ที่มา ประชาไท
ในบทความชื่อ “เมื่อพระอ้างพระไตรปิฎก ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ” ผมวิจารณ์การอ้างพระไตรปิฎกแบบพระเกษมว่า ไม่จำแนกแยกแยะข้อความในพระไตรปิฎกว่าส่วนไหนคือข้อความที่พูดถึงหลักการ ทั่วไปที่ใช้ได้กับทุกยุคสมัย ส่วนไหนที่เป็นข้อความที่พูดถึงหรือ “พูดถูก” ตามค่านิยมของบริบททางสังคมวัฒนธรรมสมัยพุทธกาล แล้วไปหยิบเอาข้อความที่ถูกตามค่านิยมในบริบททางสังคมวัฒนธรรมสมัยพุทธกาลมา เป็นมาตรฐานตัดสินถูก-ผิดในปัจจุบันนั้น เป็นการอ้างพระไตรปิฎกแบบอีเดียต (หมายถึงมั่ว ไม่รู้จักคิด)
ต่อมาผมได้ดูคลิปอธิบายตัวเองของพระเกษม สรุปได้ 2 ประเด็นหลักๆ คือ
1) ประเด็นอ้างพระไตรปิฎกว่าผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำประเทศ พระเกษมอธิบายว่ามีคนมาถามจึงนำข้อความในพระไตรปิฎกมาแสดงให้ดู ไม่ได้ประสงค์จะคัดค้านโดยตรงเรื่องที่บ้านเรามีผู้หญิงเป็นนายกฯ แต่พระเกษมยังยืนยันว่า การที่ผู้หญิงเป็นผู้นำนั้นถือว่าไม่ถูกตาม “พระ ธรรมวินัย” (พระเกษมใช้คำนี้ คงหมายถึงข้อความในพระไตรปิฎกที่อ้าง) พร้อมกับติงว่า ในพรรคเพื่อไทยนั้นมีผู้ชายตั้งมากมาย ทำไมจึงดันผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำ แสดงให้เห็นว่าพระเกษมเชื่อว่าทุกข้อความในพระไตรปิฎกคือสัจธรรมที่ใช้ได้ กับทุกยุคสมัย
ที่พระเกษมเชื่อเช่นนั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากพระเกษมเป็นพระป่าลูกศิษย์หลวงปู่หล้า การศึกษาพุทธศาสนาของท่านจึงเป็นการศึกษาตามจารีตของพระป่าคือ ศึกษาจากคำสอนของครูบาอาจารย์ และปฏิบัติตามรูปแบบของครูที่ประยุกต์มาจากคัมภีร์ ส่วนการศึกษาพระไตรปิฎกน่าจะเป็นความสนใจส่วนตัวของพระเกษม และคงเป็นการศึกษาด้วยตนเองเพื่อถอดความหมายมาสู่การปฏิบัติ การศึกษาแบบนี้เน้นความศรัทธาในพระไตรปิฎกเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติธรรมว่า ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าสอน (ต่างจากการศึกษาพระไตรปิฎกอย่างเป็นวิชาการที่ต้องเรียนรู้หลักการตีความ การวิเคราะห์ วิจารณ์ไปด้วย)
ฉะนั้น โดยวิธีการศึกษาพระไตรปิฎกดังกล่าว จึงทำให้พระเกษมเชื่อว่าทุกข้อความในพระไตรปิฎกคือสัจธรรมที่เป็น “อกาลิโก” และทำให้พูดออกมาว่า ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำเพราะไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย (ข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎก)
