ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ เหล็กใน
หลักๆ ที่รู้กันอยู่คือรถเมล์ฟรี-รถไฟฟรี น้ำ-ไฟฟ้าฟรี และสุดท้ายคือตรึงราคาก๊าซหุงต้ม(LPG)
ปฏิเสธไม่ได้ส่วนหนึ่งคือเรื่องประชานิยม เพราะรัฐบาลนี้บริหารประเทศมา 6 เดือน ผลสอบถือว่าตกหมดทุกวิชา
บวกซ้ำกับการระเบิดเพดานภาษีน้ำมันจาก 5 บาทไปเป็น 10 บาท และปรับขึ้นเบาะๆ แล้ว 7 บาท/ลิตร
เมื่อรวมกับภาษีอื่นๆ อีกจิปาถะ หลงจ้งคนไทยต้องจ่ายภาษีน้ำมันตกลิตรละประมาณ 10 บาท
เหมือนโชคเริ่มเข้าข้างอยู่บ้างที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ราคาในเมืองไทยแทบไม่ลงเพราะกองทุนน้ำมันถือโอกาสเรียกเก็บเงินมากขึ้นเพื่อชดเชยภาษีที่รัฐบาลมาควักเอาไป
แต่ก็ไม่ขยับขึ้นจนน่าเกลียด
การยืดเวลา 5 มาตรการออกไปรัฐบาลต้องใช้เงินราวๆ 11,000 ล้านบาท
ทำให้พวกที่ซาดิสต์หน่อยๆ ถึงกับบ่นพึม ทำนองไม่ชอบใจที่รัฐบาลยังจะช่วยเหลือคนจนอยู่อีก
บางคนถึงกับอ้างผลศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ว่ามาตรการดังกล่าวไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ!?
พระเจ้าช่วย....ใช้อะไรคิดเนี่ย
5 มาตรการที่ทำต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว จุดหมายสำคัญไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากแต่เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
หลายคนมองจากมุมของตัวเองออกไป มองจากมุมของชนชั้นกลางหรือชั้นสูง ที่อาจจะไม่เคยขึ้นรถเมล์ ไม่เคยขึ้นรถไฟ ไม่ยี่หระกับค่าน้ำ-ค่าไฟเดือนละไม่กี่พัน หรือไม่กี่หมื่นที่ตัวเองต้องจ่าย
แต่สำหรับชาวบ้านหาเช้ากินค่ำแล้ว 5 มาตรการที่รัฐยืดออกไปอย่างน้อยๆ ก็ช่วยประหยัดเงินให้ได้เดือนละราวๆ 1,500-2,000 บาท เพราะทุกวันทำงานไม่ต้องเสียค่ารถเมล์
ทุกเดือนไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ
เงินจำนวนนี้สำหรับบางคนที่ไม่เห็นด้วย อาจจะแค่อาหารกลางวันมื้อเดียว หรือครึ่งมื้อเท่านั้น
แต่สำหรับชาวบ้านเงินจำนวนนี้มากพอที่จะซื้อข้าวสาร ซื้อกับข้าวกินได้ทั้งเดือน หรืออาจจะเก็บออมไว้ในยามที่อาจจะถูกปลดจากงาน ที่ยังเห็นข่าวการประท้วงของคนงานอยู่เนืองๆ
พวกที่ไม่เห็นด้วยลองหัดมองออกจากมุมของคนอื่นบ้าง
แม้สำหรับบางคนอาจจะไม่ได้ประโยชน์ หรือไม่เห็นความจำเป็นของ 5 มาตรการดังกล่าว
และสำหรับคนส่วนใหญ่ของเมืองไทย นี่ไม่ต่างจากการต่อลมหายใจออกไปอีกระยะหนึ่ง
หรืออย่างน้อยก็หายใจคล่องขึ้นอีกหน่อย