WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, October 3, 2011

สัมภาษณ์พิเศษ: แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล

ที่มา ประชาไท

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้ที่ติดตามข่าวสารการเมืองไทย อาจเคยได้ยินเรื่องราวของอดีตผู้ข่าวอาวุโสชาวอังกฤษคนหนึ่ง ที่ลาออกจากสำนักข่าวทอมป์สัน รอยเตอร์ หลังจากทำงานมา 17 ปี เพื่อเขียนหนังสือขนาดยาวว่าด้วยการเมืองไทยร่วมสมัย โดยใช้ข้อมูลจากโทรเลขลับวิกิลีกส์ของสถานทูตสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับประเทศไทย พร้อมจัดหนักเจาะลึกในประเด็นอย่าง วิกฤติการณ์การสืบรัชทายาท เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา มาจนถึงเหตุการณ์นองเลือดเมษายน-พฤษภาคมในปีที่แล้ว

ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา เขาได้รายงานข่าวสงครามและพื้นที่ความขัดแย้งมาแล้วหลากประเทศในหลายทวีป ไม่ว่าจะเป็นอิรัก อัฟกานิสถาน เลบานอน ปาเลสไตน์ อิสราเอล ไทย กัมพูชา และพม่า และในบั้นปลายของอาชีพ เขาเลือกที่จะมาเจาะลึกและเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับประเทศไทย ด้วยวิธีวิทยาที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน

บ่ายวันหนึ่งในฤดูร้อนของประเทศสิงคโปร์ ประชาไท มีโอกาสได้มานั่งพูดคุยกับ “แอนดรูว์ แม็คเกรเกอร์ มาร์แชล” อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์และปัจจุบันเป็นนักข่าว/นักเขียนอิสระ ที่ประจำอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งด้วยงานเขียน ‘ไทยสตอรี่’ (#Thaistory) ทำให้เขาไม่อาจเดินทางเข้าประเทศไทยอีก เนื่องจากความเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ของหนังสือเล่มดังกล่าว

“นี่เป็นสิ่งที่ผมเสียใจมากที่สุด” เขากล่าว “แต่ยังไงผมก็ต้องเขียนมันขึ้นมา ถึงแม้ว่ามันจะทำให้ผมเข้าประเทศไทยไม่ได้อีกแล้วก็ตาม”

เหตุใด คนอย่าง ‘แอนดรูว์ เอ็ม. มาร์แชล’ เลือกที่จะลาออกจากสำนักข่าวรอยเตอร์ หลังรอยเตอร์ปฏิเสธจะตีพิมพ์เรื่องราวของเขา และหันมาเขียนเรื่อง ‘ความจริง’ เกี่ยวกับประเทศไทย โดยเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของเขา ทั้งๆ ที่ไม่ได้เงินซักบาทซักสตางค์ และยังเสี่ยงต่อคุกตารางในเมืองไทย เชิญอ่าน.......

0000





ณ อพาร์ทเมนต์แห่งหนึ่งใจกลางเมืองสิงคโปร์ ท่ามกลางอากาศร้อนชื้นในของเดือนกันยายน ทีมข่าวต่างประเทศประชาไท ได้มีโอกาสเยี่ยมเยือนและพูดคุยกับ แอนดรูว์ มาร์แชล แม็กเกร์เกอร์ ผู้เขียนหนังสือ ‘ไทยสตอรี่’ หรือ ‘Thailand’s Moment of Truth: a Secret History about 21st century of Siam’ (ห้วงเวลาแห่งความจริงของประเทศไทย: ประวัติศาสตร์ลับของสยามในศตวรรษที่ 21)

ส่วนแรกของหนังสือเล่มนี้ ได้ถูกเผยแพร่ออกมาแล้วทางเว็บไซต์ส่วนตัวของเขา โดยมีผู้เยี่ยมชมและเข้าไปอ่านรวมหลายแสนคลิกในเวลาไม่กี่เดือน ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ในระหว่างการเขียน ซึ่งแอนดรูว์บอกกับเราว่า ‘ไทยสตอรี่’ ที่เสร็จสมบูรณ์ จะได้เผยแพร่ออกสู่สายตาคนอ่านไม่เกินเดือนตุลาคมนี้แน่นอน

