ที่มา มติชน
หมาย เหตุ - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งพำนักอยู่ในนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวมติชนถึงแนวทางการสร้างความปรองดองของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งกำลังจะก้าวขึ้นเป็น "ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง"
"ก้าวแรกเอาใจก่อน ใจเราเริ่มทำใจแล้ว ที่โกรธๆ แค้นๆ กันมา ชกกระสอบทรายสัก 3-4 ทีก็ลืมแล้ว ระบายออกสักหน่อย เตะหมอนก็ได้ จากนั้นก็จะได้เริ่มพบกันพูดกัน เริ่มคุยกัน สักเดี๋ยวมันก็จะดีขึ้นไป พูดกันได้แล้ว พอปีนี้โอบไหล่กันได้ ปีหน้าจูบปากกันเลยได้ไหม เราค่อยๆ ตั้งเป้าเอาไว้"
@ เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เข้าสู่อำนาจรัฐแน่นอนแล้ว ประเทศไทยจะไปในทิศทางไหน
รัฐบาล ต้องเร่งแก้ไขปัญหาความปรองดอง เป็นภารกิจแรก แล้วภารกิจสำคัญอีกอย่างก็คือปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องแก้ไขไปพร้อมกัน ไม่สามารถแก้ไขอะไรก่อนได้เพียงอย่างเดียว
ผมว่าวันนี้ทุก ฝ่ายต้องมองเจตนารมณ์ของประชาชน ประชาชนค่อนข้างชัดเจนว่าอยากเห็นความปรองดอง นักการเมืองก็ไม่ควรจะฝืนความรู้สึกของประชาชน ที่จะไปนั่งทะเลาะเบาะแว้งกันให้ประชาชนดูแล้วกลับเข้าไปอยู่ในเกมปกติของ การเมือง มีระบบการซักค้าน ซักฟอกกันในสภาผู้แทนราษฎร ให้มันเป็นเรื่องการทำงานในสภา แล้วก็จบในสภา จะได้ไม่ทำให้เกิดการทะเลาะกันไป ขัดแย้งกันอยู่เรื่อยๆ มันไม่เกิดการสร้างสรรค์เสียที วันนี้ประชาชนแสดงพลังออกมาอย่างนี้ต้องถือว่าประชาชนอยากเห็นการเมืองที่ สร้างสรรค์
ที่ผ่านมาพอนักการเมืองทะเลาะกัน กรรมการส่วนหนึ่งก็ทำตัวไม่เป็นกลาง ไปเลือกข้าง ก็เลยทำให้การต่อสู้มีแนวร่วมกระโดดออกมาร่วมกันหลายคน เพราะกรรมการไม่เป็นกลาง มันเหมือนกับฟุตบอล พอกรรมการไม่เป็นกลาง คนดูก็ต้องลงมาในสนามด้วย ซึ่งปกติคนดูก็ไม่อยากลงมาในสนามหรอก ก็อยากดูบอลเฉยๆ อยากจะแค่เชียร์ ใครแพ้ชนะเขาก็ไม่ว่าอะไร แต่นี่มันบังเอิญว่ากรรมการมันน่าเกลียดไปหน่อย คนมันก็เลยต้องออกมา
การ จะทำให้ทุกอย่างเข้าระบบมันต้องใช้เวลา โดยเฉพาะกรรมการ ที่ถ้าเราทำให้กลับมาเข้าระบบ ต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยๆ คนที่คิดจะทำแย่อย่างเดิมก็ทำได้ยากขึ้น เพราะวันนี้กระแสประชาชนบอกว่าพอแล้วนะ ที่ผ่านมาไม่ไหวแล้วนะ อย่าเลย เพราะฉะนั้นทุกคนก็ต้องกลับมาคิดแล้ว
@ เมื่อพรรคเพื่อไทยกลับมามีอำนาจ ฝ่ายตรงข้ามก็เกรงเรื่องเช็กบิล
