ที่มา ข่าวสด
รายงานพิเศษ
การเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายชนะแบบม้วนเดียวจบ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจอย่างรวดเร็ว
โดยพรรคประชาธิปัตย์ต้องจับมือกับพรรคภูมิใจไทยอีกครั้ง เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเล็กอย่าง พรรครักประเทศไทย ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์, พรรครักษ์สันติ ที่มีร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นประธาน
รวมถึงพรรคมาตุภูมิ ภายใต้การนำของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
โฉมหน้าของพรรคร่วมฝ่ายค้านในยุคที่มืออาชีพอย่างพรรคประชาธิปัตย์รีเทิร์น สังเวียนจะเป็นอย่างไร ภาพรวมจะมีความเข้มแข็งเพียงพอต่อการตรวจสอบหรือไม่
นักวิชาการที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างใกล้ชิด มีความเห็นดังต่อไปนี้
1.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
หากมองภาพของพรรคฝ่ายค้าน ต้องมองทั้ง 2 ด้าน คือทั้งในและนอกสภา ในสภาจะมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ
ส่วนนอกสภามีพวกพันธมิตรต่างๆ ที่เป็นสีสัน อาทิ นายชูวิทย์ ซึ่งสนิทกับนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้จัดรายการข่าวช่อง 3 นายชูวิทย์เองก็ชอบออกโทรทัศน์ ตรงนี้น่าจะเป็นสีสัน
แต่ถ้ามองอีกแง่ ประชาธิปัตย์ต้องมีการต่อสู้ในสภาที่เข้มข้นขึ้น มีเหตุมีผล มีความก้าวหน้า นี่คือเกมหลัก ประชาธิปัตย์ถนัดการทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว
ส่วนพรรคเพื่อไทย ต้องไม่ย้อนกลับไปสู่ความผิดพลาดเหมือนครั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ให้ความสนใจกับงานในสภา
ฝ่ายค้านครั้งนี้มีความเข้มแข็งมาก เนื่องจากมีกลุ่มที่ย่อยออกไปเยอะ อาทิ น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเครือข่ายคนเสื้อหลากสี นายแก้วสรร อติโพธิ เครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอร์รัปชั่นทักษิณ (คนท.) เป็นต้น
แต่จะเข้มแข็งมากขึ้นถ้าไม่มีพรรคภูมิใจไทย เพราะเรียกร้องมาตลอดว่าอยากเป็นรัฐบาล
กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีก นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ก็ออกมาปฏิเสธพร้อมทั้งยืนยันแล้วว่าไม่
ที่สุดแล้วมันคือเกมทางการเมือง อาจเป็นเกมเพื่อต้องการเปลี่ยนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จากเก้าอี้เลขาธิการพรรค หรืออาจต้องการเปลี่ยนนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย จากกรรมการบริหารพรรคก็ได้
ประเด็นที่ต้องจับตาตรวจสอบรัฐบาลชุดนี้ คือ การที่จะทำอย่างไรให้รักษาอำนาจอธิปไตยโดยไม่เผด็จการไว้ได้ รวมถึงปฏิรูปสื่อ ทำให้โปร่งใส และให้ความสำคัญต่อสภา นี่คือสิ่งสำคัญ
การเมืองไม่ใช่แค่ได้เสียงข้างมากเท่านั้น แต่ต้องรักษาอำนาจอธิปไตยโดยปราศจากเผด็จการรัฐสภาให้ได้ด้วย
2.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
พรรคประชาธิปัตย์ทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้ดีกว่ารัฐบาล เพราะมีคนที่มีความรู้ความสามารถ มีวาทะในการจับประเด็นต่างๆ ขึ้นมาอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้อย่างชัดเจนและเป็นระบบ คนเหล่านี้ทำได้ดีมาโดยตลอด
กรณีมีนายชูวิทย์ ร.ต.อ.ปุระชัย และพล.อ.สนธิมาร่วมทีมด้วยนั้น ไม่ได้ช่วยให้ฝ่ายค้านเข้มแข็งขึ้น คนเหล่านี้มาสร้างสีสันให้มากกว่า
จุดอ่อนของรัฐบาลใหม่มีหลายเรื่อง อาทิ คนมีความรู้ความสามารถมีจำนวนจำกัด ไม่เพียงพอต่อการบริหารงานในกระทรวงต่างๆ อาจต้องพึ่งคนนอก
รวมถึงภาพลักษณ์รัฐบาลในอดีตก็เคยมีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนมาก่อน ทั้งยังมีภาพเสื้อแดง นปช. และความรุนแรงในอดีตด้วย
เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านจะเข้าไปตรวจสอบต่อไป
3.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ความเข้มแข็งของฝ่ายค้าน ถือว่ามีจำนวนเสียงมากพอต่อการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การตรวจสอบรัฐบาลโดยการตั้งกระทู้ถาม รวมถึงตรวจสอบโดยการเปิดเผยข้อมูลผ่านสาธารณะ คงจะมีมากขึ้น