หลังจากที่เขาได้ลาออกจากสำนักข่าวทอมป์สัน รอยเตอร์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากรอยเตอร์ปฏิเสธจะตีพิมพ์งานเขียนของเขาเกี่ยวกับการเมืองไทย เพราะอ้างว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายหมิ่นฯ นั้น เขาก็ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการเขียนงาน ‘ไทยสตอรี่’ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองไทย ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสิน เรื่อยมาถึงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2554

“ผมบอกตรงๆ ว่าผมก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตต่อไปของตัวเองจะเป็นอย่างไร” เขาบอก เมื่อเราถามว่าแผนชีวิตต่อไปของเขาจะเป็นอย่างไรหลังจากออกจากรอยเตอร์ “ผมไม่คิดมากหรอกว่า ผมอาจจะต้องออกไปอยู่ในกระท่อมในชายหาดของอินโดนีเซียที่ค่าเช่าวันละ 200 บาทหรือเปล่า แต่ในตอนนี้ผมแค่อยากจะเอ็นจอยอพาร์ทเมนต์ที่นี่ พร้อมกับสวนบนระเบียงดาดฟ้า และใช้เวลาสองสามเดือนที่เหลือ เขียนงานไทยสตอรี่ออกมาให้ดีที่สุด”

เขาเล่าย้อนถึงที่มาของงานเขียนชิ้นนี้ว่า ในเดือนมีนาคม ในขณะที่เขายังเป็นรองหัวหน้าฝ่ายบรรณาธิการฝ่ายเอเชีย ของทอมป์สัน รอยเตอร์ และประจำอยู่ที่สิงคโปร์ เขาได้เข้าถึงโทรเลขวิกิลีกส์ซึ่งเป็นเอกสารทางการทูตของสถานทูตสหรัฐฯ จำนวนมาก

“ทันทีที่ผมรู้ว่าโทรเลขวิกิลีกส์จะถูกเผยแพร่ ผมคิดถึงประเทศไทยทันทีก่อนประเทศอื่นใดในโลก ในฐานะที่เป็นประเทศหลักที่มันจะสามารถสร้างผลกระทบในแง่ความเปลี่ยนแปลง” เขาบอก “อย่างในเกาหลีเหนือ มันมีการสร้างลัทธิที่ชัดเจน และมากกว่าในประเทศไทยมาก มีผู้คนที่หิวโหย ไม่มีสิทธิเสรีภาพใดๆ และแน่นอน ประเทศไทยมีสภาพดีกว่านั้นมาก แต่การบอกความจริงเกี่ยวกับเกาหลีเหนือในโทรเลขวิกิลีกส์ มันจะไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในตอนนี้”

“แต่สาเหตุที่โทรเลขมีความสำคัญกับประเทศไทย เป็นเพราะในขณะนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่บนขอบเหว มันมีทางเดินสองทาง และเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญมาก และด้วยเหตุผลนี้ ผมจึงได้ตัดสินใจก้าวเข้ามา”

“ผมเชื่อจากก้นบึ้งของหัวใจเลยว่า ในจำนวนงานเขียนที่ผมเคยเขียนมาทั้งชีวิต เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด จากสิ่งทั้งหมดที่ผมเคยทำมา” แอนดรูว์กล่าว “เป็นเพราะจังหวะของช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ และเหตุที่ผมได้บังเอิญเห็นโทรเลขเหล่านี้พอดี มันได้มาประจวบเหมาะกัน”

0000

งานเขียน #thaistory ที่ทั้งหมดจะมีความยาวกว่า 400 หน้าเมื่อเสร็จสิ้น ได้ถูกเผยแพร่ออกมาแล้วบางส่วนในโลกออนไลน์ในปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาหลักๆ เกี่ยวกับวิกฤติการณ์การเมืองไทยช่วงการรัฐประหาร และวิกฤติการณ์การสืบรัชทายาท เขาบอกว่า หลังจากที่งานเขียนของเขาถูกเผยแพร่ เขาก็ได้รับปฏิกิริยาตอบรับหลายแบบที่แตกต่างกันไป