ต้อง เข้าใจเลยว่าทุกอย่างมันไม่โอเวอร์ไนท์ (ยังไม่สิ้นสุด) ก็ต้องค่อยๆ พูดกัน เพราะเราจะสมานฉันท์ ไม่ใช่ผลัดกันฉัน เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขาปรับปรุงตัว ให้เขาแก้ไขปัญหา คนไหนที่มันไม่ถูกต้องก็ต้องย้ายไปที่เหมาะสม แต่ต้องให้มีหลักเกณฑ์ ไม่ใช่อยู่ๆ จะไปทำโน่นทำนี่ทันทีมันไม่ได้
"ต่อไป คนที่ทำไม่ดี มันจะถูกประจานมากขึ้น เกียรติยศ เกียรติภูมิที่สร้างกันมา มันก็จะหายไปเรื่อยๆ เรื่องมันจะค่อยๆ มันไม่มีอะไรโอเวอร์ไนท์ แต่สัญญาณที่จะปรับทุกอย่างให้ดีขึ้นมันจะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาที่สู้กันจนบ้าเลือด ก็เพราะว่ากลัวเกินไป กลัวเกินเหตุ แต่ละฝ่ายกลัวจนเกินเหตุ เป็นห่วงสวัสดิภาพตัวเองมากเกินไป ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่มีอะไรเลย เหมือนไปกลัวมาก แล้วก็แทนที่จะหยุดทำไม่ดี กลับไปเพิ่มการทำไม่ดี เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย โดยสารมันเสียเลย"
@ สัญญาณที่ว่าคืออะไร
สัญญาณ ก็คือผลการเลือกตั้งที่ออกมา ที่จะบอกทุกคนว่าต้องเริ่มแล้ว ต้องเริ่มปรับ เหมือนประชาชนร่วมกันพูดออกมาดังๆ ว่าอย่างเก่าไม่เอาแล้วน่า (เสียงสูง) ...เปลี่ยนเถอะ เขาไม่ได้บอกว่าให้ใครไปฆ่าใคร ไม่ได้บอกให้ใครไปรังแกใคร เขาไม่ได้ต้องการอย่างนั้น แต่ประชาชนบอกว่า ที่ผ่านมาไม่ไหวแล้วน่า เถอะนะ !
@ มือที่มองไม่เห็น และคอยบงการเกมอยู่เบื้องหลังตามที่เคยกล่าวหาเอาไว้ จะได้ยินและแปรสัญญาณที่บอกตรงกับที่คิดหรือ
ก็...ส่วนใหญ่ก็ยังแปรถูก แต่จะมีส่วนน้อยที่ยังดื้อด้าน ก็ต้องมีบ้าง เป็นธรรมดา ...
รัฐบาล พรรคเพื่อไทยก็จะต้องส่งสัญญาณตลอดเวลา อย่างต่อเนื่อง บางทีเคาะระฆังทีเดียวมันได้ยินกัน 10 คน ถ้าเคาะ 20 หน ก็จะได้ยิน 200-300 คน ก็ต้องยอมเคาะบ่อยๆ เคาะบ่อยๆ เคาะระฆังแสดงสัญญาณการปรองดองอย่างต่อเนื่องยาวนาน
@ คนเสื้อแดงประกาศเป็นศัตรูกับอำนาจเก่า ที่ต้องเลือกเลยว่าใครจะอยู่ ใครจะไป
การ ปรองดองมันขาดการเยียวยาไม่ได้ คือมันต้องเยียวยาผู้ประสบเคราะห์กรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะสีอะไร สีเหลืองที่ตาย เจ้าหน้าที่ที่ตาย สีแดงที่ตาย สีแดงที่บาดเจ็บ มันต้องมีการเยียวยา
@ เสื้อแดงเรียกร้องมาตลอดว่าจะเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้
