ที่มา มติชนออนไลน์
จากกรณีนายภาสกร พุทธิชีวิน กรรมการผู้จัดการบริษัท บีเอ็นบี อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าประหยัดพลังงาน ออกมายอมรับกับ "มติชน" ว่า กลุ่มบริษัทที่ไปขายตู้หยอดน้ำโซลาร์เซลล์ให้ชุมชนในโครงการชุมชนพอเพียง มีความสัมพันธ์กันในลักษณะลงขันทำธุรกิจ โดยบริษัท บีเอ็นบีฯจะให้บริษัทอื่นๆ มารับสินค้าไปเสนอราคาต่อชุมนุม และนำกำไรมาแบ่งกันนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าว "มติชน" เดินทางไปตรวจสอบข้อมูลที่บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ โปร เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่รับสินค้าของบริษัทบีเอ็นบีฯไปขาย ที่ 48/5-6 อาคารซี 3 ชั้น 5 ซอยรัชดาภิเษก 20 (รุ่งเรือง) ถนนรัชดาภิเษก แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นที่อยู่ตามหลักฐานแจ้งจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในขณะที่สำนักงานบริษัทตามรายละเอียดในโบรชัวร์เสนอราคาสินค้าคือ บ้านเลขที่ 27/73 หมู่ที่ 3 ถนนเลียบวารี แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กทม. แต่ปรากฏว่าบ้านหลังนี้ไม่มีผู้อยู่อาศัย กลับมีป้ายชื่อบริษัท เอส แพค เอเชียแมนูแฟคเชอริ่ง จำกัด ติดหน้าบ้าน
เมื่อไปถึงบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ฯตามที่อยู่ใหม่ดังกล่าว พบว่าเป็นที่ตั้งของบริษัท บ้านประชาชน (2546) จำกัด ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นที่ตั้งบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ฯด้วยเช่นกัน ต่อมานายขันติ ปานขลิบ ผู้จัดการบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ฯ ชี้แจงว่า เป็นเจ้าของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ฯ และมีความสัมพันธ์กับบริษัท บีเอ็นบีฯในฐานะหุ้นส่วนธุรกิจ มีบริษัทขนาดเล็กอีก 7-8 แห่งทำธุรกิจกับบริษัท บีเอ็นบีฯ ในรูปแบบเดียวกันทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ในการนำสินค้าบีเอ็มบีฯไปเสนอขาย บริษัทไม่ต้องวางเงินอะไรเลย เพียงแค่ไปหาลูกค้ามา จากนั้นแจ้งบริษัท บีเอ็มบีฯให้ส่งของไปให้ลูกค้า บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ฯเสนอขายตู้น้ำหยอดเหรียญในโครงการชุมชนพอเพียงไปแล้วหลายชุมชน อาทิ ชุมนุมเปรมประชา ชุมชนร่วมใจรัก เขตดอนเมือง เป็นต้น
"ผมยืนยันว่าการขายตู้น้ำหยอดเหรียญนั้น ไม่มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังแต่อย่างใด เป็นการทำธุรกิจปกติ ส่วนที่มีข่าวว่าหากชุมชนใดไม่ยอมรับสินค้าตู้น้ำหยอดเหรียญจะไม่ได้งบฯนั้น ผมไม่ทราบ" นายขันติกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ฯ พบว่าจดทะเบียนก่อตั้ง 28 เมษายน 2546 มีทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท ทำธุรกิจขาดเล็ก ประมูลรับจ้างทำของ ปรากฏชื่อนางภคนันท์ เกลื้อนรัตน์ เป็นผู้มีอำนาจกระทำการ มี น.ส.พรนิดา ศรชัยจรัสแสง เป็นกรรมการ มีผู้ถือหุ้น 7 คน ขณะที่นายขันติยังมีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริษัท บีเอ็นบีฯ ด้วย แต่นายขันติยืนยันว่าได้ลาออกแล้ว
นายภาสกร พุทธิชีวิน กรรมการผู้จัดการบริษัท บีเอ็นบีฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ขอท้าผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนพอเพียงว่า หากตรวจสอบพบว่าการทำธุรกิจของบริษัท บีเอ็นบีฯและกลุ่มบริษัทที่เข้ามาทำธุรกิจร่วมกันทุจริตจริง ขอให้แจ้งความดำเนินคดีเอาผิดได้เลย และในข้อเท็จจริงกลุ่มของตนขายสินค้าในโครงการนี้ได้แค่ 100 กว่าโครงการจากที่รัฐบาลอนุมัติเงินให้ชุมชนต่างๆ 3 หมื่นกว่าโครงการ
"หากผมรู้จักกับนักการเมือง มีคนมาเป็นแบ๊คให้ เราคงไม่ต้องมาเหนื่อยขนาดนี้ ล่าสุด ภรรยาผมทุกข์ใจกับเรื่องนี้มาก ถึงขนาดบอกให้ผมหยุดทำธุรกิจ ปิดบริษัทไปเลย ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ผมบอกได้เลยว่ามาจากเหตุผลเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว" นายภาสกรกล่าว