“หลังจากที่คนได้อ่านงานของผม มันมีฟีดแบ็คกลับมาสองแบบ คือ คนที่ถ้าไม่คิดว่างานผมฉลาดล้ำเลิศและอยากจะสร้างอนุสาวรีย์ให้ผม หรือไม่ก็เป็นคนทีคิดว่า มันเป็นงานทฤษฎีสมคบคิดและเป็นงานเขียนจากนรก และคิดว่าผมเป็นไอ้งั่งไปเลย” แอนดรูกล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาหวังจะเห็นจากงานชิ้นนี้ คือการจุดประกายให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลและข้อมูล

มีหลายคนที่ออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วยกับงานเขียนของเขา หนึ่งในนั้น คือทนง ขันทอง อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ที่โต้ตอบกับแอนดรูว์อย่างดุเดือดผ่านทางทวิตเตอร์ (ทวิตเตอร์ของแอนดรูว์ คือ @zenjournalist)

“เขาใช้คำพูดข่มขู่กับผม และใล่ให้ผมไปไกลๆ ซะจากทวิตเตอร์” เขาเล่า “มันเป็นเรื่องที่น่าตกใจมากที่เห็นบรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์ระดับ ชาติทำตัวแบบนี้ต่อหน้าสาธาณะ”

ในฐานะที่เป็นชาวต่างชาติ อาจถูกแย้งว่า มาเขียนเรื่องเมืองไทย จะรู้ดีกว่าได้ยังไง?

“ผมไม่อ้างหรอกว่า ตัวเองมีความเข้าใจเรื่องการเมืองไทยที่เหนือกว่าคนไทย แต่ในบางครั้ง คนที่อยู่ภายนอกนั้นสามารถให้มุมมองที่แตกต่างออกไปในแบบที่คนไทยอาจจะมอง ไม่เห็น” เขาว่า “พวกเขาติดอยู่ในฟองสบู่ และคนที่มองเข้ามาจากภายนอก อาจจะเห็นอะไรที่ชัดเจนกว่า”

“ผมไม่มีสิทธิที่จะยัดเยียดมุมมองของผมให้กับคนไทย แต่ผมมีสิทธิจะเขียนเรื่องนี้ และตีพิมพ์มันในอินเตอร์เน็ต และคนไทยก็มีสิทธิที่จะอ่านมันนะ..และเมื่อเขาได้อ่านมัน เขาก็สามารถคิดได้ว่า ผมเป็นไอ้งั่งหรือเปล่า แต่นี่แหละ เป็นวิธีของการถกเถียงแลกเปลี่ยน” เขาชี้แจง “คุณต้องได้รับรู้ถึงหลายๆ มุมมอง และเมื่อนั้น คุณก็จะรู้ว่า จะมีความคิดเห็นที่เป็นของตัวเองได้อย่างไร”

“คุณไม่สามารถมีความคิดเห็นที่เป็นตัวของตัวเองได้ ถ้าคุณถูกยัดเยียดให้มีความคิดเห็นแบบเดียวค้ำคออยู่ตลอดเวลา” แอนดรูว์ชี้

“สิ่งที่ทำให้ผมผิดหวังนิดหน่อยก็คือว่า ในฝ่ายที่เห็นต่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ในไทย ผมยังอยากจะเห็นงานเขียนวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นชิ้นเป็นอันที่มีต่อ ‘ไทยสตอรี่’ แอนดรูว์กล่าว “ซึ่งบางส่วนอาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ก็ได้ทำไปแล้ว และผมเชื่อว่าก็คงจะมีมามากกว่านี้ แต่ผมอยากจะเห็นมุมมองจากทุกประเภท และเขาก็สามารถแลกเปลี่ยนได้ว่า งานนี้จะดีขึ้นได้อย่างไร หรือ งานดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร และผมก็จะมาร่วมถกเถียงด้วย”

“สิ่งที่ประเทศไทยต้องการมากที่สุดในตอนนี้ เหนือสิ่งอื่นใด คือการถกเถียงแลกเปลี่ยนที่เปิดเผยและตรงไปตรงมา” อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์กล่าว