ข้อบกพร่องในการอ้างพระไตรปิฎก “แบบพระเกษม” (ไม่ใช่พระเกษมรูปเดียวที่อ้างแบบนี้) ที่ขาดความเข้าใจบริบทของข้อความในพระไตรปิฎก และบริบทสังคมปัจจุบัน เป็นการสะท้อนปัญหาของ “วิธีวิทยา” (methodology) ในการศึกษาพระไตรปิฎก ที่สังคมสงฆ์ หรือระบบการศึกษาของสงฆ์น่าจะใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ทำนองนี้อีก
2) ประเด็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม พระเกษมอธิบายว่าเป็นเจตนาของตนที่ต้องการแสดงออกเช่นนั้นเพื่อมุ่งประโยชน์คือ “การ เปิดศาสนา” (คำของพระเกษม) หมายถึง ต้องการแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นเพื่อกระตุกให้คนหันมาสนใจ แล้วจะได้อธิบายออกไปว่าคำสอนที่ถูกต้องในพระไตรปิฎกคืออะไร ที่พระสงฆ์ปฏิบัติกันอยู่ เช่น สร้างวัตถุมงคลหาเงิน บูชารูปเคารพ สะสมเงินทอง มีบัญชีเงินฝากส่วนตัว มีรถยนต์ส่วนตัวราคาแพงๆ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกทั้งสิ้น
เราอาจเข้าใจได้ว่า เจตนาของพระเกษมเป็นสิ่งที่ดี แต่วิธีการของท่าน (เช่นถีบเก้าอี้ ฯลฯ) ขัดแย้งกับความรู้สึกของชาวพุทธ และขัดแย้งกับพระไตรปิฎกที่ท่านอ้างเสียเอง คือในวินัยปิฎกจะมีเนื้อหาส่วนที่บัญญัติเกี่ยวกับ “อาจาระ” (ความประพฤติ/มารยาท) ที่ถือเป็น “สมณสารูป” (ความประพฤติ/มารยาทอันสมควรกับความเป็นผู้สงบ) อย่างที่เรียกว่า การสำรวมกาย วาจา การแสดงออกของพระเกษมจึงขัดกับเนื้อหาส่วนนี้
ส่วนเรื่องตบหน้าพระพุทธรูป เผาพระพุทธรูป ฝังวัตถุมงคล ก็อาจขัดกับความรู้สึกของชาวพุทธทั่วๆ ไป แต่ไม่ขัดวินัยสงฆ์โดยตรง เพราะวินัยสงฆ์ไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องนี้ เนื่องจากสมัยพุทธกาลยังไม่มีสิ่งดังกล่าว
ว่าที่จริงวิธีกระตุกให้คนสนใจธรรมะโดยการเผาพระพุทธรูปคงไม่ใช่พระเกษม ทำเป็นคนแรก พระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเซ็นก็เคยทำแบบนี้ ถ้าฟังจากคำอธิบายของพระเกษมเองก็ดูเหมือนว่าท่านจะทำแบบพระเซ็น
แต่ก็นั่นแหละครับ การแสดงธรรมแบบพระเซ็น ก็เป็นการแสดงธรรมภายใต้ “วัฒนธรรม แบบเซ็น” ที่สังคมเขามองว่าเป็น “ศิลปะ” ของการแสดงธรรมอีกแบบหนึ่ง แต่การแสดง “ธรรมะถีบเก้าอี้” ภายใต้วัฒนธรรมเถรวาท มันยากที่จะให้คนมองว่าเป็นศิลปะ (จะว่าไป บน “แผ่นดินธรรม” อย่างบ้านเราก็มีธรรมะหลายเวอร์ชั่นอยู่ เช่น ธรรมะฆ่าเวลา ธรรมะโฆษณา ธรรมะสวัสดี ธรรมะถีบเก้าอี้ ธรรมะปี้แก้กรรม ฯลฯ)
จะอย่างไรก็ตาม ความผิดเรื่องพฤติกรรมไม่เหมาะสมของพระเกษม เป็นเรื่องที่ต้องจัดการตามวินัยสงฆ์เท่านั้น (ยกเว้นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ป่าสงวนโดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการทางกฎหมาย แต่ต้องแยกเป็นคนละเรื่องกับพฤติกรรมไม่สำรวม) ผมจึงแปลกใจที่มีกลุ่มบุคคลไปแจ้งความเอาผิดทางกฎหมายเรื่องพฤติกรรมไม่ สำรวม โดยอ้างว่าเป็นการทำลายพุทธศาสนา แถมมีคำสั่งจากเจ้าคณะจังหวัดเพชรบูรณ์ให้พระเกษมสึก มีมติจากคณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์ให้ขับพระเกษมออกนอกพื้นที่ โดยการออกคำสั่งและลงมตินั้นไม่ได้เปิดโอกาสให้พระเกษมไปชี้แจงใดๆ