ส่วนกรณีประธานชุมชนวัดกลาง เขตบางกะปิ กทม. ระบุมีกลุ่มบุคคลแอบอ้างพรรคการเมืองใหญ่ ให้ยอมรับตู้น้ำหยอดเหรียญและแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมขู่ว่าหากไม่รับของ จะโยกงบประมาณไปที่ชุมชนอื่น ทำให้จำใจต้องรับนั้น นายประเสริฐ ทองนุ่น ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ กล่าวว่า เรื่องนี้ทางประธานชุมชนวัดกลางส่งหนังสือมาให้เขตเซ็นรับรอง ในหนังสือระบุว่ามีการตั้งกรรมการชุมชน และจัดเวทีประชาคมกันเองแล้ว จึงเซ็นรับรองให้ เพราะเกรงว่าทางชุมชนจะไม่ได้รับอนุมัติงบประมาณจากรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนเซ็นหนังสือรับรอง เขตเคยตรวจสอบหรือไม่ว่ากระบวนการขั้นตอนที่ชุมชนทำมานั้นถูกต้องแค่ไหนอย่างไร นายประเสริฐกล่าวว่า ในเมื่อประธานชุมชนเซ็นมาเอง ก็ให้เกียรติเซ็นรับรองให้ไป และชุมชนเป็นฝ่ายเลือกตู้หยอดน้ำเองจากนั้นก็ส่งเอกสารของบฯจากรัฐบาล ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชุมชนจะได้รับอนุมัติงบฯหรือไม่ เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขตเลย แต่เขตถูกมองไม่ดี รู้สึกน้อยใจมาก
นางเพียงใจ วิศรุตรัตน์ รองปลัด กทม. กล่าวว่า แต่ละเขตมีหน้าที่เพียงเซ็นรับรองว่า ชุมชนนั้นๆ ตั้งคณะกรรมการครบทั้ง 9 คนหรือไม่ จัดเวทีประชาคมตามระเบียบกำหนดหรือไม่เท่านั้น
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากผู้นำชุมชนหลายชุมชนในเขตบางกะปิว่า สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ของพรรคประชาธิปัตย์รายหนึ่ง ซึ่งคนคนนี้คือผู้นำแค็ตตาล็อกสินค้าไปให้ชุมชนเลือก ล่าสุด ได้สั่งผู้นำชุมชนทำหนังสือชี้แจงนายกรัฐมนตรียืนยันว่าการจัดซื้อตู้น้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความเห็นชอบจากประชาคมถูกต้องตามระเบียบทุกประการ รวมถึงชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกโดยไม่ทุจริตแต่ประการใด ส.ข.รายนี้อ้างว่าหากสมาชิกชุมชนลงชื่อถึงนายกฯ เรื่องนี้ก็จะยุติลงโดยไม่มีใครต้องรับผิดทางกฎหมาย และว่า ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ จะนำคณะไปยื่นเรื่องร้องเรียนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สอบสวนเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการดังกล่าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติโครงการในรอบที่ 4 ให้ชุมชน 9,538 แห่ง งบประมาณ 2,206 ล้านบาท เมื่อรวมกับโครงการที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้ 3 ครั้ง คิดเป็น 31,582 ชุมชน วงเงิน 8,432 ล้านบาท และได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบเรื่องร้องเรียนความไม่โปร่งใสแล้ว ต่อไปจะกำหนดราคากลางสินค้าเพื่อป้องกันครหาซื้อของแพง ถ้าฝ่ายค้านมีข้อมูลหลักฐานก็ส่งมาเลย หากพบเจ้าหน้าที่ สพช.คนไหนมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินการทันที ยืนยันว่าโครงการนี้ต้องเดินต่อ แม้จะมีแรงกดดันเพราะไม่อยากให้เดินก็ตาม ยอมรับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างปวดหัว เพราะเงินตั้ง 70,000 ล้าน และมีคนอยากขายของ แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด
ทางด้านนายเฉลิม เกียรติบรรจง อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคประชามติ กล่าวถึงกรณีชาวบ้าน ต.เมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 8 ชุมชน ร้องเรียนสำนักงาน ป.ป.ช.สอบสวนผู้อ้างตัวเป็นผู้ประสานงานพรรคการเมืองขอให้ใช้งบฯชุมชนพอเพียงซื้อตู้น้ำหยอดเหรียญว่า ชาวบ้านได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ ส่งให้ ป.ป.ช.เป็นแนวทางสอบสวน อาทิ 1.เทปบันทึกภาพผู้ประสานงานพรรคดังกล่าวพูดให้ชาวบ้านฟังว่าตู้น้ำเป็นนโยบายหาเสียงของพรรค เป็นของฟรี 2.หลักฐานการเปิดบัญชีธนาคารของชาวบ้านก่อนนำเงินไปจ่ายให้บริษัทจำหน่ายตู้น้ำ เป็นต้น
นายทศพล ธัญอนันต์ผล ประธานชุมชนสามทหาร เทศบาลตำบลเมืองเก่า อ.กบินทร์บุรี กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ทำให้รู้สึกเข็ดกับพฤติกรรมของนักการเมืองระดับชาติ และนักการเมืองท้องถิ่น ดังนั้น หลังครบวาระตำแหน่งประธานในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ จะไม่กลับมารับตำแหน่งอีก