ที่มา มติชน
เมื่อ เวลา 13.45 น.วันที่ 8 ก.ค.ที่ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ รศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ "บ้านเมืองเรื่องของเรา" วิพากษ์สังคมและการเมืองไทย พร้อมวิพากษ์แนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ โดยรศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงทั้งในหมู่ชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จนเลยไปสู่การเป็นกลุ่มชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นครั้งแรกที่สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 2 ครั้งคือ ในปีพ.ศ. 2475 และช่วง 14 ตุลา พ.ศ. 2516 ที่มีการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ โดยมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเก่า คือทหาร และข้าราชการ กับกลุ่มใหม่คือ ชนชั้นกลาง และกลุ่มนายทุนหัวเมืองต่างจังหวัด
พลังการเปลี่ยนแปลงจากชนชั้นนำไปสู่คนส่วนใหญ่ จนมวลชนยกขบวนเข้าสู่การเมืองในขนาดใหญ่ ส่วนที่เรากำลังพบตอนนี้คือ มวลชนทางการเมืองระดับชาติ 2 ขบวน คือกลุ่มเสื้อเหลือง และแดงที่ไม่ได้จัดตั้งโดยระบบราชการ ถือได้ว่าเป็นความใหม่ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีทหาร หรือข้าราชการแต่โดยพื้นฐานนี่คือขบวนการที่เกิดเอง ดังนั้น จึงเพิ่มความรู้สึกไม่มั่นคงให้กับราชการที่มีหน้าที่ดูแลความมั่นคง
ดร.เกษียร กล่าวต่อว่า ในด้านความเปลี่ยนแปลงในระบอบเศรษฐกิจ การก่อตัวของนโยบายจากการพัฒนาที่ชี้นำโดย "เทคโนแครต" ไปเป็นโยบายการกระจายความมั่งคั่ง ขับเคลื่อนด้วยพลังทางการเมือง แต่ทุกวันนี้ภาพนี้หายไป กลายเป็นภาพในห้องที่เป็นตัวแทนกลุ่ม ธุรกิจกับทีมที่ปรึกษาทำหน้าที่หาสมดุลที่รับได้ระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวม และส่วนธุรกิจ โดยเทคโนแครตคอยแนะอยู่ข้างห้อง ส่วนบรรดาส.ส.ตัวแทน หรือม็อบ กดดันภายนอก เป็นนโยบายที่วางบนการกดดันของการเมือง
ดัง นั้น สภาพมันเปลี่ยนแปลงไป ในแง่กลับกันมีความเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจแวดล้อมทางเศรษฐกิขระหว่างประเทศ ที่ทำให้เป็นแบบนี้คือ ระเบียบเศรษฐกิจโลกที่ไม่สมดุล อย่างที่นักประวัติศาตร์เศรษฐกิจในฮาร์วาร์ดเรียกว่า "ชีนเมริกา" (Chimerica) คือการที่อเมริกานำเข้า จีนส่งออก อเมริกาในเข้าทุน จีนส่งออกทุน มันไม่สามารถธำรงได้อีกต่อไป เพราะวิกฤติศรัทธา ความตกต่ำทางเศรษฐกิจทั่วโลก
ตัวเลขการส่งออกของหลายๆประเทศ เริ่มเทเป็นส่วนหนึ่งของการส่งออกของ จีน ในภาวะที่จีนปรับตัวถอนตัวความสัมพันธ์แบบ "ชีนเมริกา" ซึ่งไทยก็ยากที่จะพึ่งการส่งออก เลยต้องปรับตัว จึงเป็นเบื้องหลังของการปรับตัวของพรรคการเมืองที่บอกว่าประชาชนต้องเพิ่ม รายได้ ส่วนหนึ่งเองก็ต้องหาเสียง และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นการปรับตัวจากสภาพเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ปัญหาความเสี่ยงต่างๆเกิดจากวิธีการที่ฝ่ายต่างๆใช้ และผลักดัน ต่อต้านไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยวิธีการที่ใช้คือ 1. ดึงมวลชนเข้าร่วมการเมืองขนานใหญ่ เพราะ พลังเก่าที่ต้องการรักษาระเบียบเก่า พบว่าลำพังตัวเองรักษาไม่อยู่จึงดึงมวลชนเข้ามา คำตอบคือ "กลุ่มเสื้อเหลือง" ส่วนกลุ่มชนชั้นนำใหม่ก็พบเช่นเดียวกัน ดังนั้น เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ดึงมวลชนเข้าร่วม คำตอบคือ "เสื้อแดง" ดังนั้นจึงเป็นการเมืองที่ชนชั้นนำกรุยทางให้มวลชนเข้ามา