หลังจากงานเขียนชิ้นนี้ได้ออกมาสู่สาธารณะ นอกจากความคิดเห็นต่างๆ ที่เขาได้รับแล้ว เขาก็ยังได้คำเตือนอย่างไม่เป็นทางการจากเพื่อนที่อยู่ในเมืองไทย ซึ่งใกล้ชิดกับหน่วยสอบสวนพิเศษว่า เขาไม่ควรเดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือของเขามีเนื้อหาที่หมิ่นเบื้องสูง จึงอาจทำให้เขาเสี่ยงต่อการถูกจับในข้อหาละเมิดมาตรา 112

ตกงาน, เสี่ยงต่อการถูกจับ และเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ได้อีก… การเปิดเผย ‘ความจริง’ เกี่ยวกับประเทศไทย มันสำคัญขนาดที่จะต้องแลกมาด้วยการเสียสละมากขนาดนั้นเชียวหรือ? ประชาไท ถาม

“อย่างแรกเลย ผมไม่คิดว่ามันเป็นการเสียสละส่วนตัวอะไรมากมายสำหรับตัวผม” เขาเล่า “ผมทำงานเป็นนักข่าวมาแล้วทั่วโลก ผมมีเพื่อนนักข่าวด้วยกันเองที่ต้องสูญเสียขา เสียชีวิต และประสบพบเจอกับคนที่ต้องสูญเสียครอบครัวและทุกข์ทรมานจากหลายสิ่งอย่าง ฉะนั้น ผมไม่คิดว่าการลาออกอย่างสมัครใจจากงานที่เงินเดือนงามจะเป็นการเสียสละอะไร ใหญ่โตมากนัก”

เขาออกตัวว่า ในฐานะหนุ่มโสดทีไม่มีลูกและภรรยา เขาจึงไม่ต้องมีเรื่องกังวลด้านการเงินอะไรมาก “มันก็มีความไม่แน่นอนอยู่บ้างว่าชีวิตผมจะทำอะไรต่อไป แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องอะไรใหญ่โต” แอนดรูเล่า พร้อมบอกว่า การที่เขาไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ ถือว่าเป็นการเสียสละที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเขา

“แต่มันจะเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีก ถ้าผมตัดสินใจไม่เขียนมัน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น มันก็เท่ากับการยอมรับว่าผมไม่ได้เป็นคนอย่างที่ผมอยากจะเป็น และไม่ได้ยึดถือหลักการที่ผมเชื่อในฐานะที่เป็นนักข่าว”

“ไม่มีชาวต่างชาติคนไหน เสียสละมากเท่ากับสิ่งที่คนอย่างจีรนุช (เปรมชัยพร) หรือ สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) ต้องเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย” แอนดรูว์ให้ความเห็น

0000

มันเหมือนกับเป็นเรื่องบังเอิญก็ว่าได้ ที่เขาได้เข้าถึงโทรเลขวิกิลีกส์ ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างห้วงของการเปลี่ยนผ่าน แอนดรูว์ตั้งข้อสังเกต

“มันเป็นช่วงของประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เป็นจุดพลิกผัน มีคนจำนวนมากถูกส่งเข้าคุก ทั้งนักข่าว นักวิชาการ” เขาว่า “ผมมีเพื่อนอยู่ในเมืองไทยเยอะนะ คุณรู้ไหม และผมก็เห็นว่า คนไทยต้องทุกข์ทรมานจากวิกฤติการณ์ที่ยืดเยื้อยาวนาน จากการที่ประเทศไทยไม่ยอมรับความจริง”

“ภาวะเช่นนี้ สร้างความเสียหายให้กับคนจำนวนมาก และผมก็คิดว่า คนไทยกำลังเจ็บปวด ผู้คนทุกจับเข้าคุกอยู่ทุกเมื่อ และชีวิตของประชาชนก็ถูกทำลายไปต่อหน้าต่อตา” แอนดรูว์ย้ำถึงความสำคัญที่ต้องเขียนเรื่องนี้ ที่นี่ ในตอนนี้

เขาออกตัวว่า เขาเองนั้นไม่ชอบทักษิณ ชินวัตรเป็นอย่างมาก และก็มีกังขาต่อพรรคเพื่อไทยเช่นกัน “ทักษิณไม่ใช่คนที่จะมานำการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย เขาเพียงแค่ต้องการเอาเงินของเขาคืน พยายามสร้างข้อตกลง และอยู่ให้พ้นคุก แต่ในขณะเดียวกัน นี่ก็เป็นสิ่งที่เสื้อเหลืองไม่เข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกคนในขบวนการเสื้อแดงที่ต่อสู้และทำเพื่อทักษิณ”