มัน ต้องมีขั้นตอนของมัน ก่อนอื่นคือต้องหาความจริง แล้วก็เยียวยา พอเยียวยาเสร็จเรียบร้อย มันต้องลงโทษ หรือจะต้องถือว่าไม่ลงโทษแล้วอะ...เรารู้แล้วว่านาย ก. ผิด นาย ข. ผิด แต่สำนึกผิดทั้งหมดแล้ว ยกหมดเลย พอแล้ว จบกันทุกอย่างแล้วไปเยียวยาผู้ประสบเคราะห์กรรมเสีย ซึ่งจะเอาแบบไหนอยู่ที่คณะกรรมการที่จะถูกตั้งขึ้นมามองว่าควรทำแบบไหน เหมือนในแอฟริกา มีรูปแบบของความขัดแย้งมีเยอะ มันมีรูปแบบอยู่ที่เราจะต้องไปเรียนรู้ว่ารูปแบบไหนจะเหมาะกับประเทศไทย
คือ เบื้องต้น เราต้องรู้ก่อนว่าความจริงมันเกิดอะไรขึ้น ความจริงคืออะไร เอาให้ชัดเลย ไม่งั้นจะเป็นการทำในสิ่งที่เราเดาเอา ต้องค้นให้ชัดว่าต้นเหตุมันเกิดจากตรงไหน วันหลังจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก
@ ความจริงจะไปขัดกับการสร้างความปรองดองหรือเปล่า
มัน คงไม่ถึงขนาดเป็นอุปสรรคหรอก เพราะความจริงมันมีหลายขั้นตอน ความจริงแบบว่าเห็นช้างเดินมาตัวหนึ่ง เห็นควายเดินมาตัวหนึ่ง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าตัวไหนช้าง ตัวไหนควาย แต่เราสามารถบอกได้ว่าเป็นสัตว์ใหญ่
"สัตว์ใหญ่เดิม มาแล้ว สีดำๆ หนังหยาบๆ มีเขาหรือมีงาสองอันเหมือนกัน ก็อาจจะบอกได้แค่นี้ อย่างน้อยๆ ก็รู้ว่า อ๋อ...ที่ นาย ก. ถูกเหยียบตายเป็นสัตว์ใหญ่แน่นอน แต่ไม่รู้ว่าสัตว์นี้เรียกช้างหรือเรียกควาย หรือมันเป็นตัวช้างหรือตัวควายเหยียบแน่ นั่นก็เป็นทรูธ (truth ความจริง) ระดับหนึ่ง แต่ถ้าทรูธถึงระดับที่รู้ว่างวงฟาด ก็เป็นทรูธที่ละเอียดขึ้น มันอยู่ที่ว่าทรูธนั้นจะไปถึงขั้นไหน ที่จะสามารถรับรู้ได้"
@ ถ้าความจริงมันชัดเจน อาจจะมีฝ่ายหนึ่งอาจจะยอมรับไม่ได้ และกระทบต่อความอยู่รอดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดังนั้นจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดงและกองทัพอย่างไร
คือ มันคนไทยนะ ... ถ้ารู้แล้วว่าคนผิดเป็นใคร คนผิดก็ยอมรับผิดซะ คนไทยก็ให้อภัย คนไทยเป็นคนพุทธ ให้อภัยกันไม่ยาก บางทีประเทศไทยเวลามันมีอะไรจบ มันก็จบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
คือ ไม่ใช่ว่าคนเป็นรัฐบาล ไปถึงอยากจะปลดใครก็ปลดๆ ไม่ได้หรอก การทำงานมันมีกติกา ข้าราชการเขาก็มีระเบียบปฏิบัติเขาอยู่ ส่วนคนเสื้อแดง ผมก็คิดว่าพูดกันด้วยเหตุด้วยผลได้ คนเสื้อแดงส่วนใหญ่กับผมเนี่ยพูดกันรู้เรื่อง
@ จะกลายเป็นการตัดตอน เพื่อไม่ให้ความจริง
ก็ อย่างที่บอกไง บางทีเราเอากล้องซูมๆ อยู่ เห็นภาพเท่านี้ก็เข้าใจได้แล้ว ก็พอละ...ไม่อย่างนั้นเราก็ต้องไปซื้อเลนส์พิเศษมานั่งซูมอีก ก็อาจจะไม่จำเป็น เพราะเลนส์นั้นมันอาจจะแพงเกินไป มองแค่นี้ พอได้แล้วก็จบ
@ คนไทยต้องยอมหลิ่วตาข้างหนึ่งหรือ
ไม่ต้องหลิ่ว แต่เรารู้แค่นี้ก็พอแล้ว บางทีมันรู้แค่นี้ก็พอแล้วก็จบ !