2. พลังการเมืองที่ขัดแย้งระหว่างกลุ่มเก่าและใหม่ใช้วิธีการนอกรัฐธรรมนูญ โดยพลังเก่าพยายามรักษาระเบียบเก่า และพบว่ากติกาอาจช่วยรักษาไม่ได้ จึงฉีกรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง พบว่า หากสู้ในกรอบก็ไม่สามารถสู้ได้จึงใช้วิธีการนอกรธน. อันเป็นที่มาอย่างเรื่อง รัฐประหาร, ตุลาการธิปไตย ,ก่อจลาจล, ยึดทำเนียบ, ยึดสนามบิน, ยึดย่านธุรกิจกลางเมือง ซึ่งจำเป็นในการต่อสู้ของแต่ละฝ่าย
3. ดึงสถาบันเบื้องสูงเข้ามาพัวพันกับการเมือง การดึงสถาบันเข้าไปอยู่ในแห่งที่ที่ไม่สมควร ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ตั้งคือการตั้งอยู่กับรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ที่เดียวกัน ข้างเดียวกัน ขณะที่การต่อสู้ที่ผ่านมามีการดึงเอาไปใช้เพื่อทำร้ายคู่ต่อสู้ สนับสนุนความชอบธรรมของตัวเองซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของระบบ โดยผลเชิงปฏิบัติของปัญหานี้ ก็คือ ตัวเลขของคดีที่ผิดม. 112 ระหว่างปี 2535-2547 มีไม่ถึง 10 คดี แต่หลังจากนั้นมีปีละร้อยกว่าคดี
การ ดึงมวลชนเข้าร่วมโดยที่ไม่สามารถคุมได้ ใช้วิธีการนอกรธน. ทำให้หลายปีที่่ผ่านมาไม่จบ อำนาจนิยมในรัฐบาล และอนาธิปไตยในท้องถนนใช้กฎหมายพิเศษนานาประการเพื่อคุมให้ได้ พอฝั่งนึงกลับข้างขึ้นเป็นรัฐบาลก็อำนาจนิยม ฝั่งนึงกลับข้างอยู่บนถนนก็เป็นอนาธิปไตย มันไม่มีทางไป จนกว่าจะปลีกตัวออกจากวงจรนี้
การปลีกตัว ที่เราต้องการคือ "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยใหม่ในยุคการเมืองมวลชน" หมายความว่า วัฒนธรรมไทยที่หยั่งลึกในใจจนไม่อาจฉีกทำลายได้ (นิยามโดยอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์) ในสภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปเราต้องการรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อทำให้รัฐและการ เมืองมวลชนมีความศิวิไลซ์ ไม่สามารถทำวิธีอะไรก็ได้เพื่อชนะ
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ เราต้องอยู่กับการเมืองระดับใหญ่ โดยมีสิ่งสำคัญคือ 1. ถือความขัดแย้งเป็นปกติวิสัยของสังคมไทย ความ ขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมชาติกับความสามัคคี ที่ต้องเริ่มความคิดแบบนี้เพราะ หากคิดว่าความขัดแย้งผิดก็จะจัดการความขัดแย้งในแบบสิ่งที่เราไม่ชอบ อย่างที่เราบี้สิว จนสิวแตก เป็นรอยปรุ ซึ่งหลังจากช่วง มีนา-เมษา "เราสิวแตก"
2. ปฏิเสธเป้าหมายสุดขั้วทางการเมืองเช่น เอาสงครามครั้งสุดท้าย เอานายกฯพระราชทาน มันไปไกลเกินไป ขัดแย้งกับโครงสร้างประวัติศาสตร์และอำนาจในทางการเมือง ผลคือการโดดเดี่ยว ไล่มิตร เพิ่มศัตรู ไปไกลสุดโต่ง การเมืองแบบสุดโต่งทำร้ายสิ่งดีงาม ในนามสิ่งดีงามหากไปอย่างสุดโต่งแล้วจะทำลายสิ่งอื่นๆเช่น ต่อต้านคอร์รัปชั่นจึงทำลายประชาธิปไตย
สุดท้ายคือ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งยากมากที่จะเคารพสิ่งที่อยู่ตรงข้าม แต่นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่น่าเศร้าคือ พออยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่เห็นเขาเป็นคน เขาตายก็ไม่แคร์ ไม่เสียใจ