การให้สึกนั้นถือเป็นการลงโทษสูงสุดของพระ (เป็นโทษประหารจากชีวิตความเป็นพระเทียบเท่ากับโทษประหารชีวิตในทางโลก) ในรูปแบบวิธีการดำเนินการทางวินัยสงฆ์นั้น การจะลงโทษเช่นนี้ต้องมีโจทย์ จำเลย มีกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงจนสรุปได้แน่ชัดว่าผิดวินัยสงฆ์ข้อไหน อย่างไร จึงจะตัดสินลงโทษได้ (เหมือนกับในทางกฎหมายการที่ศาลจะตัดสินประหารชีวิตใครจะต้องนำเขาเข้าสู่ กระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องทุกขั้นตอนก่อน) ฉะนั้น การมีคำสั่งให้สึก หรือขับไล่พระเกษมออกนอกพื้นที่ โดยไม่เปิดโอกาสให้เจ้าตัวไปชี้แจงก่อน จึงสะท้อน “ความไร้มาตรฐาน” ของระบบปกครองสงฆ์ที่น่ากังวลยิ่งกว่าพฤติกรรมไม่สำรวมของพระเกษมเสียอีก
ที่น่ากังวล เพราะว่าความไร้มาตรฐานเช่นนี้จะทำให้พระสงฆ์ปกครองกันเองไม่ได้ เพราะไม่ใช่พระเกษมเท่านั้นที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและมติข้างต้น พระรูปอื่นๆ ที่ถูกดำเนินการเช่นนี้ก็อาจดื้อแพ่งได้ เพราะวิธีที่ไร้มาตรฐานเช่นนั้นอธิบายไม่ได้ว่า ชอบธรรมหรือยุติธรรมอย่างไร ทำไมจึงควรเคารพ หรือต้องปฏิบัติตาม
ผมไม่ได้เห็นดีเห็นงานกับวิธีแสดง “ธรรมะถีบเก้าอี้” ของพระเกษมนะครับ แต่เห็นว่าไม่ยุติธรรมต่อพระเกษม (หรือพระรูปไหนก็ตามที่ทำแบบเดียวกันนี้) ที่จะเอาผิดทางกฎหมาย ให้สึก หรือขับออกจากพื้นที่ องค์กรปกครองสงฆ์ และชาวพุทธที่ออกมาเอาผิดเรื่องนี้ ควรกล้าเผชิญกับคำถามท้าทายของพระเกษม และให้ท่านได้ไปชี้แจงตามกระบวนการทางวินัยสงฆ์ก่อนจะตัดสินลงโทษใดๆ
ทั้งนี้เพื่อรักษา “มาตรฐานการดำเนินการความยุติธรรมทางวินัยสงฆ์” เอาไว้เป็นหลักให้สังคมสงฆ์สามารถปกครองกันเองได้อย่างเข้มแข็ง เป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมต่อไป พฤติกรรมที่ผิดวินัยสงฆ์ คณะสงฆ์ต้องเชื่อมั่นว่าสามารถจัดการตามกรรมวิธีทางวินัยสงฆ์ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายหรืออำนาจรัฐมาเป็นเครื่องมือ (ยกเว้นเรื่องที่พระทำผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันตามนั้น)
ไปๆ มาๆ ปรากฏการณ์ “ธรรมะถีบเก้าอี้” เลยทำให้สังคมได้เห็นว่า ปัญหาที่น่ากังวลกว่าพฤติกรรมไม่สำรวมของพระเกษม คือปัญหา “ความไร้มาตรฐาน” ของระบบการปกครองสงฆ์นั่นเอง!