@ มั่นใจว่าแนวทางนี้จะทำให้ประเทศไทยกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้เลยหรือ
ได้... แต่มันจะไม่โอเวอร์ไนท์ไง... ต้องใช้เวลาหน่อย ต้องอย่างน้อย 2 ปีแหละ มันถึงจะเริ่มเห็นว่าใกล้เคียง 2 ปีสำหรับรัฐบาลที่มีอุปสรรคน้อย จะหวังไม่ให้มันมีอุปสรรคเลย คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมันบอบช้ำมานาน ระบบมันเสียหายมานาน ของดีๆ ที่มีอยู่พวกก็ล้มหมด เพราะมันเป็นความคิดริเริ่มของผม ทั้งๆ ที่ประเทศหรือองค์กรขนาดใหญ่ มันต้องต่อเนื่อง แต่นี่มารื้อมันดื้อๆ ไม่สนใจอะไรเลย
@ ถ้าการเมืองยังไม่แน่นอนอย่างนี้ จะมั่นใจเรื่องปรองดองได้หรือ
ได้ ครับ...วันนี้ผมอยากให้ทุกฝ่ายมีโฮป (Hope ความหวัง) บ้าง ถ้าไม่มีโฮปปุ๊บบางคนมันไม่มีความอดทน แต่ถ้ามองในแง่ดีบ้าง คนก็อยากจะทำ ผมเลยอยากบอกว่า เราตั้งเป้าก่อนว่าวันนี้จิตใจเราอยากสมานฉันท์ มาตั้งเป้าว่าไม่ถึงขั้นที่จูบปากกัน อย่างน้อยๆ ก็โอบไหล่บ้างได้ไหม มันจะได้มีบรรยากาศที่ดีให้ชื่นใจกันหน่อย
"ก้าวแรก เอาใจก่อน ใจเราเริ่มทำใจแล้ว ที่โกรธๆ แค้นๆ กันมา ชกกระสอบทรายสัก 3-4 ทีก็ลืมแล้ว ระบายออกสักหน่อย เตะหมอนก็ได้ จากนั้นก็จะได้เริ่มพบกัน พูดกัน เริ่มคุยกัน สักเดี๋ยวมันก็จะดีขึ้นไป พูดกันได้แล้ว พอปีโอบไหล่กันได้ ปีหน้าจูบปากกันเลยได้ไหม เราค่อยๆ ตั้งเป้าเอาไว้"
@ นี่คือแผนการปรองดอง ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือเปล่า
ก็ ได้คุยกันครับ (ตอบสวน) มีการคุยกันเป็นการภายใน ถึงว่าเราตั้งเป้าในการปรองดองสมานฉันท์กันอย่างไร แล้วจะทำอย่างไร ก็ค่อยๆ ทำ เขาเรียกว่ามันเป็นกระบวนการที่ต้องพยายามปรับกันไปเรื่อยๆ เพื่อให้ไปสู่จุดหมายปลายทางให้ได้ มันต้องปรับไปตามสถานการณ์
@ หวังว่าจะเห็นกระบวนการปรองดองเริ่มได้เมื่อไร
เฮ้อ (ถอนหายใจ) ... ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไป คือคนไทยเนี่ย อย่างผมเนี่ย ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมเป็นคนใจดี ใครที่เคยทำอะไรไม่ดีกับผม บอกว่า ขอโทษนะ ผมทำอะไรไป ผมเคยเข้าใจผิดไปนะ ผมก็เอ้า ! เช็กแฮนด์จบ
@ อย่างคุณเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทยล่ะครับ พออภัยให้กันได้ไหม
ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอะไรแล้ว เราจะมาทำงานร่วมกันใหม่ได้ (ตอบสวน) มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น หมายความว่าเลิกรากันไป
@ มาร่วมรัฐบาลแบบงูเห่าไง
ไอ้ งูเห่าคงไม่มีมั้ง ! เพราะเราเองก็ไม่ชอบงูเห่าอยู่แล้ว คืออย่างนี้ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า พรรคเพื่อไทยหลังที่โดนงูเห่าออกไปครั้งนั้น เราก็เจ็บ เราก็ไม่อยากจะไปทำอย่างนั้นอีก มันไม่ดี มันส่งเสริมให้การเมืองไร้วินัย เรามองว่ามันไม่ดี การส่งเสริมให้คนไร้วินัย ว่ามันไม่ได้ และเราก็ยังเชื่อในกฎแห่งกรรมอยู่
มติชนรายวันฉบับวันที่10ก.ค.54