นิสัยส่วนตัวของพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่าง นายชูวิทย์ คงจะเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะรับรู้ตลอดเวลา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์คงใช้กลไกที่นอกเหนือจากระบบรัฐสภา เข้ามาร่วมตรวจสอบรัฐบาลด้วยเช่นกัน
ตั้งแต่การเปิดเผยข้อมูลผ่านที่สาธารณะ จนถึงการสร้างกลไกภายนอกร่วมกับประชาสังคม
ทุกวันนี้การใช้สื่อสามารถเข้าถึงทุกอณูของสังคม หากฝ่ายค้านสามารถใช้กลไกสื่อเหล่านี้อย่างถูกวิธี จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานและต่อความไว้วางใจของประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องรอการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เรื่องที่ฝ่ายค้านจะเล่นงานรัฐบาลคงหลีกหนีไม่พ้นจุดอ่อนเบื้องต้น คือ นโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยสัญญาไว้กับประชาชน จะทำได้จริงหรือไม่ เอางบมาจากส่วนใด จุดนี้รัฐบาลต้องเตรียมตัวให้ดี
รวมถึงองค์ประกอบของ ครม. จะจัดวางตำแหน่งสำคัญๆ อย่างไรและกับใคร เป็นการตั้งเพื่อตอบแทนผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่
สิ่งเหล่านี้ ผู้นำฝ่ายค้านคนต่อไปต้องออกมาสานต่อความรับผิดชอบ แต่การทำหน้าที่นี้ต้องไม่ใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองเป็นเครื่องมือต่อรอง ผลประโยชน์
อยากเห็นการตรวจสอบของฝ่ายค้านอย่างตรงไปตรงมา ข้อมูลมีความชัดเจน ให้สาธารณชนรับรู้ได้เป็นระยะๆ ไม่ใช่เก็บข้อมูลเอาไว้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาเท่านั้น
เพราะมันไม่เคยล้มรัฐบาลได้เลย
4.จิตติพจน์ วิริยะโรจน์
ส.ว.ศรีสะเกษ
ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านที่มีฝีมือ มีคนเชียร์จำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นของถนัด ครั้งนี้มีนายชูวิทย์เข้าร่วม แม้มีบุคลิกที่ดุเดือด แต่ไม่แน่ใจว่าการตรวจสอบจะดุเดือดด้วยหรือไม่
การทำงานตรวจสอบอย่างดุเดือดสามารถทำได้ แต่ต้องทำตามเนื้อผ้า ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ที่ผ่านมาบ้านเรามีปัญหามาก ฝ่ายค้านต้องมุ่งเน้นการตรวจสอบอย่างจริงจัง ต้องรอดูการรวมตัวของพรรคฝ่ายค้านอีกทีว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ส่วนรัฐบาลผสม 5 พรรคที่นำโดยพรรคเพื่อไทย 299 เสียง ถือว่ามีเสถียรภาพและความมั่นคงมาก รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการบริหารประเทศว่าจะมีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริตหรือไม่ ต้องจับตาดู
แม้นายอภิสิทธิ์ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แล้ว แต่ในพรรคยังมีบุคคลที่มีความสามารถจำนวนมาก อาทิ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ฯลฯ
ซึ่งล้วนมีความสามารถเทียบเท่านายอภิสิทธิ์
5.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
การรวมกันของฝ่ายค้านครั้งนี้มาจากหลายพรรค ที่มาก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อาจไม่มีเอกภาพเนื้อเดียวกัน แต่คงไม่ถึงกับเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งต่อการทำหน้าที่ อย่างนายชูวิทย์คงไม่ยอมอยู่ภายใต้คำสั่งใครแน่
แต่ไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานคะแนนเสียงมาก ที่สุด ที่ผ่านมาพรรคเองเคยผ่านบทบาทเหล่านี้มาและได้รับความนิยมด้วย
ทั้งการแสดงบทบาทแฉ หรือแม้แต่บทบาทคนดีก็ตาม
จุดอ่อนของฝ่ายค้านที่ผ่านมา คือ การแสดงบทบาทเดิมๆ จนเกิดความน่าเบื่อ ดังนั้นควรมีนโยบายใหม่ๆ ออกมาบ้าง ไม่ใช่ค้านอย่างไร้เหตุผล แต่ต้องนึกถึงการเป็นปากเสียงแทนประชาชน
และทำให้การค้านเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่มีความหมาย
ผู้นำฝ่ายค้านคนต่อไป คงไม่พ้นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ที่จะมารับตำแหน่งแทนนายอภิสิทธิ์ที่ขอลาออก แต่ก็มีหลายเสียงที่ยังอยากให้นายอภิสิทธิ์กลับเข้ามา เขายังมีฐานเสียงสนับสนุนบางส่วนอยู่ โดยเฉพาะในเขต กทม.
แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาก็บอกแล้วว่าเขาแพ้ ความจริงนายกรณ์ จาติกวณิช สามารถเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้ แต่สุดท้ายต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกภายในพรรคประชาธิปัตย์