ที่มา Thai E-News
โดย อริน
ที่มา หนังสือพิมพ์โลกวันนี้
*ชมคลิปวิดิโอสารคดีปฏิวัติฝรั่งเศส คลิ้กที่นี่หรือติดตามรับชมทางTRUE VISIONช่อง48(HISTORY CHANNEL)วันที่14กรกฎาคม2552เวลา15.00-17.00น.
กลุ่ม“อำมาตย์-อภิชน” เหล่านี้เองที่เป็นตัว “เน่าใน” ของระบบ ที่ยิ่งดิ้นดันทุรังฝืนมติของประชามหาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมากเท่าใด ก็ยิ่งเข้าใกล้วาระเปลี่ยนผ่านเร็วขึ้นเท่านั้น อยู่ที่ว่าการเปลี่ยนผ่านนั้น เป็นไปโดยผ่านกระบวนการ “สัญญาประชาคม” อย่างสันติค่อยเป็นค่อยไป หรือต้องออกแรงหักโค่นกันให้พับพ่ายกันไปข้างหนึ่ง...
ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ไม่ถูก “สำเร็จโทษ” โดยกลุ่มผู้เผด็จอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญที่สมัยหนึ่งผู้คนในบ้านเมืองล้วนยอมรับเป็นเสียงเดียวกันอย่าง (น่าจะ) เป็นเอกภาพ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในประวัติการเมืองไทย ก็จะมีอายุครบ 1 รอบนักษัตรในปีนี้
และประจวบกับครบรอบ 220 ปี “การอภิวัฒน์ใหญ่ฝรั่งเศส” หรือ “การปฏิวัติฝรั่งเศส (1789-1889)” อันเป็นหนึ่งในประเทศรุ่งอรุณแห่งระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่
ที่เปิดฉากขึ้นพร้อมกับ “คำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมือง (La déclaration des droits de l'homme et du citoyen)” และการร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นการรับอิทธิพลมาจากปรัชญารู้แจ้ง (Enlightened) บนรากฐานปรัชญามนุษยนิยม (Humanism) นั่นคือ ยุคที่มนุษย์ตระหนักในพลังอำนาจและความเสมอภาคกันของมนุษย์ด้วยกันเอง แทนที่ปรัชญาเทวนิยม (Theism) ซึ่งครอบงำสำนึกมนุษย์ให้ยอมจำนนอยู่ในกรอบของ “สิ่งเหนือธรรมชาติ” มาช้านาน
และได้แบบอย่างจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ คำประกาศนี้ มีเนื้อหาหลักแสดงถึงหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติ ภายใต้คำขวัญที่ว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” และต่อมาประกาศเป็นคำขวัญประจำชาติซึ่งก็ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปีพ.ศ. 2489 และ 2501
การอภิวัฒน์ใหญ่ระเบิดขึ้นมาเนื่องจากสังคมไม่สามารถรักษาสมดุลใน “สาเหตุที่ฝังรากลึก (Les causes profondes)” อันได้แก่ สภาพทางสังคม การบริหารประเทศที่ไม่ทันสมัย และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
สภาพทางสังคมทั่วไปก่อนยุคสาธารณรัฐครั้งแรกในฝรั่งเศสนั้น แบ่งเป็น 3 ฐานันดร คือ (1) ขุนนาง หรืออำมาตย์ ในปัจจุบันน่าจะรวมขุนศึกเข้าไปด้วย (2) นักบวช ควรรวมนักวิชาการเข้าไปด้วยอีกเช่นกัน และ (3) ฐานันดรที่สาม (tiers état) เป็นส่วนที่เหลือของประเทศ เช่น ชนชั้นกลางและชาวนา ซึ่งหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดมีกำลังการผลิตใหม่ล่าสุดขึ้นมาเรียกว่า “คนงาน” หรือผู้ใช้แรงงาน ก็คงต้องอนุโลมไว้ในฐานันดรที่สามนี้เช่นกัน
ในส่วนสภาพทางสังคม ปมเงื่อนที่นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพคือ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างฝ่ายหนึ่งประกอบด้วยสองฐานันดรแรกที่มีลักษณะเป็น “อภิชน” กับอีกฝ่ายหนึ่งคือฐานันดรที่สาม หรือ “ชนชั้นรากหญ้า” ที่ไม่เคยมีโอกาสตัดสินเลือกอนาคตของคน หรือแม้แต่สิทธิมีเสียงใดๆ มีแต่หน้าที่ก้มหน้ายอมรับชะตากรรมที่แล้วแต่กลุ่มอภิชนจะยัดเยียดให้
สำหรับระบบการบริหารประเทศ มีลักษณะล้าหลัง ไม่เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น การเก็บภาษีอย่างไม่เป็นระบบไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม ระบบกฎหมายยุ่งเหยิงหลายมาตรฐาน การยกเว้นภาษีชนิดเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอภิชนที่มีฐานะร่ำรวย ทำให้ฐานันดรที่สามที่มีฐานะยากจนอยู่แล้วต้องรับภาระภาษีของสังคมทั้งสังคม การรีดภาษีเอากับประชาชนทำให้มีความเป็นอยู่แร้นแค้นยิ่งขึ้น ส่วนกลุ่มอภิชนกลับใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย
ส่วนเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ความฟุ่มเฟือยและการใช้ชีวิตอย่างไร้สาระของอภิชนบางส่วน นำไปสู่ความเสื่อมศีลธรรมยิ่งขึ้นทุกที นักเขียนเช่นวอลแตร์ (Voltaire) และรุสโซ (Jean Jaques Rousseau) ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของปัญญาชนในยุคนั้น ได้จุดประกายเกี่ยวกับความเสมอภาคและเสรีภาพ ก่อให้เกิดการไม่เห็นด้วยกับระบบการปกครองขึ้นอย่างเงียบๆ และมองหาหนทางในอนาคตที่เป็นของตนเองในหมู่ผู้เสียเปรียบในสังคม ซึ่งอยู่ในสถานะต่ำต้อยน้อยหน้าเสมอมา
แล้วห้วงเวลาสุกงอมของการอภิวัฒน์ก็มาถึง เมื่อภาวะบีบคั้นจากเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักที่รุมเร้าฝรั่งเศส ทำให้กลุ่มอภิชนในส่วนที่เป็นรัฏฐาธิปัตย์เกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ระหว่างกลุ่มที่มีแนวทางผ่อนคลายวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งประชาชนรากหญ้าเป็นผู้รับผลโดยตรง กับกลุ่มผลประโยชน์เก่าที่ยอมให้มีการจัดระเบียบใหม่ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง
ตามมาด้วยภาวะอนาธิปไตยเป็นเวลา 1 ปี จนในที่สุดทำให้ประชาชนออกมาก่อจลาจลเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2332 และถัดมาอีก 2 วันก็ยึดคุกบาสตีย์ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของรัฏฐาธิปัตย์ลงได้ในวันที่ 14 กรกฎาคม
สมาชิกส่วนใหญ่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่จัดตั้งขึ้นหลังประกาศ “คำประกาศสิทธิของมนุษย์และพลเมือง” นิยมระบอบประชาธิปไตยโดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญมากกว่าระบอบสาธารณรัฐ จึงมีภารกิจสำคัญอันดับแรกของสภาคือการดำรงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้
ฝรั่งเศสก้าวเข้าสู่ ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัว (The Reign of Terror หรือ The Terror หรือ La Terreur) ซึ่งกินเวลา 10 เดือน จาก 5 กันยายน 2336 ถึง 28 กรกฎาคม 2337 กว่าที่การนองเลือดและกิโยตินจะสิ้นสุดลง มีการสถาปนาการปกครองระบอบสาธารณรัฐ บนพื้นฐาน 1 คน 1 เสียง
แต่แล้ว นโปเลียน โบนาปาร์ต ก็แต่งตั้งตัวเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ และรุกรานประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป เมื่อนโปเลียนพ่ายแพ้ ฝรั่งเศสจึงกลับมาใช้ระบบสาธารณรัฐอีกครั้ง เรียกว่ายุคสาธารณรัฐที่สอง การเมืองการปกครองของฝรั่งเศสพลิกผันต่อเนื่องมาอีกหลายปีกระทั่งระบอบราชาธิปไตยสิ้นสุดลงอย่างถาวรในปี พ.ศ.2413 ในรัชสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ซึ่งทรงเป็นพระภาติยะ (หลานลุง) ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (นโปเลียน โบนาปาร์ต)
การเกิดขึ้นของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศแม่แบบ ทั้ง 3 คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษนั้น เมื่อพิจารณาลึกลงไป จะเห็นปมเงื่อนสำคัญอยู่ที่ ความเหิมลำพองของกลุ่มอำมาตย์และนักบวชหรือนักวิชาการ (ตามยุคสมัย) นัยหนึ่งเป็น “อภิชน” ในสังคมจารีตแบบ “ศักดินาสวามิภักดิ์” ของตะวันตก กลุ่ม “อำมาตย์-อภิชน” เหล่านี้เองที่เป็นตัว “เน่าใน” ของระบบ ที่ยิ่งดิ้นดันทุรังฝืนมติของประชามหาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมากเท่าใด ระบอบการปกครองนั้นๆ ก็ยิ่งเข้าใกล้วาระเปลี่ยนผ่านเร็วขึ้นเท่านั้น
อยู่ที่ว่าการเปลี่ยนผ่านนั้น เป็นไปโดยผ่านกระบวนการ “สัญญาประชาคม” อย่างสันติค่อยเป็นค่อยไป หรือต้องออกแรงหักโค่นกันให้พับพ่ายกันไปข้างหนึ่ง...