สรุปโดยรวม ปัญหาที่รออยู่คือ คุณทักษิณบอกว่ายิ่งลักษณ์เป็นโคลนนิ่ง เราอาจเริ่มรู้จักรัฐบาลโคลนได้หากถ้ากลับไปทบทวนคุณทักษิณ ในแง่การเมืองระหว่างประเทศได้เดินนโยบายที่เป็นแฟชั่น คือ นโยบายเศรษฐกิจใหม่ ปรับตัวเรื่องรัฐกับการเมืองในระบอบปชต. จึงกลายเป็นเสรีนิยมใหม่ทางสังคม คือ รู้ว่าตลาดไม่ชอบธรรมพอจึงต้องขยายกว้าง เมื่อรู้ว่าต้องการแรงของประชาชน ก็มีแนวโน้มเป็นเรื่องสัญญาประชาคมในแบบประชานิยม
ในแง่กลับกัน ก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โยนห่วงชูชีพเพื่อชวนมวลชนสู่ตลาดด้วยประชานิยม อีกทางนึงคือกลุ่มทุนที่เป็นพวกพ้อง ซึ่งโลกาภิวัฒน์ของทักษิณเป็นเรื่องการเอียงไปทางกลุ่มทุนฝั่งตน ดังนั้น หากยิ่งลักษณ์โคลนมาก็ต้องเจอต้าน จากฝั่งขวา จากรัฐ และรัฐประชาชาตินิยมหรืออำมาตย์ รวมถึงพลังฝ่ายซ้ายตลาดเสรี (มักเป็นนักเศรษฐศาสตร์) และฝ่ายซ้ายภาคประชาชน
ตราบใดที่โคลนมา ตราบนั้นก็จะเผชิญการคัดค้านดังกล่าว ในการนี้จะมีทางแพร่งที่ยิ่งลักษณ์ต้องเจอคือ ทาง แพร่งระหว่างประชาธิปไตยกับหลักนิติธรรม หรือทางแพร่งจากอาญาสิทธิ์จากการเลือกตั้ง กับ การจำกัดอำนาจรัฐให้อยู่ในกรอบที่ไม่ล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญของบุคคลและเสียง ข้างน้อย โดยมีตุลาการอิสระคุมเส้น กล่าวง่ายๆคือเป็นหลักนิติรัฐ ซึ่งต้องการจำกัดอำนาจรัฐไม่ให้ยุ่มย่ามกับเสียงข้างน้อย โดยตรงนี้คือจุดปัญหาที่ผ่านมา และจะรวมศูนย์อยู่ในรูปแบบปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นระเบิดลูกที่ 1
แพร่งที่ 2 คือ ผลประโยชน์ส่วนตน กับส่วนรวม ซึ่งจะแสดงออกรวมศูนย์ในรูปธรรมปัญหาการทวงคืนทรัพย์สินเป็นระเบิดลูกที่ 2
แพร่งที่ 3 คือ ความ จำเป็น สองด้านที่ต้องการรอมชอมกับชนชั้นเก่า และการตอบสนองความต้องการของคนเสื้อแดง ถ้าทำได้รัฐบาลโคลนแม้วก็อยากรอมชอมและเอาใจแดงด้วย แต่ถ้าต้องเลือกทางใด คงง่ายกว่าที่จะโน้มไปรอมชอมกับกลุ่มเก่ามากกว่าเอาใจแดง ทักษิณคงหยิบยื่นสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเรียกร้องหลักให้กับมวลชนแดง อย่างการยกย่อง สดุดี, ให้ตำแหน่งรัฐมนตรีแก่แกนนำ เปิดโอกาสให้ไต่สวนอย่างยาวนาน แพร่งนี้จะแสดงชัดในเรื่องปัญหาความจริง ความยุติธรรมและความรับผิดชอบต่อกรณี 91 ศพ เป็นระเบิดลูกที่ 3
สำหรับการปรองดอง ที่สำคัญที่สุดคือ การปรองดองกับประชาธิปไตย แปลว่า ให้มีจุดเริ่มต้นคือ "ประชาธิปไตยเป็นจุดยืนที่ไม่หายไปไหน" หากการปรองดองเกิดปัญหาก็ขอให้แก้ไขในระบอบนี้
สุด ท้ายคือ เรื่องยิ่งลักษณ์ การปรองดองที่สำคัญคือการปรองดองกับความยุติธรรม นิติธรรม ต้องไม่ใช้อำนาจเกินเลย ต้องไม่กลายเป็นประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยมสมัยคุณทักษิณ เพราะ ประชาธิปไตยอำนาจนิยม คือตัวการที่ขับดันคนไปหาทางออกด้วยการรัฐประหาร
"สำหรับ ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน เป็นความจริงว่าคนบางกลุ่มไม่รักประชาธิปไตย เรียกร้องรัฐประหารไม่ขาดปาก วิธีการที่จะพ้นฐานนี้คือ อย่าทำให้พวกเขากลายเป็นวีรชน ถ้าคุณรังแก ข่มเหง ลิดรอนสิทธิเขา เขากลายเป็นวีรชน วิธีการปรองดองกับพวกเขา พูดอย่างเป็นผู้รักประชาธิปไตยควรทำ ก็คือทำให้เขาเป็นตัวตลกดีกว่า"