“หลายฝ่ายอาจจะมองว่า นี่เป็นการต่อสู้กันระหว่างตัวเลือกสองทางเลือกที่แย่พอๆ กัน ทั้งระบอบอำนาจนิยมจากฝ่ายทักษิณและฝ่ายกษัตริย์นิยม แต่เราไม่จำเป็นต้องติดอยู่เพียงแค่นั้น เพราะเราสามารถพยายามสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้” เขาเล่า พลางชี้ให้เราดูตอนที่เหลือของ ‘ไทยสตอรี่’ ในคอมพิวเตอร์แม็คบุ๊กโปรหน้าจอ 17 นิ้ว

ในตอนสุดท้ายของงานเขียน ’ไทยสตอรี่’ จะเกี่ยวกับสมัยของรัฐบาลประชาธิปัตย์ แอนดรูว์กล่าว “นี่เป็นรัฐบาลที่ไม่เคยออกจากเปลือกหอยอันน้อยนิด และล้มเหลวในการเป็นทางเลือกให้กับคนไทย” เขากล่าว พร้อมชี้ว่า มันเป็นเรื่องที่น่าตลกมากที่มีกระแสออกมาบอกว่าคนที่เลือกเพื่อไทยนั้นเป็น คนโง่

“ผมมองว่า กระแสที่โหวตอย่างท่วมท้นให้เพื่อไทย ในแง่หนึ่ง อาจมองได้เป็นการโหวตเพื่อต่อต้านชนชั้นนำด้วยซ้ำ ผมหมายถึงว่า มีทหารออกมาบอกว่าให้เลือก ‘คนดี’ และคนก็รู้กันว่าอภิสิทธิ์เป็นคนของฝั่งรอยัลลิสต์ มันก็ออกจะชัดเจน”

“สิ่งที่ผมกังวล ก็คือการปรองดอง ถ้ามันมีขึ้นมา มันก็จะเป็นแบบที่เคยเกิดมาก่อน จะไม่มีใครสืบสวนจริงๆว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครพูดถึงอดีต มันจะเป็นการตกลงรอบเดียวจบ” เขากล่าว “มันจะไม่เป็นผลดีต่อคนไทยแน่ๆ ถ้ามันเกิดขึ้นจริง”

ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกการเขียนงานโดยใช้โทรเลขลับวิกิลีกส์เกี่ยวกับ เมืองไทยเป็นผู้แรก เขากล่าวว่า เขาอยากจะเห็นสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อต่างประเทศ นำโทรเลขเหล่านี้มาใช้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เท่าที่เขาสังเกตก็พบว่า ไม่มีสื่อกระแสหลักไหนเลย นอกจากประวิตร (โรจนพฤกษ์) จากเดอะ เนชั่น เลือกที่จะหยิบเอาโทรเลขต่างๆ เหล่านี้มาสร้างการถกเถียง

“ผมคิดว่านี่เป็นข้อผิดพลาดที่ใหญ่มาก” แอนดรูว์พูด “ในฐานะที่ผมได้ทำงานในส่วนของผมไปแล้ว ที่ได้วิเคราะห์เรื่องปัญหาที่เกิดจากวัง และความเกี่ยวข้องกับวิกฤติการเมือง ผมคิดว่ามันน่าผิดหวังนิดหน่อยที่ไม่มีใครเอาเรื่องนี้ไปสานต่อ เพราะในการทำความเข้าใจการเมืองไทย คุณจำเป็นต้องใช้สิ่งนี้ด้วย”

นอกจากนี้ เขายังบอกว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับ ‘ไทยสตอรี่’ ก็คือ การที่เขาอ่านภาษาไทยไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงไม่ได้ใช้เอกสารที่เป็นภาษาไทยเลย และนั่นก็คือช่องว่างที่ใหญ่ในงานเขียนชิ้นนี้ เขาจึงฝากให้คนอ่านได้ลองหยิบจับเอกสารวิกิลีกส์ พร้อมอ่านเอกสารที่เกี่ยวข้องในภาษาไทย และนำมันมาสู่การพูดคุยถกเถียง

