ที่มา ประชาไท
จากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ แต่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ซึ่งตามประกาศดังกล่าวกำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ ๔ วัน คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา โดยยกเว้นให้ขายในโรงแรมตามพระราชบัญญัติโรงแรมที่มีการจดทะเบียนที่ถูกต้องเท่านั้น โดยมีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา คือ ตั้งแต่วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เป็นต้นมา ซึ่งผลของการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นไปอย่างขาดๆ เกินๆ มีการฝ่าฝืนข้อห้ามให้เห็นกันอยู่โดยทั่วไป นั้น
จากประกาศฉบับดังกล่าวก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างมากมายแต่ส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งเน้นไปที่การเลือกยกเว้นให้ขายในโรงแรมแต่ไม่มีการยกประเด็นของการขัดรัฐธรรมนูญขึ้นมากล่าวถึงแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่มีประเด็นปัญหากฎหมายที่น่าสนใจไม่น้อยว่าประกาศฉบับดังกล่าวนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร เพราะขัดต่อหลักการพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้วยหลักการที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ไม่ว่าจะเป็นด้วยหลักการที่ว่าด้วยความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นหลักที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ฯลฯ
หลักการที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา
ไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดที่กำหนดไว้ว่าคนไทยจะต้องนับถือศาสนาพุทธและจะต้องปฏิบัติตามข้อห้ามของศาสนาพุทธเท่านั้น การดื่มสุราในศาสนาบางศาสนามิได้เป็นข้อห้ามร้ายแรงที่จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง และที่สำคัญรัฐไทยเป็นรัฐฆราวาสหรือรัฐโลกวิสัย (secular state) มิใช่รัฐเทวาธิปไตย (theocratic state) ที่ยึดศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นที่ตั้งโดยศาสนาจักรมีอำนาจเหนืออาณาจักรดังเช่นรัฐอื่นๆดังเช่นคริสต์จักรในยุคกลางของยุโรปหรือในตะวันออกกลางปัจจุบันที่บัญญัติให้หลักการทางศาสนาเป็นข้อห้ามทางกฎหมาย ผู้ที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกลงโทษ
การงดเว้นการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ดีและควรปฏิบัติ แต่มิใช่สิ่งที่จะต้องถึงขนาดถูกลงโทษด้วยการถูกปรับหรือจำคุก และย่อมไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งหากผู้ถูกลงโทษเป็นศาสนิกในศาสนาอื่นที่ไม่มีข้อห้ามเช่นนั้น
ในทางตรงข้ามมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญกลับบัญญัติรับรองให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนาธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตนและบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนาธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตนแตกต่างจากบุคคลอื่น
หลักการที่ว่าด้วยความเสมอภาค
มาตรา ๓๐ วรรคสามของรัฐธรรมนูญก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้
จะเห็นได้ว่าประกาศฉบับดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งถึงสองประเด็นคือ นอกเหนือจากการเลือกห้ามในวันพระใหญ่ซึ่งเกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนาแล้ว การยกเว้นให้ขายในโรงแรมเท่านั้นย่อมแสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติในฐานะทางเศรษฐกิจเพราะมีแต่คนมีสตางค์เท่านั้นที่จะเข้าไปดื่มกินในโรงแรมได้ พูดง่ายๆว่าคนจนไม่มีสิทธิทั้งๆที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนั่นเอง
หลักที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ
บุคคลที่ทำมาค้าขายโดยสุจริตและเสียภาษีให้แก่รัฐอย่างถูกต้องและครบถ้วนย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๓ ที่บัญญัติให้บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ และการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
การที่รัฐยกเอาข้อห้ามทางศาสนามาบัญญัติเป็นกฎหมายที่เป็นบทลงโทษบุคคลที่ทำมาค้าขายโดยสุจริตและเสียภาษีให้แก่รัฐอย่างถูกต้องและครบถ้วน จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรานี้อย่างชัดแจ้ง จะทำได้อย่างมากเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น หากไม่ให้ความร่วมมือก็เป็นเรื่องของมาตรการทางสังคมที่จะลงโทษหรือต่อต้าน มิใช่การลงโทษด้วยการจำหรือปรับเช่นนี้
นายกรัฐมนตรีในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองหรืออนุบัญญัติที่ออกโดยฝ่ายบริหารซึ่งมีสถานะเป็นกฎตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๒๓ ซึ่งบัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง นายกรัฐมนตรีจึงควรที่จะต้องถูกตรวจสอบการใช้อำนาจ ทางปกครองในการออกกฎนี้
ฉะนั้น แทนที่จะปล่อยให้มีการตอกลิ่มปัญหาความไม่เท่าเทียมกันและขัดแย้งทางความเชื่อศาสนาซึ่งมีมากอยู่แล้วให้เพิ่มมากขึ้นจากประกาศเจ้าปัญหานี้ จึงควรที่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายจากประกาศดังกล่าวตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ น่าจะได้นำคดีไปสู่องค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีนี้ ซึ่งก็คือศาลปกครองเพื่อให้มีการวินิจฉัยถึงความชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่า การที่นายกรัฐมนตรีออกประกาศเช่นนี้ จะขัดต่อกฎหมายในลำดับที่สูงกว่าหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร ต่อไป
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๒