดีย ได้บอกกับเราว่า

“แกได้เตรียมตัวเป็นพลเมืองของโลกอนาคตก่อนเราเนิ่นนานแล้ว”