ที่มา thaifreenews
โดย bozo
รมว.ไอซีที ปัดตอบรายละเอียด "มือมืด" แฮกทวิตเตอร์นายกฯ หวั่นเสียรูปคดี
เผยถูกแฮกจากอีเมล์ ก่อนเข้าแฮกทวิตเตอร์ ชี้อยู่ระหว่างเร่งรวบรวมข้อมูลก่อนที่จะจับกุม
คาดเป็นผู้ไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล ขณะที่นายกฯ หยุดใช้ทวิตเตอร์แล้ว...
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวถึง
กรณีแฮกข้อมูลทวิตเตอร์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (@PouYingluck)
ที่เกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 10.43 น. วานนี้ (2 ต.ค.) ว่า
แฮกเกอร์ลักลอบใช้บัญชีทวิตเตอร์ของนายกฯ โพสต์ข้อความ 8 ข้อความ
โดยการลักลอบใช้ทวิตเตอร์ เสมือนเป็นการแฮกที่มีความผิดหลายประการ
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
รมว.ไอซีที กล่าวต่อว่า การที่ผู้ใดจะใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ต้องยอมรับเงื่อนไข และลงทะเบียนเข้าใช้
ซึ่งผู้ดูแลระบบคือผู้ที่ให้บริการ ซึ่งมีลักษณะการใช้เหมือนโทรศัพท์มือถือเหมือนกัน
ซึ่งถ้าทำเบอร์หล่นหาย ก็อาจถูกนำเบอร์ไปใช้เช่นกัน
ส่วนประเด็นดังกล่าว มองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะมีผู้ประสงค์ร้ายแฮกทวิตเตอร์
เพราะเมื่อ 2 ปี ก่อนบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็เคยถูกแฮกข้อมูล
โดยต้องการทำความเข้าใจกับประชาชนว่า การใช้ข้อมูลโซเชียลเน็ตเวิร์กควรระมัดระวัง
และเรื่องที่เกิดขึ้นกับนายกฯ ต้องเห็นใจกัน และช่วยกันประณามการกระทำดังกล่าว
“ตอนนี้ไอซีทีได้รับเบาะแสผู้กระทำความผิดแล้ว แต่ต้องรวบรวมข้อมูลให้แน่นหนา ก่อนที่จะจับกุม
และต้องขออภัยที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้
เพราะกลัวจะเสียรูปคดี เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินคดี
ส่วนประชาชนที่โดนเหตุการณ์อย่างนายกฯ สามารถแจ้งมาที่ไอซีทีได้” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
รมว.ไอซีที กล่าวอีกว่า หากเห็นการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นกับใคร
ข้อเตือนไม่ให้ส่งต่อข้อมูล เพราะเข้าข่ายกระทำความผิดร่วมกัน
ขณะที่ทวิตเตอร์ที่ถูกแฮกนี้ เป็นทวิตเตอร์ที่นายกฯ ใช้ในการประชาสัมพันธ์
โดยมีทีมงานร่วมทำงานด้วย การที่จะวิเคราะห์ว่าใครกระทำต้องวิเคราะห์อย่างละเอียด
และตำรวจต้องติดตาม เบาะแส ส่วนเมื่อไรจะได้ตัวผู้กระทำความผิด
ขณะนี้ ทั้งกระทรวงและตำรวจได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งขณะนี้ได้รับทราบเกี่ยวกับข้อมูลการจราจรทางคอมพิวเตอร์แล้ว
อีกทั้ง ส่วนตัวเข้าใจว่า คนที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ใช้เพื่อการสื่อสาร ไม่ใช่เรื่องที่เป็นทางการ
ซึ่งเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน ตั้งแต่ลงทะเบียนใช้งาน
ผู้ให้บริการได้แจ้งถึงระดับความปลอดภัยไว้แล้ว
ซึ่งการที่ผู้ประสงค์ไม่ดี เข้ามาแฮกทวิตเตอร์ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย
ซึ่งเป็นการแสดงออกโดยวิธีนี้
น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า กรณีการถูกแฮกข้อมูลทางทวิตเตอร์ของนายกฯ เบื้องต้นทราบว่า
ถูกแฮกจากอีเมล์ ก่อนเข้าแฮกทวิตเตอร์ สำหรับการกระทำความผิดดังกล่าว
เข้าข่ายความผิดมาตรา 5, 7, 9 และ 14 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิด
เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนเว็บหมิ่นฯ กระทรวงไอซีที มีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดประสานผู้ให้บริการระบบต่างๆ เช่น
แบล็กเบอร์รี่ เพื่อให้มาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นายกฯ ได้ยกเลิกการใช้งานทวิตเตอร์แล้ว
โดยทำการประชาสัมพันธ์นโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลผ่านเฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียว
โดยใช้ชื่อว่า Y.shinawatra โดยเบื้องต้นยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะใช้ชื่อทวิตเตอร์เดิมอีกหรือไม่
ซึ่งต้องรอให้ทีมงานของนายกฯ เป็นผู้รายงานมาที่กระทรวงไอซีทีอีกครั้ง
ทั้งนี้คาดว่า นายกฯ อาจจะแจ้งความดำเนินคดีด้วยตนเอง ขณะที่ตนเองไม่กลัวการถูกแฮกทวิตเตอร์
http://www.thairath.co.th/content/tech/206337