“มันจะเป็นประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยน และช่วยนำไอเดียใหม่ๆ เข้ามาในวิวาทะ และมันก็จะช่วยให้เราเข้าใกล้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับประเทศไทยมาก ยิ่งขึ้น” แอนดรูว์กล่าว

0000

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของเขา ต่อทางออกของวิกฤติการเมืองประเทศไทย แอนดรูว์ตอบทันทีว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนอย่างเปิดเผยเป็นขั้นแรก “คุณไม่สามารถหาทางออกได้หรอก ตราบใดที่ยังไม่มีใครยอมรับว่าใครทำอะไรลงไป อะไรคือความจริง มันก็จะเป็นวงจรอุบาทว์เช่นนี้เรื่อยไป”

แอนดรูว์กล่าวว่า ยิ่งช่วงที่อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชกาลใกล้จะมาถึง ก็ยิ่งเป็นช่วงที่น่าจับตาเป็นพิเศษ และเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น การจัดวางของกลุ่มอำนาจต่างๆ ก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งคนไทยก็รอช่วงเวลานี้ให้เกิดชึ้น เพื่อที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันฯ และการปฏิรูปที่พวกเขาอยากจะเห็น

“ในตอนนี้ เรามีสถานการณ์ที่คนเสื้อแดงหลายล้านคนได้สูญศรัทธาในตำนานที่ทางการได้ สร้างขึ้น และเจ้าหน้าที่รัฐก็ตื่นตระหนกมาก และทางโต้ตอบที่เขาคิดได้เพียงอย่างเดียว ก็คือกดขี่และยิ่งปราบปรามประชาชน แต่วิธีนี้มันไม่มีทางจะได้ผล และนั่นก็เป็นวิกฤติอันหนึ่งที่กำลังจะมา”

เขากล่าวว่า วิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาการเมืองไทย คือต้องยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อที่เราจะสามารถพูดคุยเรื่องอนาคตของประเทศซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกัน ได้อย่างมีเหตุมีผล

“มันเป็นเรื่องที่น่าขันจริงๆ ที่ในศตวรรษนี้ ประเทศที่เป็นสมัยใหม่และทันโลกอย่างประเทศไทย ผู้คนกลับไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยถึงประเด็นใจกลางที่เกี่ยวกับอนาคตของตัว เอง และของลูกหลานตัวเอง” เขากล่าว “ถ้าวิกฤติประเทศกำลังจะมา คุณไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการเอามือไพล่หลังและไม่ยอมทำอะไรกับมัน” และยังเสริมว่าการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 จะทำให้การถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันฯ จะส่งผลดีมากกว่า แทนที่จะทำให้มันเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และบีบให้คนต้องแสดงออกในทางเสียๆ หายๆ

อย่างไรก็ตาม เขาก็ตระหนักถึงความเสี่ยงของงานเขียนชิ้นนี้ของเขา และความเป็นไปได้ที่อาจทำให้คนที่อยู่ในประเทศไทยต้องเสี่ยงตาราง

“ผมอยากจะขอให้ใครก็ตามที่อ่านมัน โปรดระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของตนเอง มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ต้องพูดอย่างนี้ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องทำเพื่อเข้าใจประเทศไทย มันอาจจะทำให้คนเสี่ยงคุก หรือเผชิญความเสี่ยงต่างๆ ดังนั้น โปรดระมัดระวังกันด้วย” เขาย้ำ

เขาส่งท้ายว่า เขาอยากจะให้งานเขียนชิ้นนี้ เป็นเหมือนหนังสืออนุสรณ์ที่อุทิศให้แก่คนที่ตายไปเพื่อประชาธิปไตย

“สุดท้ายแล้ว ‘ไทยสตอรี่’ มันก็คือโศกนาฎกรรม และเป็นเสมือนหนังสืองานศพ ที่จะรำลึกผู้ที่สละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย” แอนดรูว์กล่าวก่อนที่จะปิดคอมพิวเตอร์ลง “มันเป็นการเล่าเรื่องราวที่แตกต่าง ประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง และการไม่ยินยอมให้ชนชั้นนำมาควบคุมการเขียนประวัติศาสตร์ได้แต่เพียงฝ่าย เดียว”